xs
xsm
sm
md
lg

"ป้ายรถเมล์ 2 ภาษาหลักล้าน" คุ้มไหม.. ต้องโก้งโค้งอ่าน-ใช้แว่นขยายส่อง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โถ.. ถ้าต้องจ้องป้ายกันจนปวดตา คุกเข่า-โก้งโค้ง กันจนปวดขาขนาดนี้ อย่าไปมีมันเลยดีกว่าไหมเนี่ย ไอ้ "ป้ายรถเมล์ 2 ภาษารอบเกาะรัตนโกสินทร์" สังคมจัดหนัก-วิจารณ์ยับ อีกครั้งกับผลงานของ กทม.ที่มีไว้ให้ดูหรูๆ แต่ใช้งานไม่ได้จริง "กูรูท่องเที่ยว" ช่วยวิเคราะห์เทียบ "ป้ายไทย-ป้ายต่างแดน" ระบุชัด การออกแบบ-ตัวอักษร-ตำแหน่ง-สีที่ใช้ ผิดพลาดทุกประการ ควรได้รับการแก้ไขโดยด่วน!!



ลงทุนหลักล้าน-ได้ผลหลักสิบ!!?

[โพสต์ต้นเรื่อง ที่ทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนโซเชียลฯ]
“แม่งเอ๊ย กลับบ้านสายไหนวะ” กลายเป็นเรื่อง เมื่อผู้ใช้ เฟซบุ๊กชื่อ “Sittan Chalongthan” โพสต์ข้อความพร้อมรูปคนกำลังคุกเข่าอ่านเส้นทางที่มีอยู่บนป้ายรถเมล์อย่างยากลำบาก จนทำให้มีคนแชร์ในโลกออนไลน์ในขณะนี้ โดยกระหน่ำตั้งคำถามกันอย่างหนักว่า ป้าย 2 ภาษาที่สร้างขึ้นมาใหม่เหล่านั้น ใช้งานจริงได้มากน้อยแค่ไหน และบรรทัดต่อจากนี้คือความคิดเห็นบางส่วนจากประชาชนที่อยากฝากถึงเจ้าของโปรเจกต์

“จะได้กลับบ้านไหมเนี้ย”

คนทำป้ายก็ทำไป คนติดป้ายก็ติดไป ไม่นึกถึงคนใช้งานเลยว่า จะอ่านกันยังไง Cat’s Eyeview จริงๆ ทั้งขำทั้งเศร้า ประเทศไทยไชโย”

“กลับบ้านต้องนั่งสายไหนคะมีแต่งบอย่างเดียวก็พอหรอ สมงสมองไม่ต้อง

เพื่อหาคำตอบว่า “ป้ายเส้นทางเดินรถประจำทางเกาะรัตนโกสินทร์” ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักจนกลายเป็นประเด็นร้อนอยู่ในตอนนี้ ใช้งานได้จริงมากน้อยแค่ไหน ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงได้ลงสำรวจพื้นที่จริง และพบว่าป้ายดังกล่าวมีขนาดใหญ่มาก เนื่องจากรายละเอียดสายรถเมล์มีเยอะมาก

รวมถึงต้องเขียนอธิบายเอาไว้ 2 ภาษา จึงส่งให้ด้านล่างของป้ายยาวลงไปจนแทบจะติดพื้นถนน ทำให้คนที่ต้องดูสายรถเมล์ด้านล่างต้องคุกเข่า-โก้งโค้งดูกันเต็มไปหมด


[นักท่องเที่ยวก้มอ่านแผนที่รถเมล์ แทบแนบพื้นถนน]

ทั้งนี้ รูปแบบข้อความตัวอักษรที่ใช้ก็มีขนาดเล็กมาก ทั้งยังเต็มไปด้วยสีสันละลานตา จนทำให้แยกแทบไม่ออกว่า ข้อความบนป้ายเขียนว่าอะไรบ้าง และเมื่อทดลองนำเหรียญ 1 บาทไปเทียบมาเปรียบเทียบขนาด ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า ตัวอักษรมีขนาดเล็กกว่าขนาดของเหรียญถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้เองจึงส่งให้ป้ายดังกล่าว ยากต่อการมองเห็นด้วยสายตา ผู้ต้องการใช้งานจึงจำเป็นต้องเดินเข้าไปอ่านใกล้ๆ ถึงจะมองเห็นรายละเอียดสายรถเมล์ที่ระบุไว้ ทั้งนี้รถสัญจรผ่านบริเวณนั้นมีทั้งหมด 42 สาย จึงน่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ข้อมูลในป้ายมีมากเกินพื้นที่ จนเกิดป้ายที่มีข้อมูลล้นเช่นนี้เกิดขึ้น


[เทียบกับเหรียญ 1 บาทแล้ว สังเกตเห็นตัวอักษรเล็กกว่าเหรียญครึ่งหนึ่ง]

จากการค้นคว้าหาข้อมูลพบว่า “ป้ายเส้นทางเดินรถประจำทางเกาะรัตนโกสินทร์” ดังกล่าว เป็นหนึ่งในนโยบาย “มหานครแห่งความสุข” ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคนจัดตั้งขึ้น เพื่อรับกับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ซึ่งใช้งบประมาณจำนวน 2.5 ล้านบาท เพื่อจัดทำแผนที่รถเมล์ “Bus Route Map” รูปแบบ 2 ภาษา (ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ) เช่นนี้ขึ้นมา



ข้อมูลโครงการเบื้องต้นระบุว่า จะมีการก่อสร้างป้ายรถเมล์ลักษณะเดียวกันนี้ทั้งหมดเป็นจำนวน 50 ป้าย ในพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสำคัญๆ ในโซนหลัก ได้แก่ เกาะรัตนโกสินทร์, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, หมอชิต, สะพานควาย, สยาม, ราชประสงค์, สีลม, สาทร, สุขุมวิท, อ่อนนุช, วงเวียนใหญ่, เพชรเกษม ฯลฯ

โดยปัจจุบัน จากการเดินสำรวจรอบเกาะรัตนโกสินทร์แล้ว ทีมข่าวพบว่าขณะนี้มีป้ายแบบเดียวกันอยู่ทั้งหมด 4 ป้ายรอบเกาะ ได้แก่ 1. บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.บริเวณข้างวัดพระแก้ว 3.บริเวณสนามหลวง และ 4.บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์

ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เป็นย่านที่มีการเดินทางเข้าออกของผู้คนอยู่ตลอดเวลา ทั้งผู้ที่อยู่อาศัยนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทาง กทม.อยากให้ได้ใช้งานมากที่สุด




เทียบโมเดลต่างประเทศ รู้เลย "ป้ายไทย" ใช้งานไม่ได้!!

ในประเทศที่เจริญๆ แล้ว เขามีป้ายบอกสายรถเมล์แบบไหนกันนะ จะดูอนาถาคล้ายๆ ในบ้านเราแบบนี้บ้างไหม? หลายคนตั้งข้อสงสัยแบบนี้เอาไว้ ทางทีมข่าวจึงขอต่อสายตรงไปยัง ก้อ-วรุตม์ โอนพรัตน์วิบูล เจ้าของแฟนเพจท่องเที่ยวชื่อดัง “เที่ยวเอง” ให้ช่วยวิเคราะห์เจาะลึก ในฐานะที่เดินทางมารอบโลกและเห็นระบบขนส่งสาธารณะมามากมายนับไม่ถ้วนแล้ว

โดยในครั้งนี้ เจ้าตัวได้ช่วยฟันธงเอาไว้ว่า เทียบกันแล้วป้ายรถเมล์ในบ้านเรา “ใช้งานไม่ได้จริง” และออกแบบผิดพลาดทุกประการเลยทีเดียว

“ป้ายไม่ค่อยถูกต้องตามยุทธวิธีเท่าไหร่ครับ เพราะคนที่ใช้งาน ใช้ไม่ได้จริง ไม่สะดวกต่อคนที่มอง ตัวอักษรก็เล็กมาก รวมถึงรูปแบบทั้งหมด การออกแบบ ตัวอักษร หรือว่า สี ตำแหน่ง มันผิดไปหมด

ถ้าให้ยกตัวอย่างประเทศที่น่าเอาเป็นแบบในเรื่องออกแบบป้าย ผมว่าต้องยกให้ “ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย” เพราะเป็นอีกประเทศที่มีการนักเที่ยวหมุนเวียนจำนวนมาก ส่วนมากประเทศของเขาจะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ ในป้ายเขาจะบอกเลยว่า หมายเลขนี้ไปไหน

คือจะเป็นแพลตฟอร์มบอกเลยว่าอะไร หมายเลขนี้อีกกี่นาทีจะมา ด้วยความเป็นระบบอัตโนมัติ รถเมล์จึงมีความตรงต่อเวลาเป็นอย่างมาก เพราะป้ายรถเมล์เขาจะบอกรายละเอียดชัดเจนเลยว่าสายนี้ไปไหน อีกกี่นาทีถึง



ที่สำคัญ ป้ายของเขาจะบอกรายละเอียดตรงป้ายเลยว่า ไปที่ไหนบ้าง จุดหมายคือที่ไหน จะเขียนระบุถึงสถานที่อย่างชัดเจน แล้วก็เป็นป้ายแนวนอนด้วย เปรียบเทียบคือป้ายรถเมล์บ้านเขา เหมือนป้ายรถไฟฟ้าบ้านเราเลยครับ

จากการได้ไปท่องเที่ยวมาหลากหลายประเทศ ก้อจึงช่วยวิเคราะห์อีกแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวป้ายเอาไว้ได้ นั่นคือเรื่อง “สัญลักษณ์” บนป้าย ซึ่งอาจไม่เคยพบเห็นในประเทศไทย เพราะเราไม่เคยให้ความสำคัญกับมัน

“พวกสัญลักษณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ บางทีเราเป็นคนไทยยังไม่รู้เลยว่า สัญลักษณ์แบบนี้เราต้องไปตรงไหน เราขึ้นไปได้หรือเปล่า รถผ่านไหม บางทีเรายังต้องรอถามกระเป๋ารถเมล์อยู่เลย ทั้งๆ ที่มีป้ายรถเมล์อยู่ตรงนั้น แต่เราก็ยังต้องอาศัยการถามมากกว่าอยู่ดี



ส่วนเรื่องที่มีป้าย 2 ภาษาออกมา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ผมก็มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะครับ เมื่อไปเทียบกับต่างประเทศ ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เหมือนอย่างที่หลายๆ ประเทศมี เช่น ประเทศแถบยุโรป ตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี

และถ้าหากประเทศเรามีการเปลี่ยนแปลงที่ดี สิ่งที่เอื้ออำนวยก็จะไม่ได้ช่วยแค่คนท้องถิ่น ให้เขาสามารถขึ้นรถเมล์ไปที่ต่างๆ ได้ตามสะดวก แต่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่น, คนต่างชาติ หรือคนพิการ ทุกอย่างจะเอื้ออำนวยสะดวกสบายไปทั้งหมด

และผมก็คิดว่าประเทศไทยสามารถนำตัวอย่างเหล่านั้นไปพัฒนา และปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมได้ ถ้าเราตั้งใจจะเปลี่ยนแปลง


[ป้ายในความรับผิดชอบของ กทม.]

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น