xs
xsm
sm
md
lg

“อุโมงค์” หรือ “ปล่องเมรุ”? แคบ-เตี้ย-เสี่ยงตาย ตลกร้ายชีวิตประชาชน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ล้านเปอร์เซ็นต์ ผมบอกได้เลย ต้องมีศพเกิดจากการตั้งเจ้ากล่องนี้ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน!!” ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจาก “โครงการทางด่วน บางปะอิน-โคราช” ฝากส่งเสียงเตือนถึงเจ้าของโปรเจกต์

ท่ามกลางคำวิจารณ์หนักของสังคมในทิศทางเดียวกัน สงสัยว่าทำไมถึงได้เลือกสร้าง “อุโมงค์” ไม่สร้าง “สะพาน” ทั้งที่ปลอดภัยกว่า กระทบวิถีเดิมของชาวบ้านน้อยกว่า หรือเพราะเห็นว่า “เงินงบประมาณ” มีค่ามากกว่า “ชีวิตของประชาชน”!!?




#อุโมงค์เจ้าปัญหา ใหญ่กว่า “เก๋ง” ผ่านไม่ได้!!

[ต่างกันลิบลับ "ภาพฝัน" (สะพานข้าม) กับ "ความจริง" (อุโมงค์เจ้าปัญหา)]
“คิดได้อย่างไร (ต้องทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน) สร้างอุโมงค์ 1 ช่องทาง เพื่อแทนที่ ถนน 2 เลนปกติ โดยให้ทางด่วนพาดผ่าน ทำไมไม่สร้างสะพานข้ามแบบปกติ”

หลังคำตัดพ้อของชาวบ้านรายหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ใน ต.คชสิทธิ์ อ.หนองแค จ.สระบุรี ถูกเผยแพร่ลงไปในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Kanong Sangangam" พร้อมภาพ “อุโมงค์วัดโคกขี้เหล็ก” อุโมงค์เจ้าปัญหาที่เกิดจาก “โครงการทางหลวงหมายเลข 6” (บางปะอิน ถึง นครราชสีมา) กม. 29.374 ประเด็นดังกล่าวก็กลายเป็นที่วิจารณ์อย่างหนักบนโลกออนไลน์ในทันที

โดยเฉพาะภาพ “ขนาดที่แสนอนาถ” ของอุโมงค์ตัวดังกล่าว ซึ่งกำหนดเอาไว้ที่ “ความกว้าง 3 เมตร, ความสูง 2.4 เมตร และยาว 52 เมตร” หรือเทียบง่ายๆ จากขนาดรถที่สามารถวิ่งผ่านได้ก็คือ กว้างกว่าขนาดของ “รถเก๋ง” และ “รถกระบะ” เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงกลางคันในอุโมงค์นั้น นั่นหมายความว่าคนในรถคันนั้นจะไม่สามารถเปิดประตูลงมาจากรถได้นั่นเอง!!


[แคบแค่ไหน ถามใจดู]

“ชาวบ้าน 200 กว่าคน ไม่มีใครเห็นด้วยเลย” คือคำตอบของ คนอง สง่างาม หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างอุโมงค์ หนึ่งในสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมเพื่อคัดค้านโครงการ ซึ่งเป็นคนเดียวกับเจ้าของโพสต์ต้นเรื่องที่ทำให้เกิดประเด็นร้อน เขาเปิดใจเล่ารายละเอียดผลกระทบทั้งหมดให้ฟัง หลังทีมข่าว ผู้จัดการ Live ต่อสายตรงไปขอข้อมูล

ถ้าอุโมงค์นี้สร้างเสร็จ จะมีแค่มอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง รถกระบะเท่านั้นที่วิ่งผ่านไปได้ พวกรถขนส่ง, รถบรรทุกข้าว, หรือชาวบ้านจะจ้าง รถเทรลเลอร์ลากรถเกี่ยวข้าวเข้ามา ก็ไม่สามารถวิ่งผ่านไปได้เหมือนกัน หรือแม้แต่รถบัสจากกรุงเทพฯ ที่จะวิ่งผ่านมาทางนี้ ก็ทำไม่ได้อีกเหมือนกันครับ เพราะระดับความสูงของอุโมงค์ก็กีดกันให้เข้าไม่ได้


[ชาวบ้านบางส่วน ที่ร่วมออกมาคัดค้าน เพราะถูกอ้าง "มติชาวบ้านปลอม"]

พื้นที่รอบๆ นี้ก็มีชาวบ้านทำการเกษตรกันอยู่ด้วย แล้วก็มีโรงงานอยู่ด้านหลัง หลังจากเส้นทางผ่านจุดสร้างอุโมงค์ตรงนี้ไป ก็จะเป็นที่ตั้งของ “นิคมอุตสาหกรรมเหมราช” ด้วย เพราะฉะนั้น รถสูงๆ หรือขนาดกว้างกว่าอุโมงค์ ก็ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน ซึ่งหมายความว่าต้องวิ่งอ้อมด้วยครับ

จากปกติ ถ้าวิ่งรถจากจุดที่จะสร้างอุโมงค์ จะไปยังถนนเส้นหลัก (ถ.สุวรรณศร) ระยะทางจะอยู่ที่ 2 กม. แต่ถ้ามีอุโมงค์ปิดกั้นเส้นทางขึ้นมา ก็ต้องเปลี่ยนไปวิ่งอีกเส้นนึง ซึ่งจะทำให้อ้อมกว่าเดิม เป็นระยะทาง 8 กม.



[ทางตรงกว่า 2 กม. ก่อนถึง "อุโมงค์เจ้าปัญหา" ซึ่งถูกมองว่าน่าจะยิ่งเพิ่มความอันตราย ถ้ามีอุโมงค์อยู่เบื้องหน้า]
ส่วนเรื่องความอันตรายก็น่าเป็นห่วงเหมือนกันครับ ถ้าอุโมงค์นั้นสร้างเสร็จและให้ใช้จริงๆ ผมว่าคงต้องเตรียมรถมูลนิธิมาไว้รับคนไปได้เลย เพราะก่อนจะถึงอุโมงค์ตรงนั้น ประมาณ 2 กม. จะเป็นทางตรงยาว ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าคนที่สัญจรไปมาก็จะต้องเหยียบมาด้วยความเร็ว แล้วคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น

อย่างเมื่อวันก่อน ทาง กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ก็เข้ามาดูในพื้นที่อุโมงค์ด้วย พอเขาจอดรถข้างใน จะเข้าไปตรวจเช็กพื้นที่ ปรากฏว่าเปิดประตูลงไม่ได้ เพราะในนั้นมันแคบมาก แล้วคิดดูว่าถ้าสร้างเสร็จแล้วเกิดอุบัติเหตุภายในนั้น จะมีใครเข้าไปช่วยเหลืออะไรกันได้ไหม ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุอะไรขึ้นมาภายในนั้น คงไม่สามารถเปิดประตูออกมาได้”


ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่อง “ผลของการก่อสร้าง” โครงการนี้เท่านั้น ที่ทิ่มแทงใจของคนองและชาวบ้าน แต่ “ต้นตอการอนุมัติการก่อสร้าง” ก็เล่นเอาพวกเขาจุกไปเหมือนกัน เพราะดูเหมือนจะมีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่ ด้วยการส่งมติเท็จไปยังที่ประชุม โดยสรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วยและต้องการให้สร้าง “อุโมงค์ 2 ช่องทาง” เรียบร้อยแล้ว

ทั้งที่จริงแล้ว ไม่เคยมีมติจากชาวบ้านแบบนั้นมาก่อน แต่สิ่งที่ชุมชนเรียกร้องคือ ขอให้เปลี่ยนเป็นแบบ “สะพานข้าม” ดีกว่า ส่งให้การก่อสร้าง “อุโมงค์เจ้าปัญหา” ในครั้งนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนักของคนในชุมชน




จะ “อุโมงค์” หรือ “สะพาน” ขอแค่ “กว้าง-สูง” พอ

[สภาพการก่อสร้างล่าสุดของ “อุโมงค์วัดโคกขี้เหล็ก” อุโมงค์เจ้าปัญหาที่เกิดจาก “โครงการทางหลวงหมายเลข 6” (บางปะอิน ถึง นครราชสีมา) กม. 29.374]
ไม่ใช่แค่ “อุโมงค์เจ้าปัญหา” ที่ วัดโคกขี้เหล็ก เท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบในทำนองเดียวกันนี้ คนองให้ข้อมูลกับทีมข่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีอีกหลายจุด และอุโมงค์ใน ต.ห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีชาวบ้านได้รับผลกระทบหนักอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถส่งเสียงร้องเรียนอะไรได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างเสร็จสิ้นลงแล้ว

“หลังจากที่ผมแชร์เรื่องอุโมงค์ไป ก็มีคนอีกพื้นที่ติดต่อผมมา เล่าให้ฟังว่าพื้นที่ชุมชนเขาสร้างเสร็จแล้ว เป็นอุโมงค์เล็กๆ แบบนี้แหละครับ แถมปัญหาก็คือตัวอุโมงค์มันเตี้ยกว่าพื้นถนน พอฝนตก น้ำก็ท่วม

แล้วพอชาวบ้านส่งเสียงร้องเรียนกันออกมาหลังสร้างเสร็จ ทางผู้รับเหมาก็โทษว่า ตอนเขาสร้างอุโมงค์กัน ทำไมชาวบ้านไม่มีปากมีเสียง พอเขาสร้างเสร็จ ถมดินเทหมดแล้ว ค่อยมาร้องเรียน พอเห็นตัวอย่างคล้ายๆ กันแบบนี้ ผมก็มองว่ามันก็สะท้อนอะไรได้มากเหมือนกัน


[อุโมงค์อีกแห่ง ณ ต.ห้วยขมิ้น จ.สระบุรี ซึ่งเกิดจากโครงการทางด่วนเดียวกัน ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว และกระทบวิถีชีวิตการสัญจรของชาวบ้านไม่ต่างกัน]

เมื่อให้ลองวิเคราะห์จากสายตาของคนในพื้นที่ ในฐานะของตัวแทนชาวบ้าน ต.คชสิทธิ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของทางภาครัฐ ว่าอะไรคือต้นตอที่แท้จริง ที่ทำให้เกิด “อุโมงค์เจ้าปัญหา” ตัวนี้ขึ้นมา คนองจึงให้คำตอบว่าน่าจะเป็นที่ระบบการทำงาน วางแผน และการลงพื้นที่สำรวจตั้งแต่ต้น

เขาอาจจะไม่ได้ลงมาดูพื้นที่จริง หรือไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตปกติของชาวบ้านว่า ต้องใช้ถนนทำอะไรบ้าง รถแบบไหนที่ต้องสัญจรผ่านไปบ้าง เลยทำให้เขาตัดสินใจจะสร้างอุโมงค์ที่กำหนด ความสูง-ความกว้าง เอาไว้แค่นั้น

ผมไม่อยากพูดว่าใครเอางบไปกินหรือไม่เอาไปกิน อย่างที่เห็นคนอื่นวิจารณ์กัน แต่ผมมองว่าอาจจะเป็นเพราะ เขาไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจจริง แล้วคำนวณเอาไว้เลยว่า ถนนเส้นที่ทางด่วนตัดผ่าน จะต้องมีสะพานประมาณ 8 สะพาน งบประมาณจะเกินนี้ไม่ได้ ส่วนถนนเส้นที่เหลือจากที่คาดการณ์เอาไว้ ก็ให้ถนนเป็นอุโมงค์ไป แบบนี้หรือเปล่า ก็เลยทำให้เกิดเป็นปัญหาแบบนี้ขึ้นมาได้



[อุโมงค์เจ้าปัญหา มี “ความกว้าง 3 เมตร, ความสูง 2.4 เมตร และยาว 52 เมตร”
แต่ถามว่าทำไมเขาไม่เลือกสร้าง “สะพาน” แทนที่จะเป็น “อุโมงค์” อย่างที่ฟันธงลงมาแบบนี้ อาจจะเพราะอุโมงค์มันสร้างง่ายกว่า เสร็จเร็วกว่า แค่สร้างให้สูงขึ้นไป 2 เมตรกว่าๆ แล้วถมดินทำทางด่วนข้างบน ก็จบแล้ว แต่ถ้าจะสร้างสะพาน เขาก็ต้องสร้างตอม่อเพิ่มเข้าไปอีกไม่รู้ยาวเท่าไหร่ เพื่อให้มันสูงขึ้น

แต่ประเด็นก็คือ ไม่ว่ามันจะสร้างยากหรือง่ายก็ตาม ตัวทางการผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ได้เคยเข้ามาสำรวจความคิดเห็น หรือสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ตรงนั้นก่อนที่จะสร้างมันบ้างไหม จากถนนที่เคยกว้าง 10 เมตร แล้วจู่ๆ คุณมาทำให้มันเหลือช่องแค่ 3 เมตร ถามว่าเขาจะแฮบปี้ไหม

เหมือนคุณเคยมีประตูเข้าบ้านได้กว้าง 6 เมตร แต่จู่ๆ ก็มีทางการมาถมที่ หรือมาปลูกต้นไม้ขวางให้คุณเหลือช่องเข้าบ้านได้กว้างแค่ 3 เมตร คุณจะรู้สึกยังไง



[การแสดงออกของชาวบ้าน]
พวกเราไม่ได้ต่อต้านโครงการทางด่วนกันนะครับ เพราะการขยายเส้นทางแบบนี้ มันก็ดีต่อประเทศ จะได้พัฒนา ผมก็สนับสนุน แต่ถ้ามันลิดรอนสิทธิของเรามากจนเกินไป เราก็แค่อยากแสดงพลังอะไรออกมาบ้าง

ความคืบหน้าเรื่องการสร้างอุโมงค์ตอนนี้ก็สร้างคืบหน้าไปได้เยอะแล้วครับ ส่วนตัวทางด่วนด้านบน ก็ถมที่เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงเหมือนกัน นอกจากออกมาส่งเรื่องเหล่านี้ให้ประชาชนได้รับรู้ว่า มีคนกลุ่มนึงในสังคมที่อยู่ตรงนี้ และกำลังถูกลิดรอนสิทธิ

จริงๆ แล้ว ไม่ว่าคุณจะทำ “อุโมงค์” หรือจะทำ “สะพาน” ผมไม่สนใจ แต่ขอให้มันเหลือความกว้างเท่าๆ กับถนนเดิม ทำได้ไหม ถ้าต้องสร้างทางตรงนั้นจริงๆ ชาวบ้านก็อยากให้เป็นทางที่ไม่กินพื้นที่ ไม่ทำให้ถนนแคบลงไปอีก หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่มีแกนกลางของอุโมงค์มาขวางทาง ถ้าเป็นสะพานไปเลยก็จะดีกว่าด้วยซ้ำ



[ชาวบ้านกว่า 200 ชีวิตมาประชุมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็น แต่กลับไร้ความหมาย]
หรือถ้าฟันธงแล้วว่าจะเลือกสร้าง “อุโมงค์” ไม่เอา “สะพาน” อย่างน้อยๆ คุณก็ควรจะเลือกสร้าง “อุโมงค์ใหญ่” หน่อยสิครับ ให้รถทุกชนิดสามารถลอดผ่านไปได้ อย่างที่ผมเคยขับรถไปที่ใต้ เขาก็มีอุโมงค์ใหญ่โตมโหฬารบนถนนเพชรเกษม ซึ่งชาวบ้านตรงนั้นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน

พวกผมไม่ได้ต้องการสู้กับอำนาจของใครหรอกครับ แต่แค่อยากวอนพลังประชาชน ผมขอร้องเรียนกับประชาชนด้วยกันเอง แชร์เรื่องราวไปให้ถึงทุกคน ให้เขารู้ว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับชาวบ้านกลุ่มนี้อยู่ ความรู้สึกของผมและชาวบ้านที่นี่ก็คือ จะเข้ามาทำอะไรก็ตาม ขออย่าให้มากระทบวิถีชีวิตเดิมของพวกเราจะได้ไหม?


ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: คนอง สง่างาม
 


กำลังโหลดความคิดเห็น