คนปกติยังเดินยาก! ฟตบาธไทยเจ้าปัญหา พื้นผิวหน้าชำรุด แถมน้ำเน่าอยู่ใต้กระเบื้อง ยังไม่รวมที่ต้องหลบมอเตอร์ไซค์และแผงลอย ล่าสุด พบกระเบื้องทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตาปูผิดแบบระนาว “ปูวน - ล่อให้ชนเสา” ด้านสถาปนิกชี้ เมืองไทยต้องมีการพัฒนาในเรื่องพื้นที่สาธารณะอีกเยอะ!
คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ!
กลายเป็นประเด็นดรามาที่ทำให้ประชาชนออกมาตั้งคำถามถึงการทำงานของหน่วยงานรัฐอีกครั้ง หลังจากที่โลกออนไลน์ ได้มีการแชร์ภาพทางเท้าย่านใจกลางเมือง เผยให้เห็นการทำงานที่เรียกได้ว่า “สุดชุ่ย” ของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการปูกระเบื้องทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา เนื่องจากกระเบื้องที่ปูไปนั้น “ผิด” รูปแบบแทบทั้งสิ้น คล้ายกับว่าจะเป็นการนำทางผู้พิการไปสู่อันตราย มากกว่าอำนวยความสะดวกจากการสัญจรบนกระเบื้องเหล่านี้!
เพจเฟซบุ๊ก “The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า” โพสต์ภาพทางเท้าบริเวณซอยพหลโยธิน 11 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการปูกระเบื้องมีลักษณะเป็นเส้นนูนขีดและจุดนูนสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือที่เรียกว่า Braille Block ไว้ แต่แทนที่จะคนกลุ่มนี้จะได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเดินทางไปไหนมาไหน กลับกลายเป็นว่าน่าจะได้รับความเดือดร้อนมากกว่า เพราะกระเบื้องพวกนี้ถูกปูไว้อย่างผิดแบบ ทั้งปูให้เดินเป็นเขาวงกต ซ้ำร้ายบางแผ่นปูให้เดินไปชนเสา ซึ่งเพจดังกล่าวระบุข้อความไว้ด้วย ดังบรรทัดต่อจากนี้
“คนไม่ได้พิการ แต่เมือง ข้าราชการ และกลุ่มคนที่ทำมาหากินเรื่องเมือง ได้เงิน ได้ชื่อเสียง คือต้นเหตุที่ทำให้คนพิการ จากในภาพ จะใช้คำว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพก็คงยังเป็นการให้เกียรติเกินไป คนตรวจรับงานจิตใจทำด้วยอะไร ถึงทำอะไรที่อันตรายแบบนี้ออกมาได้ แผ่นสีเหลืองที่เห็นคือกระเบื้องปูพื้นเพื่อเป็นทางเดินของคนตาบอด เรียกว่า Braille Block มี 2 แบบ ที่เห็นเป็นแถบนูน คือ ให้เดินไปข้างหน้าได้ ที่เห็นเห็นจุดนูน คือให้หยุดระวัง
ที่ปูบนทางแคบ ปูให้เดินไปชนเสา ปูหลบสิ่งกีดขวางให้เดินเป็นเขาวงกต และอีกหลายความมั่ว คนตาบอดเดินด้วยทางธรรมดาอาจจะง่าย และไม่อันตรายเท่าเดินตามสิ่งที่คนมั่วๆ กำหนดให้ คนไม่ได้พิการ แต่เมืองทำให้คนพิการ พิกัดซอยพหลโยธิน 11 หรือจะเรียกว่าย่านซอยอารีย์ก็ได้ ย่านที่หลายคนพยายามทำให้เป็นที่ที่เดินได้เดินดี”
เช่นเดียวกันกับ เพจเฟซบุ๊ก “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” ที่ออกมาโพสต์ภาพและข้อความถึงประเด็นนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยระบุว่า เป็นความคิดที่ดีของกรุงเทพมหานครที่คิดทำทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา แต่หากทำแล้วเป็นปัญหา อย่าทำจะดีกว่า เพราะจะกลายเป็นบาปต่อผู้พิการเปล่าๆ
หลังจากที่ประเด็นร้อนนี้ถูกเผยแพร่ออกไปบนสังคมออนไลน์ ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบหน้าที่นี้ ว่าไม่มีความรู้ในการปูกระเบื้อง Braille Block อีกทั้งยังตำหนิการทำงานแบบขอไปที ที่วางกระเบื้องไปเพียงแค่ให้เกิดความสวยงามแค่นั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มผู้พิการทางสายตาที่ต้องมาใช้ บางความคิดเห็นก็เสนอไอเดีย ให้ผู้รับเหมาลองปิดตาแล้วเดินบนกระเบื้องนี้ ว่าสามารถใช้งานได้ดีอย่างที่ลงมือทำไปแล้วหรือไม่
“ตอนไปเที่ยว ตปท. เจอคนพิการเดินคนเดียวไม้เท้าหนึ่งอัน แต่เดินไวมาก ใช้ไม้เท้าเขี่ยๆ ไอ้เส้นๆ นี้แหละ พลิ้วยิ่งกว่าคนตาดี ลองมาอยู่บ้านเราคงมีตายแน่นอน”
“ก็คนพิการทำข้าราชการและนักการเมืองใจพิการ ไม่จริงใจในการพัฒนาบริหาร”
“อยากจะวางยังไงก็วาง แบบนี้ก็ได้เหรอ?”
“ชอบไปดูงานต่างประเทศกันจัง แต่ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกะงานติดหัวกลับมาเลยมั้ง”
“จริงๆ แล้วพอสร้างเสร็จแล้ว ให้ผู้รับเหมา ผู้ตรวจสอบรับงาน ไปลองปิดตาแล้วเดินดู ถ้าเดินไม่ได้ให้รื้อทำใหม่โดยออกเงินทำเองทั้งหมดถึงจะดี คือมันผิดทั้งคนคุมงาน คนตรวจรับงาน อย่าไปว่าพวกช่างเลยบางคนเค้าไม่มีความรู้จริงๆ”
ซ้ำซาก! ปัญหาฟุตปาธไทย
สำหรับปัญหาการสร้างทางเดินผู้พิการทางสายตาที่ถูกปูอย่างชุ่ยๆ นั้น ก็เป็นอีกปัญหาที่สะท้อนให้เห็นได้ว่า กลุ่มผู้พิการ ไม่ได้ถูกใส่ใจอย่างที่ควรจะเป็น สอดคล้องกับ พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เคยแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะ ผ่านทีมผู้จัดการ Live ไว้เช่นกันว่า ประเทศไทยยังต้องพัฒนาอีกมาก
“การออกแบบพื้นที่สาธารณะในปัจจุบันนี้ มีความพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน มีการออกแบบเพื่อคนทุกคน ทั้งคนแก่ เด็ก ผู้พิการ จึงมีการรณรงค์ให้เวลาก่อสร้างออกแบบพื้นที่สาธารณะให้คิดถึงการอำนวยความสะดวกให้คนทุกคน เป็นหลักการที่เหมาะสมถูกต้อง ส่วนเมืองไทยต้องมีการพัฒนาในเรื่องพื้นที่สาธารณะอีกเยอะหากเทียบกับต่างประเทศ”
ทีมข่าวผู้จัดการ Live ขอใช้โอกาสนี้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของทางเท้า ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือคนทั่วไป ก็ล้วนเคยประสบพบเจอมาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร
การขับขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นฟุตปาธ เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่ถูกร้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ แม้ในทางกฎหมายจะมีโทษปรับตาม พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17 (2) ห้ามมิให้ผู้ใดจอดหรือขับขี่รถยนต์รถจักรยานยนต์หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคารหรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้ และมีบทกำหนดโทษอยู่ในมาตรา 56 หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ในเวลาต่อมา ทาง กทม. ก็ได้ออกมาประกาศว่า หากใครถ่ายรูปหรือคลิปวิดีโอของผู้ขี่จอมมักง่ายพร้อมหลักฐานป้ายทะเบียนเอาไว้ได้ แล้วแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ก็สามารถรับส่วนแบ่งค่าปรับ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงจะมีรางวัลนำจับให้เหล่าผู้ผดุงความยุติธรรม ปัญหาจักรยานยนต์บนทางเท้าก็ดูเหมือนจะไม่ได้ลดลง เนื่องจากผู้สัญจรทางเท้า ไม่อยาก “มีปัญหา” และเกรงว่าหากมีการปะทะกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แล้ว ค่ารักษาตัวอาจจะไม่คุ้มกับรางวัลนำจับที่ได้ก็เป็นได้
ปัญหาต่อมา คือปัญหาที่มีร้านค้าริมทางเบียดเบียนพื้นที่ทางเท้า ทำให้ผู้คนไม่สามารถสัญจรไป - มาได้อย่างสะดวก โดยในพื้นที่ที่เคยเป็นประเด็นข่าวดัง ก็คือพื้นที่ย่านสยาม ที่มีทั้งร้านค้าแผงลอยตั้งเรียงรายอย่างแน่นขนัด รวมไปถึงรถยนต์ของผู้ค้าที่จอดอยู่ริมถนนกินช่องจราจร สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งคนเดินเท้าและผู้ขับขี่รถยนต์อย่างมาก จนทางกรุงเทพมหานคร ต้องมีการออกมาจัดระเบียบและทวงคืน “ทางเท้าสยาม” ครั้งใหญ่
ส่วนอีกปัญหาที่จะเจอบ่อยครั้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน นั่นก็คือ “กับดักระเบิดน้ำ” หรือแผ่นกระเบื้องทางเท้า ที่ซ่อนน้ำเน่าไว้อยู่ข้างใต้ ซึ่งหากมองเผินๆ อาจจะไม่ทราบ เพราะผิวหน้าของแต่ละแผ่นเรียบเสมอกัน แต่หากใครเคราะห์ร้าย ก็มีโอกาสที่จะเหยียบเข้ากับแผ่นระเบิดน้ำเน่า ที่ทำให้ผู้เหยียบได้รับความสกปรกไม่น้อย ซึ่งปัญหานี้ ได้มีชาวต่างชาติเคยตั้งกระทู้ไว้บนเว็บบอร์ดชื่อดังอย่าง Pantip ไว้ด้วย ซึ่งก็มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างติดตลกว่า การเดินฟุตปาธของไทยต้องลุ้น เหมือนเกม minesweeper หรือเกมหาระเบิดก็มี
ปัญหาที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังไม่รวมถึงการที่มีคนนำรถขึ้นมาจอดขวาง จนทำให้พื้นผิวทางเท้าชำรุด ซ้ำร้ายประชาชนผู้ใช้ทางต้องลงไปเดินบนถนน เสี่ยงต่อการถูกรถที่แล่นผ่านไปผ่านมาเฉี่ยวชนอีก หรือจะเป็นวัสดุก่อสร้างที่ชำรุดเสียหายและโผล่พ้นผิวทางเท้าขึ้นมา หากใครไม่ได้มองทางมีหวังได้เจ็บตัวอย่างแน่นอน
หรือจะเป็นการหลบเลี่ยงป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่บดบังทัศนวิสัยในการรอรถประจำทางและการสัญจรไป-มา ปัญหาไฟทางเท้าส่องสว่างไม่เพียงพอ ปัญหาพื้นผิวทางเท้าขรุขระ เสี่ยงต่อการหกล้มบาดเจ็บ ปัญหาท่อระบายน้ำที่ชำรุด หรือถูกเปิดฝาทิ้งไว้ เสี่ยงต่อการพลัดตกลงไป และปัญหาอื่นๆ ของ “ฟุตปาธไทย” อีกมากมาย ที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้
ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด จะโยนความผิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเดียวเห็นก็คงจะไม่ถูกต้อง เพราะอีกครึ่งหนึ่งนั้น ก็เกิดจากประชาชนบางคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วย ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามระเบียบบ้านเมือง ก็คงต้องได้แต่ทำใจและทนใช้ “ฟุตปาธ” แบบนี้ต่อไป
ก็ได้แต่หวังว่าในอนาคต กรุงเทพมหานคร เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาสัมผัสสักครั้งในชีวิต จะสามารถพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ให้เป็นพื้นที่สำหรับ “ทุกคน” ได้อย่างแท้จริง ...
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า” และ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์”