xs
xsm
sm
md
lg

“ผมไม่กราบไหว้สิ่งที่ต่ำกว่าผม” วลีปวดใจชาวพุทธ กูรูชี้วิจารณ์ศาสนาไม่ผิด!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“ผมไม่กราบรูปปั้นที่ต่ำกว่า!” สังคมวิจารณ์วลีเดือด “โต ซิลลี่ ฟูลส์” ตอบคำถามรายการ สร้างความแตกแยก-ดูถูก-เหยียดหยามศาสนาอื่น!? ร้อนถึงสำนักจุฬาราชมนตรี แจงประเด็นดรามาบริภาษความเชื่อคนต่างศาสนิก ย้ำ ให้ใช้วิทยปัญญา-เคารพต่อศาสนาอื่น! ด้านนักศาสนวิทยา เปิดใจกับทีมข่าว สังคมพหุวัฒนธรรมไม่ได้แปลว่าจะวิจารณ์ศาสนาอื่นไม่ได้!

“ผมไม่กราบสิ่งใด..ที่ต่ำกว่าผม”

“คลั่งศาสนาแค่ไหน..ก็ไม่ควรดูถูกศรัทธาและความเชื่อของผู้อื่น!” สังคมวิจารณ์หนัก 'โต ซิลลี่ ฟูลส์' อดีตนักร้องเพลงร็อกชื่อดังในตำนาน หลังออกอากาศรายการ 'โต ตาล' กับพิธีกรคู่หูและมีการตอบคำถามจากทางบ้าน “ทำไมอิสลามถึงไม่มีรูปปั้น เหมือนชาวพุทธไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ”

โดยโตได้ตอบคำถามว่า “ผมจะไม่กราบสิ่งใดที่ต่ำเท่าผม หรือต่ำกว่าผม รูปปั้นหากผลักก็ตกแตก มันต่ำกว่าผมแล้ว มันไม่มีชีวิต จะไหว้ทำไมสิ่งไม่มีชีวิต รูปร่างอัปลักษณ์กว่าผม ปั้นให้ตายก็หล่อสู้ผมไม่ได้”

ทันทีที่ถ้อยคำในรายการถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในขณะนี้ ทั้งแสดงความคิดเห็นตำหนิพิธีกรว่าไม่ควรอ้างอิงถึงศาสนาอื่นในทางที่ดูถูก-เหยียดหยาม หรือแม้แต่การไม่เคารพในศรัทธาและความเชื่อของผู้อื่น

ขณะที่ 'พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร' ได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นที่ศาสนาพุทธมีวิธีคิดและเหตุผลในการบูชาสักการะพระพุทธรูป หรือเจดีย์สถานที่เกี่ยวเนื่องด้วยศาสดาที่เคารพศรัทธา เช่นเดียวกันกับศาสนาอิสลามที่มีวิธีคิดและปฏิบัติในรูปแบบของมุสลิมที่จะบูชาหรือเคารพหินดำที่เมกกะด้วยเช่นกัน

“คนพุทธก็มีวิธีคิดและเหตุผลในแบบของคนพุทธที่จะบูชาสักการะพระพุทธรูปหรือเจดีย์สถานที่เกี่ยวเนื่องด้วยศาสดาที่ตนเคารพศรัทธา เช่นเดียวกับคนมุสลิมเอง ก็มีวิธีคิดและเหตุผลในแบบของคนมุสลิมที่จะบูชาหรือเคารพหินดำที่เมกกะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสดาของตนเช่นกัน


 
เรื่องแค่นี้เข้าใจได้ไม่ยากเลย คือ ถ้ามองเห็นหัวใจของคนอื่นอย่างที่มองเห็นในตัวเอง เรื่องที่จะอธิบายอะไรด้วยการเหยียดหยาม ดูแคลน มันก็จะไม่เกิดขึ้น หัวใจของคนพุทธที่ก้มลงกราบพระพุทธรูปกับหัวใจของคนมุสลิมที่ก้มลงจูบก้อนหิน คือหัวใจดวงเดียวกัน หัวใจที่เปี่ยมด้วยความเคารพศรัทธาที่มีต่อองค์ศาสดาของตน”

เช่นกันกับด้าน 'อาศิส พิทักษ์คุมพล' จุฬาราชมนตรี ซึ่งหลังจากมีกระแสดรามาดังกล่าว ได้ออกชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยใจความสำคัญระบุว่า “การเผยแพร่ศาสนาในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมจะต้องสุขุม รอบคอบ และเคารพต่อศาสนาอื่น จึงต้องการเตือนให้ท่านทั้งหลายเดินตามแนวทางที่อิสลามสอน

จงใช้วิทยปัญญาและคำสอนอันดีงาม ไม่ใช่การบริภาษ การกล่าวร้ายที่จะนำไปสู่การตอบโต้ และมีความแตกแยกตามมา ขอให้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย”

สอดคล้องกับความคิดเห็นจากกลุ่มอิสลามเองก็ได้วิจารณ์เรื่องนี้ด้วยว่า ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานในสังคม และไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำที่พิธีกรคนดังกล่าวใช้ในการสื่อสารถึงศาสนาอื่นๆ พร้อมวอนอย่าเหมารวมคนอิสลามทั้งหมดว่ามีความคิดเช่นนี้ รวมถึงต่อว่า 'บังโต' สร้างความบาดหมางและสร้างภาพลบให้กับศาสนาอิสลาม!


FB: Contrast
 
หลังจากที่กระแสวิพากษ์ยังคงร้อนระอุ นักร้องสายดิบ 'เสก โลโซ' ออกโรงโต้กลับถึงโต ซิลลี่ ฟูลส์ ด้วยเช่นกัน โดยได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัวของตนว่า “หุบปากแล้วไปขายเนื้อซะไอ้น้อง!! เดี๋ยวจะโดนตี-กู!!! ความคิดเ-- สร้างความแตกแยกทางศาสนา ไม่ควรมีจุดยืนในสังคม!!!”

ขณะที่สังคมออนไลน์ต่างพากันทำภาพล้อเลียนถึงประเด็นนี้ รวมถึงภาพวันวานยังหวานอยู่ ระหว่าง 'เสก โลโซ' และ 'โต ซิลลี่ ฟูลส์' กอดไหล่กันในสมัยที่ยังเป็นนักร้องวัยละอ่อนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดเรื่องราวดรามา 'โต ซิลลี่ ฟูลส์' ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ 'ทุบโต๊ะข่าว' ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่าตนเพียงตอบคำถามว่าทำไมศาสนาอิสลามถึงไม่มีรูปปั้นไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจตามทัศนะของคนที่เป็นมุสลิมเท่านั้น ไม่ได้ว่ากล่าวตัดสินใครว่าถูกหรือผิด

“ผมไม่มีสิทธิ์ไปวิพากษ์วิจารณ์มันเป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะทำดีทำชั่ว ทำอะไรก็ได้ แต่ว่าคำถามคือผมตอบคำถามของคนที่ถามว่าทำไมอิสลามจึงไม่ไหว้รูปปั้น ผมก็ตอบไปเท่านั้นเอง ผมไม่มีสิทธิ์ไปพูดว่าใครผิดใครถูกอยู่แล้ว ผมพูดคำถามที่ว่าทำไมมุสลิมถึงไม่ไหว้รูปปั้น คือต้องไปฟังคลิปฯ ดีๆ ว่าผมไม่เคยไปเท้าความถึงใคร

อย่าว่าแต่คลิปฯ นี้เลย ถ้าไปฟังรายการโต-ตาลมันมีอยู่ในยูทิวบ์มา 6 ปีแล้ว ทุกทัศนะ ทุกแง่มุมของอิสลามจะเห็นว่ามันไม่มีไปพูดถึงการที่คนจะไปทำอะไรก็แล้วแต่ นอกจากสิ่งที่ชั่วจริงๆ เช่น การฆ่าคน การข่มขืนเด็ก ซึ่งอันนี้ต้องพูดให้ชัด แต่ถ้าคนจะไปบูชารูปปั้นและคนคิดว่าดี อันนี้ผมไม่เห็นด้วย แต่มันก็เป็นสิทธิ์ของคุณ”

สังคมพหุวัฒนธรรม = ศาสนาวิจารณ์ได้

ท่ามกลางกระแสการวิจารณ์ที่หนักหน่วง ต่อประเด็นเชิงศาสนาที่ละเอียดอ่อน กับคำถามที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า ความจริงแล้วผู้นับถือศาสนาสามารถวิจารณ์ศาสนาอื่นที่ต่างจากตนได้หรือไม่ และขอบเขตของการวิพากษ์นั้นมีเส้นแบ่งของความถูกต้องและความไม่ก้าวล่วงได้ถึงเพียงไหน

'ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์' นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ปรัชญาและจิตวิญญาณธรรมให้คำตอบกับทีมข่าว ผู้จัดการ Live หลังต่อสายตรงถึงประเด็นดรามา 'โต ซิลลี่ ฟูลส์' จากกรณีมีการพูดถึงเหตุผลที่ศาสนาตนไม่ได้มีการเคารพบูชารูปปั้นเหมือนศาสนาอื่น จนเกิดกระแสดรามาถล่มยับจากการใช้คำพูดที่ค่อนไปในทางดูถูก-เหยียดหยาม

“ในกรณีของคุณโต จริงๆ เขาพูดไม่ได้ผิดนะ เพราะในแง่ของศาสนาเขาเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เขาพูดมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ สิ่งนี้เราก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าเขาไม่ได้ตั้งใจดูถูกใครหรอก เขาพูดไปตามสิ่งที่เขาเชื่อจริงๆ

แต่ที่มันเป็นปัญหาเพราะว่าคุณโต เขาพูดออกมาทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมันเป็นพื้นที่สาธารณะ และเขาเป็นคนที่มีชื่อเสียง คนติดตามส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธในสังคมพหุศาสนา คุณโตเขาพูดตามตรง ตามที่เขาเชื่อในหลักศาสนาของเขา แต่ด้วยเนื้อหาที่สื่อมันอาจพาดพิงถึงศาสนาของคนส่วนใหญ่ที่สังคมไทยนับถือ

รวมไปถึงการพูดพาดพิงเรื่องของรูปปั้นที่คนเคารพของคนในศาสนาอื่น ซึ่งในศาสนาอิสลามนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแบบที่ไม่มีการปั้นเป็นรูปเคารพ เพราะพระเจ้าไม่มีรูปร่าง จึงไม่มีการปั้นเป็นรูปขึ้นมา ซึ่งการปั้นและกราบไหว้ เท่ากับเป็นการสร้างสิ่งที่ต่ำกว่ามนุษย์


 
ดังนั้น ปัญหาคือคุณโตไปใช้คำว่ารูปปั้นเป็นของต่ำกว่าตัวเขา คนก็รับไม่ได้ เพราะในศาสนาพุทธแบบไทยให้ความสำคัญกับเรื่องรูปปั้น รูปบูชาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฝังรากลึกในวัฒนธรรม เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องให้เกียรติ เป็นสิ่งที่เหนือกว่าคน วางต่ำกว่าคนยังไม่ได้เลย”

ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนวิทยา ดร.ศิลป์ชัย มองว่าเป็นธรรมชาติของสังคมพาหุวัฒนธรรมที่ในชุมชนหนึ่งจะมีหลายวัฒนธรรม ซึ่งรวมไปถึงหลายศาสนา แต่สิ่งที่เข้มข้นรุนแรงที่สุดในวัฒนธรรม คือ เชื้อชาติกับศาสนาที่ต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในความหลากหลายที่มี

“ปัญหาอีกด้านหนึ่งก็คือเชื้อชาติและศาสนามันเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ซึ่งมักจะมีความเฉพาะตัว ผลก็คือทำให้ในชุมชนที่ต้องมีคนหลายเชื้อชาติและศาสนา จำเป็นต้องระมัดระวังมาก เพราะมีความแตกต่าง พอเชื้อชาติ-ศาสนาต่าง การแต่งตัว ภาษา การกิน การอยู่ วิธีปฏิบัติเรื่องจริยธรรม แนวคิดเรื่องถูก-ผิด มันจะแตกต่างแน่นอน

รวมถึงสิ่งที่เคารพนับถือบูชาก็แตกต่างกันไปด้วย ความแตกต่างแบบนี้ เราต้องหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะว่าความแตกต่างเยอะๆ มันมีโอกาสที่จะขัดแย้งกัน กระทบกระทั่งกัน ความเห็นไม่เหมือนกัน ย่อมจะมีสูง

ดังนั้น สังคมพหุวัฒนธรรมต้องหาวิธีให้คนที่อยู่ร่วมกันในความแตกต่างอยู่ร่วมกันได้ อย่างที่บอกไปแล้วว่าเรื่องใหญ่คือ ต้องระมัดระวังเลยคือสิ่งที่ทำให้คนที่ต่างจากเรา รู้สึกว่าเราไม่ได้ไปดูถูกเขา เพราะว่าการถือว่าอะไรสำคัญ มันเห็นไม่เหมือนกัน”

ข้อสงสัยก็คือสังคมได้อะไรจากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ด้านนักศาสนวิทยากล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็นดรามาที่ยังคงวิจารณ์ครุกรุ่นไปทั่วสังคมออนไลน์ว่า การวิจารณ์ศาสนาที่ต่างออกไปในสังคมพหุวัฒนธรรม ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย

 
แต่สิ่งที่ฝากให้ระมัดระวังคงเป็นเรื่องของเนื้อหาที่สื่อสารออกไป ทั้งด้านคำพูดและแสดงแนวคิดบนพื้นที่สาธารณะที่อาจส่งผลให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการขัดแย้งในสังคมพหุวัฒนธรรมนี้ได้

“ในเรื่องนี้ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและรับฟังจากหลายๆ ฝ่าย ต้องบอกว่าคุณโตเขาพูดไปตามความเชื่อของศาสนาเขา ซึ่งที่เขาพูดไม่ได้มีอะไรผิดหรอก แต่ถ้าจะบอกว่าสิ่งที่เป็นอันตรายคือเนื้อหาที่พูด และสถานที่ที่พูด การนำเสนอพอมาอยู่ในที่สาธารณะ มันสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งในสังคมพหุวัฒนธรรม

เรื่องของการวิพากษ์ วิจารณ์ วิเคราะห์ หรือพาดพิงศาสนาอื่น มันเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม สิ่งนี้อาจารย์ต้องบอกเลยว่า สังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ได้แปลว่าห้ามใครวิจารณ์ศาสนาอื่น ไม่ใช่แบบนั้น จริงๆ แล้วต้องยอมรับว่าการวิจารณ์ศาสนาอื่นเป็นเรื่องปกติ และสังคมต้องเรียนรู้ที่จะรับให้ได้

แต่ขณะเดียวกันเพื่อรักษาบรรยากาศถ้อยทีถ้อยอาศัยและความสงบ ก็ต้องระมัดระวังการพูดอะไรในพื้นที่ที่คนต่างศาสนาจะได้ยินและเกิดความไม่พอใจ ส่วนเรื่องของตัวเนื้อหาของการพูด ต้องยอมรับว่าโดยสภาวะของศาสนาทุกศาสนา ย่อมถือว่าศาสนาของตนเองนั้นถูก มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วต้องยอมรับ”


ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น