xs
xsm
sm
md
lg

ศรัทธาแลกเศษเงิน! “ยาลดอ้วนคุณหมอ” จรรยาบรรณชุดกาวน์ อำมหิตเงียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จรรยาบรรณวิชาชีพหายไปไหน? เหลือบชุดขาวแพทย์นอกรีตที่ใช้ความศรัทธา ความน่าเชื่อถือหลอกลวง ปชช. บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอ พยาบาล เภสัช แห่กันรีวิวอาหารเสริมลดน้ำหนัก บางคนก็เป็นแม่ทีม โชว์รวย จับเงินเป็นฟ่อน กินให้ดูกันจะจะ! ทำได้ไง? มีแต่สารอันตราย โซเชียลฯซัดฆาตกรเงียบที่เอาวิชาชีพมาทำร้าย ปชช. การันตียาลดอ้วนปลอดภัยทั้งที่กินไปถึงตาย! แพทยสภาแนะเช็กให้ชัวร์ก่อนซื้อ หมอชัวร์หรือมั่ว?

เหลือบขาวสวมกาวน์หลอกคน

จากกรณีที่นักธุรกิจวัย 48 ปี เสียชีวิตคาบ้านพัก โดยที่มีอาหารเสริมลิน Lyn จำนวน 2 กล่อง วางไว้ในห้องด้วย คาดว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากการโหมลดน้ำหนัก

ภรรยาผู้ตาย เปิดเผยว่า ทราบว่าผู้ตายทานยาลดความอ้วนชนิดดังกล่าวกว่า 2 เดือน เพราะอยากลดพุง โดยก่อนรับประทานยามีน้ำหนักที่ 106 กิโลกรัม เมื่อรับประทานไปแล้วลดไป 4 กิโลกรัม ส่วนการเสียชีวิตนั้นอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาก็ได้โหมงานหนัก ประกอบกับพักผ่อนน้อย ทานอาหารน้อย

ล่าสุด เพจดอกจิก V.3 เพจสายดาร์กที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดโปงขบวนการนรก “เมจิกสกิน” ผลิตภัณฑ์เสริมงาม ทั้งสวม อย. ทั้งอันตราย ดารารีวิวกันเพียบค่อนวงการ ต่างอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์

ขณะนี้ถึงคิวลากไส้ “Lyn” ที่ทำให้นักธุรกิจที่ต้องการลดน้ำหนักถึงกับเสียชีวิต อึ้ง! ส่วนผสมสุดสารอันตราย สะเทือนใจยิ่งกว่าดารารีวิว เพราะหมอ พยาบาล เภสัช บุคลากรทางการแพทย์ที่ประชาชนให้ความศรัทธา น่าเชื่อถือ กลับมาแห่กันโปรโมตขายอาหารเสริม LYN อย่างโจ่งครึ่มพร้อมทั้งอ้างว่ากินแล้วผอม ขายแล้วรวย จวกใช้วิชาชีพทำร้ายผู้บริโภคแลกกับเม็ดเงิน

เช่นเดียวกับเพจ Drama-addict ซึ่งเจ้าของเพจก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์เช่นกัน ยังรับไม่ได้!

“เรื่อง ลิน นี่บอกเลยว่า มันซีเรียสกว่าเมจิกสกินในบางประเด็นเยอะมาก เพราะเมจิกสกินนี่ มันจะเน้นเอาดาราศิลปินมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ แล้วเชิญชวนคนมาเป็นแม่ทีม มาเป็นตัวแทนจำหน่ายมันแบบขายฝัน แต่กรณีของลินนี่ มีดารามาเอี่ยวน้อย ไม่กี่รายเท่านั้น แต่ตัวที่มีส่วนเอี่ยวจริงๆ พูดไปแล้วก็น่าเศร้า

คือหมอ พยาบาล เภสัช เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข ที่ล้วนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ และทุกคนรู้อยู่แล้วว่า อาหารเสริมอะไก็ตาม มันกินแล้วไม่ลดความอ้วน ไม่มีทางที่จะมีอาการแบบนั้นตามที่มันอวดอ้าง
แต่ก็ยังมาขายกันรัวๆ แถมยังเอาหัวโขนวิชาชีพตัวเอง ฉันเป็นหมอ ฉันเป็นพยาบาล ฉันเป็นเภสัช ขอแนะนำให้คุณซื้อลินไปกิน จะได้ผอม นี่ขนาดหมอยังแนะนำเลย แล้วทำไมคุณจะไม่เชื่อล่ะ

ผลคือมันยิ่งทำให้การขายอาหารเสริมตัวนี้ยิ่งแพร่ระบาดและได้รับความเชื่อถือจากคนกินมากขึ้นว่าปลอดภัยกินได้ เพราะมีบุคลากรทางการแพทย์นอกรีตพวกนี้มาเป็นกลไกตัวหนึ่ง ที่ผลักคนแดกให้ลงนรก แลกกับเม็ดเงินพวกมันจะได้ จากการเป็นตัวแทนขายลิน

งานนี้ขอให้ช่วยกันกระทุ้งไปให้ถึงสภาวิชาชีพของทุกวิชาชีพ ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องกำจัดเหลือบชุดขาวพวกนี้ออกจากวงการ พวกมึงมีหน้าที่มาทำให้คนสุขภาพดีขึ้น ไม่ใช่มาสวมกาวน์เพื่อหลอกให้คนเชื่อแล้วขายของที่ทำลายสุขภาพให้เขาแดกแลกเศษเงิน!!!”

ยานรก! ใจสั่น หลอน นอนไม่หลับ!

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) ได้เผยแพร่ประกาศผลการตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ ลีน เอฟเอส ทรี และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลีน บล็อค เบิร์น เบรก บิ้วท์ ผลปรากฎว่า ตรวจพบยาแผนปัจจุบัน บิซาโคดิล (Bisacodyl) และไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการนี้ ผลิตโดยบริษัท Food Science Supply Service

โดยผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการ มีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปนอยู่ และเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามมาตรา 26 (1) ฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับไซบูทรามีน (Sibutramine) ถูกใช้เป็นยาลดน้ำหนักแบบรับประทาน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองของมนุษย์ ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศในแถบอเมริกาได้ผลักดันให้ยาไซบูทรามีนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ใช้ลดน้ำหนัก

แต่ต่อมาตรวจพบว่ายานี้มีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงเช่น ทำให้ระบบการทำงานของหัวใจผิดปกติ มีความดันโลหิตสูง แรงดันโลหิตในปอดเพิ่มมากขึ้น เจ็บหน้าอก ตาพร่า หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หัวใจล้มเหลว ไตวาย

มีรายงานว่าผู้ป่วยบางรายถึงกับเสียชีวิต ดังนั้นในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ยาไซบูทรามีนจึงถูกเพิกถอนออกจากตลาดยาของสหรัฐอเมริกา ส่วนบิซาโคดิล (Bisacodyl) คือยาระบาย กระตุ้นให้ผนังลำไส้ใหญ่บีบตัว

ความอันตรายของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งผลให้คนที่อยากลดน้ำหนักตกอยู่ในอันตรายอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะคนที่ขาย และคนรีวิว เป็นคนที่พวกเขาศรัทธา ไว้ใจ เชื่อมั่นว่า "ปลอดภัย" เพราะเป็นบุคลากรทางการแพทย์มาการันตีเอง

นอกจากนี้ หลายคนยังร่วมแชร์ประสบการณ์หลังจากกินผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน Lyn เข้าไป ยืนยัน ใจสั่น นอนไม่หลับ หิวน้ำ จะเป็นลม เบลอ หลอน จนต้องรีบหยุดกิน!

“เราเคยกิน(เมื่อหลายเดือนก่อน) เราเห็นเพื่อนแล้วมันลดได้จริง เราเลยลองซื้อมากินบ้าง แค่เม็ดแรก(และเม็ดเดียวเท่านั้น)รู้เลย ใจสั่น มือสั่น อาการเหมือนคนจะเป็นลม หิวน้ำ ตอนนี้หยุดกินแล้วค่ะ”

“เราทานเม็ดเดียวเหมือนกัน แล้วคอแห้ง นอนไม่หลับค่ะ ทิ้งไปเลย “

“ตอนนี้เรากำลังกินอยู่ บอกเลย"อย่าซื้อ" เรากินได้วันนี้วันที่ 3 ใจสั่น นอนไม่ค่อยหลับ คอแห้ง เบลอๆหลอนๆยังไงไม่รู้ ซื้อมาชุดเล็กแบบ 10 เม็ด ถ่ายไม่ปกติ เวลาถ่ายเป็นเหลวๆเหมือนท้องเสียแต่ไม่เสีย บอกไม่ถูกแต่ไม่กินดีกว่าเพราะกินแล้วร่างกายผิดปกติเยอะมาก ตอนนี้ก็ยังตัวสั่นไปหมด”

“เพิ่งเริ่มกินแผงแรก ลืมกินบ่อย กินไม่ค่อยต่อเนื่อง แรกๆรู้สึกไม่ค่อยอยากทานอาหาร และไม่ถ่ายเลย! จากที่เคยถ่ายทุกวัน เลยกินต่อเนื่องมากขึ้น

มีคืนนึง ปวดถ่ายมาก มือสั่น ใจสั่น เหมือนจะเป็นลม เกือบเดินไม่ถึงห้องน้ำ ในใจคิดว่าถ้าต้องไป รพ. จะบอกหมอว่ายังไง มันปวดขนาดนั้นเลยค่ะ แต่ความทรมานมันไม่ใช่แค่นั้น พอนั่งถ่าย ไม่ถ่ายจ้า บิดไป 3-4รอบ กว่าจะถ่าย

ถ่ายเสร็จอาการก็หายไปเลยเลยงดไปหลายวัน แล้วก็กลับไปกินใหม่ คิดว่าอาจจะไม่ใช่เพราะอาหารเสริมตัวนี้ ไม่แน่ใจไง คราวนี้ของจริง ท้องไส้ปั่นป่วนไปหมด ใจสั่น ไม่อยากอาหาร เบื่ออาหาร ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียนจนต้องหยุดงาน น้ำหนักลดจริง แต่อาการก็อย่างที่บอกค่ะ

คนที่กินแล้วถูก ก็คงมีจริงค่ะ แต่คนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจหรือป่าว ขอแนะนำว่า อย่า เด็ดขาดเพราะอาการใจสั่นมันน่ากลัว"

แพทย์จริงหรือมั่ว เช็กให้ชัวร์ก่อนเชื่อ

แพทยสภาแนะประชาชนใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อสินค้า เป็นไปได้ว่า จะมีการแอบอ้าง ไม่ใช่แพทย์จริง ทำให้วงการแพทย์ได้รับความเสื่อมเสีย ขณะนี้แพทยสภา กำลังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบว่า บุคคลในภาพเป็นบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ชี้แจงผ่านสื่อว่า โดยหลักแล้วในวงการแพทย์จะมีกฎที่เรียกว่า "จริยธรรมทางการแพทย์" โดยห้ามรีวิวสินค้า หรือการลงภาพใดๆก็ตาม ห้ามใช้คำว่า นายแพทย์ หรือ แพทย์หญิง มาโฆษณา

อย่างไรก็ดี แพทย์ที่ไปถือผลิตภัณฑ์รีวิว จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบว่าบุคคลในภาพที่รีวิวเป็นนายแพทย์ แพทย์หญิง ตามที่แอบอ้าง หากพบการทำผิด โทษคือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ลงโทษ ถอนใบประกอบวิชาชีพ

สุดท้าย เลขาธิการแพทยสภา ยังแนะนำว่า หากประชาชนสงสัยว่าบุคคลในภาพรีวิวเป็นแพทย์จริงหรือไม่ ให้ไปค้นหาชื่อในเว็บไซต์แพทยสภา จะพบข้อมูลว่าเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งใด หากกรอกชื่อค้นหาแล้วไม่พบ แสดงว่า เป็น "แพทย์ปลอม"




กำลังโหลดความคิดเห็น