จาก “ครูภาษาอังกฤษ, นายทหารประมวลผล, เสมียนด้านการเงิน ฯลฯ” ที่เคยคุ้นกับการทำงานภาคพื้นดิน สู่ความอิสระบนผืนฟ้า ลุกขึ้นมาคว้าฝัน ควงสว่าน-เจาะเมฆ ได้สำเร็จในนามของ “นักบินหญิงรุ่นแรกประจำกองทัพอากาศไทย” และนี่คือเรื่องราวความแกร่งของ “5 สาวติดปีก” ที่จะทำให้โลกใบนี้รู้ว่า เพศหญิง-เพศชาย ฝันได้เท่าเทียมกัน!!
ฝ่าทางชีวิตเดิม เพื่อมา “บินคว้าฝัน” วันนี้
[สดใสในพิธีประดับเครื่องหมาย รับรองว่าได้เป็น "นักบิน" เต็มตัว]
“ความกดดันที่หนักที่สุดในการเปลี่ยนมาทำเส้นทางนี้ ก็คือการกดดันตัวเองค่ะ” สาวแกร่งผมสั้นในเครื่องแบบสีเขียวเข้ม เริ่มหมุนเข็มนาฬิกากลับหลัง ก่อนพาคู่สนทนาและเพื่อนสาวร่วมฝูงบินอีก 4 คน ย้อนกลับไปยังวันที่เธอยังดำรงตำแหน่ง “นายทหารการเงิน” ประจำกรมการเงินทหารอากาศ
ในวันนั้น “หมวดพีร์” หรือ เรืออากาศโทหญิง พีรศรี จักรไพศาล ได้แต่มองดูชีวิตติดปีกในกองทัพวันแล้ววันเล่าด้วยใจใฝ่ฝัน “ถ้าเรามีโอกาส เราจะเป็นนักบิน” เธอบอกกับตัวเองเบาๆ เอาไว้แบบนั้น แต่ก็ไม่เคยคิดจริงๆ จังๆ ว่าเสียงที่ส่งให้ตัวเองอยู่ในใจ จะมีผลอะไรสะท้อนกลับมา เพราะไม่คิดว่าทางกองทัพอากาศจะเปิดรับสมัคร “นักบินหญิง” มาร่วมฝูงบิน แต่แล้วมันก็เกิดขึ้นในที่สุด
“ตอนแรกไม่คิดว่าทางกองทัพอากาศจะเปิดรับสมัครเลยค่ะ คิดแต่ว่าจะทำหน้าที่ในตำแหน่งเดิมของเราให้ดีที่สุด เพราะเราคิดมาตลอดว่า เครื่องบินไม่ได้บินได้ด้วยนักบินแค่คนเดียว ต่อให้เราทำหน้าที่อย่างอื่นในกองทัพอากาศ ทุกคนก็มีส่วนช่วยให้เครื่องบินบินได้ แต่พอมีโอกาสเปิดขึ้นมาอย่างที่เรานึกไม่ถึง เราก็ลองมาสอบ แล้วก็ผ่านการทดสอบค่ะ
[กอดคอกันแกร่ง!! หมวดพีร์, หมวดนกยูง และหมวดน้ำตาล]
หลังจากนั้นก็ได้เจอกับโลกที่ใหม่พอสมควร จากแต่ก่อนทำบัญชี ตอนนั้นก็มีแต่คำถามเกิดขึ้นในใจเยอะเหมือนกันว่า เราจะบินได้ไหม มันจะเป็นยังไง พอทุกอย่างมันยังไม่ไปถึงจุดนั้น ความเครียดก็จะเกิดขึ้นกับตัวเรา แต่สุดท้ายเราก็ต้องให้กำลังใจตัวเองค่ะว่า เราทำได้”
หญิงสาวที่เรียนจบ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ก็สามารถไล่ตามฝัน-ผันมาเป็น “นักบิน” ได้ คือบทพิสูจน์ที่หมวดพีร์ได้ฝากเอาไว้ ไม่ต่างจาก “หมวดน้ำตาล” หรือ เรืออากาศโทหญิง ชนากานต์ สอนจ้าน เพื่อนสาวร่วมฝูง บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ อีกราย ที่ผันตัวเองจากตำแหน่ง "นายทหารประมวลผล" ประจำโรงเรียนนายเรืออากาศ มาพบตัวตนในกองทัพอากาศแห่งนี้เหมือนๆ กัน
“น้ำตาลเรียนจบ สาขาวิชาสถิติ มาค่ะ ถามว่ามันเอามาใช้ในเรื่องการบินได้บ้างไหม (นิ่งคิดนิดนึง) ก็ใช้ได้นะคะเกี่ยวกับด้าน "วิทยาศาสตร์ฟิสิกส์" เพราะเวลาบิน มันก็จะมีให้เราคำนวณเรื่อง ความเร็ว-ความสูง ของการบิน จะมีเรื่องของตัวเลขมาเกี่ยวข้องอยู่ในนั้นด้วยอยู่แล้วค่ะ”
“แต่คณะที่หนูเรียน ไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไหร่นะ” เรืออากาศตรีหญิง ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์ หรือ “หมวดพิซซ่า” ให้คำตอบแนบรอยยิ้มตบท้าย หลังถูกโยนคำถาม เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่าง “คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์” ที่เลือกเรียน กับ “เส้นทางการบินระดับมืออาชีพ” ที่ทำอยู่ทุกวันนี้
“ที่พอจะเอามาประยุกต์ใช้ได้ คงเป็นเรื่องภาษาค่ะ” ว่าแล้วหมวดพิซซ่าก็เลือกหยิบประสบการณ์ของ “เด็กสายศิลป์” คนนึงขึ้นมา เพื่อบอกเล่าถึงจุดพลิกผันที่นำเธอมาสู่เส้นทางฝันอย่างตอนนี้
“ตอนแรกหนูอยากเป็นแอร์ฯ ค่ะ แต่ทางบ้านอยากให้เรียนต่อก่อน หนูก็เลยมานั่งหาข้อมูลว่าจะเรียนทางด้านไหนดี ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะยังไงดี รู้แค่ว่าตัวเองอยากจบมาแล้ว ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับ “เครื่องบิน” ก็เลยมาเจอค่ะว่า เด็กสายศิลป์ก็เป็นนักบินได้ แค่เราต้องสอบผ่านมาตรฐานเดียวกันกับทุกคน
หนูก็เลยเลือกเรียนต่อที่ "สถาบันการบินพลเรือน" เรียนจบ กองทัพอากาศเขาเปิดรับสมัครพอดี ก็โชคดีค่ะที่คุณพ่อคุณแม่เขาสนับสนุนเราตลอด ไม่ว่าจะชอบหรืออยากทำอะไรก็ตาม”
[หมวดไอ พร้อมทำการบิน]
ถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องเด็กสายศิลป์ที่ผันตัวมาสายนี้ ก็ยังมี เรืออากาศโทหญิง กานต์ชนก จรรยารักษ์ หรือ “หมวดนกยูง” อีกหนึ่งคน ที่มาจากคณะและสถาบันเดียวกันกับหมวดพิซซ่า ต่างกันตรงที่ว่าหลังจบการศึกษาแล้ว สาวผมยาวหน้าคมอย่างหมวดนกยูง ก็ตัดสินใจมาเข้ารับราชการในกองทัพอากาศเลยทันที ในตำแหน่ง “ครูภาษา” สอนภาษาอังกฤษให้ข้าราชการในกองทัพ
กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว “โครงการนักบินหญิงรุ่นแรกประจำกองทัพอากาศไทย” ก็ถือกำเนิดขึ้น ความฝันวัยเด็กของหมวดนกยูงจึงถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง และแน่นอนว่าเธอเลือกที่จะสู้ไม่ถอย แม้จะรู้ดีว่าหนทางข้างหน้าคือทางที่เธอไม่เคยลุยผ่านมาก่อนเลยก็ตาม
“ตอนเด็กๆ อยากเป็นอยู่ 3 อย่างค่ะ คือ ครู, พยาบาล แล้วก็ นักบิน ซึ่งเราก็ได้เป็นแล้ว 2 อย่าง ส่วนพยาบาลน่าจะไม่ได้เป็นแล้วค่ะ (หัวเราะ) น่าจะไม่ทันแล้ว และพอมาเลือกทำด้านนี้ เราก็ต้องกลับมาเรียนคำนวณใหม่ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับตัวเลขมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ในเมื่อทำงานการบิน เราต้องใช้มัน เราก็พยายาม
ไหนจะเรื่องการต้องมาเป็นลูกศิษย์อีกครั้งนึง จากเคยเป็นครูยืนสอนคนอื่น เราก็ต้องให้คนอื่นมาสอนเราอีกรอบ ในขณะที่เราก็ไม่ใช่เด็กๆ แล้ว มันก็ทำให้ต้องปรับตัวมากอยู่พอสมควรเลยค่ะ และทุกอย่างก็เป็นความรู้ใหม่ทั้งหมด
ตอนนั้นก็กดดันตัวเองหนักอยู่เหมือนกันค่ะว่า เราต้องทำให้ได้ แต่หลังจากผ่านไปสักพัก เราก็รู้ว่ากดดันตัวเองมากไปก็ไม่ดี ก็เลยค่อยๆ ปรับ แล้วก็ผ่านมาได้ค่ะ สุดท้ายเราก็รู้ว่ามันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่เหมือนเรากลัวไปเองมากกว่า”
คนที่ถูกมองว่าต้องปรับตัวน้อยที่สุดแล้วในการเรียนก็คือ “หมวดไอ” เรืออากาศตรีหญิง สิรีธร ลาวัณย์เสถียร เพราะเป็นคนเดียวที่เรียนสายการบินมาโดยตรง คือจบจาก “สถาบันการบิน ม.รังสิต” แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวก็มองว่าเส้นทางสายนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อยู่ดี เนื่องจากหมวดไอยังมีอุปสรรคเรื่อง “การเป็นทหาร” ที่รอให้มาทดสอบอยู่อีกเพียบ
“ไอกับพิซซ่า เราไม่ได้รับราชการทหารมาก่อน เป็น 2 คนที่สมัครมาจากข้างนอก เพราะฉะนั้น อุปสรรคช่วงแรกๆ ก็คือ เราจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเป็นทหารเลยค่ะ และกระบวนการหลักสูตรมันจะค่อนข้างรวบรัด ทำให้เรามีความวิตกกังวลเรื่องวินัยการเป็นทหารอยู่พอสมควร แต่พอเวลาผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวก็ขัดเกลาให้เราเป็นทหารได้เต็มตัว”
“หญิง-ชาย” บินได้เท่าเทียม!!
ขนาด “ผู้หญิงขับรถ” ยังถูกสบประมาทเลย นับประสาอะไรกับ “ผู้หญิงขับเครื่องบิน” ถามหน่อยว่าหลังผ่านการฝึกบินกันมาอย่างหฤโหด พบว่ามีข้อจำกัดข้อไหนบ้างไหม ที่ผู้ชายเท่านั้นที่ทำได้ แต่ผู้หญิงทำไม่ได้ หรือยากเกินไปที่จะทำมัน? ว่าแล้วคนที่ถูกตั้งคำถามทั้ง 5 ก็ตอบกลับเป็นเสียงเดียวกัน ผ่านถ้อยทีหนักแน่นว่า “ไม่มีค่ะ” ก่อนปล่อยให้สาวหน้าหวานและชื่อหวานที่สุดในทีมอย่างหมวดน้ำตาล ช่วยเทียบ ความเหมือน-ความต่าง ระหว่างนักบินทั้งสองเพศ
“เราถูกฝึกฝนมาด้วยหลักสูตรใกล้เคียงกันค่ะ คือถึง นักบินหญิงกับนักบินชายจะไม่ได้ฝึกด้วยกัน จะแยกกันฝึกคนละที่ แต่ฝึกในพื้นที่มาตรฐาน และเราอยู่ในมาตรฐานเดียวกันค่ะ เป็นมาตรฐานที่รับรองว่าเราสามารถทำการบินได้เหมือนๆ กัน”
เริ่มจากการอัดด้วย “หลักสูตรการฝึกผู้หมวด” เข้าไปก่อน โดยมีการโดดร่มพาราเซล เพื่อเป็นเครื่องรับรองว่าหญิงสาวทั้งหมดนี้ ได้กลายเป็น “นายทหาร” เต็มตัวแล้ว จึงต่อด้วย “หลักสูตรเกี่ยวกับการบิน” ในเลเวลต่างๆ ซึ่งจะมีตั้งแต่วิธีการยังชีพในป่า, วิชาสรีระวิทยาการบิน เพื่อศึกษาว่าร่างกายของคนเรา จะมีผลแตกต่างออกไปมากน้อยแค่ไหน ขณะที่กำลังบิน และกัปตันสาวเหล่านี้จะต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง เพื่อเอาตัวรอดในแต่ละสถานการณ์
จากนั้นจะเข้าสู่ “หลักสูตรการฝึกภาคพื้น (Ground Training)” เรียนรู้ระบบต่างๆ ของเครื่องบินว่าทำงานแบบไหน ต้องใช้หลักอะไรบ้างในการบิน เพื่อให้ทุกคนมีความรู้พื้นฐานแน่นเพียงพอ ในการฝึก “หลักสูตรภาคอากาศ” ก่อนจะได้บินกับเครื่องจริงในเฟสต่อๆ ไป
“เรื่องการเป็นนักบินหญิง หนูคิดว่าเรายังมองได้อีกหลายแง่มุมนะคะ คนอาจจะชอบคิดว่าผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย แต่ถ้าเราก็เอาจุดนี้มาพลิกเป็นข้อดีของเรา เอาจุดนี้มาแปลงให้เป็น "ความละเอียดอ่อนในการบิน" มันก็จะช่วยให้เราทำงานตรงนี้ได้แบบละเอียดรอบคอบได้ค่ะ”
หมวดพิซซ่าขอช่วยยืนยันอีกแรงให้หลายๆ คนได้รับรู้ว่า คุณสมบัติเรื่องการบินที่พวกเธอทั้ง 5 มีอยู่ในตัวตอนนี้ “เรามีเหมือนกับนักบินชายทุกอย่างเลยค่ะ” เพราะทางกองทัพจะวัดผลจากมาตรฐาน “วิทยาศาสตร์การบิน” แถมยังต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านแบบทดสอบข้อเขียน และบททดสอบร่างกาย สารพัดรูปแบบเช่นเดียวกับที่นักบินชายต้องทำ
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการตรวจเช็กร่างกาย ที่หมวดน้ำตาลยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ทางกองทัพจะตรวจเช็กกันอย่างจริงจังทุกปี หรือแม้แต่เรื่องระเบียบการแต่งกาย ก็ระบุเอาไว้ชัดเจนไม่แพ้กัน
“เขาจะไม่ได้ตรวจแค่สรีระภายนอก แต่ตรวจเลือด ตรวจดัชนีมวลกาย เพื่อให้นักบินทุกคนผ่านเกณฑ์สุขภาพตามที่เขากำหนดเอาไว้ เพราะร่างกายเป็นส่วนสำคัญสำหรับทำการบิน นักบินต้องมีร่างกายแข็งแรง พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจได้ เพราะเราต้องใช้แรงกันเยอะค่ะในการบิน
ส่วนเรื่องการแต่งกาย เราก็ต้องแต่งตามระเบียบที่ทางกองทัพกำหนด ในช่วงที่ต้องทำงานเท่านั้นค่ะ คืออนุญาตให้แต่งหน้าได้ แต่เอาที่พอเหมาะพองาม ไม่สีสันจัดจ้านเกินไป แล้วพอหยุดเสาร์-อาทิตย์ ใครจะแต่งแบบไหนก็ได้ตามสบาย เราก็ใช้ชีวิตเหมือนผู้หญิงปกติทั่วไปได้ อยากแต่งหน้า-ทาเล็บขนาดไหนก็ได้ค่ะ เพียงแต่พอกลับมาทำงาน ก็ต้องลบสีทาเล็บออกให้เรียบร้อย”
ให้แต่งหน้าได้ แต่ทาเล็บไม่ได้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? หลายคนคงสงสัย หมวดไอ สาวมาดทะมัดทะแมงในผมสั้น จึงช่วยให้คำตอบว่า การทาเล็บมีผลต่อการบินมากกว่าที่คนทั่วๆ ไปคิดเอาไว้แค่ไหน
“เวลาเราบินขึ้นไปในที่สูงๆ และถ้าเครื่องสูญเสียความกดอากาศ เราจะสามารถสังเกตตัวเราได้ โดยการดูเล็บของตัวเองค่ะ ถ้าเล็บเราม่วง แสดงว่าเราจะเกิดอาการ "Hypoxia (ภาวะขาดออกซิเจน)" ซึ่งจะทำให้เราวูบ หมดสติไปเลย เป็นอาการที่อันตรายมาก เพราะฉะนั้น ระเบียบถึงได้ห้ามเรื่องทาเล็บเอาไว้ค่ะ เพราะจะทำให้นักบินไม่สามารถตรวจสอบสีเล็บจริงๆ ของตัวเองได้”
ทุกวันนี้ พวกเธอประจำกันอยู่ที่ “ฝูง 601” ผ่าน “หลักสูตรการบินเชิงทหาร” บินผาดโผน ตีลังกาไปมา เหมือนอย่างที่หลายๆ คนเคยได้ดูในวันเด็กกันไปแล้ว ตอนนี้ก็มี หมวดพิซซ่าและหมวดไอ ที่ผ่านทุกหลักสูตร พร้อมปฏิบัติภารกิจได้ ส่วนอีก 3 สาว ทั้ง หมวดน้ำตาล, หมวดนกยูง และหมวดพีร์ คาดว่าจะพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งหมายถึงความพร้อมในการ “ออกรบรับใช้ชาติ” ด้วยนั่นเอง
“ทหารทุกคนในกองทัพ ต้องพร้อมปฏิบัติภารกิจอยู่แล้วค่ะ” สาวมาดเท่ที่สุดในทีม ออกเสียงคอนเฟิร์มแทนเพื่อนๆ อย่างชัดถ้อยชัดคำ ก่อนกลับมาตอบคำถามเรื่อง “ความเป็นห่วงของคุณพ่อคุณแม่” หลังได้เป็น “นักบินหญิงรุ่นแรกของไทย” ว่า พวกเธอใช้วิธีสื่อสารแบบไหน เพื่อให้ครอบครัวเข้าใจและหายห่วงในอาชีพเสี่ยงอาชีพนี้
“เรื่องอันตรายก็มีห่วงบ้างค่ะ แต่ที่ห่วงมากกว่าคือเรื่องความเป็นไปได้ในการทำอาชีพนี้ในตอนแรก เพราะจริงๆ แล้ว ที่บ้านไอเขาไม่ได้สนับสนุนให้ไอเรียนทางด้านนี้เลยค่ะ เพราะเขามองว่าเป็นโอกาสที่ยากสำหรับผู้หญิง ที่ผ่านมา องค์การการบินที่เห็นๆ กัน จะมีแต่ผู้ชายทั้งนั้น เขากลัวว่าเราจะไม่มีงานทำ แต่ตอนนี้ทุกคนสบายใจ แล้วก็หายห่วงเราไปแล้ว เพราะเราได้เป็นนักบินหญิงรุ่นแรกเลยของทางกองทัพอากาศ”
“เป็นห่วงแต่เชื่อใจ” คือปฏิกิริยาตอบกลับจากครอบครัวของหมวดนกยูง “แต่ด้วยความที่เราก็เรียนบินมาเป็นปีแล้ว และเราก็รู้ว่าเรื่องการบินด้วย ก็คิดว่าถ้าเราทำทุกอย่างด้วยความปลอดภัย มี safety mind อยู่ในใจ มันก็จะปลอดภัยแน่นอนค่ะ คุณพ่อคุณแม่ก็เลยเชื่อเรา ว่าเราสามารถทำได้ เชื่อว่าเราจะปลอดภัยในการบิน”
ไม่ต่างไปจากครอบครัวของหมวดพีร์ ที่คุณพ่อคุณแม่ก็อดเป็นห่วงลูกสาวคนนี้ไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่ด้วยความคิดที่เป็นผู้ใหญ่ของลูกสาว จึงทำให้คนทางบ้านเบาใจลงไปได้ “ก็พยายามอธิบายให้เขาเข้าใจค่ะว่า จริงๆ แล้วคนเราทุกอาชีพก็ต้องทำงานด้วยสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว และบอกคุณพ่อคุณแม่ไปว่า ถ้าเรามั่นใจว่าไม่ว่ายังไงเราก็จะดูแลตัวเองได้ดี ก็ขอให้คนที่บ้านไว้วางใจเราด้วย”
ทุกความฝันสำเร็จได้ แค่ “อย่าดูถูกตัวเอง”
นับจากวันที่โครงการจุดประกายฝัน “นักบินหญิงรุ่นแรกประจำกองทัพอากาศไทย” เปิดตัวขึ้นมา ถึงวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 3 ของการรับสมัคร “หญิงแกร่งในเครื่องแบบ” ให้เข้ามาตบเท้าคว้าฝันแล้ว และแน่นอนว่าถ้าให้มองจากจุดยืนในวันนี้ กลับไปยังตัวเองในวันนั้น พวกเธอทุกคนสามารถยิ้มกว้างๆ ให้กับมันอย่างง่ายดาย แต่ถ้าให้ลองมองจากจุดที่ต้องตะเกียกตะกายให้ถึงฝั่งในวันวาน ก็จะพบว่าก่อนจะเดินมาถึงปลายทางความฝัน มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
“สำหรับตัวตาล ก็อยากจะฝากถึงน้องๆ ทุกคนค่ะ ที่อยากมาสมัครเป็นนักบินหญิง หรือมาร่วมในกองทัพอากาศด้วยกัน อย่างแรกก็อยากให้บอกกับตัวเองเสมอว่า เราต้องตั้งใจทำในทุกๆ วัน เราต้องหาความรู้ให้ตัวเอง แล้วก็หาสิ่งต่างๆ ที่เราชอบ แล้วมันจะสนับสนุนให้เราเป็นเราได้ในทุกๆ วันนี้”
นี่คือแนวคิดที่ “ทหารหญิงหน้าสวย” อย่างหมวดน้ำตาล เก็บเกี่ยวมาได้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการตั้งเป้าหมายให้แก่ชีวิต ที่เธอคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลัง “ค้นหาตัวตนของตัวเอง” ได้บ้างไม่มากก็น้อย
“เอาจริงๆ ตัวตาลตอนเรียนจบใหม่ๆ เรามีความคิดเห็นแค่ว่า เราอยากทำอะไรที่สามารถทำให้มีรายได้ดี ให้พ่อแม่ได้อยู่สบาย อยากมีงานทำ อยากหาประสบการณ์ในชีวิต ก็มีไปเรียนต่อปริญญาโท เพื่อที่จะกลับมาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายเรืออากาศ แต่พอช่วงเรียนใกล้จบ ก็มีรับสมัครนักบินหญิง เราเลยคิดว่านี่ก็คือโอกาสของเราอีกครั้ง
ในเมื่อมีโอกาสเข้ามาตอนนั้น เราก็เลยลองทำมันให้เต็มที่ ตั้งใจ พยายาม อ่านหนังสือ ทำทุกๆ วันให้ดีที่สุด ตาลจะเป็นคนที่จะคิดเสมอค่ะว่า ถ้าเราตั้งใจจะทำอะไร เราจะสามารถทำมันได้ คือเราอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกครั้ง แต่เราจะสามารถทำให้วันเหล่านั้นมาเป็นบททดสอบ บทเรียน ที่จะทำให้วันต่อๆ ไป ดีขึ้นไปอีก เราก็ปรับตัวไปเรื่อยๆ”
“การตั้งเป้าหมายจะทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า” คืออีกหนึ่งบทเรียนที่ได้จากการไขว่คว้า เพื่อเดินมาให้ถึงเส้นทางบินสายนี้ของหมวดพีร์ เธอยืนยันว่าเป็นคนหนึ่งที่หมั่นค้นหาตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนได้มาค้นพบกับความฝันที่เติมเต็มชีวิตที่สุด
“เราสอบเข้ามาเป็นนายทหารการบิน และมีความฝันที่จะทำด้านนี้ แต่ก็คิดว่าเป็นไปได้ยากมากค่ะสำหรับผู้หญิง เพราะเขายังไม่เปิดรับ ตอนแรกเราก็เลยพยายามอยู่บนความจริงให้ดีที่สุด ด้วยการทำงานตัวเองให้ดีที่สุดก่อน แต่ระหว่างนั้นก็ยังเตรียมตัวเองเสมอ มีอ่านภาษาอังกฤษ ออกกำลังกาย แล้วก็ทบทวนวิชาการต่างๆ ตลอดเวลา
พอมีตำแหน่งรับสมัครนักบินมา เราก็รู้สึกว่านี่แหละงานที่เป็นตัวเรา รู้สึกว่าเราได้ทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น แล้วมันก็ทำให้เรามีความสุข เลยอยากจะฝากถึงทุกคนนะคะว่า อย่าลืมที่จะตั้งเป้าหมายให้แก่ชีวิตของตัวเองตลอดเวลา เพราะการมีเป้าหมายของชีวิตจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า”
หรือถ้ายังไม่รู้ว่าเป้าหมายในชีวิตของตัวเองคืออะไร อย่างน้อยๆ รู้ว่าตัวเอง “ชอบอะไร” ก็มีความหมายแล้ว หมวดพิซซ่าบอกเอาไว้อย่างนั้น อย่างที่ตัวเธอเองได้มีโอกาสวิ่งไล่ตามความฝัน เพราะความรู้สึก “ชอบเครื่องบิน” ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ ในความรู้สึกใครต่อใคร แต่มันยิ่งใหญ่สำหรับความรู้สึกเธอ
“ส่วนตัวหนูเอง เริ่มจากแค่ชอบเครื่องบินที่บินบนฟ้า และได้แต่โบกมือบ๊ายบายแค่นั้นเอง รู้ตัวเองมาตลอดว่าชอบเครื่องบิน แต่เราก็ไม่รู้หรอกค่ะว่า เราจะได้มาประกอบอาชีพได้ยังไง
แต่สุดท้ายแล้ว พอโตขึ้นมาก็ยังคงมีความฝันที่อยากทำงานในเครื่องบินอยู่ เพราะฉะนั้น ความฝันของคนเรา มันอาจจะเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เริ่มจากความชอบที่ไม่คิดว่ามันจะเอามาประกอบอาชีพได้ แต่อย่างน้อยมันก็คือความชอบ”
ส่วนคนที่ค้นพบตัวเองแล้วว่า ต้องการจะเลือกเส้นทางไหนให้แก่ชีวิตตัวเอง หมวดไอก็ขอแนะนำว่าให้มุ่งมั่นกับมันต่อไป แม้ว่าเราอาจจะไม่ใช่คนที่เก่งกาจอะไร แต่ถ้าตั้งใจจะคว้าฝันเอาไว้ ก็ไม่มีอะไรไกลเกินเอื้อม
“ตั้งแต่เด็ก ไอไม่ใช่คนเก่งเลย เรียนก็ไม่ได้ดี แต่เราก็อาศัยความขยันของเรา เป็นคนที่มีความพยายาม ดังนั้น ถ้าเราไม่เก่ง เราก็ต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่นค่ะ ซึ่งมันก็ช่วยให้เราประสบความสำเร็จ เป็นไออย่างในวันนี้”
ย้อนกลับไปในวันเด็กของ “ด.ญ.นกยูง” ภาพที่เธอได้เล่น “เครื่องบินกระดาษ” ที่กองทัพอากาศ คือความทรงจำอันล้ำค่าที่ทำให้เธอได้ใกล้ชิดกับ “เครื่องบิน” ได้มากที่สุดแล้ว ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งเธอจะกลายเป็นหญิงสาวที่ได้ใกล้ชิดเครื่องบินยิ่งกว่าใคร และเหตุผลเบื้องหลังที่หนุนให้ทุกสิ่งทุกอย่างลงล็อกได้ก็คือ คำว่า “ลองดู” และ “อย่าดูถูกตัวเอง”
“หลังจากกองทัพอากาศเปิดรับนักบินหญิง เห็นว่าคุณสมบัติเราได้ เราก็เลยคิดว่า "ทำไมไม่ลองดู" ในเมื่อมันมีโอกาสอย่างนี้เข้ามา ถ้าเราไม่สอบหรือไม่คว้าเอาไว้ เราจะมาเสียใจทีหลังหรือเปล่าว่าวันนั้นเราไม่ยอมทำ ก็รู้สึกว่าภูมิใจและดีใจค่ะ ที่มาถึงตรงนี้ได้
และอยากฝากถึงน้องๆ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักบิน หรือไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อย่างแรกเลยคือเราต้องอย่าดูถูกตัวเอง ให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าเรามีความสามารถพอที่จะทำได้ เพราะถ้าเราดูถูกตัวเอง คิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ใจมันไม่มา อะไรมันก็จะไม่ดี
เพราะฉะนั้น ก็อยากให้เชื่อมั่นในตัวเองก่อนว่าจะทำได้ แล้วก็วางแผนว่าทำยังไง จากนั้นก็ไปให้ถึงเป้าหมายที่เราตั้งใจเอาไว้ค่ะ”
บทสัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
สัมภาษณ์: รายการ “พระอาทิตย์ Live”
เรียบเรียง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force" และ แพรว