“เรื่องท้อ ผมไม่เคยคิดเลยครับ เคยรู้สึกแค่ว่าต้องสู้ สู้เพื่อตากับยาย!!” นี่คือคำพูดจากใจ “เด็กชายวัย 10 ขวบ” ที่มีตากับยาย ทำหน้าที่ต่างพ่อกับแม่ของตัวเอง ที่น่าสนใจคือความฝันของเขา ไม่ใช่การมีของเล่นแพงๆ ใช้ หรือมีเสื้อผ้าดีๆ ใส่ แต่คือการทำทุกวิถีทางที่สุจริต เพื่อให้ได้เงินมาจุนเจือครอบครัวที่มีหลากโรครุมเร้า ส่งให้ “น้องสอง” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งเสาหลักสำคัญของบ้าน กลายเป็นคนที่ต้องแบกรับภาระเกินตัว-เกินวัย เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้...
“ขายของ” แบ่งเบาภาระตา-หาเงินช่วยยาย
[ขายของตามตลาดนัด แบ่งเบาภาระคุณตา]
"เห็นตาทำงานคนเดียว เลยอยากแบ่งเบาภาระให้ตาบ้างครับ เพราะแค่ตาหาเงินเข้าบ้านคนเดียว มันไม่พอที่ต้องจ่าย เห็นจากที่ตาบางทีก็ไม่ยืมคนนู้นคนนี้มา"
นี่คือเหตุผลที่ทำให้ น้องสอง-บุญญารัตน์ บุญร่วม เด็กชายวัย 10 ขวบ ลุกขึ้นมารับโอกาสจาก “ป้าดา” บุคคลสำคัญในชีวิต ผู้ชักชวนให้ไปช่วยขายของตามตลาดนัดด้วยกัน แลกกับค่าแรงในแต่ละวันเป็นการตอบแทน ซึ่งคุณป้าคนดังกล่าว เคยเป็นเพื่อนบ้านที่พักอาศัยอยู่ห้องเช่าเดียวกันมาก่อน และเห็นความหนักเอาเบาสู้ของน้องสอง ด้วยความเอ็นดูในความเพียร จึงอยากยื่นมือเข้ามามอบโอกาสที่พอจะให้ได้
"อย่างเสาร์-อาทิตย์ ถ้าป้าดาขายดี ป้าก็ให้เขา 200-300 เขาก็จะรู้จักแบ่งไปหยอดกระปุก ตอนที่ยายเขาจะไปหาหมอ แล้วไม่มีตังค์ เขาเคยไปอุ้มกระปุกออมสินที่หยอดไว้นั่นแหละไปให้ บอกว่ายายเอาเงินของหนูสิ แล้วเขาก็ทุบให้ยายเขาเลยนะ ได้ทั้งหมด 1,800 บาท คิดดูว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่คอยดูแลด้วยแบบนี้ มีที่ไหนจะเก็บตังค์ได้ถึง 1,800 ขนาดลูกเรายังไม่ได้ขนาดนี้เลย"
ป้าดา-ดารุณี พรหมบรรดิษฐ เจ้าของร้ายขายของในตลาดนัด ผู้ให้โอกาสน้องสองในการหาเงิน บอกเล่าถึงเด็กชายที่เขารักเหมือนลูกคนหนึ่งให้ฟัง ผ่านแววตาแห่งความปรารถนาดี เพราะรู้ดีว่าแรงกดบนบ่าของเด็กชายคนนี้มีมากขนาดไหน
ไม่ใช่แค่ “คุณตา” ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจ และมีอาการคล้ายจะเป็นโรคซึมเศร้า เพราะเคยคิดจะฆ่าตัวตายเพราะอยากหนีปัญหา กับ “คุณยาย” ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจนเดินไม่ได้เท่านั้น แต่ยังมีลูกพี่ลูกน้องที่เด็กกว่าอีก 2 คนอาศัยภายใต้ชายคาเดียวกัน
[ครอบครัวของน้องสอง คุณยาย, คุณตา, ลูกพี่ลูกน้อง]
“น้องสอง” หลานคนโตที่สุดที่ยังอยู่คอยรับภาระในบ้าน จึงกลายเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว เป็นเหมือนฟันเฟืองหลักที่ผลักให้คนป่วยวัย 50 กว่าๆ ทั้งสองคนในบ้าน ยังคงมีแรงใจต่อสู้ต่อไป และบรรทัดต่อจากนี้คือความรู้สึกจากก้นบึ้งของหัวใจ ของ ชิต นราดุล หรือคนที่น้องสองเรียกว่า “ตา”
“มันเครียดจนผมเคยคิดว่าไม่อยากอยู่แล้วเหมือนกัน เพราะไม่มีใครช่วยเหลือเลย เคยขี่มอเตอร์ไซค์ออกไป กะให้มันชนไปเลย แต่ก็คิดถึงหลาน คิดถึงแฟนด้วยว่าถ้าผมตายไป เขาก็คงทำใจไม่ได้ เพราะเขาก็เดินไม่ได้ด้วย ก็เลยไม่อยากทำ”
[แผลที่เท้าของคุณยาย เหตุจากโรคเบาหวาน]
ทุกวันนี้ รายได้หลักของบ้านมาจากคุณตา ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันอยู่ที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผา ได้ค่าตอบแทนครั้งละ 300 กว่าบาทต่อวัน และบางวันที่ปวดขาจากโรคเก๊า คุณตาก็ต้องยอมเจียดตังค์ นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างแทนการปั่นจักรยานไปเองด้วย จนทำให้รายได้ที่ได้มา แทบจะไม่เหลือพอหล่อเลี้ยงคนในครอบครัว รายได้จาก “เสาหลักต้นที่ 2” อย่างน้องสอง จึงกลายมาเป็นความหวังใหม่ของบ้านนี้ไปโดยปริยาย
"เวลาไปขายของ ก็ได้รายได้ดีนะครับ ได้รอบละ 100 บาท ปกติแล้วจะไปขายอาทิตย์ละ 3 วัน คือวันพฤหัสฯ, แล้วก็เสาร์-อาทิตย์ ถ้าไปวันพฤหัสฯ จะได้วันละรอบ แต่ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์ รวม 2 วันก็จะได้ประมาณ 4 รอบ คือรอบแรกขายตั้งแต่ ตี 5 ยัน 9 โมงเช้า, รอบ 2 ประมาณ 11 โมง ยัน บ่าย 2 หรือไม่ก็อีกทีตอนเย็นๆ เลย
แล้วแต่เลยครับว่า จะไปรอบเช้ากับเที่ยง รอบเที่ยงกับเย็น รอบเช้ากับเย็น ฯลฯ แล้วแต่ตลาดนัด ซึ่งป้าเขาก็จะมาบอกเราอีกทีนึง แล้วรายได้ที่ได้มา ผมก็จะเอาให้ยายไปซื้อกับข้าว แล้วก็เอาไปล้างแผลที่ขาให้ยายครับ"
“แผลที่ขา” ของยาย ที่น้องสองหมายถึง คือแผลที่เกิดจากโรคเบาหวาน ที่ต้องล้างทุกวัน ไม่งั้นจะเกิดการอักเสบจนลุกลามอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น้องสองไม่อยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะคนที่เขารักมากที่สุดก็คือ คนที่เลี้ยงดูส่งเสียให้มีทุกวันนี้ได้
"หนูอยากจะบอกว่า หนูรักยายมากกว่าพ่อแม่ที่ไม่เคยเลี้ยงดูหนูมาเลย (ปาดน้ำตา) หนูไม่เคยคิดท้อเลย รู้สึกแค่ว่าต้องสู้ครับ คิดว่าเรื่องเงิน เราหามาให้ตากับยายได้ ถึงต่อไปจะเป็นยังไงก็ต้องสู้ครับ สู้เพื่อตากับยายให้ได้"
ฝัน “สร้างบ้าน-ซื้อรถ” ตอบแทนบุญคุณ
ขนม-ของเล่น-เสื้อผ้า ฯลฯ ไม่ใช่สิ่งที่น้องสองอยากได้ ในวันที่สามารถเก็บเงินก้อนจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองได้สำเร็จ เพราะความฝันของเด็กวัย 10 ขวบคนนี้ยิ่งใหญ่กว่าความต้องการของตัวเอง ไม่ใช่ว่าไม่อยากได้ของเล่นราคา 200-300 บาทอย่างเพื่อนๆ มาเล่นบ้าง แต่เด็กคนนี้ขอใช้คำว่า “ต้องอดใจไว้” ให้กับตัวเอง “มันเปลืองเงินครับ ถ้าเปลี่ยนมาเป็นค่ากับข้าว เราก็เอาเงินไปซื้อมากินได้ทั้งครอบครัว”
แต่ถ้าเก็บเงินได้สักก้อนจริงๆ อย่างแรกที่น้องสองจะทำก็คือ เอาเงินมาสร้างบ้านให้ตากับยายอยู่ ซื้อรถให้ผู้มีพระคุณของเขาได้ใช้ “(ร้องไห้ปาดน้ำตา) ตายายก็บอกว่าจะทำได้เหรอ หนูก็บอกว่าหนูจะทำให้ได้ครับ”
[ตระเวนเก็บขวด ให้ยายเอาไว้ชั่งกิโลฯ ขาย]
ถามว่าเหนื่อยไหมที่พยายามอยู่ทุกวันนี้ ทั้งต้องทำงานบ้าน, ช่วยเลี้ยงน้อง, ขายของช่วยหนุนรายได้ครอบครัว แล้วไหนจะต้องเรียนหนังสือ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ครบสมบูรณ์อีก สำหรับเด็กในวัยเดียวกัน อาจไม่ต้องแบกรับความยากลำบากใส่ตัวเองขนาดนี้ ลองหันไปถามคนที่อยู่ตรงหน้าดูว่า “เหนื่อยบ้างไหม?” แต่กลับไม่ได้คำตอบที่แสดงถึงความท้อถอยภายในใจเลยแม้แต่น้อย
“ไม่เหนื่อยครับ (ตอบทันที) แค่นี้ ผมทำได้ครับ มันไม่ใช่งานหนักอะไรครับ”
ตัวตนของน้องสอง ช่างตรงกับคำบอกเล่าที่ป้าดาให้ไว้ ที่บอกว่าเขาเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใส ชอบช่วยเหลือคนอื่น หรือเรียกง่ายๆ คือเป็น “เด็กคิดบวก” นั่นเอง รวมถึงอนาคตบวกๆ ที่น้องคาดหวังเอาไว้ในภายภาคหน้าด้วย คือภาพฝันวันที่สามารถผ่อนรถให้คุณตาคุณยายใช้ได้สำเร็จ
"มีอยู่ครั้งนึง เขานั่งรถอยู่ เขาก็ชอบมองรถคันนู้นคันนี้ เขาจะบอกว่า แม่..หนูโตขึ้นมา หนูจะต้องทำให้ได้ หนูจะต้องมีรถให้ตากับยายนั่งให้ได้ ไอ้เราก็คิดว่า โอ้โห..ขนาดลูกเต้าเรา ยังไม่พูดอะไรขนาดนี้เลย แต่เด็กคนนี้เขาคิดได้ขนาดนี้"
สมควรแล้วที่ครอบครัวของป้าดา จะรักและเอ็นดูน้องสองมาก จนถึงขนาดสามีของป้าอยากขอน้องมาเป็น “ลูกบุญธรรม” ช่วยส่งเสียทุกอย่างเสียเอง
“แฟนบอกว่าอยากจะส่งเสียให้น้องได้เรียนหนังสือ เพื่อที่จะได้มีงานมีการทำดีๆ เพราะน้องเขาเป็นเด็กที่ดี ไม่ลืมบุญคุณคน แล้วก็มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคนอื่นเสมอๆ”
[“ป้าดา” ผู้ให้โอกาสสร้างรายได้แก่น้องสอง]
แต่จนถึงตอนนี้ น้องสองก็ยังไม่ได้เป็นลูกบุญธรรมของใครอย่างเป็นทางการ เพราะทางครอบครัวของป้าดาเข้าใจดีว่า คุณตากับคุณยายของน้อง ยังคงหวังให้ “น้องสอง” เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจกันไปอีกนานที่สุด เท่าที่จะนานได้
“เราก็เข้าใจนะคะ เพราะเด็กเขาเป็นหลักของครอบครัว รองจากตาของเขาแล้ว ส่วนเรื่องค้าขาย เด็กคนนี้อย่างนี้เลย (ยกนิ้วโป้งให้) ถามแม่ค้าแถวนี้ได้ค่ะ เขาจะรู้กันหมดทุกคน เพราะเราสามารถปล่อยเขาตั้งร้าน ขายของเองได้หมดเลย”
นอนตายตาหลับ มีหลาน “โตเกินเด็ก”
[หน้าที่หลักก็ต้องทำ เพื่ออนาคตที่ฝันไว้]
“อนาคตผมอยากเป็นทหารครับ จะได้ช่วยชาติ และสุขภาพผมก็แข็งแรงด้วย" น้องสองวาดฝันเส้นทางชีวิตของตัวเองเอาไว้แบบนั้น หลังจากน้อมรับคำแนะนำดีๆ จากคุณตา จากที่เคยคิดว่าจะเรียนให้จบแค่ชั้นมัธยมต้น แล้วออกมาเร่ขายของหาเงินเลี้ยงครอบครัวแทน แต่คุณตาก็ปรามเอาไว้เสียก่อน เพราะไม่อยากให้หลานยอดกตัญญูคนนี้ “ตัดอนาคต” ของตัวเอง
“ใจจริง เขาอยากจบแค่ ม.3 กะว่าจะซื้อรถกระบะ แล้วขายของแบบที่ไปช่วยเขาอยู่ วันนึงได้ 3,000 - 4,000 บาท เพราะเขาเห็นแบบนี้มา แต่เราก็บอกว่าหนูไปคิดแบบนั้นไม่ได้ลูก อย่าไปตัดอนาคตตัวเอง หนูต้องเรียนให้จบ
ของขายแบบนี้ เขาซื้อกันแล้วใช้เป็นปีๆ ลูก ไม่ใช้วัน 2 วันแล้วทิ้งซะเมื่อไหร่ อย่างเสื้อซื้อมาก็ใส่เป็นปีๆ อย่างตัวนี้ใส่อยู่ 15 ปี หนูต้องเข้าใจนะลูกนะ ของซื้อตัวนึงมันใช้ได้นาน แล้วเมื่อไหร่เขาจะซื้ออีกลูก
[คุณตา เสาหลักแรกของบ้าน]
เราเรียนดีกว่า เราเป็นนายคนดีกว่า อย่าเป็นแบบพ่อ ให้เขาชี้นิ้วใช้อย่างนู้นอย่างนี้ เขาชี้ให้เป็นนกก็ต้องเป็นนก ชี้ให้เป็นกาก็ต้องเป็นกา (น้ำตาไหล) ผมกะว่าจะให้เขาไปเรียนเป็นนายทหารดีกว่า แต่ความฝันของเขาก่อนหน้านั้น เขาอยากเป็นตำรวจ เพราะเงินเดือนมันสูง ก็เลยบอกเขาว่าในเมื่อเราเรียนไม่เก่ง เป็นนายทหารมันน่าจะง่ายกว่าเยอะ
หัวเขาไม่ค่อยดี แต่ถ้าเรื่องคุณธรรมเขาดี ชอบมาถามว่าตามีตังค์-มีข้าวกินไหม หนูอยากให้ตังค์ตาไปทำงาน ผมก็บอกไม่เป็นไรลูก... พอเขาพูดแบบนั้น เราก็ร้องไห้เลย (น้ำตารื้น) รู้สึกตื้นตันครับ เขาอายุแค่นี้ยังทำได้ขนาดนี้"
ไม่ต่างไปจาก เรียม ดีเทศ คุณยายของน้องสอง ที่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวของน้องสองไม่แพ้กัน ย้อนกลับไปในวันที่มีหน่วยงานเข้ามาบริจาคเงินให้แก่ครอบครัว โดยมอบผ่านน้องสองเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท แต่เด็กน้อยคนนี้กลับไม่ขอนำไปใช้ส่วนตัวสักบาทเดียว
"วันนั้น พนักงาน AIS เขาให้ไป 2,000 เขาบอกว่าน้องสอง อยากกินอะไร อยากได้อะไร ซื้อไปเลยลูก น้องก็เอามาให้บอก แม่ๆ ไปซื้อข้าวสารเลย 1,000 แล้วก็ให้พ่อตาเขาให้ไปทำงาน
ทีเราจะซื้ออะไรให้ รองเท้าเขาก็ขาด เหลือพอใส่ไปโรงเรียนได้อยู่คู่เดียว เขาบอกว่าแม่ไม่ต้องซื้อหรอก เดี๋ยวรอเปิดเทอมก่อน แล้วเขาก็ใส่ไปทั้งอย่างนั้นแหละ
คือว่าเขาเป็นคนไม่เรื่องมากน่ะ เป็นคนง่ายๆ ไม่จุกจิกจู้จี้ ไม่เคยจะมาร้องรบกวนเอานู่นเอานี่ ตอนไปเดินตลาดก็ถามเขาว่าเอาอะไรหรือเปล่าลูก ฮอตดอกไหม เพราะเราไม่กินอยู่แล้วไง หมู-ไก่ เพราะเราปวดขาเป็นเบาหวาน
แต่เขาก็บอกว่าแม่ไม่ต้องซื้อหรอก เปลืองเงิน แม่เก็บเงินไว้เหอะ เผื่อแม่ไม่สบาย... ดูความคิดของเขาสิ มันเกินเด็กจริงๆ เขาคิดเหมือนผู้ใหญ่เลย บางทีผู้ใหญ่บางคนยังสู้เขาไม่ได้เลย
ให้ทำอะไรก็ทำได้ ให้ไปซ่อมจักรยานก็ทำได้ ตอนเราไม่สบาย เขาก็ทำกับข้าว ดูแลเราได้ ตอนเช้าเราไปหาหมอตั้งแต่ตี 5 เขาก็ลุกขึ้นมาทำกับข้าว ล้างชาม-หุงข้าวให้ตา ผัดกะเพราก็ทำเป็น เห็นแค่นี้ ตายไปเราก็หมดห่วงแล้ว เพราะเขาช่วยเหลือตัวเองได้ ทำอะไรๆ เองได้หมดแล้ว"
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือเรื่องสุขภาพของคุณยายและคุณตาเอง เพราะคุณยายก็ป่วยเรื้อรัง เป็นโรคเบาหวานมาได้นานถึง 15 ปีแล้ว “เมื่อก่อนทำอยู่ ทำไหว เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำแล้ว เพราะมือแขนเท้ามันชา เดินไปไหนไกลๆ เดินไปไม่ไหว” คุณยายอธิบายอาการของตัวเองเอาไว้แบบนั้น
[คุณยาย ป่วยเป็นโรคเบาหวานจนดินไม่ได้]
ส่วนอาการของคุณตาก็น่าวิตกไม่แพ้กัน เพราะถึงขั้นโรคหัวใจกำเริบ ช็อกจนต้องพาเข้าโรงพยาบาลถึง 3 รอบแล้ว และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เข้าไปเร่งอาการคุณตาให้หนักมากขึ้น ก็คือการทำงานในโรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่ทำอยู่ประจำนั่นเอง
"เป็นเส้นเลือดตีบ 2 เส้น แล้วก็หัวใจโตข้างซ้าย ก็ได้รับการรักษาอยู่ จะไป 2 เดือนครั้ง ถ้าร้อนมากๆ แล้วจะเหนื่อย หายใจไม่ออก เราก็ต้องหลบเข้าห้องน้ำ ไม่งั้นจะสู้ไม่ไหว เป็นเพราะทำเครื่องปั้นดินเผานี่แหละ ข้างในมันร้อน แอร์ไม่มี ก็เลยช็อกไป แต่ที่ผ่านมา ก็มีคนมาหาเจอพอดี เขาก็โทร.ให้รถโรงพยาบาลมารับ หมอบอกว่าถ้ามาส่งโรงพยาบาลช้าเกิน 20 นาทีก็หัวใจล้มเหลว"
[น้องสอง ยังต้องเรียนต่อไป เพื่ออนาคตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่]
สิ่งที่เด็กน้อยคนนึงพอจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ ก็คือการช่วยหารายได้, เฝ้านับวันที่เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ให้ได้มากกว่านี้ และได้แต่ภาวนาว่าวันที่เขาไม่อยากให้เดินทางมาถึง จะไม่เกิดขึ้นกับครอบครัวที่เขารักที่สุด
“ถ้าคุณตาคุณยายเป็นอะไรขึ้นมา ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ ไม่รู้จะทำยังไงได้เหมือนกัน” น้องสองกลั่นคำพูดออกมาจากใจ ก่อนปิดท้ายด้วยรอยยิ้มบางๆ ที่เจือความเศร้าแฝงอยู่
[ร่วมส่งกำลังใจ-กำลังทรัพย์ ช่วยเหลือครอบครัวน้องสอง]
บทสัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
สัมภาษณ์: รายการ “ฅนจริงใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง: อิสสริยา อาชวานันทกุล