xs
xsm
sm
md
lg

จั๊ด-ธีมะ "ปัญหาทุกวันนี้ มันสะท้อนความป่วยของ..ระบบราชการไทย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มหาบเร่แผงลอยกับแก๊งตลาดหน้าด้าน, ระบบข้าราชการที่แสนล่าช้าน่ารำคาญ, การเลือกตั้งที่แทบสิ้นหวังไปแล้วในประเทศไทย ฯลฯ เขาคือหนึ่งในไม่กี่คนที่ยอมลุกขึ้นมาถามตอบสะท้อนสังคมไทย คือผู้ประกาศข่าวฝีปากกล้า ที่พร้อมลุกขึ้นมาท้า “ซัดทุกความจริง(อันโหดร้าย)” คือประชาชนตัวเล็กๆ ที่เคยถูกทำให้หมดที่ยืนในสายงาน เพราะดันไปกระทืบช่องโหว่-เหยียบเท้าคนตัวใหญ่ในสังคม!!

และนี่คือการแลกหมัดถามตอบแบบซึ่งซึ่งหน้า ไปกับ “นักวิเคราะห์ข่าว” ที่มีคนติดตามมากที่สุดรายหนึ่งแห่งยุค ผ่านสีหน้ากวนโอ๊ยได้อย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านสำบัดสำนวนชวนกระแซะตั้งคำถามกับรัฐบาล และผ่านเลือดขบถที่ไหลเวียนอยู่ในตัวผู้ชายที่ชื่อ “จั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน”



แซะอย่างมีชั้นเชิง หลักสูตร “ผู้ประกาศนอกตำรา” 

จั๊ดเรียกตัวเองว่าเป็นอะไร ระหว่าง นักข่าว, นักเล่าข่าว, ผู้ประกาศข่าว ฯลฯ?
โดยรวมแล้ว ผมก็เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ประกาศข่าวแหละครับ แต่ก็แล้วแต่ว่าใครจะนิยามว่าผมเป็นอะไร ผมเข้าใจว่าถ้าเรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้ประกาศข่าว” ก็จะมีอาจารย์ที่สอนด้านนิเทศศาสตร์หลายท่าน อาจจะบอกว่าผมไม่ใช่ เพราะนิยามตามตำราก็คือ ต้องมานั่งอ่านออกเสียงให้คนอื่นฟังอย่างเดียว ถ้าทำนอกเหนือจากนั้น ถือว่าคุณผิดนิยาม

แต่จะบอกว่าเป็น “นักเล่าข่าว” หรือเปล่า บางคนก็บอกอีกว่า คำนี้มันไม่มีอยู่ในตำราการสื่อสารมวลชน เพราะฉะนั้น ถ้าให้เลือกจริงๆ ผมก็ขอไม่นิยามตัวเองดีกว่า คือคุณอยากจะเรียกผมว่าเป็นอะไรก็ช่างคุณเหอะ แต่ถ้าคุณดูข่าวคือจบ (ยิ้มสบายๆ)

ผมไม่ซีเรียสนะ ถ้าคนจะบอกว่า “คุณไม่ใช่อะไรเลยในวงการข่าว” ผมยอมที่จะไม่เป็นอะไรเลย แต่มีรายการข่าว และคนก็ได้ดูข่าว ใครจะบอกว่านี่คือผู้ประกาศข่าวปลอม นี่นักเล่าข่าว ไม่มีคุณค่าในเชิงข่าวเลยก็ไม่เป็นไร อันนี้ก็สุดแล้วแต่ท่าน

แสดงว่าได้ยินมาคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ชมมาบ้างเหมือนกัน?
(ยิ้มรับ) ได้ยินมาเหมือนกันครับ จริงๆ ตอนแรกก็รู้สึกไม่ค่อยพอใจ แต่ถ้าเกิดผมประกาศข่าวแบบในตำราที่อาจารย์สอนกันมา คงไม่มีรายการมาจ้างผมหรอก อันนี้ไม่ได้ประชดนะ และถ้าใครอยากประกาศข่าวแบบนั้น เรียนเชิญเลย (ผายมือให้) แล้วคุณก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมเอาเองว่า รายการคุณจะมีคนดูหรือเปล่า

โลกมันเปลี่ยนไปแล้วครับ ดังนั้น ถ้าคุณทำงานแบบเดิม เป๊ะมากในเชิงวิชาการ แต่เรตติ้งคุณอยู่ที่ 0.00001 ถามว่าจรรยาบรรณตรงนั้น มันเกิดอะไรกับคนหมู่มากไหม..ไม่ เพราะคนหมู่มากไม่ดูคุณไง

เพราะฉะนั้น เราควรจะวิวัฒนาการตัวเราไปตามสิ่งที่สังคมเขาต้องการจะดูด้วย เพียงแต่ว่าเราควรจะต้องมีกรอบด้วย แม้ว่าเราจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ในวงการข่าว แต่เราก็ยังคงยึดถือจรรยาบรรณว่า เรารายงานข้อเท็จจริง ถึงแม้ว่าจะปะปนไปกับข้อคิดเห็นบ้าง แต่ก็เป็นการปะปนไปด้วยมูลความจริง ไม่งั้นอาจจะถูกฟ้องร้อง รายการตายไปแล้วป่านนี้

[โด่งดังเพราะ ลีลาประกาศข่าวไม่เหมือนใคร]

เคยถูกฟ้องร้อง ถูกขู่บ้างไหม?
เคยโดนบ้างอยู่แล้วครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องถูกขู่ น่าจะเป็นช่วงสมัยก่อนมากกว่า ที่เรายังจัดเน้นหนักไปที่สายการเมือง แต่หลังจากนั้น ตั้งแต่เข้ามาทำทีวีดิจิทัลจะโดนฟ้องร้องมากกว่า ล่าสุดก็กำลังไกล่เกลี่ยกันอยู่ แต่ผมเชื่อว่ามันจะทำให้เราโตขึ้นด้วย

โตขึ้นในแง่ไหน มันทำให้เรารู้ว่าเราจะจัดรายการข่าวแบบเดิมไม่ได้ละ (ยิ้มเย็นๆ) ถ้าใครติดตามรายการข่าวที่ผมจัดมาตั้งแต่ต้น ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 54 จนถึงปัจจุบันปี 61 คุณจะรู้ว่าแนวทางการรายการข่าวของผมต่างกัน โดยมีเรื่องของแนวทางสถานีมาเป็นตัวกำหนดสไตล์

อย่างตอนนี้ ผมจัดรายการอยู่ 3 ที่ สถานีแรกเลยคือ “ช่อง One” ซึ่งจัดอยู่หลายช่วงด้วยกัน มีทั้งข่าวเช้า, ข่าวเย็น แล้วก็ข่าววันศุกร์ นอกเหนือจากนั้นก็มี “ช่อง Blue Sky (เก่า)” หรือฟ้าวันใหม่ หลังจากนั้นช่วงค่ำๆ ผมก็มีจัดรายการข่าวทาง “Line Today” ด้วย ซึ่งถ้าคุณได้ดูทั้ง 3 ช่องทางนี้ คุณจะได้เห็น “จั๊ด-ธีมะ” ทั้ง 3 แบบเลย ถือเป็นอีกวิธีการนึงในการรับใช้สังคมผ่านการเล่าข่าวของผม


ตัวตนทั้ง 3 แบบที่ว่า แตกต่างกันยังไงบ้าง?
ถ้าตัวตนแบบที่เป็นตัวเองสุดๆ เลย แบบที่สามารถเล่าได้อิสระที่สุด น่าจะเป็นข่าวทาง “ไลน์” ครับ เพราะเราไม่ต้องไปแตะประเด็นการเมืองใหญ่ๆ จะออกแนวตลก ไม่ได้เน้นแนววิพากษ์อะไรมาก แต่ถ้าเป็นตัวตนทาง “ช่องวัน” เนื่องจากเป็นทีวีดิจิทัล ก็จะมีกรอบในการนำเสนอมากกว่าว่า อะไรพูดได้-พูดไม่ได้ เป็นเพราะคนดูเยอะมาก เลยถูกกำกับดูแลเป็นพิเศษ

ส่วนที่ “บลูสกาย (เก่า)” จะเอาไว้เป็นพื้นที่แตะเรื่องการเมือง (หัวเราะ) แต่ก็จะไม่ได้ทำฮาร์ดคอร์เหมือนที่สมัยก่อนเคยทำแล้วล่ะครับ

ตัวตนเดิมที่เคยจัดที่ “บลูสกาย” เคยแรงถึงขั้นทำให้ต้องยุติรายการด้วยใช่ไหม?
(พยักหน้ารับ) ใช่ครับ ต้องบอกว่าผมเริ่มอ่านข่าว ประกาศข่าวกับที่นั่นเป็นที่แรก และหลังจากนั้นประมาณปี 2 ปี การเมืองก็เข้มข้นขึ้นมาเลย เริ่มมีประท้วงแล้ว ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า นอกเหนือจากที่เราจะต้องอ่านข่าวแล้ว ตอนนั้นเราไปขึ้นเวทีด้วย มันเลยผสมปนเปไปกันใหญ่

แต่วิธีการทำข่าวอย่างตอนนั้น มันไม่ใช่วิธีที่จะเอามาทำได้อย่างทุกวันนี้แล้ว เพราะตอนนั้น ข่าวมันไม่ได้เป็นข้อมูลอย่างเดียว มันเป็นสิ่งที่เราหามาเพื่อโจมตีอีกฝั่งนึงโดยเฉพาะ และในเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน วิธีการรายงานข่าวของคนเป็นสื่อก็ต้องเปลี่ยนด้วย เพราะถ้าเราทำแบบเดิมไม่ใช่เราตายคนเดียว ทีมงานก็จะตาย และสถานีก็จะเดือดร้อนไปด้วย


ตอนมาจัดรายการที่ช่องวันแรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจเลย แล้วก็ยังใช้วิธีการในการทำสื่อแบบที่เคยทำที่สถานีดาวเทียม แต่ปรากฏว่ามันใช้ด้วยกันไม่ได้จริงๆ

เราต้องยอมรับว่า ระหว่าง ทีวีผ่านแอปพลิเคชัน, ทีวีผ่านดาวเทียม และทีวีผ่านช่องดิจิทัล ช่องทางสุดท้ายเป็นช่องที่คนจับตามองมากที่สุด และเจ้าหน้าที่รัฐเขาจะจับจ้องมากที่สุด ดังนั้น เราก็จะต้องมีลิมิตของเราในการนำเสนอ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องเรียนรู้ครับ 2 ปีที่ผ่านมากับการทำข่าวช่องวัน มันก็ทำให้เราเติบโตขึ้นด้วย ผมรู้ว่าวิธีการจัดรายการข่าวให้ของบางอย่าง ที่มันเป็นของที่เข้มข้น ถูกส่งผ่านไปยังคงดู ด้วยวิธีการบางอย่างที่มันไม่ผิดกฎหมาย มันทำยังไง

ไม่ผิดกฎหมายนี่ หมายความว่าไม่โดนฟ้องใช่ไหม?
(หัวเราะ) ใช่ เป็นวิธีการที่ไม่สุ่มเสี่ยงต่อความลำบากที่จะเกิดขึ้น เราได้เรียนรู้ที่จะหาช่องทาง หาวิธีการที่จะสื่อสาร ที่เราสามารถทำได้ แต่สิ่งที่เราต้องการจะบอกมันก็ไปถึงด้วย โดยที่ไม่ต้องทำให้มันรุนแรง ไม่ต้องโวยวาย หรือไม่ต้องทำให้มันดูฮาร์ดคอร์ก็ได้


ส่วนใหญ่เท่าที่ดู วิธีการของจั๊ดคือ การตั้งคำถามทิ้งท้ายให้ผู้ชมได้คิด
ใช่ครับ วิธีการที่ได้ผลก็คือ การไม่ฟันธงไปทางใดทางหนึ่ง คือการปล่อยลอยๆ ไป ไม่สรุปอะไร แต่เราก็ให้ข้อมูลทิ้งเอาไว้แล้วล่ะ (ยิ้ม) ถ้าคุณดูแล้ว และย้อนกลับไปดูอีก คุณก็จะรู้แล้วว่ามันเป็นทิศทางนี้แหละ เพราะเราคงทำแบบสื่ออเมริกันไม่ได้หรอก

ไม่มีวันทำได้แบบเขาเลยใช่ไหม เรื่องอิสรภาพสื่อ?
ไม่ทราบเหมือนกันว่าอนาคตจะมีวันได้หรือเปล่า แต่ถ้าเราได้ติดตามดูสถานการณ์ ก็จะเห็นว่าอีกฝ่ายเขาก็จะเต็มที่ของเขา แต่เราก็เข้าใจแหละครับว่า เราอยู่ในสังคมที่มันทำแบบนั้นไม่ได้

แต่ถามว่าอึดอัดไหม? ก็นิดหน่อย แต่ก็ไม่มากถึงขนาดรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาต่อต้านระบบ (กำมือทำท่าประท้วง) เฮ้ย..ต้องเปลี่ยนแปลงๆ เดี๋ยวนี้!! (หัวเราะ) คงไม่ใช่แบบนั้น



ก่อนเป็น “นักสะท้อนสังคม” เขาคือ “พลเมืองที่ถูกรังแก”

ย้อนกลับไปในวันเก่า ที่เคยเอาความคิดเห็นใส่เข้าไปในเรื่องการเมืองตอนเล่าข่าว รู้สึกเสียใจไหม?
ไม่เสียใจนะ ผมเชื่อว่าตอนนั้นก็คือตอนนั้น ตอนนี้ก็คือตอนนี้ ผมพูดได้เลยว่าถ้าไม่มีโอกาสจากสถานีในตอนนั้น คงไม่มีผมในวันนี้ บลูสกายคือคนที่ให้โอกาสผม ในวันที่ผมสูญเสียทุกอย่าง ไม่มีอะไรในหน้าตักเลย

เวลาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอาชีพอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะอาชีพสื่อ, ศิลปิน, คนในวงการ ฯลฯ เราจะต้องแบ่งเป็น 2 แง่มุมก่อน แง่มุมนึงคือ แง่มุม “อุดมคติ” ทางด้านวิชาชีพ กับอีกแง่มุมนึงคือ “ความจริงอันโหดร้าย” ในฐานะที่คุณเป็นมนุษย์

คุณไม่รู้หรอกว่า ท่ามกลางปี 54 ที่อยู่ดีๆ ผมออกมาจัดรายการเองผ่าน youtube วิจารณ์การทำงานเรื่องการจัดการน้ำท่วมว่าห่วยแตกอย่างนั้นอย่างนี้ ผมปล่อยคลิปออกไปแค่วันเดียว โดยไม่ได้มีเป้าประสงค์จะโจมตีอะไรเลย และตอนนั้นผมก็ไม่ได้ยุ่งกับการเมือง ยังเรียกได้ว่าเป็น “คนบันเทิง” แบบเต็มตัว แต่หลังจากนั้น 2 วันเท่านั้น งานของผมที่เคยมีทั้งหมดในมือ หายไปหมดเกลี้ยง

ชีวิตอีกด้านนึงของคนที่เป็นสื่อ ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ ผมก็มีภาระ ถามว่า ณ วันนั้น มีใครให้เงินผมใช้ไหม..ไม่มี (สีหน้าจริงจัง) ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ผ่านชีวิตมาสัก 40 ปี อาจจะเข้าใจวิถีชีวิตแบบนั้น ในวันที่คุณไม่มีอะไรเลย และมีคนหยิบยื่นโอกาสให้ เปิดโลกอีกด้านนึงของคุณเลย

จากชีวิตก่อนหน้านี้ หลังจากรับปริญญาปี 48 จนถึงปี 54 ผมรับงานด้านบันเทิงแบบเพียวๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย จัดรายการทางวิทยุ, รายการทีวีแนวโปกฮา แล้วอยู่ดีๆ วันนึง พอปล่อยคลิปบน youtube ตัวนั้นออกไป งานก็หายเกลี้ยงหมดเลย



จนมีโทรศัพท์มาสายนึง แนะให้ไปจัดรายการที่สถานีของเขาดูไหม ผมก็เลยไป เพราะ ณ วันนั้น เราไม่มีตังค์เลย เหลือแต่ตังค์เก็บแล้ว เราไม่มีรายได้เข้ามา ผมก็ตัดสินใจคว้าไว้เลย โดยที่ยังไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร และหลังจากนั้นผมก็ได้จัดรายการ แล้วก็ไหลมาเรื่อยจนทุกวันนี้

ก็ต้องยอมรับว่า ที่ “สถานีฟ้าวันใหม่” (“บลูสกาย” เก่า) มันคือการเปิดประตูสู่อีกโลกนึง เป็นโลกของการใช้ความสามารถด้านนิเทศศาสตร์ในอีกแนวนึง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าถึงแม้จะเป็นการอ่านข่าวแบบโจมตีอีกฝั่งนึงก็ตาม แต่ถ้าไม่มีโอกาสในวันนั้น ก็ไม่มีผมในวันนี้แน่ๆ

ไม่อย่างนั้น ทุกวันนี้ผมอาจจะต้องนั่งจัดรายการวิทยุ เปิดเพลงให้คุณฟัง ทุกวันนี้ผมอาจจะต้องมานั่งทำรายการเกมโชว์ หรือรายการวาไรตี้โชว์ เป็นอีกหนึ่งบทบาท ซึ่งเป็นบทบาทแรกๆ หลังเรียนจบออกมา

ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไป ผมไม่เสียใจเลย เพราะผมเชื่อว่านั่นคือองค์ประกอบอย่างนึงของอดีต ที่ทำให้ปัจจุบันผมได้เป็นอย่างทุกวันนี้

ขอย้อนกลับในวันที่สถานะชีวิตคือ “งานหายเกลี้ยง” หน่อยได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น?
ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันครับว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่จากจัดรายการวิทยุอยู่ตอนนั้น ก็กลายเป็นว่างานทั้งหมดหาย ถูกสั่งพักรายการว่างั้นเถอะ เขาไม่ให้ไปจัด จนกระทั่งผ่านไป 3 สัปดาห์ โทรศัพท์ไปถาม เขาก็บอกว่าให้พักตลอดไป

แน่ชัดเลยใช่ไหมว่าคือผลจากการทำคลิปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องน้ำท่วมตอนนั้น?
ใช่ครับ เราต้องยอมรับว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะเด็กคนนึงเลย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องการเมืองหรืออะไร แค่รู้สึกว่าน้ำมันท่วม และการจัดการมันก็แย่ ก็เลยทำคลิปในห้องนอนตัวเอง แล้วก็ปล่อยๆ ออกไป แต่คนมันดันดูเยอะเอง จนกลายมาเป็นผลกระทบแบบนี้


สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น มันสะท้อนว่าเสรีภาพของพลเมืองคนนึงที่อยากวิจารณ์สังคม มันไม่มีจริงหรือเปล่า?
ผมเชื่อว่าทุกสังคมในโลกเป็นแบบนี้นะ ขึ้นอยู่กับว่ามันจะอ่อน-จะแข็งขนาดไหน อย่างบ้านเมืองเรา ผมมองว่าก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่แข็งที่สุดหรอก เพราะอย่างที่จีนเขาแข็งกว่าเราเยอะมาก แม้แต่เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์เขาก็ไม่ให้ใช้ เขาสร้างเครือข่ายของตัวเองขึ้นมา แล้วก็ห้ามไม่ให้ใช้ฟีเจอร์ไลฟ์สดด้วย ซึ่งถ้าเทียบแล้ว บ้านเราก็ยังถือว่ากลางๆ ไม่ได้มีเสรีภาพมากมาย แต่เราก็ไม่ได้จำกัดมากขนาดนั้น

ถ้าถามว่าเสรีภาพของคนธรรมดา ในการจะทำสื่อทุกวันนี้มีมากน้อยแค่ไหน ผมเชื่อว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเยอะเหมือนกัน ถ้าเทียบกับผมเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ยังไม่มีคำว่า “เน็ตไอดอล” หรือ “ยูทูบเบอร์” เลยด้วยซ้ำ และคนที่ออกมาทำคลิปวิจารณ์แบบนี้มีไม่มาก และ ณ วันนั้นที่ผมทำคลิปเรื่องน้ำท่วม ประเทศไทยยังไม่มี “Dark Page” อย่าง Drama-Addicted, อีจัน, อีเจี๊ยบ, แหม่มโพธิ์ดำ ฯลฯ เลย

ผมว่าถ้าทุกวันนี้ มีคนคนนึง อายุสัก 27-28 ปี ลุกขึ้นมาทำคลิปวิจารณ์เรื่องน้ำท่วมเหมือนอย่างผมเคยทำ โจมตีรัฐบาลแบบนั้น แล้วเกิดตกงาน อยู่ดีๆ งานในมือคุณปลิวหมดเลย แล้วคุณแค่โพสต์เรื่องราวของคุณออกไป เชื่อไหมครับว่าคุณจะได้รับการสนับสนุนอีกมากจากคนในโซเชียลฯ แต่สภาพแวดล้อมเมื่อ 7 ปีที่แล้วไม่ใช่แบบนี้

ดังนั้น ถามว่าเสรีภาพในการสื่อสารของคนไทยทุกวันนี้มันมีหรือเปล่า ผมว่าถ้าเราจะหาทางให้มันมี มันก็มีได้ อย่างทุกวันนี้ที่การทำงานของรัฐบาลหลายๆ อย่างก็โดนเล่นยับเหมือนกัน


แสดงว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเท่าสมัยก่อนแล้ว?
ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแล้วครับ และระยะเวลาในการเปลี่ยนให้เรามีเสรีภาพมากขึ้น ณ ทุกวันนี้ ก็ใช้เวลาโคตรสั้นลงด้วย ถ้าเทียบกับเมื่อปี 2516 คุณอยากเรียกร้องเสรีภาพจากรัฐบาล คุณก็ต้องเดินทางไปธรรมศาสตร์ แต่รอจนกระทั่งอายุ 40 ปี คุณอาจจะยังไม่ได้เสรีภาพนั้นเลย แต่ทุกวันนี้พลังของโซเชียลฯ มันก็ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกวงการอย่างรวดเร็วขึ้น

มันชอบมีอินโฟกราฟิกออกมาเปรียบเทียบว่า สื่อสื่อนึงจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ในการเข้าถึงคนสัก 30 ล้านคน ถ้าเป็นวิทยุอาจต้องใช้เวลา 30 กว่าปี, ทีวี 14 ปี แต่เฟซบุ๊กใช้ไม่ถึงปี 2 ปี มันสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบของแพลตฟอร์มทุกวันนี้ มันช่วยสร้างเสรีภาพให้เราได้ในระดับนึงด้วย

แล้วถ้าตอนนี้ ให้ลุกขึ้นมาทำคลิปวิพากษ์วิจารณ์ผ่าน youtube ใหม่ ยังอยากทำเรื่องอะไรอีกไหม?
(ยิ้มรับ) จริงๆ อยากทำนะ แต่ทุกวันนี้ ตื่นมาเราก็เอาของเหล่านั้นไปใช้กับรายการต่างๆ หมดแล้ว ถือว่าปี 2 ปีนี้ เป็นปีที่ทำงานหนักสุดแล้ว ทุกวันนี้ผมเช่าห้องอยู่ฝั่งตรงข้ามตึกแกรมมี่ ตื่นมาสักตี 4 นิดๆ เดินข้ามมา แต่งหน้า-ทำผม ตอนตี 5 ก็สวัสดีคุณผู้ชมแล้ว ตี 5 - 8 โมง นั่งยาว 3 ชั่วโมง

จากนั้นกลับไปนอน พอสัก 9 - 11 โมง ผมไปอยู่ที่บลูสกายแล้ว พอบ่ายโมง - บ่าย 2 ก็นั่งมอเตอร์ไซค์กลับมาแกรมมี่ 4 โมงครึ่ง - 6 โมงเย็น มานั่งอ่านข่าวต่อ พอ 6 โมงเย็น นั่งมอเตอร์ไซค์วินกลับไปจัดไลน์ทีวีอีก เสร็จ 2 ทุ่ม กลับบ้าน 3 ทุ่มครึ่ง - 4 ทุ่ม หลับแล้วครับ ตื่นอีกทีตี 4 วนอยู่อย่างนี้

กลายเป็นว่าเราไม่มีเวลาที่จะทำคลิปแบบนั้นแล้ว และของที่เราเก็บไว้ การอ่านข่าวแล้วเอามาย่อย เราก็ใช้ไปกับที่อื่นหมดแล้ว ทุกวันนี้ข่าวเย็นก็มีช่วงนึง ชื่อว่า “จั๊ดซัดทุกความจริง” เป็นช่วงที่เป็นสกู๊ปของเราทุกวัน ถ้าเทียบแล้วก็เหมือนเนื้อหาใน youtube เราผมเคยทำนั่นแหละครับ เพราะมันมีความเป็นตัวเรามากที่สุดแล้วว่า เรามองเหตุการณ์ต่างๆ ยังไง ไม่ใช่แค่การนั่งอ่านข่าว



Thailand Only!! ช่องโหว่ที่มาพร้อมคำว่า “ข้าราชการ”

ยังมีประเด็นในสังคมจุดไหนอีกไหมที่อยากสะท้อน ในฐานะที่ทำหน้าที่นี้มาตลอด?
อย่างแรกที่ผมอยากพูดถึง แล้วก็ได้พูดไปแล้วในรายการ ก็คือเรื่องการไปตั้ง “ตลาดข้างบ้านป้า” กับคนที่เรียกร้องกันอยู่ที่ “5 แยกลาดพร้าว” ครับ แต่ถ้าเราจะพูดเรื่องนี้แบบเจาะทั้งระบบ มันอาจจะยากไป ผมขอดึงประเด็นการแก้ไขยังไงในเบื้องต้นให้มันเด็ดขาดขึ้นมานำเสนอดีกว่า

ตรงนี้อาจจะต้องไปดูโมเดลของทางสิงคโปร์ ซึ่งมีวิกฤตผู้ค้าหาบเร่แผงลอยตั้งแต่สมัยปี 1970 วิธีการที่เขาใช้ก็คือ ทุกมุมถนนที่เคยมีแผงลอย เขาไปตั้งศูนย์เหมือนศูนย์ Food Court รัฐเข้าไปทำระบบประปา-ไฟฟ้า ให้คนที่เคยอยู่เป็นแผงลอย โกยเข้าไปขายในศูนย์ตรงนี้ และใช้เวลาเกือบ 10 ปีจนทำแบบนี้ไปได้ทั่วประเทศ

แต่อันดับแรก ศูนย์ตรงนั้นต้องตั้งโดยถูกกฎหมายก่อนใช่ไหม?
(หัวเราะรับ) ใช่ครับ อาจจะเป็นทางรัฐตั้ง แต่ถ้าให้เริ่มมาทำทุกวันนี้ อาจจะไม่ทันแล้วครับสำหรับบ้านเรา เพราะสมัยที่สิงคโปร์ทำ เขาเพิ่งสร้างประเทศ พื้นที่มันโล่งเยอะ ถ้าให้มาหาพื้นที่แบบนี้ทุกมุมถนน ให้รัฐไปลง มูลค่ามันอาจจะสูงไป ทางที่จะเป็นไปได้ก็คือ รัฐอาจจะเข้าไปช่วยให้เอกชนบางราย จัดตั้งศูนย์พวกนี้ขึ้นมา โดยมีฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน

ให้โกยคนจากริมฟุตปาธ เข้าไปอยู่ในศูนย์เหล่านั้นให้ได้ จัดระบบไฟฟ้า, ระบบประปา, ทำเรื่องการจัดการขยะ, ไม่มีสินบน ให้หาบเร่ทุกคนจ่ายค่าเช่าราคาถูกให้รัฐ ฯลฯ


เทียบกับตอนนี้ ที่ตลาดข้างบ้านป้า แม่ค้าเขาบอกว่า “ให้ฉันขายเถอะ ให้ฉันจ่ายวันละ 2,000 ฉันก็ขาย” แสดงว่าพี่เขาขายได้วันละมากกว่านั้น (ยิ้ม) พี่เขาบอกว่า “ให้ฉันขายเถอะ แล้ว 2,000 บาทฉันจะให้เจ้าหน้าที่” นี่แสดงว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา คุณให้เจ้าหน้าที่ใช่ไหมเนี่ย (หัวเราะ)

ถ้าให้พูดถึง “คนผิด” จริงๆ ในกรณีตลาดข้างบ้านป้า มองว่าคือใคร?
คือ “กลุ่มคนที่หายไป” ครับ หมายถึง 1.เจ้าหน้าที่รัฐ ณ สมัยนั้นที่อนุมัติให้สร้างตลาด กับ 2.เจ้าของตลาด มีใครเห็นข่าวไปตามได้บ้างไหมครับว่า เจ้าของตลาดคือใคร ไม่เห็นมีเลย แต่สังคมปล่อยให้แม่ค้าด่าป้า ป้าก็ต้องเผชิญชะตากรรมกับแม่ค้า ทั้งๆ ที่ที่ดินถูกเอามาใช้ผิดวัตถุประสงค์ แต่กลุ่มข้าราชการที่ควรออกมารับผิดชอบตัวจริงกลับหายไป


แล้วประเด็น สินค้าละเมิด อย. กับการรีวิวของดาราล่ะ?
ตามธรรมชาติของการเป็นดารา ผมเชื่อว่ายากมากที่จะมีใครลองใช้จริงๆ ส่วนใหญ่รับงานมา ภาพก็ไม่ได้มาถ่ายเองด้วยซ้ำ เป็นการส่งภาพกันไปมา โพสต์ลงอินสตาแกรมตัวเอง จบ แต่ก็ถือว่าเป็นความผิดอีกลักษณะนึงคือ ตอนทำไม่รู้ว่าผิดจริงๆ ตราบใดก็ตามที่ของพวกนี้ถูกลากเอาความผิดขึ้นมาแฉ คุณเลยผิดไปด้วย แต่ยังไงก็ต้องมีความผิด เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้สังคมเห็นว่า ถ้าดาราออกมาทำแบบนี้ คือความผิด

ทำไม “สินค้าปลอม อย.” ถึงได้ผุดออกมาไม่หยุดแบบนี้ มันสะท้อนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่บ้างไหม?
ผมว่ามันสะท้อนถึงความป่วยการของ “ระบบราชการไทย” เหมือนกันนะ รู้ไหมครับว่าทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ที่รอรับ อย.อยู่เป็นแสนๆ ราย แต่พนักงานที่ตรวจสอบตรงนี้มีเพิ่มขึ้นมา 14-15 คนเท่านั้น ถามว่าทำงานกันทันได้ยังไง ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบราชการไทยอีกนั่นแหละ

ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ระบบที่ใหญ่โตขนาดนี้ คนเป็นข้าราชการ 2 ล้านกว่าคน ดูแลคน 65-67 ล้านคน แบบไหนคนถึงไม่พอ จนต้องไปหาคนนอกในอัตราจ้าง แล้วก็ไม่ได้บรรจุสักที แต่ทำไม พอเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ข้าราชการมีแค่ 4-5 แสนคน แต่ดูแลประชาชนของตัวเองได้ถึงหลัก 130-140 ล้านคน แถมบ้านเมืองเขายังจัดการได้ดีอีกต่างหาก


หลายๆ ครั้งที่เห็นจั๊ดจัดรายการ มักจะโยงว่าต้นตอของปัญหาคือ “ระบบราชการ” เสมอๆ
(หัวเราะ) คือผมเข้าใจในความเป็น “ระบบราชการ” เมืองไทยนะ ที่มันต้องมีระบบอุปถัมภ์ ต้องมีขั้นมีตอนที่มันยากมาก และถ้าเราอยากจะปฏิรูประบบนี้ ก็ถือว่ารัฐบาลนี้มาถูกทางแล้ว แต่มาถูกทางอย่างเดียวนะครับ (ยิ้ม) ตรงเรื่อง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่จะปรับลดขั้นตอนในการติดต่อกับราชการลง ลดความสำคัญให้ข้าราชการมีอำนาจในการอนุญาตอะไรบางอย่าง อะไรที่ให้เครื่องทำได้ หน่วยไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ทำให้ล่าช้าลง ถ้าหากยุบรวมกันได้ก็ทำ

เทียบง่ายๆ เลยครับกับการจัดการเครือข่ายระหว่าง AIS, True, Dtac, TOT และ CAT ทุกเครือข่ายมีสายงานเดียวกัน แต่ทำไมสำหรับค่ายเอกชน ถึงได้มีพนักงานทำงานน้อยกว่า แต่ได้กำไรมากกว่า มันสะท้อนอะไรได้บ้าง มันสะท้อนว่าเรากำลังอยู่ในประเทศที่ ปล่อยให้ข้าราชการจำนวนมากกว่า ทำงานออกมามีประสิทธิภาพน้อยกว่าบริษัทเอกชน สะท้อนให้เห็นว่าข้าราชการไทยใช้คนมาก เปลืองงบประมาณมาก เปลืองเวลามากกว่า แต่ผลออกมาคือไม่สำเร็จ ซึ่งมันประหลาด

และจริงๆ แล้ว สิ่งที่ผมพูดมันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่หรอกครับ แล้วก็ไม่ใช่คำพูดที่ฉลาดอะไรด้วย เพราะทางรัฐบาลหลายๆ สมัยเอง เขาก็คิดเรื่องนี้กันมานานมากแล้ว แต่เข้าใจว่าตอนจะเอาไปลงมือปฏิบัติ มันติดตอเยอะ เพราะการลดขนาดหน่วยไหนก็ตาม มันจะทำให้คนจำนวนมากเดือดร้อน เพราะกลัวว่าจะถูกเอาพลังอำนาจออกไปจากมือ ก็ได้แต่หวังว่าจะมีรัฐบาลไหนสักรัฐบาลที่กล้าทำ

ผมว่าไม่มีรัฐบาลไหน “ไม่รู้” หรอกครับว่าจะต้องทำอะไร เพราะคนเก่งๆ รอบๆ ตัวเขาต้องมีเยอะอยู่แล้ว มีแต่รัฐบาลที่ “ไม่กล้า” ที่จะทำอะไรมากกว่า

แล้วคิดว่า “การเลือกตั้ง” จะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นกว่านี้ได้บ้างไหม?
(หัวเราะ) มองภาพออกยากมากเลยครับ แต่ผมมองว่ามันน่าจะเหมือนเดิม แต่ยังไงซะ คนเขาก็อยากให้มีการเลือกตั้งกัน เพราะฉะนั้น ถ้าได้เลือกแล้วหลายๆ อย่างก็อาจจะผ่อนคลายมากขึ้น แต่โจทย์ที่ต้องมองให้ลึกไปกว่านั้นก็คือ เราจะเลือกตั้งกันแบบไหน และเลือกแล้วจะแก้ปัญหาจากการเลือกตั้งครั้งผ่านๆ มาได้หรือเปล่า

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถึงแม้ใครจะคิดว่าการเลือกตั้งมีปัญหา แต่เราต้องยอมรับว่าก็ยังไม่มีระบบไหน ที่จะได้มาซึ่งผู้นำของชาติชาตินึง ที่ดีกว่าการเลือกตั้ง ดังนั้น เราก็ต้องใช้เครื่องมือที่ดีที่สุด ซึ่งก็คือการเลือกตั้งนี่แหละครับ


สำหรับตัวเอง มองว่าการเลือกตั้งเป็นความหวังของประเทศไทยหรือเปล่า?
ผมเฉยๆ มากนะ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่ก็เข้าใจว่า มีดีกว่าไม่มี เพราะถ้าเอาตามทฤษฎีกันจริงๆ ยังไงก็ต้องมีการเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คนคนนึงจะอยู่ยั้งยืนยง มันไม่มีหรอก แต่ถ้าถามว่าตัวผมเองเดือดร้อนอะไรไหม ผมเฉยๆ มาก

มันคงขึ้นอยู่กับ “การจัดลำดับความสำคัญในชีวิต” ของคนเรา ซึ่งแต่ละคนให้ความสำคัญแตกต่างกันมากนะผมว่า บางคนอาจเห็นว่าเรื่องระบบผิดเพี้ยนไม่ได้เลย ไม่ว่าเขาจะเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน ก็ต้องบอกว่าเดือดร้อนไว้ก่อน แต่บางคนไม่ว่าข้างบนจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง เขาก็จะมุ่งมั่นหากินของตัวเองต่อไป ซึ่งตัวผมเองก็อยู่ตรงกลางระหว่างนั้นครับ

จริงหรือเปล่าที่คนวิจารณ์กันว่าเราเพลาเรื่องการเมืองแล้ว หรือจะเข้าข้างรัฐบาล?
มันมีเรื่องที่บางทีเราก็ตอบได้ยากพอสมควรว่าเราจะเอายังไง อย่างตอนแรกๆ ที่จัดรายการที่บลูสกาย ผมก็ต้องเห็นด้วยสุดๆ เลย เพราะเขากำลังทำหน้าที่ในการเอารัฐบาลเก่าลง และปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน

แต่พอหลังจากนั้นมันเริ่มนาน และทำท่าว่าจะต่อไปอีก แล้วก็ไม่ได้ปราบปรามให้เหี้ยนซะที คือไม่ได้ทำอย่างที่พูดไว้ และถ้าเป็นอย่างนั้นก็หาชุดใหม่เถอะ

ผมเคยบอกแบบนี้ ณ วันที่ คสช.ดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลในโลกนี้ มันจะมีอายุไม่เกิน 6 ปีหรอกครับ นี่ก็ 4 ปีแล้ว เอาเป็นว่าไปทำอะไรใหม่ๆ มาก็ได้ แล้วจะเข้ามาใหม่ก็ค่อยเข้ามา (ยิ้มกวนๆ) โอ้โห..นี่อยู่มา 4 ปีแล้วคุณ!! คนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขายังต้องลงเลือกตั้งใหม่เลย

คือถ้าอยู่นาน แล้วทำในสิ่งที่บอกได้ ประสบความสำเร็จ มันก็โอเค แต่นี่มันไม่ใช่ และที่มากไปกว่านั้นคือเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน สำหรับผม ผมคิดว่าเรื่อง “นาฬิกา” มันบ้าบอคอแตกมากเลย และมันทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ที่รัฐบาลนี้ทำไว้ หายไปหมดเลย หลังจากนั้น ไม่ว่าเวลาเขาจะออกมาพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องการปราบคอร์รัปชัน คนก็ขำกันไปหมดแล้ว



ถึงจะดูตุ้งติ้ง แต่มี “ผู้หญิง” เป็นคนรู้ใจ

[ว่ากันว่า เธอคือคนที่ได้ครองหัวใจหนุ่มจั๊ด]
ผมจะบอกว่าสมัยนี้เราจะมาฟันธงกันไม่ได้นะ ว่าใครเป็นอะไร (ยิ้ม) เพราะความหลากหลายของรูปแบบเพศมันเยอะมากจริงๆ

แต่ก็ยังบอกเสมอครับว่า ตอนนี้ก็มีแฟนเป็นผู้หญิงนะ ถึงแม้ว่าลักษณะเราจะตุ้งติ้งเหลือเกิน แต่เราก็ยังปรารถนาอยู่เสมอครับว่า คนที่อยู่ข้างๆ เราต้องเป็นผู้หญิง เป็นเพื่อนคู่คิดกับเรา เป็นคนที่จะอยู่กับเราไปจนแก่จนเฒ่า เป็นคนที่สนิทกับเรามากที่สุด เป็นคนที่รู้ใจเรามากที่สุด และอยู่ด้วยกันไปได้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังคบกันอยู่ครับ

ก็คบกันมานานแล้วเหมือนกัน ตอนแรกคบกัน 2 ปี แล้วก็เลิกกันไปประมาณ 1 ปี จนกลับมาคบกันอีก รวมแล้วก็ 5-6 ปีแล้ว เจอกันตั้งแต่อายุ 31 ปี ตอนนี้ผมก็ 36 แล้ว


ถ้าจะให้พูดเรื่องความรัก จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้เป็นคนโรแมนติกอะไร แล้วก็ไม่ได้เป็นคนที่คิดว่าแก่นชีวิตจะต้องทุ่มเทไปกับเรื่องนี้ แต่พอเราผ่านชีวิตมาระยะนึง ก็ทำให้เรารู้ว่า มนุษย์เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราควรจะมีคนคนนึงที่เป็นที่พึ่งของเรา ในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือ ในยามที่เรากำลังเดินผิดทาง

ในอดีต ผมเคยคิดว่าเราก็มีเพื่อนสนิทได้นี่หว่า แต่เพื่อนสนิทก็จะเติมเต็มคุณไม่ได้ทุกอย่างแบบที่คู่ชีวิตมีให้หรอกครับ ซึ่งทัศนคติชีวิตเรื่องนี้ของผมก็ได้เปลี่ยนไป แต่ก่อนจะรู้สึกว่าสบายแล้ว เป็นอิสระ แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าอย่างน้อยเราต้องมีคนคนนึงที่ รู้จักเราดีกว่า แม่เรารู้จักเราอีก (ยิ้ม)



เมื่อ “อาชีพที่หลงใหล” ไม่ใช่ “อาชีพในความจริง”

[ครั้งหนึ่ง เคยทำหน้าที่ "คนบันเทิง"]
จริงๆ แล้ว ตอนเรียน (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ) ผมจบเอกสื่อสารการแสดง (PA: Performing Arts) นะครับ คือใจเรารักการแสดงมาก ตั้งแต่ปี 1 ถึง ปี 4 ทำละครเวทีมาตลอด เป็นสิ่งที่หลงใหล แต่ย้อนกลับไปตอนปี 47 ถ้าจะมาสายนี้ ยังมองไม่ออกเลยว่าจบออกมาจะทำอะไร ผมก็เลยเลือกทำงานด้านวิทยุโทรทัศน์มาตั้งแต่ตอน ปี 3



[สมัยยังเป็น “บัณฑิตจบใหม่” จากรั้วจามจุรี]
พอเรียนจบออกมา ก็ยังคงอินกับเรื่องการแสดงอยู่ ใฝ่ฝันมากว่าถ้าไม่ได้เป็นนักแสดง ก็ขอเขียนบทละคร หรือกำกับการแสดงก็ได้ อยากเป็น Acting Coach ครับ แต่มันต้องไปเรียนเมืองนอก เพราะไม่มีใครให้คุณทำงานด้านนี้หรอกครับ ถ้าคุณจบมหาวิทยาลัยในเมืองไทยเกี่ยวกับการแสดง และเราก็ไม่มีปัญญาไปเรียน สุดท้ายมันก็เลยกลายหนึ่งในเส้นทางความใฝ่ฝันของเรา

สิ่งที่ชอบมากที่สุดในแขนงนิเทศศาสตร์ สำหรับผม ตอบได้เลยว่าคือการแสดง อยากทำมาก แต่พอทำไป เราก็ได้เป็นตัวกระจอกงอกง่อยในละครแต่ละเรื่อง ผมก็เลยมายึดอาชีพดีเจ-พิธีกร แล้วพอทำไปก็พบว่า มันเป็นอาชีพที่โคตรไม่มั่นคงเลย เป็นอาชีพที่ต้องรอโอกาสจากที่อื่น ถ้าในแต่ละเดือนไม่มีคนโทร.มาหาคุณ คุณก็จะไม่มีงาน หรือถ้าจะให้ไปทำเป็นงานประจำ ลำพังจัดรายการอย่างเดียว ค่าตอบแทนก็ไม่พออยู่ดี


[จั๊ด วัยละอ่อน]

จนได้มาสัมผัสกับการอ่านข่าว ก็ทำให้เราตอบตัวเองได้ว่า เราจะละความฝันเรื่องการแสดงทิ้งเอาไว้ดีกว่า เพราะถ้าให้กลับไปทำจริงๆ ความมั่นใจของเรามันหายไปแล้ว เพราะเราไม่ได้ทำมันมานาน และไม่ได้ทำมันทุกวันเหมือนตอนเรียนอยู่

ทุกวันนี้ รู้สึกว่าการเป็นผู้ประกาศข่าวคืออาชีพที่รัก และสามารถจะประกอบอาชีพนี้ไปได้อีกจนเราเกษียณเลย มันเป็นอาชีพที่สวนทางกับอาชีพอื่นๆ ในวงการบันเทิงเลยนะผมว่า เมื่อสังขารคุณร่วงโรย หน้าตาคุณช้ำแล้ว หรือคุณจะอ้วนลงพุง จะหัวล้าน จะอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าคุณยังประกาศข่าวได้คม ยังมีคนดูคุณ คุณยังนั่งไปได้จนอายุ 50 กว่า

เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้มารวมกัน แล้วก็เป็นอาชีพที่เรารักด้วย ถึงแม้จะไม่ได้เป็นอาชีพที่หลงใหลที่สุดเหมือนการแสดง แต่ก็เป็นอาชีพที่ลงตัวที่สุด และเป็นอาชีพที่เราจะทำไปได้อีกนาน



ผู้ประกาศในอุดมคติ ซัด “ความจริง” ให้เป็น “ความฮา”

ผู้ประกาศข่าวอุดมคติของผมคือ สามารถย่อยเรื่องยากให้ง่ายได้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีเรื่องยากบางเรื่อง ที่เราไม่สามารถพูดได้ในรายการข่าวของประเทศไทย ก็หวังว่ามันจะมีวันนั้นครับ หรือหวังว่าเราจะคิดวิธีการในการเล่าเรื่องแบบนั้นได้ โดยไม่เป็นอันตราย (ยิ้ม)

ผมเชื่อว่าประเทศไทยเรา ยังมีเรื่องอะไรให้เล่าได้อีกเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราอาจจะคิดกันไปเองด้วยซ้ำว่า เป็นเรื่องที่แตะไม่ได้ คือจริงๆ มันแตะได้นะเว้ย เราต้องลอง!!

ถึงแม้ว่าตอนนี้ ด้วยอายุงานของผม ด้วยตำแหน่งทางการงาน มันอาจจะทำให้เรายังลองแบบนั้นไม่ได้หรอก เพราะเรายังไม่สามารถกำหนดทิศทางทุกอย่างได้ในรายการข่าว เรายังไม่เก๋าพอ ยังไม่ได้อาวุโสพอ หรือยังไม่ได้รู้รอบพอ แต่ผมคิดว่าในระหว่างนั้น เราก็สามารถสั่งสมบางสิ่งบางอย่าง และทดลองกับมันไปได้เรื่อยๆ กับเรื่องที่คนอื่นเขาไม่เอามาเล่า แต่เราเอามาเล่าได้

ผมใฝ่ฝันมากว่ามันต้องมีวันนั้น วันที่เราสามารถพูดเรื่องใหญ่ๆ โตๆ ของประเทศนี้ได้ หรือไม่ก็จัดการกับเรื่องที่พูดได้ และทำให้มันพูดได้ง่ายและสนุกขึ้นอีก เราจะทำยังไง



รายการที่ผมชอบ คือรายการของทางอเมริกา ชื่อ “Last Week Tonight with John Oliver” ทุกครั้งที่เขาจัดรายการ คนดูผ่าน youtube เกิน 10 ล้านทุกคลิป คือเขาจัดรายการข่าวนะครับ แต่กลับทำให้เกิดเสียงหัวเราะขึ้นได้ตลอดเวลา คนหัวเราะกันจะเป็นจะตาย แต่เขาพูดเรื่องอะไรรู้ไหมครับ เรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ, เรื่องขีปนาวุธ, เรื่องเสรีภาพสื่อ ฯลฯ มีวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์แบบเละเลย แต่มันขำ

ถ้าสมมติเราทำให้มีรายการแบบนี้ในเมืองไทยได้ และคนไทยก็ชอบดูอะไรตลกๆ อยู่แล้วด้วย ชอบอะไรที่มันง่าย แต่เราจะทำยังไงให้เรื่องยากๆ ที่เราพูด มันเป็นเรื่องง่ายๆ ผมอยากทำแบบนั้นมาก

แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า บางทีคนดูอเมริกันกับคนดูไทย สิ่งที่เขาขำ (Sense of Humor) มันต่างกัน พอขึ้นชื่อว่า “การเมือง” ปั๊บ คนไทยจะตั้งกำแพงเลยว่า มันไม่ใช่เรื่องขำนะเว้ย แต่ผมเชื่อว่าความหลากหลายของสื่อตอนนี้ หรือแม้แต่เพจต่างๆ มีความคิดสร้างสรรค์กันบรรเจิดมาก และมันจะยิ่งทำให้รสนิยมของการดูข่าวของคนไทยเปลี่ยนไป เชื่อเถอะ!!





[“เด็กชายธีมะ” อารมณ์ดีสุดๆ เมื่ออยู่กับคุณแม่]









สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: สันติ เต๊ะเปีย
ขอบคุณภาพ: fb.com/judgejudd


กำลังโหลดความคิดเห็น