จะรอดหรือไม่? หลายคนสงสัย หลังมีการบอกว่าจะกู้ชีพ 13 ชีวิต ด้วยการ “ดำน้ำออกจากถ้ำ” ด้านนักดำน้ำ ผู้คอยสนับสนุนหน่วยซีลยืนยัน “ทีมหมูป่า” แข็งแรงพอ ขณที่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติแนะ เสี่ยงตายเกินไป ไม่ควรให้เด็กดำน้ำออกมา
13 ชีวิตดำน้ำ ความเสี่ยงที่เป็นไปได้!!
ภารกิจยังไม่สิ้นสุด แม้จะเจอทีมหมูป่าแล้ว และทราบกันว่าทุกคนปลอดภัยดี ต่อไปคือการเอาทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำหลวงให้ได้ ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่าจะพาตัวเด็กออกมาได้อย่างไร จะเสี่ยงโดยการดำน้ำออกมาจากถ้ำ ที่ต้องมุดไปแบบลึกๆ ด้วยสภาพร่างกายที่อิดโรยเช่นนี้หรือ
คำตอบที่ดีที่สุดในตอนนี้ ที่ทางการเสนอมาก็คงจะหนีไม่พ้น “การดำน้ำออกมาจากถ้ำ” แต่หลายคนก็ยังสงสัยว่าน้องๆ จะออกมาได้อย่างไร ในเมื่อการเข้าไปของหน่วยซีลก็ดูเหมือนจะยากลำบากมาก ไหนจะมุดถ้ำ ด้วยเส้นทางที่แคบ ลำบากแค่ไหนก็ต้องไปให้ถึงเป้าหมาย การดำน้ำตลอดระยะเวลาเกือบ 10 วัน ที่มีอุปสรรคทางน้ำ และทางแคบในการมุด พยายามทะลวงทางในถ้ำที่แคบให้กว้างขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจสุดหิน
การที่น้ำไหลมาจากแหล่งต่างๆ ทำให้การปฏิบัติภารกิจเป็นไปอย่างยากลำบาก และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงได้สอบถามไปยัง เรืองฤทธิ์ ช้างขวัญยืน หนึ่งในทีมนักดำน้ำที่คอยสนับสนุนหน่วยซีลตลอดระยะเวลาเกือบ 10 วัน ในการค้นหาทีมหมูป่า ทั้ง 13 ชีวิต เรื่องความเป็นไปได้ที่จะทยอยนำเด็กออกมาจากถ้ำหลวงด้วยวิธีการดำน้ำ
“นับว่ามีความเป็นไปได้จะนำเด็กออกมาด้วยวิธีการดำน้ำ และไม่จำเป็นที่เด็กต้องว่ายน้ำเป็น ก็สามารถที่จะดำน้ำออกมาได้ เพียงแค่มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ร่างกายแข็งแรง และมีเจ้าหน้าที่หน่วยซีลประกบตัวออกมาก็สามารถออกมาได้
ส่วนอุปกรณ์หลักที่จำเป็นต้องมีก็คือ หน้ากากสำหรับดำน้ำ ซึ่งตอนนี้ก็ได้รับบริจาคครบทั้ง 13 คนแล้ว รวมถึงบูท และยังต้องใช้อากาศในการหายใจ อีกทั้งต้องทำร่างกายให้อบอุ่น รวมไปถึงความพร้อมต่างๆ ที่จะต้องมีเบื้องต้น “
ส่วนข้อจำกัดในการดำน้ำที่เป็นอุปสรรคในครั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดำน้ำก็ได้บอกกับทีมข่าวผู้จัดการ Live ว่า อุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้นมาจากน้ำล้วนๆ จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะช่วยเด็กๆ ออกมาด้วยวิธีการนี้
“อุปสรรคจริงๆ คงจะเป็นเรื่องของกระแสน้ำที่ไหลออกมาตลอดเวลา เพราะทางหน่วยซีลต้องทวนกระแสน้ำขึ้นไป ซึ่งเป็นกระแสน้ำที่ไหลเร็วมาก ลองนึกถึงสภาพน้ำที่ไหลตามแม่น้ำลงมา หรือว่าลองนึกถึงสภาพของน้ำตกที่ไหลลงมา ร่างกายต้องดำทวนน้ำขึ้นไป มันก็เลยจะสะบักสะบอม จึงต้องใช้เวลานาน ส่วนขากลับออกมาจะรวดเร็วกว่าเพราะว่าคนจะไหลตามกระแสน้ำออกมา แต่จำเป็นที่จะต้องระวังไม่ให้นักดำน้ำและน้องๆ ไหลไปกระแทรกตาม หินงอกหินย้อยต่างๆ ที่อยู่ในถ้ำ
ส่วนอุปสรรคอีกหนึ่งอย่างนั้นก็คือ ต้องดูว่าน้องมีศักยภาพ ในการที่จะเรียนรู้ และการใช้อุปกรณ์ได้รวดเร็วแค่ไหน ต้องทำความเข้าใจ ปรับตัวให้เคยชิน เพราะหากคนที่ไม่เคยอยู่ใต้น้ำมาก่อน ก็จะเกิดการตื่นตระหนก หรือภาวะแพนิค คือเกิดอาการตื่นตระหนกตกใจ เขาก็จะทำอะไรไปโดยที่ไม่คาดคิด อาจจะมีการดึงอุปกรณ์ช่วยหายใจออก เหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน”
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดในการฝึกดำน้ำออกจากถ้ำในครั้งนี้ คือ พยายามให้น้องๆ ได้ลองฝึก ดูสภาพจิตใจของว่าเป็นอย่างไร ลองค่อยๆฝึกดำไปทีละนิด ดูท่าทีหากไม่ไหว ก็ย้อนกลับมา เป็นหน้าที่ของหน่วยซีลที่จะต้องคอยประกบเด็ก คอยสังเกตเด็กเวลาดำน้ำ และยังเชื่อได้ว่าหน่วยซีล มีศักภาพเพียงพอที่จะนำพาน้องมาสู่อ้อมอกอ้อมใจของพ่อแม่ได้อย่างปลอดภัย
สำหรับการดำน้ำในครั้งนี้มีอัตราเสี่ยงสูงมากอยู่เหมือนกัน แต่ต้องมาดูว่าวิธีไหนเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะไม่ว่าจะให้รออยู่ข้างในถ้ำ รอให้น้ำลดลงก็มีอัตราเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะด้วยสภาพแวดล้อมถ้ำที่ไม่ดีมากนัก แต่หากทุกอย่างไม่มีอุปสรรคใดๆ ค่อยๆ พยุงกันออกมา น้องสามารถ หายใจจากเครื่องช่วยหายใจได้สะดวก ก็สามารถทยอยนำน้องออกมาโดยจะใช้เวลาประมาณเพียง 1 ชั่วโมง ต่อเด็ก 1 คน
สำหรับใครที่ว่ายน้ำไม่เป็นสามารถดำน้ำได้ เพราะมีคอร์สสอนเรียนดำน้ำ สำหรับคนที่ไม่เคยดำน้ำ ก็สามารถเรียนรู้ได้ภายใน 2-3 ชั่วโมงก็สามารถที่จะดำน้ำได้แล้ว ซึ่งในกรณีที่ทีมหมูป่าเรียนรู้เร็ว ก็จะได้รับข่าวดีในไม่ช้า
แต่อย่าลืมว่าทีมหมูป่าไม่มีโอกาสทดลองใช้งาน ซึ่งปกติถ้าการฝึกสูตรก็จะให้ทดลองให้ฝึกในสระน้ำ ทดสอบการหายใจ หายใจได้ดีหรือไม่ ซึ่งตอนนี้อยู่ในถ้ำมันมีน้ำก็จริงแต่เป็นน้ำที่ไหลแรง ยากที่จะฝึกหายใจในน้ำได้ ก็ต้องให้ฝึกหายใจบนบกก่อน
สำหรับผู้เชี่ยวชาญทางการดำน้ำรายนี้ ยังระบุอีกว่า ถ้าเลือกได้ ก็คือใช้วิธีหาปล่องหรือเจาะจากข้างบนลงมา แล้วก็นำเขาขึ้นทางนั้น อันนั้นคือปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าวิธีนั้นเราไม่สามารถเลือกได้ เราก็ต้องเลือกใช้วิธีอื่นว่ามันดีอันดับถัดไป และความเสี่ยงน้อย ต้องหาความเสี่ยงน้อยทีสุด ส่วนช่วยด้วยการดำน้ำนี้เป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่ดีอย่างหนึ่ง
กูรูคอนเฟิร์ม ไม่ต้องห่วงเรื่องร่างกายทีมหมูป่า!!!
ด้านนัก นักวิชาการโภชนาการชื่อดัง ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ อาหารมื้อแรกที่น้องควรที่จะต้องกิน คืออาหารอะไร ในที่สุดหน่วยซีลก็ได้นำเอาเพาเวอร์เจล เข้าไปให้น้องๆ กินเพื่อที่จะให้น้องมีพลังงาน แต่นักโภชนาการชื่อดังท่านนี้ได้ระบุว่า
“เพาเวอร์เจลนั้น เป็นอาการเฉพาะบางคนที่ต้องการพลังงาน แต่ในเพาเวอร์เจล มีแคลอรีให้เฉพาะพลังงานเท่านั้น มีคาร์โปไฮเดครต แต่ไม่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ การให้กินเพาเวอร์เจลนั้นเป็นการฟื้นฟูสภาพร่างกายในระยะแรกๆ น้องจะกินเพาเวอร์เจลตลอดไปไม่ได้ ต่อไปก็เริ่มให้อาหารเป็นปกติ แต่ก็ต้องดูสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย ต้องค่อยๆให้อาหารกินทีละนิด อย่าให้กินเกินปริมาณ
ส่วนการฟื้นฟูที่จะทยอยนำน้องๆ ออกมาจากถ้ำ ด้วยการดำน้ำนั้น ต้องฟื้นฟูให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นมาก่อน ซึ่งตอนนี้ไม่มีใครตอบได้ ว่าภาพที่เราเห็นนั้น น้องจะว่ายน้ำพาออกมาได้ เพราะมันไกลเหลือเกิน ถ้าร่างกายยังไม่แข็งแรงเพียงพอ ก็จะเกิดความลำบากทั้งเจ้าหน้าที่ และเกิดความอันตรายแก่เด็ก แต่มั่นใจว่า 2-3 วันนี้ทางหมอต้องทำให้เด็กแข็งแรงขึ้นได้”
วิธีการดำน้ำที่จะพาน้องๆ ออกมาได้นั้น อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีสุด ยังมีหลายวิธีหากสามารถเลือกได้ และหากสถานการณ์อำนวยด้วย ซึ่งอีกความหวังหนึ่ง หวังว่าสามารถที่จะเจอช่องเจาะปล่องที่อยู่ภายใต้ถ้ำ อยู่ใกล้เคียงน้องๆ อันนี้ก็ยังเป็นวิธีที่น่าสนใจ หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือเร่งสูบน้ำออกให้มากที่สุด ให้น้ำลดระดับลง จนกระทั่งให้น้องๆ ลอยตัวออกมาได้เป็นระยะทางให้ได้มากที่สุด แล้วอาจจะมีบางจุดที่เป็นจุดสั้นๆ ที่อาจจะดำน้ำลงไป เพื่อให้โผล่ออกมาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งนั้นก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน
หากร่างกายทั้ง 13 ชีวิตแข็งแรงดี คงน่าจะไม่มีปัญหาอะไรโดยเฉพาะน้องๆ เป็นนักกีฬาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แล้วก็แข็งแรงกันดีอยู่แล้ว อีกอย่างเขายังเป็นเด็กเล็กๆ กันอยู่ และด้วยจิตใจที่เข้มแข็งที่สามารถดำรงชีพได้ตลอดระยะเกือบ 10 วัน น่าจะเรียนรู้ได้รวดเร็ว
ทั้งนี้สถานการณ์ล่าสุดในตอนนี้ ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะใช้วิธีดำน้ำหรือไม่ เพราะต้องพิจารณาไปตามสถานการณ์ในแต่ละวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับหน้างาน สุขภาพเด็กในแต่ละวันเป็นอย่างไร สถานการณ์ในถ้ำเป็นอย่างไร สภาพน้ำในถ้ำเป็นอย่างไร ลดลงไปมากน้อยแค่ไหน
ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่ออกมาเปิดเผยว่า แผนปฏิบัติการกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต โดยคาดว่าจะมีแผนสูบน้ำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาดูตามสถานการณ์ ต้องสอนให้เด็กฝึกดำน้ำด้วย
“ถ้าจะรอน้ำหมดไปเลยก็ไม่แน่ใจว่าน้ำจะหมดได้จริงหรือไม่ เพราะว่าตลอดเวลาที่ฝนตก น้ำจะเติมเข้ามาในบ่อตลอด เพราะฉะนั้น จะรอการสูบน้ำอย่างเดียวไม่ได้ พยากรณ์อากาศบอกว่าฝนจะตกทั้งสัปดาห์ ขณะที่อุปสรรคหลักคือเรื่องน้ำเป็นปัญหาหลักตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ส่วนอุปสรรคอื่นยังไม่มีเพิ่มเติม”
ด้านผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำ มาร์ติน ฟาร์ แนะว่าวิธีที่ดีที่สุดคือปล่อยให้เด็กๆ อยู่ในจุดที่ปลอดภัยในถ้ำไปก่อน ไม่ควรให้เด็กดำน้ำออกมาจากถ้ำ เพราะเด็กจะไม่ปลอดภัยและอาจจมน้ำเสียชีวิตได้ เพราะน้ำมีระดับของความขุ่น และแม้ระดับน้ำจะไม่ลึกมากก็ตาม ให้ส่งเสบียงอาหารของที่จำเป็นเข้าไป และรอให้ระดับน้ำลดลง ก่อนที่จะพาเด็กๆออกมา