สะท้าน! ไปทั้งระบบราชการ กับการเดินหน้าเต็มสูบสอบโกงเงินคนจน สังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพและวิธีการบริหารจัดการการให้เงินสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส เพราะบิ๊กข้าราชการก็สุมหัวร่วมโกง ยิ่งแฉยิ่งเจอพุ่งกระฉูด 53 จังหวัดโกงกินทะลุร้อยล้าน ด้านรองนายกฯ เผยจากการสุ่มลงพื้นที่ในบางจังหวัดพบว่ามีมูลการกระทำความผิดทุกแห่ง ล่าสุดอีสาน-ใต้ ส่อโกงยกภาค! โพลล์ชี้ จนท.รัฐโลภ ไม่กลัว-ไม่ละอายใจ เชื่อต้องมีการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐในกรณีอื่นๆอีก!
ละอายใจ? ปล้นคนจน
จากกรณี น้องแบม - ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร้องเรียนการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระหว่างไปฝึกงานที่ศูนย์ดังกล่าว
ในขณะที่เธอกำลังฝึกงานในตำแหน่งพัฒนาชุมชน ได้ถูกสั่งให้ปลอมเอกสารราชการ กรอกข้อมูลสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย เอกสารผู้ติดเชื้อเอดส์ ลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินรวมกว่า 2,000 ชุด เป็นเงินกว่า 6.9 ล้านบาท เธอจึงเดินทางเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานเลขาธิการ คสช. จนนำไปสู่การขยายผลตรวจสอบทั้งใจ จ.ขอนแก่น และจังหวัดอื่นทั่วประเทศ รวม 37 ศูนย์
สังคมชื่นชมยกย่องน้องแบมยกให้เป็นแบบอย่างของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมในการตรวจสอบการทุจริตและปกป้องสิทธิของตน
จนทำให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภายใต้การนำของ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. เดินหน้าสอบสวนเต็มกำลัง พร้อมขยายผลไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ
พบการกระทำผิดเพียบทั้งการปลอมลายมือชื่อ เบิกจ่ายเงินไม่ครบตามความจริง และมีการสวมสิทธิคนไร้ที่พึ่ง อึ้ง! พบเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการศูนย์ ลูกจ้าง พนักงาน พัวพัน
“ผู้ใหญ่สั่งให้เราทำการทุจริต เรารู้สึกละอายแก่ใจ ที่เราเรียนสาขาพัฒนาชุมชนแล้วต้องไปทำเอกสารที่ไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน รู้สึกรับไม่ได้จึงต้องลุกขึ้นมาร้องเรียน” น้องแบมเผยสาเหตุในการกล้าเปิดเผยทุจริต
ทว่าเหตุใดน้องแบม ที่เป็นเพียงนักศึกษาฝึกงาน ยังมีความละอายใจในการโกงเงินคนจน แต่เหตุใดคนระดับบิ๊กข้าราชการ โยงใยจนถึงระดับลูกน้องที่มีวุฒิภาวะถึงไม่กระดากใจ?
ขรก.โลภ-ขาดจิตสำนึก?
สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย 3 สาเหตุผลทำให้เกิดทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส ชี้ข้าราชการไม่กลัว - ไม่ละอายใจ เชื่อจะมีการทุจริตในกรณีอื่นๆอีก
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ” สำรวจระหว่างวันที่ 25 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,213 คน
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60.51 มีความคิดเห็นว่าการออกมาเปิดเผยการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งของนักศึกษาจะไม่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมทุจริตในเรื่องต่างๆ เกิดความเกรงกลัว/ละอายใจ
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.6 เชื่อว่ายังมีการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐในกรณีอื่นๆ อีก เช่น เงินเบี้ยยังชีพผู้พิการ เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น
ในด้านความคิดเห็นต่อการกำหนดบทลงโทษกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.58 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดบทลงโทษกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ให้หนักกว่าบทลงโทษจากการทุจริตประเภทอื่นๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.42 มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดบทลงโทษให้เท่าเทียมกัน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินสงเคราะห์จากภาครัฐสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ เป็นวงกว้างนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.61 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากความโลภมากที่สุด รองลงมาเกิดจากการขาดจิตสำนึก/คุณธรรมจริยธรรมคิดเป็นร้อยละ 28.44
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.34 ระบุว่าเกิดจากการใช้เงินเกินตัว และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.61 มีความคิดเห็นว่าเกิดจากรายได้/ค่าตอบแทนน้อยเกินไป
โกงยกประเทศ?
นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังเปิดเผยการเดินหน้าตรวจทุจริตทั่วประเทศอีกด้วยว่า จากการสุ่มตรวจพบโกงกันทุกจังหวัด!
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ แต่ได้รับรายงานความคืบหน้าการลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
จากการสุ่มลงพื้นที่ในบางจังหวัดก็พบว่ามีมูลการกระทำความผิดทุกแห่ง ซึ่งได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อทำการตรวจสอบผู้กระทำผิด โดยหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ท. ที่จะทำการตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ จะต้องสุ่มตรวจสอบในอีกหลายจังหวัดเพิ่มเติมด้วย
อย่างไรก็ตาม ป.ป.ท.สรุปผลสอบทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งรอบสัปดาห์ ยอดโกงเงินคนจนเพิ่มเป็น 53 จังหวัด 83% ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 123,159,000 บาท
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบงบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ รวมระยะเวลา 41 วัน ตั้งแต่ วันที่ 12 ก.พ - 25 มี.ค.61 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 123,159,000 บาท กรอบระยะเวลาถึง 31 มี.ค.นี้
ล่าสุด ที่ผ่านมาพบความผิดปกติเพิ่มอีก 4 จังหวัด คือ เลย ชลบุรี ภูเก็ต และปัตตานี รวมขณะนี้เป็น 53 จังหวัดที่พบมีการทุจริตแล้ว วงเงินงบประมาณ 107,049,000 บาท หรือประมาณ 87% ส่วนที่เหลืออีก 23 จังหวัด กำลังตรวจสอบ คิดเป็น 13%
นอกจากนี้ ป.ป.ท. ยังดำเนินการตรวจสอบนิคมสร้างตนเอง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ศูนย์ประสานงานโครงการฯ อื่นๆ อีก 6 แห่ง รวมวงเงินงบประมาณ 125,092,000 บาท
สำหรับ 53 จังหวัดที่พบการทุจริตงบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ประกอบด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี ตราด น่าน สระแก้ว อุดรธานี สระบุรี อยุธยา กระบี่ ตรัง ร้อยเอ็ด ยะลา พัทลุง ชุมพร สุรินทร์ อ่างทอง พิษณุโลก ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สงขลา นราธิวาส มหาสารคาม ลำพูน นครราชสีมา อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี นครพนม กาฬสินธุ์ พิจิตร ราชบุรี นครปฐม มุกดาหาร ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก อุทัยธานี สตูล ลพบุรี หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ กำแพงเพชร พังงา สกลนคร จันทบุรี เลย ชลบุรี ภูเก็ต และปัตตานี
..... ประเทศไทยมี 77 จังหวัด ขณะนี้พบแล้ว 53 จังหวัด จะเหลือจังหวัดไหนที่ไม่รู้จักคำว่า “โกง” มั้ยนะ!?