xs
xsm
sm
md
lg

ลิฟต์บีทีเอสเจ้าปัญหา! เพื่อคนพิการ ไม่เอื้อคนท้อง ?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่พิการ ใช้ลิฟต์ไม่ได้?! ว่าที่คุณแม่มึน ขอพนักงานบีทีเอสให้เปิดล็อกลิฟต์สถานีอโศก เหตุเพราะตนเองท้องแก่ ขึ้น - ลงบันไดไม่ไหว กลับถูกพนักงานประจำสถานีตอบกลับ “สำหรับคนพิการเท่านั้น” ย้อนแย้งกับป้ายรูปคนท้องที่ติดหน้าลิฟต์ ด้านระเบียบบีทีเอสระบุชัด ลิฟต์จัดไว้เพื่อบริการผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่สะดวกในการใช้บันไดหรือบันไดเลื่อน !

หรือต้องพิการถึงให้ใช้ลิฟต์?

เรียกได้ว่าขยันมีประเด็นดรามาไม่เว้นแต่ละวัน สำหรับระบบขนส่งที่มีผู้โดยสารเลือกใช้มากที่สุดระบบหนึ่ง อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส กับเหตุการณ์ล่าสุด มีผู้โดยสารหญิงท้องแก่คนหนึ่ง ถูกพนักงานประจำสถานีรถไฟฟ้าสถานีอโศก ตั้งแง่ในการให้หญิงมีครรภ์ผู้นี้ใช้ลิฟต์ โดยให้เหตุผลกับเธอว่า เธอไม่ใช่คนพิการ

เพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict” โพสต์เรื่องราวของสาวท้องแก่คนหนึ่งที่ฝากเรื่องร้องทุกข์มา เผยถึงเหตุการณ์ในขณะที่เธอขอความช่วยเหลือจากพนักงานประจำสถานีรถไฟฟ้าอโศก ให้ช่วยเปิดล็อกประตูลิฟต์ที่ถูกใส่กุญแจไว้ เนื่องจากเธอมีอายุครรภ์ประมาณ 7 เดือนแล้ว ประกอบกับมีอาการอ่อนเพลีย ทำให้ขึ้น - ลงบันไดไม่ไหว แต่คำตอบที่ได้มาทำให้เธองงหนัก เพราะพนักงานตอบกลับมาว่า ลิฟต์เขามีไว้สำหรับคนพิการเท่านั้น ไม่ได้มีไว้ให้คนทั่วไปใช้ ซึ่งคำตอบของพนักงานขัดแย้งกับป้ายรูปคนท้อง หนึ่งในกลุ่มคนที่สงวนสิทธิ์ให้ใช้ลิฟต์ ซึ่งก็ติดอยู่ที่ด้านหน้าของลิฟต์นั่นเอง



“วันนี้ดิฉันใช้บริการบีทีเอส ขึ้นจากสถานีอุดมสุข มาลงที่อโศก ถึงเวลาประมาณ 8:30 น. ซึ่งก็ใช้ปกติเกือบทุกวัน ตอนนี้ดิฉันตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน และวันนี้ก็รู้สึกเหนื่อยเพลียมาก ท้องก็ใหญ่ขึ้นมาก เดินก็ลำบากกว่าเดิม แล้วก็มีอาการปวดเกร็งท้องบ้างเป็นช่วงๆ เห็นบันไดแล้วท้อแท้ กว่าจะเดินไปถึงจุดหมาย ก็เลยลองใช้บริการลิฟต์ในบีทีเอสเป็นครั้งแรกเลยค่ะ

ตอนที่ใช้ลิฟต์ที่สถานีอุดมสุข ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอมาถึงอโศก เดินไปที่ลิฟต์ ปรากฏว่าลิฟต์ล็อกค่ะ แล้วก็มีคนแก่จะใช้ลิฟต์ด้วย เราก็เลยเดินไปถามพนักงานที่คอยเป่านกหวีดอยู่ชานชาลา ว่าต้องการจะใช้ลิฟต์ต้องทำยังไงคะ พนักงานก็บอกว่าต้องเรียกคนขึ้นมารับ

พอมาถึงหน้าลิฟต์พนักงานบอกว่า ลิฟต์เขามีไว้สำหรับคนพิการเท่านั้นนะ ไม่ได้มีไว้ให้คนทั่วไปใช้ พูดเหมือนตำหนิดิฉันว่าไม่ควรมาใช้ลิฟต์ คุณไม่ใช้คนพิการ พอดิฉันได้ยินอย่างนี้แล้ว รู้สึกแย่มากเลยค่ะ ทั้งงง ว่าบีทีเอสเขาออกกฎระเบียบใหม่หรือว่าเขาไม่มีการอบรมพนักงานเลย ดิฉันมองไปที่ประตูลิฟต์ พอดีมันก็มีป้ายรูปคนท้องอยู่ เลยถามเขาว่าอันนี้ป้ายอะไร รูปคนท้อง หรือว่ารูปคนอ้วนลงพุงคะ ที่สถานีนี้เขาไม่ให้คนท้องใช้ลิฟต์หรอคะ”

หลังจากที่เรื่องราวดังกล่าวเผยแพร่ออกไปบนสังคมออนไลน์แล้วนั้น ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการให้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอสอย่างหนัก และหลายคนยังได้แบ่งปันประสบการณ์ของตนเองเรื่องการขอใช้บริการลิฟต์ที่ล็อกกุญแจไว้ ในวันที่ไม่สะดวกขึ้น - ลงบันไดได้ ก็พบปัญหาใกล้เคียงกับว่าที่คุณแม่รายนี้



“ที่อโศกนี้ตอนนั้นทำยุคแรกๆ เลย กะว่าให้ดูมีลิฟต์บริการ แต่ไม่คิดจะให้ใช้นะ พอแพ้คดีศาล เลยต้องทำทุกที่ ปรากฏ อโศกเป็นลิฟต์ต้นแบบที่ทำไปคือ วิ่งชั้นเดียวจากล่างขึ้นบนและล็อกประตูกลัวคนใช้”
“เฮ้อ ท้อง7เดือนนี่เหนื่อยนะ เดินไม่เท่าไหร่ก็ปวดเอวปวดหลัง เผลอๆ เท้าบวมด้วย BTS อบรมการทำงานพนักงานบ้างไหม ประเทศอื่นเค้าไปถึงไหนกันแล้ว”
“เจ้าหน้าที่ดูป้ายไม่ออกขาดการอบรมที่ดีมั้งคะ”
“เคยเข้าเฝือกที่ขา ยืนรอไปเถอะ จนเมียไปเรียก รปภ. แล้วก็ได้คำตอบประมาณนั้นแหละว่าต้องรอเจ้าหน้าที่ด้านล่างขึ้นมาเปิดให้ รวมๆ เวลาทั้งหมด เกือบ 30 นาที เล่น rov จบหลายเกมส์อยู่”
“เราก็คนท้องกำลังจะ 7 เดือนเหมือนกัน พออ่านละแอบเซ็งแทน ทำไมเดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยสนใจที่จะใส่ใจว่า คนพิการ คนท้อง คนแก่ คนป่วย บางคนเขาลำบากจริงๆ นะคะ (ดีที่เรายังไหว)”



ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสถานีอโศก คือสถานีเดียวกันกับกรณีของ มานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ ซาบะ ชายวัย 50 ปี ผู้พิการนั่งรถเข็นวีลแชร์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Accessibility Is Freedom นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ ชกกระจกลิฟต์ที่ถูกล็อกไว้ ซึ่งเกิดเหตุไปเพียงแค่ 2 สัปดาห์ก่อน

สำหรับเรื่องราวของหญิงท้องแก่ถูกพนักงานตำหนิเรื่องการขอใช้ลิฟต์นั้น ได้ล่วงเลยมาหลายวันแล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีคำชี้แจงหรือความเคลื่อนไหวใดๆ มาจากทางฟากฝั่งบีทีเอสต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ระเบียบชัด แต่มิได้นำพา ?!

อีกคำถามหนึ่งที่หญิงท้องแก่ผู้นี้สงสัย รวมถึงสมาชิกในสังคมออนไลน์ตั้งข้อสังเกต นอกเหนือจากการล็อกประตูลิฟต์ไว้ ก็คือเรื่องการอบรมพนักงานของบีทีเอส ว่าทำไมสถานีอโศกจึงไม่ให้หญิงมีครรภ์ใช้ลิฟต์ ทั้งที่มีป้ายสัญลักษณ์คนท้องติดอยู่ข้างหน้าลิฟต์ เรื่องนี้จะเป็นความเข้าใจผิดของพนักงาน หรือจะเป็นกฎระเบียบใหม่ตามที่ว่าที่คุณแม่ตั้งข้อสังเกต ?

เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ www.bts.co.th ในหัวข้อ สิ่งอำนวยความสะดวก หัวข้อย่อย ลิฟต์ ที่ทางบีทีเอสได้ระบุว่า “จัดไว้เพื่อบริการผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่สะดวกในการใช้บันได หรือบันไดเลื่อน โดยสถานีที่มีลิฟต์ให้บริการอยู่ ได้แก่ สถานีช่องนนทรี สถานีสยาม สถานีหมอชิต สถานีอโศก สถานีอ่อนนุช สถานีบางจาก สถานีปุณณวิถี สถานีอุดมสุข สถานีบางนา สถานีแบริ่ง สถานีสำโรง สถานีกรุงธนบุรี สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีโพธิ์นิมิตร สถานีตลาดพลู สถานีวุฒากาศ และสถานีบางหว้า”



ส่วนในหัวข้อระบบ รักษาความปลอดภัย หัวข้อย่อย บุคลากร ก็มีการระบุไว้ว่า “รถไฟฟ้าบีทีเอสได้จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ปฏิบัติหน้าที่บนสถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี อาคารศูนย์บริหารและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า โรงจอดและซ่อมบำรุง และลานจอดรถหมอชิต ตลอด 24 ชั่วโมง การจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสถานี ขึ้นอยู่กับปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการ

รวมไปถึงพื้นที่ของสถานีรถไฟฟ้าทั้งนี้ ในช่วงเวลากลางวันจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหญิง เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารที่เป็นสุภาพสตรีในกรณีต่างๆ เช่น คอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือผู้โดยสารที่เป็นสุภาพสตรีที่ไม่สบาย หรือเป็นลมหมดสติ”

จากข้อมูลของทางบีทีเอสที่ปรากฏออกมา จะเห็นได้ชัดว่า แม้จะไม่ใช่คนพิการ แต่คนในกลุ่มของ priority case อย่าง เด็ก , ผู้สูงอายุ ,สตรีมีครรภ์ , ผู้ถือสัมภาระหนัก , รวมถึงผู้บาดเจ็บที่เดินไม่สะดวก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่ต้องใช้ลิฟต์ทั้งสิ้น

การที่พนักงานของทางบีทีเอส ปฏิเสธหญิงท้องแก่ไม่ให้ใช้ลิฟต์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เธอไม่ใช่คนพิการ จึงเป็นเหตุผลที่ดูจะ “ขัดแย้ง” กับระเบียบของทางต้นสังกัดเสียเหลือเกิน



และอีกประเด็นที่สำคัญ ส่วนหนึ่งที่ต้องล็อกประตูลิฟต์ของสถานีอโศกไว้ ก็มาจากความผิดพลาดในการออกแบบลิฟต์ ตั้งแต่ทีแรก กับการสร้าง “ลิฟต์แบบยาว” ที่สามารถขึ้นทะลุไปได้ทุกชั้น ผลที่ตามมา ทำให้บีทีเอสควบคุมปริมาณผู้โดยสารไม่ได้ จนอาจกระทบไปถึงเรื่องการจำหน่ายตั๋วและเรื่องความปลอดภัย จนต้อง “ล็อก” ลิฟต์ไว้ หากใครจะใช้งาน ต้องเรียกเจ้าหน้าที่ให้มาเปิด/ปิด ซึ่งทางบีทีเอสมีเจ้าหน้าที่จำนวนจำกัด ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้โดยสารได้อย่างทั่วถึงด้วย

หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ จะสะท้อนทัศนคติของการให้บริการของบีทีเอส ว่ายังมีมองมุมที่ไม่คำนึงถึงผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของ priority case ในเมื่อมีผู้พิการออกมาเรียกร้องสิทธิในการเดินทางแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าต่อไปในอนาคต คงจะไม่ต้องเห็นเด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงหญิงมีครรภ์ ออกมาชกกระจกลิฟต์บีทีเอสเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองเช่นกันเลย ...

ขอบคุณภาพและข้อมูล : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Drama-addict”


กำลังโหลดความคิดเห็น