xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เอาเปรียบคนดู-แต่อยู่ไม่ได้ อวสาน "ลิโด" หมดยุค "โรงหนัง Stand Alone"!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โปรแกรมหน้าคงไม่มีอีกแล้ว! หลังจากที่ยื้อลมหายใจกันมาสักพัก ในที่สุดโรงภาพยนตร์ "ลิโด" โรงหนัง “สแตนด์อโลน’ ที่คอยสร้างความสุขอยู่คู่กับสยามสแควร์มานาน 50 ปี ก็ได้ปิดม่านอำลาลงไปแล้วในวันที่ 31 พ.ค.2561 คอหนังทั้งหลายต่างใจหายชี้ ลิโด คือสมบัติของชาติ พนง.เศร้า นักเขียนรางวัลซีไรต์เขียนคำอำลาให้กับวันสิ้นลมหายใจของลิโด โรงหนังที่ไม่เคยเอาเปรียบคนดู ยกย่องเป็นสถานที่ที่ก่อกำเนิดความฝันอันมากมาย

โบกมืออำลา โรงเก่าแต่เก๋า

กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ความทรงจำเมื่อผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงภาพยนตร์ลิโด ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันทั้งหมด 66 ชีวิต ก่อนฉายวันสุดท้าย 31 พฤษภาคม 2561 หลังสัญญาเช่าพื้นที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้สิ้นสุดลง

โรงหนังลิโดถือกำเนิดมาจาก พิสิฐ ตันสัจจา นักธุรกิจผู้ก่อตั้งเครือเอเพ็กซ์ และสยามมหรสพ เคยพลิกโรงละครศาลาเฉลิมไทยให้เป็นโรงภาพยนตร์จนประสบความสำเร็จและเตะตา กอบชัย ซอโสตถิกุล เจ้าของอาณาจักรซีคอนสแควร์ นันยาง และผงชูรสตราชฎา เลยชักชวนให้ไปบุกเบิกพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ บนถนนพระรามที่ 1 ด้วยกัน ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2511 ในชื่อ ‘สยามมหรสพ’ เป็นโรงภาพยนตร์ ที่มีความจุได้ 1,000 ที่นั่ง เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง ศึกเซบาสเตียน (Games For San Sebastian)

แน่นอนการโบกมือลาของโรงภาพยนตร์สแตนอโลนนั้น คือการมาของโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ ที่รวมรวมทั้งห้างร้านขายของ ร้านอาหาร และโรงภาพยนตร์เข้าไว้ในที่เดียว ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจากการฉายภาพยนตร์จากฟิล์มเป็นดิจิตัล จึงทำให้ผู้ชมที่ใช้บริการโรงภาพยนตร์แบบสแตนอโลนลดลง นอกจากนี้ ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง

ที่ดินย่านสยามสแควร์ ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ มีเนื้อที่ประมาณ 63 ไร่ ปัจจุบันประกอบด้วยโครงการค้าปลีกมากมาย มูลค่าทางเศรษฐกิจหลักแสนล้านบาท ทำให้ทำเลของโรงหนังลิโดเป็นยิ่งกว่า “ขุมทอง”

สำหรับภาพยนตร์รอบประวัติศาสตร์ 2 เรื่องสุดท้ายที่จะฉายที่โรงภาพยนตร์ลิโด คือเรื่อง Tonight at romantic theater รอบเวลา 18.45 น. และภาพยนตร์เรื่อง Kids on the slope เวลา 20.45 น.เป็นภาพยนตร์จากประเทศญี่ปุ่น แน่นอนทุกที่นั่งเต็ม พร้อมได้รับโปสเตอร์หนัง ลุ้นเสื้อยืด และถ่ายรูปกับ “สุภาพบุรุษเสื้อเหลือง” สัญลักษณ์ของโรงหนังแห่งนี้ด้วย

ส่วน โรงภาพยนตร์ สกาลา ในเครือเอเพ็กซ์นั้น ล่าสุด นันทา ตันสัจจา ประธานโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ ยืนยันว่า บริษัทและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ได้ตกลงต่อสัญญาเช่าพื้นที่ของสกาลาไปอีก 2 ปี โดยสัญญาฉบับล่าสุดนี้จะสิ้นสุดลงอีกครั้งในวันที่ 31 ธันวาคม 2563

"เราจะคิดถึงเธอตลอดไป”

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทยในปัจจุบัน ที่มักจะดูหนังกันตามห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน เพราะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ครบทั้งกิน ช็อป ชิล ทำให้รายได้ของโรงหนังลิโดลดฮวบ เพราะไม่ได้ทำเงินเท่าโรงมัลติเพล็กซ์อื่น แต่คนรักหนังหลายคนก็ยังชื่นชอบความขลัง มนต์เสน่ห์ของลิโด โดยเฉพาะคอหนังนอกกระแส

"การที่ได้ดูหนังนอกกระแสที่นั่นตั้งแต่สมัยเด็กและสุดท้ายได้พาหนังตัวเองมาฉายได้ในสถานที่จุดกำเนิดความอยากทำหนัง ก็ถือว่าสมบูรณ์เพียงพอแล้ว” เต๋อ -นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังแห่งยุค โพสต์รูปตนเองในโรงหนังลิโด โรง 3 กับการฉายหนังรอบสื่อ mary is happy, mary is happy ในวันที่ 22 พ.ย. 2556

นอกจากจะฉายภาพยนตร์นอกกระแสและในกระแสแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ และอยากจะมีสถานที่ไว้ฉายภาพยนตร์ของตนเอง ได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงาน โดยเจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้

สำหรับพนักงานรุ่นยุคบุกเบิกนั้นยิ่งใจหาย เพราะทั้งชีวิตและหัวใจอยู่กับโรงหนังลิโด

“ใจหายมาก ไม่ทันตั้งตัว เข่าทรุดเลย กะว่าตอนนี้ผมอายุ 71 จะอยู่อีกซัก 4-5 ปี ก็ 75 ถ้าไหวจะอยู่ถึง 80 แต่ตอนนี้มันไปแล้ว...อุบล คล้ายทอง ผู้จัดการโรงภาพยนตร์ลิโด กล่าวด้วยความรู้สึกเศร้า เพราะเขาเริ่มการเป็นพนักงานที่แห่งนี้ด้วยการเป็นเด็กเดินตั๋ว เมื่อปี 2511 สมัยโรงภาพยนตร์เพิ่งก่อสร้างเสร็จสิ้น

"มีขาประจำอยู่เยอะ รู้จักกัน ถาม...ลุงจะไปแล้วเหรอ ผมบอกจะไปแล้ว 31 นี้คงจะไม่ได้เจอกันแล้วนะ เขาก็บอกเป็นไปได้ยังไง โกหกรึป่าว บอกไม่โกหก ไปจริง"

ทุกเหตุการณ์นับตั้งแต่ยุครุ่งเรือง คุณลุงอุบลยังจำได้ดี พร้อมบอกเล่าเหตุการณ์อดีตในยุครุ่งเรืองด้วยดวงตาเป็นประกาย การดูหนังที่ลิโดขนาดต้องจองตั๋วล่วงหน้านานนับสัปดาห์ เคยสร้างปรากฏการณ์โรงภาพยนตร์แตกมาแล้ว จากการฉายเรื่องขุมทองแม็คเคนนา (Mackenna's Gold)

"รุ่นผมนะ คงเกษียณอยู่บ้านแล้ว เพราะอายุก็เยอะแล้ว จะสมัครงานที่ไหนก็คงลำบากแล้ว ก็คงอยู่บ้าน พูดถึงใจหายนะ เราผูกพันกับที่นี่มานาน อยู่ๆเขาจะมาปิดโรงลง" สมาน วัชระศิริโรจน์ หัวหน้าพนักงานฉายหนังโรงภาพยนตร์ลิโด บอกกล่าวถึงความผูกพันมาทั้งชีวิต

นอกจากนี้ หลายคนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ก็ยังหลงรักในความคลาสสิค ราคาที่เอื้อมถึง บรรยากาศ และการคัดเลือกหนังที่ไม่ใช่หนังตามกระแสทำเงินอย่างเดียว มีการฉายหนังทั้งเทศกาลหนังอิตาเลียน หนังแม็กซิกัน หนังโปรตุเกส หนังอินเดีย หนังอิหร่าน

คงไม่มีเครือไหนกล้าทำเช่นนี้ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนดูทั้งสิ้น!

โรงหนัง...ที่ไม่เอาเปรียบคนดู


หลากหลายข้อความจากแฟนโรงหนังลิโดบนแผ่นกระดาษจากลายมือของแต่ละคนแปะเรียงรายบนบอร์ดหน้าโรงหนังส่งผ่านความรู้สึก “ความคิดถึง” ที่จะมีให้ตลอดไป หลังจากทราบว่าจะต้องหยุดการฉายภาพยนตร์ เช่นเดียวกับ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ที่ได้กลั่นความรู้สึกออกมาเป็นตัวอักษร

“ผมรู้จักลิโดครั้งแรกเมื่อเข้ากรุงเทพฯครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 แต่ไม่เคยดูเลยจนพ้นปี 2518 ช่วงสองปีนั้นผมเรียนหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเข้มข้น จนเมื่อสอบเข้าได้แล้ว จึงเริ่มหลงระเริงไปดูหนังเป็นการใหญ่ และลิโดเป็นหนึ่งในโรงหนังในดวงใจของผม

เวลานั้น สกาลา ลิโด สยาม จัดเป็นจุดศูนย์กลางของดาราจักร ทั้งสามเป็นโรงหนังระดับคุณภาพ จอกว้างใหญ่ ค่าตั๋วสองแถวหน้า 10 บาท จึงเป็นที่สถิตของผม เพราะไม่มีเงินดูหนังราคาแพงกว่านั้น

จุดดีก็คือเวทีที่ลาดขึ้นจากพื้น ทำให้การดูหนังสองแถวหน้าไม่ทรมาน ไม่ถูกขอบเวทีบังเหมือนโรงหนังอื่นๆ เป็นโรงหนังที่ไม่เอาเปรียบคนดู

สยามเป็นโรงหนังแห่งแรกในเมืองไทยที่มีบันไดเลื่อนและฉายเฉพาะหนังไทย ลิโดกับสกาลาฉายหนังฝรั่ง (แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น ครั้งหนึ่งสกาลาฉายหนังจีนเรื่อง ไอ้หนุ่มพันมือ ภาคสอง และสยามฉายหนังญี่ปุ่นเรื่อง เจ็ดเซียนซามูไร) เวลานั้นโรงหนังแต่ละโรงมักมีจุดขายค่อนข้างชัด โรงที่ฉายหนังฝรั่งมักไม่ฉายหนังไทย


ลิโดคือที่ดูหนังเรื่อง Harry & Walter Go to New York, Silver Streak (ยีน ไวล์เดอร์ กับ ริชาร์ด ไพรเออร์) The Mechanic (ชาร์ลส์ บรอนสัน) และอีกนับไม่ถ้วน

ตอนที่ลิโดเกิดไฟไหม้ เราก็เจ็บปวด แต่โชคดีที่มันยังไม่ตาย ฟื้นใหม่เป็นโรงหนังย่อยถึงสามโรง เสียมนตร์เสน่ห์แบบเดิมไป แต่ก็ดีกว่าหายไปตลอดกาล และเมื่อโรงหนังสยามตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงถูกเผาราบ หัวใจของคนรักสามโรงหนังนี้รวดร้าว พูดอะไรไม่ออก

วันนี้ลิโดจะหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล ทว่าความทรงจำยังดำรงอยู่ครบถ้วน ขอบคุณ ลิโด เธอเป็นที่กำเนิดความฝันมากมายของฉัน

สำหรับฉัน เธอยังเป็นจุดศูนย์กลางของดาราจักรเสมอ”



กำลังโหลดความคิดเห็น