“ผมไม่ได้อยากเป็นทหารอาชีพ” เปิดใจ “ไอติม - พริษฐ์” กับเหตุผลว่าทำไมถึงตบเท้าเข้าสมัครทหาร พร้อมทั้งเผยถึงเรื่องราวชีวิตในด้านที่ไม่ได้มีกล้องจับ ทั้งเรื่อง ความเนิร์ด,มุมเกรียน และความบ้าบอลเข้าเส้น จนเกือบทำให้ตัวเองตาบอดมาแล้ว!
กลายเป็นประเด็นฮือฮา เมื่อ “ไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ” หลานชายคนเก่งวัย 25 ปี ดีกรีนักเรียนนอก ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตัดสินใจขอรับใช้ชาติด้วยการสมัครทหารทหารเกณฑ์ ไม่รอช้า ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงขอดึงตัวเขามาพูดคุย ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่รั้วทหารในอีกเพียงไม่กี่วันนี้แล้ว ว่าอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจไม่ให้ใบดำใบแดงเสี่ยงทายชีวิต!
คนหล่อขอช่วยชาติ!
-ทำไมถึงตัดสินใจสมัครทหาร
การที่ผมสมัครหรือเกณฑ์ทหาร ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยว่าควรจะมีการเกณฑ์ทหาร เพราะตอนที่ผมอยู่มัธยมไม่ได้เรียน รด. มี 2 เหตุผล ที่ผมสมัครไปเลย อย่างแรกผมคิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างชัดเจนและโปร่งใสที่สุด อย่างที่สอง ผมเป็นคนที่ค่อนข้างรักเสรีนิยม แต่แน่นอน เสรีนิยมของผมในบริบทนี่ค่อนข้างจำกัดระดับหนึ่ง ก็คือผมเลือกไม่ทำไม่ได้ ผมเลยเลือกสมัครไป ผมรู้แล้วว่าอนาคตผมจะเป็นยังไง เพราะถ้าไปเสี่ยงโชค เราวางแผนชีวิตเราไม่ได้
-คิดว่าประเทศไทยควรจะยังมีการเกณฑ์ทหารไหม
เราจะเห็นข่าวหลายครั้ง อย่างล่าสุดที่ผมเห็นแล้วผมสะเทือนใจมาก คือที่คนจับได้ใบแดงแล้วร้องไห้ว่ายายเขาจะอยู่ยังไง แน่นอน...การที่ผมจะไปแล้ว ผมต้องมีมุมมองอะไรที่ช่วยเติมเต็มมุมมองของผมตอนนี้ด้วย ก่อนที่จะไปถึงควรยกเลิกหรือไม่ยกเลิก ผมก็ต้องศึกษามากกว่านี้นิดหนึ่ง
แต่ผมคิดว่าน่าตั้งคำถาม คือ 1.การเกณฑ์ทหารควรจะมีหรือไม่ อยู่ที่จำนวนที่กองทัพต้องการ ปีนี้กองทัพบอกว่าต้องการ 104,734 คน ซึ่งมันเฉพาะเจาะจงมาก ผมคิดว่ามันต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น ว่าตัวเลขนี้คำนวณมายังไง เพราะว่าภัยคุกคามทั่วโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว มันเป็นการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ ทางไอเดียความคิด คนควรจะรู้ว่าตัวเลขนี้มายังไง พอคนเห็นด้วยว่าตัวเลขนี้เหมาะสม ก็เปิดให้คนสมัครก่อน ถ้าคนสมัครพอก็จบ ถ้าคนสมัครไม่พอ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะต้องเกณฑ์
2.คิดว่าเจตนารมณ์ของการเกณฑ์ทหาร ก็คือการที่อยากให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์ให้กับประเทศ แต่ผมคิดว่าสมัยนี้ มันน่าจะมีทางเลือกมากขึ้นว่าเราจะทำประโยชน์ให้กับสังคมยังไงได้บ้าง เช่น ในสังคมสูงวัย มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวเยอะมาก แทนที่จะไปเกณฑ์ทหาร อาจจะเลือกได้ว่าจะไปเป็นทหารหรือไปดูแลผู้สูงอายุ หรือว่าเป็นผู้ช่วยครูในพื้นที่ขาดแคลน
-ตอนที่ตัดสินใจสมัคร ครอบครัวว่ายังไง
รู้มานานแล้วครับ เพราะผมเรียนมัธยมที่อังกฤษ มันไม่มีทางที่ผมจะเรียน รด. แล้วสิ่งที่ผมแปลกใจคือ ผมคิดมาตลอดว่าทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาไทยชั้นมัธยม ได้มีโอกาสเรียน รด. หมด เป็นความคิดที่ผิดไปอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะว่าผมไปศึกษามา กลับเป็นว่าคนที่เรียน รด.ได้ มีแค่ 25% แล้วส่วนมากเป็นคนที่อยู่ตามเมืองใหญ่ เพราะมันมีค่าใช้จ่ายสูง ตรงนี้มันก็สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำเหมือนกันว่าทำไมคนในเมืองถึงมีโอกาส ก็ต้องยอมรับว่าคนไปเรียน รด. เพื่อจะหนีการเกณฑ์ทหาร ผมมองว่ามันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองใหญ่กับต่างจังหวัดในประเทศไทยเหมือนกัน
-ก่อนจะไป มีการเตรียมตัวยังไงบ้าง
ก็ยอมรับว่ามีวางแผนการเตรียมตัวไว้เยอะ แต่ว่าไม่ค่อยได้ทำตามแผน(ยิ้มบางๆ) ธรรมดาผมจะออกกำลังกายเยอะอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังๆ งานเยอะมาก รายการทีวีก็ต้องรีบถ่าย งานการเมืองผมก็ต้องรีบทำไว้ อย่าว่าแต่ออกกำลังกาย ช่วงนี้ยังไม่มีเวลานอนเลยครับ แต่ข้อดีในการเตรียมตัวคือ ตอนนี้ผมรู้สึกว่าผมทานอะไรก็ได้ เพราะว่าน้ำหนักผมขึ้นเท่าไหร่ เดี๋ยวผมก็ได้มีโอกาสได้ลด ผมยกเลิกสมาชิกยิมหมดเลย เพราะว่าไม่มีความจำเป็นแล้ว ผมได้มียิมฟรี 6 เดือน(หัวเราะ)
-คาดหวังอะไรจากการจะเข้าไปรั้วทหารครั้งนี้
ถ้าถามว่าผมอยากเป็นทหารอาชีพไหม ผมยอมรับว่าไม่ได้อยากเป็น แต่ผมคิดว่าการไปเกณฑ์ทหารครั้งนี้ ก็จะมีส่วนที่ทำให้ผมช่วยชาติได้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าศักยภาพหรือทักษะของผมจะไปช่วยกองทัพได้ด้านไหนบ้าง แต่ก็หวังว่ามันไม่ได้เป็นเหมือนกับที่หลายคนตั้งข้อสงสัย ก็คือไปรับใช้อะไรที่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับชาติ สมมติว่าผมอาจจะเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ ตอนนี้กองทัพก็มีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศมากขึ้น อาจจะต้องเข้าอาเซียน AEC อาจจะต้องมีการใช้ภาษาอังกฤษเยอะเหมือนกัน
อย่างที่ 2 ผมคิดว่าก็เป็นโอกาสที่ดี ที่ได้ไปใช้ชีวิตร่วมกับคนที่อาจจะไม่ได้มีประวัติในชีวิตเหมือนกับผม วันที่ผมไปเกณฑ์ทหาร ผมได้นั่งคุยกับคนรอบข้าง ซึ่งหลายคนมาจากจังหวัดต่างๆ กัน บางคนก็ไม่ได้มีโอกาสเรียน รด. เพราะไม่ได้จบการศึกษาถึงระดับมัธยม ผมก็เลยรู้สึกว่ามันก็เปิดมุมมองผมเหมือนกัน ว่าสิ่งที่เราคิด เราเรียนมามันใช้ได้กับประเทศไทย ชีวิตคนไทยคนอื่นเป็นอย่างนั้นจริงๆ รึเปล่า ผมก็ว่ามันน่าจะทำให้ความคิดผมมันเต็มแก้วขึ้น
องค์ประกอบ กว่าจะผสมรวมเป็น “ไอติม”
-เก่งขนาดนี้ ที่บ้านเลี้ยงดูแบบไหน
คุณแม่เป็นจิตแพทย์เด็ก คุณพ่อเป็นหมอเด็ก ผมว่าจุดเปลี่ยนคือตอนไปเรียนต่างประเทศ คุณแม่ก็เป็นสไตล์คุณแม่ไทย คือเป็นห่วงลูก พอผมไปเรียนที่อังกฤษ พอมีอิสรภาพในการใช้ชีวิตแล้ว ก็มีอิสรภาพทางความคิดเหมือนกัน กลับมาบางทีก็มีความคิดอะไรที่ต่างจากคุณพ่อคุณแม่เหมือนกัน แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็จะบอกว่า ‘ไม่น่าส่งไป ทำไมถึงคิดอย่างนี้’ ผมก็บอกว่า ส่งไปเองนะ ก็ต้องรับข้อดีข้อเสียให้ได้
แต่ยอมรับว่าพอไปเรียนต่างประเทศ คุณแม่ก็ปล่อย ตอนนี้ท่านรู้แล้วว่าถ้ายิ่งอยากให้ผมทำอะไร ผมจะยิ่งไม่ทำ คุณพ่ออยากให้เป็นหมอมาก แต่ผมก็ไม่เป็น ก็เลยอยากให้มีแฟนเป็นหมอ ก็ไม่เวิร์กอีก ไม่รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร คงไปกล่อมลูกผมคือเป็นหลานเขาแทน(หัวเราะ)
-อยากให้เล่าย้อนไปชีวิตวัยเด็กให้ฟังหน่อย
ผมเป็นเด็กเนิร์ดครับ ตั้งใจเรียนมาก แล้วโชคดีมากตอนที่ผมอายุ 13 ปี ผมไปสอบชิงทุนที่โรงเรียนมัธยมอีตัน ซึ่งคนจะมองว่าเป็นโรงเรียนที่มีแต่ลูกขุนนาง มันก็จริงในระดับหนึ่ง ปกติ 90% ของเด็กที่เข้าอีตัน ก็อาจจะต้องลงทะเบียนตั้งแต่เกิด ซึ่งผมไม่ได้มีโอกาสตรงนั้น
วิธีการที่ผมจะเข้ามีทางเดียวคือต้องสอบชิงทุน ทุกปีโรงเรียนเขาจะมีเปิดให้สอบ และจะช่วยเรื่องค่าเทอม จำได้ว่าเป็นคนเดียวที่บินจากต่างประเทศไปสอบ แล้วก็โชคดีที่ได้เข้าไป ตอนนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเหมือนกัน เพราะว่าการที่เราไปเรียนที่อังกฤษ แล้วเป็นโรงเรียนประจำ มันก็มีอิสรภาพมากขึ้น มันก็ทำให้ผมมีวินัยมากขึ้น ทำให้ผมได้มีโอกาสเล่นกีฬาเยอะมาก
ครอบครัว “วัชรสินธุ”
-ไปใช้ชีวิตในต่างแดนคนเดียว ต้องปรับตัวเยอะไหม
เยอะพอสมควรครับ แน่นอนว่าอย่างแรกคือภาษาไม่ได้ดีเท่าคนอื่น ต้องขอบคุณมาก ที่ตอนสอบเขาทดสอบศักยภาพจริงๆ ไม่ได้สอบความรู้ คำถามที่เขาถามเป็นคำถามที่ทดสอบศักยภาพ ถ้าทดสอบภาษาอังกฤษผมคงไม่ได้เข้า(หัวเราะ) จำได้เลยว่าตอนเข้าไปภาษาอังกฤษผมแย่มาก เรียนจบต้องอยู่หลังห้องประมาณ 10-20 นาที เพราะให้ครูอังกฤษมานั่งสอนว่าเรื่องรูปประโยค คือมันเป็นอะไรที่เด็กอังกฤษรู้อยู่แล้ว อย่างที่สองคือต้องเรียนวิชาใหม่ๆ เรียนภาษาฝรั่งเศส ภาษาละติน ซึ่งเด็กอังกฤษเขาเรียนมาแล้วที่โรงเรียนประถม ผมก็แบบ...ทำไมต้องมาเรียน รวมถึงการปรับตัวกับการอยู่ประจำ
-ทำไมถึงเลือกเรียนต่อในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์
ตอนแรกมี 2 อย่างคือ ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ กับ หมอ ทั้ง 2 อย่างมีเหมือนกันคือการพัฒนาประเทศ ถ้าจะเอาเหตุผลหลักผมรู้สึกว่าอย่างแรก มันมีความหลากหลายมาก วันหนึ่งผมได้เรียนเศรษฐศาสตร์ เรียนเลข อีกวันต้องมานั่งตอบครูเป็นชั่วโมงว่ารู้ได้ไงว่าไม่ได้ฝันอยู่ มันจะมีความหลากหลายในเนื้อหาและหลากหลายในอาชีพที่คนเรียนจบแล้วไปทำกัน ส่วนเหตุผลรองคือพ่อแม่ผมเป็นหมอ พ่ออยากให้ผมเป็นหมอมาก จนผมแบบ...อยากประชด(หัวเราะ) งั้นเรียนอย่างอื่นดีกว่า
-ความสนใจทางการเมือง ได้รับอิทธิพลมาจากคุณน้า(อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ด้วยหรือเปล่า
คนจะมองว่าผมสนิทกับคุณน้าผม ความจริงผมมีญาติ 2 คนที่ทำการเมือง ก็คือคุณอภิสิทธิ์อยู่ประชาธิปัตย์ กับคุณสุรนันทน์ซึ่งตอนนั้นเป็นแกนนำไทยรักไทยอยู่ ผมไปฝึกงานที่ประชาธิปัตย์ที่ ณ เวลานั้น เป็นพรรคเดียวที่มีโครงการฝึกงาน ผมเด็กมาก ประมาณ 15 มีวันหนึ่งที่ผมไปทำเนียบ ก็มีรูปออกไป คนก็เลยตีความว่าสนิทกับคุณอภิสิทธิ์
แต่ถามว่าเจอบ่อยไหม ไม่เลย ครอบครัวผมใหญ่มาก เจอจริงๆ คือปีละครั้งที่งานรวมญาติ ซึ่งเราไม่คุยเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ส่วนมากจะคุยเรื่องบอลครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมค่อนข้างแฮปปี้ที่จะคุยกับเขา เพราะว่าทีมผมอยู่เหนือกว่าเขาอยู่แล้ว(หัวเราะ)
-คิดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ตัวเองจะทำอะไรอยู่
ผมก็หวังว่าจะได้ทำงานทางการเมืองครับ ที่อยากทำงานทางการเมืองเพราะผมอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าความคิดหรือนโยบาย หรืออุดมการณ์ที่ผมเสนอ มันไม่ได้ตอบโต้โจทย์คน ณ เวลานั้น ผมก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง ว่าผมต้องไปปรับความคิดผมไหม อาจจะขาดความรู้ด้านไหนไปรึเปล่า ก็ต้องไปศึกษา แต่ผมก็หวังว่าผมจะได้มีโอกาสทำงานทางการเมือง
-แล้วถ้าไม่ได้ทำงานทางการเมือง คิดว่าจะทำอะไร
ผมคงหาอะไรทำที่มันก็สร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้ อย่างที่ผมบอก จุดประกายตอนแรกที่อยากทำงานทางการเมืองคือผมอยากพัฒนาประเทศเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าความสำเร็จของผมจะขึ้นอยู่กับว่าผมสร้างผลประโยชน์ได้เยอะแค่ไหน มันตรงเลย ความสำเร็จของผมกับความสำเร็จของประเทศชาติ
แต่ถ้าผมไม่ได้ทำงานทางการเมืองจริงๆ สมมติประเทศเป็นรัฐประหารไปเรื่อยๆ ผมก็คงหาช่องทางอื่น แต่ช่วงนี้ผมก็เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งผมก็ว่ามันสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ โดยที่ไม่ผ่านการเมือง ทุกอาชีพก็เกี่ยวหมดนะ อย่างคุณหมอก็พัฒนาประเทศได้เยอะมาก คุณครู สมัยก่อนผมก็คิดอยากเป็นครูเหมือนกัน ผมเอ็นจอยกับการให้ความรู้กับคนที่อยากรู้ ตอนเด็กๆ ผมชอบมากเวลารุ่นน้องมาขอให้ผมติวให้ พอเขาบอกว่าทำให้เขาเข้าใจขึ้น ผมรู้สึกภูมิใจมากเลย
“ความรักของผมคือประชาธิปไตย” ผมมองความรักของผมเป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าความรักที่ดีต้องมี 2 หลักการ ซึ่งมันก็ตรงกับหลักประชาธิปไตย 1.คือความเท่าเทียมกัน เราจะไม่ทำให้เขาเสียใจ เช่นถ้าผมโสด ผมเริ่มคุยกับใคร ผมก็คุยคนเดียว แล้วถ้าคนที่ผมคุยเขาคุยกับหลายคน ผมก็เสียใจ เราก็จะไม่ทำกับเขาเหมือนกับที่เขาทำให้เราเสียใจ 2.อิสรภาพ ผมไม่อยากไปกำหนดว่าต้องทำอย่างนี้นะๆ คือให้อิสรภาพในการกำหนดทิศทางชีวิตเขา อีกอย่างที่เหมือนประชาธิปไตยคือผมมีแฟนมา 3 คน เหมือนกับทุก 3-4 ปี ก็เปลี่ยน(หัวเราะ) ก็หวังว่าจะไม่เปลี่ยนแล้วครับ จะเลือกคบใครสักคน ผมมองว่าอย่างน้อยเขาต้องเชื่อใน 2 หลักการนี้ก่อน เรื่องเท่าเทียมกันแล้วก็อิสรภาพ ถ้าเขาเชื่อใน 2 หลักการนี้มันก็จะไม่ค่อยทะเลาะกัน เพราะเราจะทำอะไรที่ทำให้อีกฝ่ายเสียใจ แล้วเราก็จะไม่มาก้าวก่ายชีวิตกัน แต่ถ้าดูบทสัมภาษณ์เก่าๆ ของผม ผมจะเป็นคนที่รักความเป็นส่วนตัวพอสมควร ก็จะไม่ได้อยากเปิดเผยเรื่องนี้มากนัก ผมเป็นคนที่ชัดเจนแหละ ถ้าถามก็ตอบตรงๆ แต่มองว่าบางทีความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 คน เหมือนกับตอนที่คบกับณิชา(ณิชา - ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ นักแสดงสังกัดไทยทีวีสีช่อง 3) แน่นอนเขาเป็นคนสาธารณะกว่าผมอีก คือรู้สึกว่าชีวิตคู่มันก็ยากอยู่แล้วสำหรับคน 2 คน การที่มีแรงกดดันจากข้างนอกมา มันไม่ได้ทำให้ง่ายขึ้น |
เกือบตาบอดเพราะ “บ้าบอล”
-นอกจากเรื่องการเมือง ไอติมสนใจอะไรเป็นพิเศษ
ผมเป็นคนบ้าบอลมาก มากๆ(ย้ำเสียงหนักแน่น) ผมดูทุกนัด ทุกคืนวันเสาร์ผมจะเครียดมากเพราะว่าเพื่อนผมจะเตะบอลทุกคืนวันเสาร์ ว่าผมจะเตะบอลดี หรือดูบอลดี(หัวเราะ) และความบ้าบอลของผมเคยทำให้ผมเกือบตาบอดมาแล้ว
-เกือบตาบอดเพราะบอลยังไง เล่าให้ฟังหน่อย
ผมเป็นคนใส่คอนแทคเลนส์ แล้วตอนนั้นผมอยู่กับเพื่อน 2 คน ในบ้านหลังหนึ่ง เพื่อนไปที่อื่น แล้วผมทำเสื้อโค้ทหาย ซึ่งกุญแจบ้านอยู่ในโค้ทตัวนั้น แบตโทรศัพท์ก็เหลือ 0% มันก็เที่ยงคืนแล้ว ในที่สุดก็ต้องหาที่นอนในตึก ปัญหาคือผมใส่คอนแทคเลนส์อยู่ ซึ่งธรรมดาผมต้องถอด แต่วันรุ่งขึ้นผมซื้อตั๋วบอลซึ่งก็ราคาไม่ถูก เป็นบอลคู่อาเซนอล - เชลซี ถ้าผมถอด วันรุ่งขึ้นผมจะอดดูบอลอย่างมีอรรถรสเพราะผมไม่มีคอนแทคเลนส์ ผมเลยใส่ค้างคืนไปดูบอล
ตอนนั้น 6-0 จำได้ เชลซีชนะ แล้วก็กลับมา ตอนถอดคอนแทคเลนส์คือแสบตามาก วันรุ่งขึ้นผมบินกลับมาประเทศไทยเพราะว่าปิดเทอม ผมหลับบนเครื่อง ตอนลืมตาที่เมืองไทยแทบจะลืมไม่ได้ มันแสบมาก ก็เลยไม่ได้กลับบ้าน ไปโรงพยาบาลเลย เขาก็บอกว่าโชคดีมากที่คุณมาวันนี้เพราะถ้ามาช้ากว่านี้ แผลในตามันอาจจะอักเสบลุกลามไปส่วนอื่นที่กระทบการมองเห็น ถ้าจะทำเลสิกในอนาคตอาจจะลำบาก เพราะว่ามันมีแผลเป็นอยู่ นี่แหละครับสิ่งที่ผมยอมเพื่อบอล(หัวเราะ)
ว่างเมื่อไหร่ต้องได้ลงสนาม
-แล้วชอบทีมไหนเป็นพิเศษ
ผมชอบลิเวอร์พูลครับ ผมเริ่มเชียร์ลิเวอร์พูลน่าจะประมาณอายุ 7-8 ขวบ เพราะว่าผมตัวเล็กมาก ยิ่งผมไปเรียนที่อังกฤษ ผมตัวเล็กกว่าเพื่อนเลย แล้วสมัยก่อนลิเวอร์พูลมีนักเตะชื่อไมเคิล โอเวน ซึ่งตัวเล็กมากแล้วก็เก่ง ผมก็คิด ตัวเล็กก็เก่งได้นี่หว่า ก็เลยเริ่มเชียร์ลิเวอร์พูล ผ่านไปปีสองปี โอเวนตัดสินใจทรยศทีม ผมก็...เรายึดติดกับทีมแหละ เขาทรยศก็ปล่อยเขาไป
-แล้วเคยคิดอยากเป็นนักฟุตบอลบ้างไหม
เคยครับ ก็ยังคิดอยู่ แต่ความสามารถอาจจะไม่ถึง ผมชอบวิเคราะห์บอลมาก มีเกม Fantasy Premier League เป็นการให้เราวางตัวนักเตะ ผมอยู่อันดับ Top 200 ของประเทศ เลยคิดว่าถ้าสักวันงานทางการเมืองผมเป๋ ผมจะไปสมัครเป็นนักวิเคราะห์บอล ผมว่าผมรู้เรื่องบอลเยอะมาก ผมเคยไปออกรายการวิเคราะห์บอลครั้งนึง ช่วงเวิลด์คัพพอดี จำได้ว่าเขาให้จัดทีมชาติอังกฤษ ว่า 11 คนจะเป็นใครบ้าง จำได้ว่าน่าจะมีนักเตะลิเวอร์พูลอยู่ 5-6 คน(หัวเราะ) บอลโลกปีนี้ก็เชียร์อังกฤษครับ
-ตอนที่เหนื่อยหรือท้อ มีให้กำลังใจตัวเองยังไง
เวลาเหนื่อยหรือเครียดจริงๆ ผมดูบอล มันเป็นทุกอย่างจริงๆ (หัวเราะ) 90 นาทีที่ผมดูบอล ผมไม่คิดเรื่องอื่นเลย ผมเคยเห็นโปสเตอร์อันหนึ่ง คือคนอังกฤษบ้าบอลมาก แล้วโปสเตอร์อันนั้นมันตรงใจผมมาก คือเป็นรูปเด็กที่เป็นลูคีเมีย เขานั่งรถเข็นแล้วก็ไปดูบอล แล้วเขียนว่า 90 นาทีนี้ เป็น 90 นาทีที่ลูกเขาลืมว่าเป็นลูคีเมียอยู่ เขาก็ขอบคุณสโมสรฟุตบอลที่ให้ไปนั่งข้างหน้า ผมก็เออ...มันเป็นความสุขจริงๆ ที่มันทำให้เราหลุดจากโลกความเป็นจริงไปได้ช่วงหนึ่ง
ชีวิตมีหวานมีขม “ไอติมช็อกโกแลตชิป”
-เวลาว่างทำชอบอะไรบ้าง
เวลาว่างหายากครับช่วงนี้ แต่ถ้าว่างมากๆ เรื่องบอลมาเป็นอันดับ 1 ถ้าช่วงมีแฟน แฟนมาเป็นอันดับ 1...ก็ได้(หัวเราะ) แต่เวลาอยู่กับแฟนผมก็โฟกัสที่แฟน ถ้าไม่นับเรื่องบอล ผมเป็นคนดูหนังเยอะมาก ตอนที่มีแฟนผมดูหนังทุกเรื่องเลย
-ส่วนใหญ่ดูหนังแนวไหน
ผมชอบหนังของ Christopher Nolan ที่ชอบที่สุดคือเรื่อง The Prestige ซึ่งไม่ใช่หนังที่ดังที่สุดของเขา เป็นนักมายากล 2 คนที่เป็นคู่แข่งกัน ความยาวทั้งหมด 2 ชั่วโมงครึ่ง ช่วงแรกคุณจะงงมากว่าหนังเกี่ยวกับอะไร แต่ตอนสุดท้ายจะอ๋อ ทุกอย่างจะชัดเจน แล้วก็ The Dark Knight ก็ชอบ Inception ก็ชอบ ชอบทุกเรื่องครับ
-ขนาดดูหนังเพื่อความบันเทิง ก็ยังดูเป็นหนังแนวที่ต้องใช้ความคิดอีก
ผมก็เลยต้องดูรายการ The face บ้าง(หัวเราะ) อีกอย่างที่ผมชอบคือชอบอยู่กับเพื่อน ผมเป็นผู้ตามมากเลยนะ จะกินอะไรผมกินได้หมดผมจะเน้นว่าเราใช้เวลากับใครมากกว่าทำอะไร แล้วผมเป็นคนกินอะไรง่ายมาก ช่วงหลังผมกินข้าวไข่ดาวทุกเช้าติดกัน กลางวันถ้าวันไหนผมอยู่บ้าน ผมก็จะก๋วยเตี๋ยวเนื้อข้างบ้าน ตอนเย็นส่วนมากจะกลับถึงบ้านดึก ก็จะกินแม็กซ์แวลู เพราะมันขายข้าวกะเพราลดราคา 50% ก็โอเค ประหยัดดี
-เห็นแบบนี้ก็เป็นคนชิลชิล เหมือนกันนะ
ขอบคุณที่ใช้คำว่าชิล ไม่ใช้คำว่า งก ครับ(หัวเราะ)
-ปกติฟังเพลงแนวไหน
ถ้าเพลงไทยผมฟังบอดี้ลแลม ถ้าสากลผมฟัง Coldplay , Ed Sheeran ก็ฟังบ้าง หรือต้องฟังแบบ BNK เลยไหม ตอนนี้เพลงเขากี่ล้านวิวแล้วล่ะ ผมก็เป็นหนึ่งในหลายๆ วิว(หัวเราะ)
-ใน BNK48 ไอติมโอชิใคร
ผมชอบเฌอปราง ผมว่าเขาเป็นคนที่เก่ง เหมือนตอนนั้นเขาแสดงความคิดเห็นปัญหารถติด จำไม่ได้ว่าฟังที่ไหน แต่ฟังแล้วเฮ้ย...ความคิดดี อย่างที่ 2 เขาโดนถามเรื่องสเปกผู้ชาย ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเขาฉลาดแกมโกงรึเปล่า คำตอบเขาคือชอบผู้ชายตั้งใจเรียน ใส่แว่น ซึ่งมันบังเอิญเป็นเหมือนกับกลุ่มที่ชอบ BNK อยู่แล้ว เขาชอบอย่างนั้นจริงๆ หรือตั้งใจตอบเอาใจแฟนคลับ ผมก็เลย เออ...คนนี้มีความซับซ้อนในความคิดอยู่ น่าสนใจ
-ลองเปรียบเทียบตัวเองหน่อยว่าเป็นไอศกรีมรสอะไร
ตอบยาก(หัวเราะ) ตอนนี้น่าจะเป็นรสกาแฟ เพราะว่าผมขาดนอน ถ้าปกติรสวานิลลาก็จะดูน่าเบื่อ ถ้ารสเรนโบว์ก็ดูอยากจะดูสนุกสนานเกินไป เอ่อ...ตอบสตรอว์เบอร์รี่เดี๋ยวจะตีความไปอีกทางหนึ่ง ช็อกโกแลตชิปก็ได้ครับ เป็นรสโปรดของผม เพราะมันก็มีทั้งมุมสีขาวและสีดำ ชีวิตเรามันมีหลายสี
-ถ้าให้ไอติมนั่งมองตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นคนยังไง
ผมอยากให้คนเห็นมุมชิลของผม ต้องยอมรับว่าพอสัมภาษณ์สื่อ เขาถามผมแต่เรื่องเครียดๆ การเมืองมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ถ้าเราเข้ามาทำงานการเมือง เวลาเราทำอะไรมันส่งผลกระทบต่อคนหลายล้านคน พอโดนสัมภาษณ์เรื่องการเมืองมันก็เลยออกมาแต่มุมจริงจัง แต่ก็อยากให้คนเห็นมุมนี้เหมือนกัน เพราะหลายคนที่เจอก็จะบอก ไม่เคยเห็นมุมนี้ ถ้าให้มองตัวเอง ผมก็เป็นคนจริงจังกับงาน เวลาผมซีเรียสปุ๊บ จะเริ่มลุกขึ้นมาเดินไปเดินมา บางทีผมคุยโทรศัพท์ ผมจะเดินไปเรื่อย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไปอยู่ที่ไหน(หัวเราะ) แต่ก็เป็นคนที่ผ่อนคลาย ไร้สาระ จะเรียกว่ากวนหรือเกรียนก็ได้
-กลัวเสียภาพลักษณ์ไหมเวลาพูดเรื่องไลฟ์สไตล์อีกมุม
ผมว่าเสียน้อยกว่าพูดเรื่องการเมืองอีก(หัวเราะ)
บอกต่อหนังสือ #ไอติมอ่าน เล่มแรกจริงจังสุด คือ A theory of justice ของ John Rawls เป็นหนังสือดังของแวดวงรัฐศาสตร์เลย ผมชอบที่เขาให้ลองคิดว่าสังคมที่ยุติธรรมคืออะไร ถ้าเกิดว่าเราตื่นมาพรุ่งนี้เป็นคนเดิมอยู่ เราจะมองว่าสังคมยุติธรรมเป็นสังคมที่ช่วยเรา สมมติเราเป็นคนเรียนเก่ง เราก็จะมองว่าสังคมยุติธรรมคือสังคมที่คนเรียนเก่งได้ดี เขาเลยบอกว่าต้องคิดใหม่ เราตื่นมาพรุ่งนี้เราอาจจะเป็นคนประเภทไหนก็ได้ สถานการณ์ไหนก็ได้ มันก็เป็นวิธีที่ดึงคุณออกจากอคติต่างๆ ที่มี เพื่อจะคิดว่าสังคมยุติธรรมจริงๆ คืออะไร เขาก็มีบทสรุปของเขา ซึ่งผมก็เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ผมว่ากระบวนการคิดนี้น่าสนใจ สำหรับคนที่อยากจะลองคิดทางการเมือง หนังสือเล่มที่ 2 น่าจะเป็นพวก Undercover economist ของ Tim Harford เป็นการที่ว่าให้เห็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เช่นร้านกาแฟร้านหนึ่ง มันจะมี 3 ไซส์ เล็ก-กลาง-ใหญ่ มีวิธีการตั้งราคาแปลกมาก ประมาณว่า เล็ก 50 กลาง 95 ใหญ่ 100 คนก็จะบอก ‘ใครมันจะโง่ซื้อไซส์กลาง เพิ่มอีก 5 บาทก็ได้ไซส์ใหญ่แล้ว’ ที่เขาทำอย่างนี้เขาไม่ได้ต้องการให้เราซื้อไซส์กลาง แต่เขาต้องการให้เราซื้อไซส์ใหญ่ไม่ก็เล็ก มันก็ดูว่าไซส์ใหญ่คุ้มขึ้นมาทันที จากที่แรกที่อาจจะอยากซื้อไซส์เล็ก มันก็น่าสนใจว่าเศรษฐศาสตร์เป็นอะไรที่ใกล้ตัวเหมือนกัน เล่มที่ 3 น่าจะเป็นหนังสือของ Roald Dahl เป็นนิยายเด็ก ตัวอย่างเช่น The BFG , Charlie and the Chocolate Factory เป็นหนังสือที่ผมเติบโตมาด้วยเลย ตอนเด็กๆ ภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยดี ผมก็ใช้หนังสือของเขา เป็นหนังสือที่ผมอ่านแล้วผมสนุก เป็นภาษาอังกฤษที่เข้าใจง่าย แล้วหลายเรื่องก็เอามาทำเป็นหนัง |
ถ้า “ไอติม” ได้เป็นนายกฯ
-ทุกวันนี้มีปัญหาสังคมเรื่องไหน ที่รู้สึกว่าขัดใจ แล้วอยากจะแก้แบบเร่งด่วน
ประโยคหนึ่งที่ผมเคยพูด แล้วรู้สึกว่ามันครอบคลุมหลายอย่าง คือ “เพิ่มความหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ” เพิ่มความหลากหลาย คือผมเป็นคนที่เชื่อในเสรีนิยม ก็คือว่าคนเราทุกคนมีความต้องการแตกต่างกัน เราควรจะมีสิทธิทำสิ่งที่เราต้องการ ตราบใดที่เราไม่สร้างทุกข์ให้กับคนอื่น ถ้ามองเป็นรูปธรรมหน่อย เราเกิดมาเราเลือกไม่ได้ว่าเราเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง สมมติถ้าผมเกิดเป็นผู้ชาย ผมชอบผู้หญิง ผมแต่งงานได้ แต่ถ้าเกิดผมชอบผู้ชายขึ้นมา ทำไมคนที่ผมรักไม่ได้อย่างนั้น ผมก็เลยมองว่าเพิ่มความหลากหลาย 1 ในนั้นคือทำให้คนที่ชอบเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ส่วนลดความเหลื่อมล้ำ ในระยะยาวก็จะเป็นเรื่องการศึกษา แต่ว่าในระยะสั้นเลย ผมว่ามันมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด ผมมองว่าจุดเริ่มต้น คือทำยังไงให้แต่ละจังหวัดบริหารตัวเองได้ เพราะฉะนั้น ทำยังไงให้ผู้ว่าฯ แทนที่จะส่งไปจากส่งกลาง เป็นคนของจังหวัดที่คนในพื้นที่ยอมรับ มาจากการเลือกตั้ง แน่นอนต้องควบคู่มากับความโปร่งใส ผมว่ามันน่าจะตอบโจทย์ให้แต่ละจังหวัดสามารถพัฒนาตัวเองได้ได้ทางที่ต้องการ
อีกด้านหนึ่งคือเรื่อง GDP คือรัฐบาลปัจจุบันจะดีใจมาก เวลา GDP โตขึ้น แต่ทำไมเวลาผมไปต่างจังหวัดไม่เห็นมีใครรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเลย ผมเลยลองนั่งคิดว่าถ้าผมขับรถกลับบ้าน แล้วรถติด 3 ชั่วโมง GDP ขึ้น เพราะมันเผาผลาญน้ำมัน ผมต้องใช้น้ำมันมากขึ้น แต่ถ้าคนแสนคนออกมาวิ่งกับพี่ตูน มาทำจิตอาสาแต่ไม่ได้มีรายได้ GDP ไม่ขึ้น ผมเลยมองว่า GDP มันไม่ได้สะท้อนถึงสถานะความเหลื่อมล้ำ ความสุข คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม หลักธรรมาภิบาลต่างๆ ตราบใดที่รัฐบาลยังมุ่งแต่เรื่องการใช้ GDP เป็นเป้าหมายของเศรษฐกิจ ผมว่ามันยังไม่ตอบโจทย์คน แล้วมันก็จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำ
-สมมติว่าวันหนึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมา อยากแก้ปัญหาอะไรก่อนอย่างแรก
นายกฯผ่านการเลือกตั้ง?(หัวเราะ) ก่อนอื่นต้องบอกว่าถ้าเป็นนายกฯ ต้องอายุ 35 ก่อน ผมเดายากมากว่าปัญหาในประเทศไทยอีก 10 ปี จะเป็นอะไร แต่ผมว่าก็คงกลับมาเรื่องเดิม คือ เพิ่มความหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ แล้วอย่างนโยบายการศึกษา ผมมองว่ากลายเปลี่ยนแปลงประเทศมันใช้เวลานาน นั่นคือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมผมถึงเข้ามาตอนที่อายุยังน้อยอยู่ เพราะผมรู้สึกว่าอยากเข้ามา แล้วก็ช่วยไปสู่การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่เข้ามาก่อนเกษียณ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะงั้นจึงยากมากที่จะตอบว่าถ้าเป็นนายกฯ อีก 10 ปีจะทำอะไร ผมไม่มีแผน
“เห็นกับตา” รายการที่ไอติมได้มีโอกาสตามติดแต่ละอาชีพ
-ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง ทำไมจึงสนใจงานทางการเมือง
ความจริงหลายคนจะงง คือผมเรียนจบและทำงานที่ต่างประเทศเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าจบแล้วเพิ่งกลับมา ถามว่าทำไมผมสนใจงานทางการเมือง ผมรู้สึกว่าผมอยากกลับมาพัฒนาประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือประเทศไทยกับประเทศอังกฤษ ระบอบการปกครองเหมือนกัน ก็คือประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบรัฐสภา แต่ความเหลื่อมล้ำหรือผลลัพธ์ในหลายๆ ด้าน มันต่างกันมาก ผมรู้สึกว่าตรงนี้เป็นประกายสำคัญที่ทำให้ผมสนใจที่จะกลับมาช่วยบ้านเมือง
ต้องเป็นงานทางการเมืองไหม ไม่จำเป็นนะครับ 2 ปีแรกที่ผมจบมา ผมตัดสินใจไม่เรียนต่อเพราะอยากได้ประสบการณ์การทำงานจริงๆ ผมไปทำงานที่บริษัทที่ปรึกษา ชื่อบริษัท McKinsey & Company เป็นบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ให้กับทั้งธุรกิจและรัฐบาลนานาชาติ มีออฟฟิศทั่วโลกครับ เขาก็อาจให้ McKinsey มาช่วยวิเคราะห์ พอผมทำมาได้ 2 ปี ผมก็รู้สึกว่าผมควรจะเอาความรู้นี้กลับมาช่วยพัฒนาประเทศไทย ก็เลยกลับมา
พอกลับมาปุ๊บ ผมยอมรับว่าสิ่งที่ผมขาดอยู่คือความเข้าใจปัญหาของประเทศไทยเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในประเทศมาโดยตลอด เลยตัดสินใจทำรายการทีวี ชื่อรายการ “เห็นกับตา” ที่จะออกอากาศทุกวันศุกร์ 22.30-23.00 น. ทาง PPTV HD 36 เริ่ม 4 พฤษภาคม เป็นต้นไป แต่ละตอนผมจะไปติดตามอาชีพ เพื่อจะเรียนรู้ว่าอุปสรรคของแต่ละอาชีพคืออะไร และเป็นพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ ตอบคำถามที่หลายคนสงสัย เช่น ทำไมแท็กซี่ต้องปฏิเสธผู้โดยสาร แล้วมันก็จะมีประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้องตามมา เช่น ตอนที่ไปตามครูสอนยิงปืน เขามองว่าการที่ทุกคนมีปืน อาจจะทำให้อาชญากรรมลดลง แต่ผมกลับมองว่า เราน่าจะเข้มงวดมากขึ้นกับการเข้าถึงอาวุธปืน มันก็เป็นข้อถกเถียงที่สามารถมาช่วยเสริมให้คนเริ่มคิดถึงเรื่องนี้ แล้วก็มาเริ่มผลักดันนโยบายเรื่องนี้ได้
-แบบนี้ก็เหมือนกับเป็นการปูทางเข้าสู่การเมืองด้วยใช่ไหม
ถ้ามองว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ ผมว่าก็ใช่(หัวเราะ) เพราะผมว่าคนที่จะทำงานด้านการเมือง ก็ควรจะรู้ว่าปัญหาของประเทศคืออะไร อันนี้ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ของผมอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่อย่างเดียว เพราะเราไม่ได้ไปตามชีวิตเขาวันเดียวแล้วจะรู้ทุกอย่าง เราก็ต้องศึกษาทฤษฎีด้วย ศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศไทยด้วย ศึกษานโยบายของรัฐบาลเก่าๆ ด้วย แต่ผมว่ามันก็ช่วยเติมเสี้ยวหนึ่งของความรู้ผม เพราะเวลาเราออกนโยบาย ถ้าเราศึกษาแต่ทฤษฎีอย่างเดียว เราไม่ลงไปดูภาคปฏิบัติ บางทีเราอาจจะคิดไม่ถึงว่านโยบายที่เราออกมา มันจะส่งผลกระทบต่อเขายังไงบ้าง
-มีปัญหาไหนที่สนใจเป็นพิเศษ
ผมแทบจะสนใจทุกปัญหาเลย(หัวเราะ) แต่ก็ยอมรับว่าตัวเองคนรู้ลึกทุกปัญหาไม่ได้ อย่างแรกผมอยากรู้กว้างก่อน แต่ถ้าลงจริงๆ ผมสนใจมากที่สุดก็จะเป็น เรื่องการศึกษา เพราะถ้าทุกคนมีการศึกษาดี บุคลากรก็จะมีศักยภาพมากขึ้น การศึกษาเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนที่เกิดมาในสถานะครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย สามารถขึ้นมาประสบความสำเร็จได้โดยที่ไม่มีข้อจำกัด แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือว่า ถ้าผมได้มีโอกาสทำงานทางการเมืองจริง การศึกษามันเป็นอะไรที่มันจะเห็นผลในระยะยาว ปัญหาปากท้องก็ยังมีอยู่เยอะมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ต้องอย่าเน้นนโยบายระยะยาวอย่างเดียว เราต้องแก้ไขปัญหาที่เจออยู่ตอนนี้ด้วย
“ผมอยากสร้างประชาธิปัตย์ยุคใหม่” ถ้าถามผมว่า อยากจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือสานต่อพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ทั้ง 2 อย่างครับ(ยิ้ม) ถ้าสานต่อประชาธิปัตย์ผมมองว่าผมคงไม่ร่วมด้วย ผมก็คิดว่าประชาธิปัตย์ต้องมีการปรับสร้างใหม่พอสมควร เพราะผมรู้ว่าแค่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่พอสำหรับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แล้วแค่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ก็ยังไม่พอที่ประชาชนมีอยู่มีกินอย่างดี ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ต้องชัดเจนมากขึ้นว่าสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่มีการเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ต้องบริหารประเทศด้วยการมีประชาธิปไตยด้วย คือการเคารพสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันของจังหวัด เพศ ศาสนา มีการถ่วงดุลอำนาจ มีการกระจายอำนาจ 2.คือผมรู้สึกว่าต้องมีการให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของพรรค แต่สิ่งที่ดีที่มีการเปลี่ยนแปลงก็คือเขาเพิ่งแถลงมาว่าเราจะไปมากกว่านั้น ก็คือให้สมาชิกพรรคสามารถโหวตเลือกตั้งหัวหน้าพรรคได้เลย ซึ่งผมมองว่าเป็นการเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยในพรรคเอง ตอนนี้เรามีเทคโนโลยี คุณสามารถโหวตออนไลน์ได้ ประชาธิปไตยบวกเทคโนโลยี เท่ากับประสิทธิภาพ และ 3.กลับมาที่เรื่องนโยบาย ผมมองว่านโยบายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับพรรคการเมือง แล้วผมก็มองว่านโยบายต้องไม่ใช่การสานต่อนโยบายเก่าแล้ว สานต่อประชาธิปัตย์ไหม ไม่ใช่ แต่ผมอยากสร้างประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ถามว่าเคยคิดตั้งพรรคการเมืองไหม เคย(ยิ้ม) แต่การที่ผมได้เข้ามาทำงานกับพรรคการเมืองเก่ามันมีผลประโยชน์ 2 ด้าน ด้านแรกคือต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่อาจจะมีความต้องการที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า มีความสามารถหรือความรู้ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน เราอาจจะรู้เรื่องเทคโนโลยีเยอะกว่า แต่เราอาจจะไม่รู้เรื่องกฎหมาย ประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ต่างๆ เท่าคนรุ่นก่อน ด้านที่สอง ถ้าเราทำงานกับคนรุ่นก่อนในพรรคการเมือง ต้องถามว่าพรรคการเมือง จุดประสงค์ของเขาคืออะไร ถ้าเข้าไปบริหารประเทศแล้ว พรรคการเมืองก็ต้องทำงานกับข้าราชการ กระทรวง องค์กรอิสระต่างๆ อยู่ดี ซึ่งหลายๆ คนในนี้ก็เป็นคนรุ่นก่อน ในที่สุดมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ก็ต้องทำงานทั้งคนรุ่นใหม่แล้วก็คนรุ่นก่อน ผมก็เลยมองว่าการที่เข้ามาทำงานในพรรคการเมืองที่มีทั้งคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ทำงานด้วยกัน ก็เป็นบททดสอบที่ดี ตราบใดที่คนรุ่นก่อนในพรรคไม่ได้มองว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียงมากกว่าคนรุ่นใหม่ เท่าที่ประสบการณ์ผมมีมาที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น |
ประวัติส่วนตัว
ชื่อพริษฐ์ วัชรสินธุ
ชื่อเล่น ไอติม
วันเกิด 10 ธันวาคม พ.ศ. 2535
การศึกษามัธยม - เป็นนักเรียนทุน King’s Scholarship ของ Eton College ประเทศอังกฤษ
ปริญญาตรี - สาขาปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ
ความสนใจพิเศษ กีฬาฟุตบอล
ทีมโปรด ลิเวอร์พูล
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพประกอบ : อินสตาแกรม @paritw