xs
xsm
sm
md
lg

“ออเจ้าสี่ขา-แม่หญิงตู้กระจก” นุ่งไทยโดนประณาม ฤๅ “ชุดประจำชาติ” จะสูงส่งเกินจริง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ออเจ้าหมอ, ออเจ้าข้าราชการ, ออเจ้าประชาชนถ่ายบัตร ฯลฯ สังคมไทยเกาะกระแสละคร มอบคำชื่นชมให้กันและกันมาตลอดทาง คราวนี้แหละที่กลายเป็นคำก่นด่า ดรามากันอย่างจริงจัง เมื่อมี “ออเจ้าสี่ขา” และ “ออเจ้าตู้กระจก” ถูกจับให้นุ่งชุดไทย ฝั่งอนุรักษนิยมออกโรงด่าทั้งหมาทั้งคนว่าทำไม่ถูก ค้านกับฝั่งคนรักเจ้าสี่ขาที่ตั้งคำถามเรื่อง “ความสูงส่ง” ของชุดไทยกลับไป ล่าสุดนักประวัติศาสตร์ชี้ “ชุดไทย” ที่ใส่กันทุกวันนี้ อาจถูกตีราคาให้ดู “สูงส่งเกินไป” เพราะความรู้ไม่จริง!!




เทียบประวัติศาสตร์แล้วคิดใหม่! ชุดไทยสมัยไหนคือ “ของสูง”?


“มิตรสหายผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เพราะโดนเมียที่บ้านฟาดกบาลท่านหนึ่ง ส่งภาพมาอวดว่ากระแสชุดไทยไปไกลขนาดไหนแล้วนะครับ”

และแล้วก็ได้รู้กันทั่วพระนครว่า กระแสออเจ้าส่งให้ “ชุดไทย” ไปไกลได้ขนาดไหน เมื่อแฟนเพจ Drama-addict แชร์ภาพอาบอบนวดแห่งหนึ่ง ซึ่งจับให้ “ออเจ้าตู้กระจก” แปลงโฉมเป็นแม่หญิงแห่งอโยธยา ส่งให้เกิดกระแสถกเถียง ตั้งคำถามกันอย่างหนักว่า การเรียกลูกค้าด้วยวิธีการนี้จะสร้างความแปดเปื้อนให้แก่ “ชุดประจำชาติ” ที่หลายคนมองว่าเป็นชุดที่ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่


เช่นเดียวกับกรณี “น้องยาริส” ออเจ้าน้องหมาเพศเมียตัวหนึ่ง ที่ถูกจับสวมสไบ นุ่งห่มไทย แม้หลายคนจะมองว่าน่ารักน่าชัง แต่กลับมีอีกหลายคนวิพากษณ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม เพราะมองว่า “ชุดไทยเป็นของสูง” และเพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นที่ถกเถียงกัน ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงติดต่อขอความรู้ไปยังผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยหาคำตอบให้แก่ความเห็นต่างในกรณีนี้

“คงต้องย้อนกลับไปหาความหมายของคำว่า ชุดไทยที่แท้จริง ว่ามันคืออะไร” ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนดุสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยและล้านนา ชี้ชวนให้ย้อนกลับไปเปรียบเทียบชุดไทยในสมัยก่อนซึ่งเป็นที่มาของความรู้สึกที่ว่าชุดไทยเป็นชุดที่สูงส่ง นั่นก็เพราะผู้ที่มีสิทธิ์จะสวม “ชุดไทยราชสำนัก” มีเพียง ขุนนาง, เชื้อพระวงศ์ และกษัตริย์ เท่านั้น

หรือถ้าเป็นชาวบ้านทั่วๆ ไป ชุดไทยก็จะเป็นอีกระดับหนึ่ง คือจะเน้นแบบสวมผ้าขาวม้าหรือโสร่ง “ลองย้อนไปดูภาพลายเส้นที่ฝรั่งเขาสเกตช์ภาพเอาไว้ก็ได้ค่ะ จะเห็นเลยว่าชาวบ้านไทยจะไม่ได้แต่งตัวกรุยกรายสวยงาม จะมีก็แต่เจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น

และถ้าให้ย้อนกลับไปไกลที่สุดที่จะพอมีภาพถ่ายชุดไทย ก็จะเป็นสมัยของสมเด็จพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงฉลองพระองค์แบบชุดเปิดหัวไหล่ ลักษณะสไบ



 
[“น้องยาริส” ที่โดนแจ็กพอตเรื่องสุนัขแต่งชุดไทย]

แต่ถึงอย่างนั้น อาจารย์ก็ไม่ได้ฟันธงลงไปว่า ถ้าคนหรือแม้แต่น้องหมา ลุกขึ้นมา “สวมสไบ” ในวันนี้จะกลายเป็นการทำผิดต่อชุดที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากคำว่า “ชุดไทย” ในบริบททุกวันนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนที่อาจมีข้อแม้มากมาย ต่างจากในสมัยนี้ที่กลายเป็นเพียง “แฟชั่น” ที่ใครต่อใครต่างก็เข้าถึงได้เท่านั้นเอง

“เอาเข้าจริงๆ ชุดไทยที่เราใส่อยู่ทุกวันนี้ เรายังบอกไม่ได้เลยค่ะว่า ต้นรากมันอยู่ที่ไหน และมันใช่ชุดไทยแท้ เหมือนชุดไทยในยุคสมัยก่อนจริงหรือเปล่าด้วย อย่างชุดไทยที่เรารู้จักกันในวันนี้ เช่น ชุดไทยจักรี, ชุดไทยบรมพิมาน ก็เป็นชุดไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงสร้างแบบขึ้นมาเมื่อประมาณ 50 กว่าปีนี้เท่านั้น

แต่ถ้าให้พูดถึงเรื่องการเอาหมามาใส่ชุดไทย มันก็เป็นเรื่องของความเอ็นดู ความน่ารักค่ะ คือถ้าเราไม่ได้มองว่าชุดไทยเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์อะไรก็จะไม่เป็นประเด็น แต่ต้องเข้าใจค่ะว่า พอพูดถึงเรื่องความเป็นไทย สังคมไทยเราก็จะไปขยายความเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และชนชั้นด้วย ซึ่งมันก็ล่อแหลม พอเอาไปเล่นแบบนั้น คนก็จะตีเป็นกระแสไปในที่สุด



 


และถ้าจะให้เอาบริบทของสังคมสมัยนี้ ไปเทียบกับกาลเทศะของสมัยก่อนมันก็คงจะไม่ได้ค่ะ เพราะสมัยก่อนเวลาเจ้านายเขาแต่งตัวออกไปทำธุระ เขาก็ต้องมีระเบียบชุดที่เขาใช้กันในวังว่า วันไหนต้องนุ่งห่มสีอะไร ถามว่าทุกวันนี้เรายังยึดแบบนั้นกันอยู่ไหม ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว เหลือแค่นโยบายของรัฐบาลไทยเท่านั้นที่พยายามจะส่งเสริมเรื่องการแต่งชุดไทย

แต่การจะส่งเสริมให้สวมใส่ชุดไทยในหลายๆ ครั้ง ก็ไม่เคยมีกรอบหรือระเบียบอะไรกำหนดเอาไว้ให้ชัดเจนเลย ว่าจะต้องแต่งได้เฉพาะแบบนี้ๆ นะ ถ้าเป็นชุดไทยแบบของเจ้า จะแต่งไมได้นะ ซึ่งพอมันไม่เคยมีการประกาศออกมา ไม่มีการให้ความรู้เรื่องการแต่งชุดไทยอย่างแท้จริง

พอเกิดกระแสออเจ้าขึ้นมา คนก็แห่ไปแต่งชุดไทยกันหมดเลย “หมา-แมว” ก็ใส่ จนลามมาถึง น้องๆ ที่ขายบริการ ด้วย ซึ่งถ้าจะให้พูดถึงบริบททุกวันนี้ โดยส่วนตัวแล้วมองว่า ชุดไทยสมัยนี้กลายเป็น แฟชั่น ไปแล้วค่ะ ไม่น่าจะใช่ชุดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจับต้องไม่ได้ อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจกันไปแบบนั้น”



แต่งไทย “โล้สำเภา” ไม่ผิด แต่ไม่เหมาะสม

[“ออเจ้าตู้กระจก” ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องแต่งชุดไทย]

“ผมมองว่าไม่เหมาะครับ มันเกินกรอบไปแล้ว” ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม ผู้เชี่ยวชาญศิลปวัฒนธรรมไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม บอกจุดยืนของตัวเองอย่างชัดเจน ผ่านรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” เกี่ยวกับกรณีที่ “ออเจ้าตู้กระจก” อิงกระแสละคร หยิบชุดไทยไปสวมใส่เรียกลูกค้าอยู่ในร้านอาบอบนวด โดยมองว่าเป็นการทำให้ชุดไทยถูกมองไปในเชิงลบ ไม่ถูกต้องตามกาลเทศะ

“การจะใส่ชุดไทย มันต้องดูว่าอยู่ในสถานที่ที่สมควรหรือไม่สมควร เหมาะหรือไม่เหมาะ งามหรือว่าเกินงาม ซึ่งตรงนี้ผมดูแล้วมันก็ไม่เหมาะครับที่จะไปอยู่ในสถานที่แบบนี้ เพราะมันจะกลายเป็นด้านลบๆ เป็นเรื่องของกาลเทศะ เพราะแม่หญิง ออเจ้าหญิงทั้งหลายที่ใส่ชุดไทย แล้วก็ไปอยู่ในสถานที่แบบนั้น ก็เป็นที่ที่ผู้ชายส่วนใหญ่จะไปเที่ยวเพื่อหาความเริงรมย์”




สอดคล้องกับ ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย ที่ไม่ขอฟันธงว่าการกระทำดังกล่าว “ถูกหรือผิด” แต่ขอใช้กรอบของคำว่า “กาลเทศะ” แล้วดูว่า “เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม” จะดีกว่า ซึ่งคำตอบที่ได้ออกมา ก็ไม่ต่างไปจากครูมืดเท่าใดนัก

“มันกำลังเป็นแฟชั่นค่ะ เขาก็เลยใส่ตามๆ กัน แต่ถ้าจะให้มองว่าถูกต้องไหม อาจจะตอบไม่ได้ขนาดนั้น คงต้องกลับมามองเรื่องการสวมใส่เสื้อผ้าในประเด็น ความเหมาะสม มากกว่าค่ะว่า มันเหมาะสมตามกาลเทศะไหม เพราะสังคมไทยเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ถ้าถามว่าการที่ผู้หญิงใส่ชุดไทย แล้วมานั่งขายบริการแบบนี้ มันถูกกาลเทศะไหม มันก็ไม่ถูกต้องตามกาลเทศะแน่นอนค่ะ รวมถึงเรื่องการเอาชุดไทยไปใส่กับหมา มันเหมาะกับกาลเทศะไหม มันก็คงจะไม่เหมาะ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ตัดสินว่าอะไรเหมาะและไม่เหมาะ ส่วนตัวขอตัดสินจากเรื่องกาลเทศะค่ะ

ถึงแม้ว่าอาจารย์เนื้ออ่อนจะมองว่าการเอาชุดไทยสวมใส่ให้น้องหมา จะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกกาลเทศะเท่าใดนัก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มองว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะคนสมัยนี้เลี้ยงหมาด้วยวัตถุประสงค์ต่างจากคนสมัยก่อน คือไม่ได้เลี้ยงไว้ใช้งาน เลี้ยงไว้เฝ้าบ้านเท่านั้น แต่เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน หรืออาจเป็นเหมือนคนในครอบครัวเลยสำหรับบางคน

“เมื่อก่อนคนโบราณเขาจะไม่ได้เลี้ยงหมาแบบนี้ไงคะ เราไม่ได้เลี้ยงหมาเป็นเพื่อน ไม่ได้เลี้ยงหมาเป็นลูก แต่เราเลี้ยงหมาเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน ไม่ต่างอะไรไปจากวัวควาย พอทุกวันนี้ เราเปลี่ยนวิธีดูแลหมา ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคนที่สุด เราก็รักเขา แต่งตัวแฟชั่นให้เขา ทำสปาให้เขาก็มี ก็เลยกลายเป็นว่าหมาก็มีสถานะพิเศษขึ้นมา รวมถึงเรื่องการแต่งชุดไทยด้วย




ส่วนเรื่องที่ทางภาครัฐและหลายๆ ภาคส่วน เริ่มพยายามรณรงค์ให้หน่วยงานกลับมาสวมใส่ชุดไทย เพราะมีกระแสออเจ้าหนุนแรงมาก อาจารย์ก็มองว่าควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน อย่างน้อยๆ ก็ควรทำการบ้านเรื่อง “เนื้อผ้า” ที่จะนำมาสวมใส่ เพราะถ้าให้สวม “ผ้าไหม” อย่างที่มีอยู่ทุกวันนี้ มีหวังจะส่งผลลบมากกว่าผลดีเป็นแน่

“โดยส่วนตัวแล้วอยากถามว่า ชุดไทยมันใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันไหม ถ้าเป็นชุดไทยที่เราเชื่อถือกันอยู่ เช่น นุ่งผ้าโจงฯ, นุ่งผ้าถุงยาว, เสื้อแขนหมูแฮม ฯลฯ มันขึ้นรถเมล์ได้จริงไหม ในเมื่อบ้านเราเป็นเมืองร้อน มันก็อาจจะต้องหาชุดไทยแบบที่เหมาะสมค่ะ ล่าสุด เห็นนายตำรวจระดับสูงท่านหนึ่ง ท่านใส่ชุดเป็น “พี่หมื่น” เป็นชุดราชปะแตนคอปิด คำถามคือเราสามารถใส่อย่างนั้นได้ทั้งวันจริงๆ หรือเปล่า มันมีความเป็นไปได้ยากมากค่ะ

ย้อนกลับไปเมื่อสมัยก่อน เนื้อผ้าชนิดไหนที่คนไทยใส่กันจริงๆ มันคือ ฝ้าย นะคะ ไม่ได้ใส่ ไหม ถ้าเราดูเอกสารที่ นิโคลัส เขาบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราชอาณาจักรสยาม เขาบอกเอาไว้เลยว่าทุกครัวเรือนนั้นปลูกฝ้ายไว้สำหรับทอผ้าใช้เอง เพราะฉะนั้น ผ้าฝ้ายจึงเป็นผ้าที่ชาวบ้านใช้จริง มากกว่าจะเป็นผ้าไหมรีดกลีบโง้งลงแป้ง

พราะฉะนั้น ถ้าจะรณรงค์เรื่องการแต่งกายชุดไทย ก็ขอให้ดูเรื่องของเนื้อผ้าด้วยค่ะ แล้วก็ดูเรื่องของสไตล์ด้วย เพราะส่วนเนื้อผ้าในสมัยก่อนที่เจ้าใส่กัน ท่านก็จะใช้เนื้อผ้าสั่งเข้าจากฝรั่ง ผ้าที่สั่งมาจากเมืองจีน เมืองแขก เช่น ผ้าเยียรบับ เพราะผ้าไหมมันใส่แล้วไม่สบายตัว มันไม่ระบายความร้อน ไม่เหมาะกับอากาศบ้านเรา”

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ "Drama-addict" และ "YarisHusky Thailand ฮัสกี้ ไซน้อยผู้หิวโหย"


กำลังโหลดความคิดเห็น