xs
xsm
sm
md
lg

ล้างช่องโหว่ “O-Net” หยุดสร้าง “โศกนาฏกรรมการศึกษา” ดันระบบใหม่ ปรับการเรียน-เปลี่ยนการสอน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ตอนนี้มันคือโศกนาฏกรรมเลย เด็กไทยกลายเป็นเหยื่อของระบบการศึกษา” นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ชัด “ข้อสอบโอเน็ต” ทำชีวิตเด็กบัดซบ เพราะเป็นข้อสอบที่เต็มไปด้วยอคติ ตัดสินผลแค่ 2 แบบคือ “ผ่าน” หรือ “ตก” โดยเฉพาะวิชา “ภาษาอังกฤษ” ที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินที่สุด ส่งให้เกิดการอุดช่องโหว่ระบบการศึกษาครั้งใหญ่ สร้างระบบใหม่เป็นครั้งแรกของไทย เพื่อ “ปรับการเรียน-เปลี่ยนการสอน” หยุดทำให้เด็กกลายเป็น “เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย” เพราะระบบพังๆ ที่ใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้!!



“เหยื่อการศึกษา” จากข้อสอบอคติ!!

“ตอนนี้มันคือโศกนาฏกรรมเลย เพราะเราไปดูผลจากเครื่องมือเพียงชิ้นเดียว ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีอคติเยอะมาก เช่น ถามเรื่องที่เด็กต่างจังหวัดไม่รู้ คำศัพท์ที่เขาไม่เคยเห็น มีบางปีถามเรื่องโรงแรมบางโรงแรม ที่อยู่ในจังหวัดหนึ่งก็มี

ปัญหาเรื่องแบบทดสอบมีเยอะแยะ แต่สิ่งที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินที่สุดคือภาษาอังกฤษ เพราะนโยบายรัฐบาลคือการปฏิรูปภาษาอังกฤษมากที่สุด แต่เอาเข้าจริงๆ มาดูภาษาไทยเด็กก็มีปัญหา เพราะถ้านักเรียนไม่สามารถคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ได้ในภาษาแม่ เขาก็จะไม่สามารถทำในภาษาที่ 2 ที่ 3 ได้เหมือนกัน

ทุกวันนี้ เด็กไทยก็เลยกลายเป็นเหยื่อของระบบการศึกษา โดยเกิดจากฝีมือของพวกเราทั้งนั้น ทั้งฝีมือในการสร้างแบบทดสอบ ทั้งฝีมือพวกเราในการตัดสินผล และฝีมือพวกเราอีกนั่นแหละ ที่ไม่เคยชี้แนะแนวทางในการพัฒนาให้ “เด็กสอบตก” เลย มันเลยกลายเป็น “หายนะครบวงจร” และสุดท้าย เด็กก็เป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากระบบการศึกษา



[ผศ.ดร.จิรดา อ.ประจำสถาบันภาษา จุฬาฯ]
ผศ.ดร.จิรดา วุฒฑยากร อาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดใจให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว “ผู้จัดการ Live” อย่างตรงไปตรงมา ยืนยันชัดเจนว่าเป็นเพราะการวัดผลจากข้อสอบตามระบบทุกวันนี้แหละ ที่ทำให้นักเรียนไทยเน้น “เรียนเพื่อสอบ (Learning for Testing)” ส่งให้เกิดโรงเรียนติววิชาผุดขึ้นมามากมาย และวงจรอุบาทว์ทั้งหมดนี้จะหมดไปได้ ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกล้าคิดกลับด้าน แล้วหันมาสร้างระบบ “สอบเพื่อเรียน (Testing for Learning)” ขึ้นมาแทน

และ “CUD (Chulalongkorn University Demonstration Elementary School) English Young Leaner Test” นี่แหละ คือแบบทดสอบระบบใหม่ที่ทาง “โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม สังกัดคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ” และ “สถาบันภาษาจุฬาฯ” ร่วมกันสร้างขึ้นมา ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษ ตามกรอบมาตรฐานอ้างอิงสากลยุโรป หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Common European Framework of Reference (CEFR)” โดยเริ่มทดสอบกับ “นักเรียนชั้น ป.6” ก่อน หรือที่เรียกตามระดับการวัดผลว่า “ระดับ A1” นั่นเอง



[ห้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เด็กสาธิตจุฬาฯ]
จุดที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างแบบทดสอบระบบเดิมอย่าง “O-Net” กับแบบทดสอบระบบใหม่อย่าง “CUD English Young Leaner Test” ก็คือระบบเดิมจะ “วัดเพื่อตัดสินผล” บอกแค่คะแนนที่นักเรียนได้ และตัดสินแค่ว่า “ผ่าน” หรือ “ตก” แต่ระบบใหม่จะ “วัดเพื่อการพัฒนา” เพราะไม่ได้วัดแค่ว่าเด็กสอบผ่านหรือสอบตก แต่จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับเบื้องต้น คือ “เก่ง, กลาง และอ่อน”

โดยวิธีการแบบใหม่นี้ จะระบุเอาไว้อย่างชัดเจน แยกออกไปเป็นรายบุคคลว่า เด็กคนไหนทำในจุดไหนบกพร่องไปบ้าง ซึ่งจะประเมินเอาไว้ครบทั้ง 4 ทักษะ ทั้งการฟัง, การพูด, การอ่าน และการเขียน ส่งให้เด็กๆ สามารถรู้ได้ว่าเขาทำในจุดไหนได้บ้าง และยังต้องพัฒนาอะไรต่อไปอีก ตามที่นักวิชาการจากจุฬาฯ หลายท่านเห็นตรงกันว่า สำหรับเด็กๆ ชั้นประถมแล้ว มันยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินเขาด้วยข้อสอบ แล้วมอบคำว่า “เก่ง” หรือ “ไม่เก่ง” ให้พวกเขา



“ทุกวันนี้ เราใช้ O-Net เป็นตัววัดผลสัมฤทธิ์ว่าเด็กทำได้ตามหลักสูตรหรือเปล่า แต่ข้อสอบของเรา (CUD English Young Leaner Test) จะไม่ได้วัดตามหลักสูตร แต่วัดจากการใช้จริงๆ ว่า มนุษย์จะต้องใช้ภาษาทำอะไรได้บ้าง ก็คือฟัง, พูด, อ่าน, เขียน ถ้าเทียบไปแล้ว O-Net ก็เหมือนการวัดเพื่อผลของโรงเรียนว่าผ่านตามวัตถุประสงค์หรือเปล่า แต่แบบทดสอบของเราจะเน้นไปที่ทักษะของตัวเด็กเอง

ปัญหาของ O-Net ก็คือคะแนนที่ได้มามันไม่มีความหมาย แปลว่าอะไรได้ 30 เต็ม 100 แต่ของเราถ้าผ่านระดับ A1 ของแบบทดสอบ แปลว่าคุณสามารถทำเรื่องดังต่อไปนี้ได้ ก็เลยทำให้ไม่รู้ว่าต้องแก้ไขตรงไหน ทำผิดอะไร ค่าเฉลี่ย O-Net แต่ละปีคือ 30 ถ้าผลออกมาได้ 32 สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ เราควรดีใจไหม แต่ 30 เต็ม 100 มันก็น้อยมากนะ สรุปแล้วเด็กก็ไม่รู้ว่าคะแนนที่ได้ออกมา มันเอาไปใช้อะไรได้บ้าง


ข้อสอบระดับประเทศวัดทักษะการอ่าน ถามแกรมม่าก็คือการอ่าน ถามคำศัพท์ก็คือการอ่าน ดังนั้น เขาเลยพูดไม่ได้ ฟังไม่ได้ ถามว่าถ้าคุณไม่เคยวัดเขา เขาจะฝึกไหมล่ะ มันไม่เกิดประโยชน์ไงคะ เพราะฉะนั้น การวัดของเราคือการวัดเพื่อ “ปรับการเรียน-เปลี่ยนการสอน” ให้เด็กไปฝึกให้ครบทั้ง 4 ทักษะ อย่างที่จะได้เจอในข้อสอบของเรา


แนวความคิดดังกล่าว สอดคล้องกับที่ รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยวิเคราะห์เอาไว้ว่า แบบทดสอบในระบบใหม่ตัวนี้ จะช่วยอุดช่องโหว่ของทั้งข้อสอบ O-Net แบบเดิม และยังช่วยเติมเต็มข้อบกพร่องให้แก่เด็กๆ ให้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังหวังว่าแบบทดสอบดังกล่าว จะสามารถเป็นความหวังใหม่ของวงการศึกษาในเมืองไทยได้ด้วย



[ห้องเรียนเด็กสาธิตจุฬาฯ]
“เป้าหมายในการพัฒนาแบบทดสอบตัวนี้ขึ้นมา เพราะเราต้องการให้ผลการทดสอบที่ออกมา มันสะท้อนสภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน และสะท้อนจุดที่ควรปรับปรุง และข้อบกพร่องที่ว่าจะนำไปสู่การปรับปรุงในตัวของผู้เรียน และการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนได้

เพราะฉะนั้น ถ้าข้อมูลมันขนาดใหญ่พอ เราก็จะสามารถมองเห็นภาพของห้องเรียน เห็นภาพของโรงเรียนแต่ละพื้นที่ และเห็นข้อบกพร่องได้ชัดยิ่งขึ้นว่า เราจะเสริมจุดแข็งและแก้ไขจุดอ่อนของการเรียนภาษาอังกฤษแต่ละแห่งได้ยังไง นอกจากการติวๆๆ เพื่อไปสอบ เพื่อให้ได้คะแนนดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้

ดังนั้น ผมจึงถือว่านี่คือมิติใหม่ของการเรียนการสอนนะครับ เป็น “Testing for Learning” สอบเพื่อเรียนรู้ ต่างจากแบบเดิมที่เป็นแบบ “Learning for Testing” คือเรียนเพื่อไปสอบ เรากำลังคิดกลับด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน จากแบบทดสอบนี้ที่เราพยายามสร้างขึ้น”



“แบบทดสอบต่างประเทศ” มีเงินซื้อได้-มีสมองทำเอง!!

[ตัวอย่างแบบทดสอบของจุฬาฯ]
“1,700 บาท” คือราคาแบบทดสอบภาษาอังกฤษระดับ “A1” 1 ชุด สำหรับนักเรียน 1 คน ถ้าเราเลือกที่จะนำเข้าแบบทดสอบจากต่างประเทศ “Common European Framework of Reference for Languages (CEFR)” ซึ่งนักวิชาการจุฬาฯ มองว่ามันเป็นวิธีที่สิ้นเปลืองเกินไป เมื่อเทียบกับการทำแบบทดสอบเอง “CUD English Young Leaner Test” ตัวนี้ ที่ยึดตามกรอบมาตรฐานอ้างอิงสากลยุโรป ซึ่งน่าจะมีราคาถูกกว่าถึงครึ่งหนึ่ง ต่อ 1 ชุด สำหรับนักเรียน 1 คน

อ.พรรณงาม ใจรักษ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ช่วยยืนยันอีกเสียงหนึ่งว่า แบบทดสอบที่ทำขึ้นมาใหม่ชุดนี้ นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศได้อีกหลายหลักแล้ว ยังช่วยวัดผลการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้น ป.6 อย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยโรงเรียนที่สนใจสามารถติดต่อขอซื้อแบบทดสอบตัวนี้ได้ เพื่อเอาไปทดสอบนักเรียนในโรงเรียนของตัวเอง ในราคาประมาณ 750 บาท ต่อ 1 ชุด สำหรับนักเรียน 1 คน



[อ.พรรณงาม รอง ผอ.ฝ่ายการจัดการศึกษา สาธิตจุฬาฯ ประถม]
“การทำแบบทดสอบตัวนี้ออกมาเอง นอกจากจะป้องกันค่าใช้จ่ายที่จะไหลออกนอกประเทศ อีกส่วนที่เรามองก็คือ คุณประโยชน์ของข้อสอบชุดนี้ เราดูตามบริบทของโรงเรียนด้วยว่า โรงเรียนต้องการความช่วยเหลือในระดับไหนด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะต้องคิดราคาในสเกลนี้ทั้งหมด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณและการพัฒนาของโรงเรียนด้วย

และสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านั้นก็คือ ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจากการวัดผลเด็กๆ มันจะถูกนำมาพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนและในระดับประเทศได้ด้วย เพราะจากการประเมินนี้ จะทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมด ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นมูลค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียไป



ล่าสุด แบบทดสอบชุดใหม่ที่ผลิตโดยฝีมือนักวิชาการจุฬาฯ ชุดนี้ ได้ถูกเอาไปทดสอบกับ นักเรียนในโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ในชั้นปีที่ 6 เรียบร้อยแล้วเมื่อเทอมที่ผ่านมา โดยใช้กับเด็กๆ ทั้ง 3 หลักสูตรคือ 1.หลักสูตรภาคปกติ (เรียนกับอาจารย์ไทย) 2.หลักสูตรในโครงการ “เรียนภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษา” (เรียนกับผู้สอนจาก British Counsil) และ 3.หลักสูตรภาษาอังกฤษ “CUD English Program” (เรียนวิชาศาสตร์-คณิต เป็นภาษาอังกฤษ เลือกได้ว่าจะเรียนกับครูไทยหรือครูฝรั่ง)

ถ้าผลการประเมินด้วยแบบทดสอบแห่งความหวังตัวนี้ ไม่มีข้อบกพร่องเรื่องการแสดงผล ทางโรงเรียนจะส่งแบบทดสอบดังกล่าว ไปตรวจสอบ “ความตรง (Validation)” ยังต่างประเทศ และถ้าได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล ตามกรอบมาตรฐานอ้างอิงสากลยุโรป ก็จะสามารถนำมาวัดผลกับนักเรียนไทยได้อย่างเป็นทางการ และจะเป็น “แบบทดสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้น ป.6 ตามกรอบมาตรฐานอ้างอิงสากลยุโรป (CEFR)” ชุดแรกของประเทศไทยอีกด้วย



[ห้องเรียนเด็กสาธิตจุฬาฯ]
ที่น่าสนใจคือ ถ้าแบบทดสอบนี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับจากสังคมไทย ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก็อยากทำแบบทดสอบสำหรับการประเมินผลทางภาษาอังกฤษให้ครบทั้ง 6 ระดับ ไล่ไปตั้งแต่ระดับ A1 (ระดับเริ่มต้น) ซึ่งได้ทำแล้ว, ระดับ A2 (ระดับต้น), B1 (ระดับกลาง), B2 (ระดับกลางสูง), C1 (ระดับสูง) ไปจนถึง C2 (ระดับชำนาญ)

“แบบทดสอบมันจะมีถึง C2 คือมีทั้งหมด 6 ระดับ ชุดที่เราทำคือ A1 แต่ในจุฬาฯ เราก็มีทั้งประถม, มัธยม และมหาวิทยาลัย อยู่ในการดูแล เพราะฉะนั้น เราก็จะมีกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มนักเรียน และกลุ่มนิสิต ที่อยู่ในสเกลที่เราจะสามารถพัฒนาแบบทดสอบไปได้อีกค่ะ” รองผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม บอกเป้าหมายของทางโรงเรียนเอาไว้แบบนั้น


[วัดระดับภาษาอังกฤษ แบ่งตามเกณฑ์สากล]

นอกจากนี้ ผศ.ดร.จิรดา อาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาฯ ยังได้ช่วยชี้ช่องโหว่ของข้อสอบ O-Net เพิ่มเติมอีกว่า มีเนื้อหาที่ไม่เข้ากับบริบทไทย เช่น ข้อสอบที่ถามเรื่องเทศกาลสัญชาติตะวันตก เช่น คริสต์มาส, ฮาโลวีน, Thanksgiving ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวเด็กไทย แบบทดสอบที่ทางหน่วยงานจุฬาฯ ทำขึ้นมา จึงช่วยอุดช่องโหว่ตรงนั้นให้ โดยเน้นไปที่เทศกาลแบบไทยๆ เช่น ลอยกระทง, สงกรานต์ ฯลฯ รวมถึงรูปแบบการทดสอบที่ทำให้ได้ “ข้อมูลเชิงพัฒนา” อย่างที่แบบทดสอบเดิมๆ ไม่เคยมี


[ห้องเรียนเด็กสาธิตจุฬาฯ]

“อย่าง “แบบทดสอบทักษะการฟัง” เราก็ใช้อาจารย์ไทยเป็นคนพูดค่ะ เพราะเราพบว่าจำนวนประชากรที่พูดภาษาอังกฤษ เป็นคนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาเยอะกว่าด้วยซ้ำ ส่วนคำสั่งที่ใช้ก็จะเป็นภาษาไทยทั้งหมด เพื่อไม่ให้เด็กงุนงงว่าเขาต้องทำอะไรกับข้อสอบ

และข้อสอบนี้ก็จะแบ่งตามสเกลของเด็กด้วยค่ะ ถ้าเป็นระดับ A1 ระบุว่าเป็นการฟังภาษาอังกฤษแบบข้าๆ ชัดๆ เราจึงไม่ได้ให้คนพูดต้องเร่งพูด และให้เด็กได้ฟัง 2 รอบ เพื่อให้เขาเกิดความมั่นใจแท้จริงว่า เขาเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินจริงๆ


ส่วน “แบบทดสอบทักษะการอ่าน” เราก็จะให้เขาอ่านอย่างหลากหลาย อ่านบทความ อ่านประกาศสั้นๆ อ่านเมนู ดูว่าสารบัญภาษาอังกฤษว่าเข้าใจไหม ไปหน้าไหน และ “แบบทดสอบทักษะการเขียน” ก็จะให้เขาได้ฟังประโยคสั้นๆ แล้วให้เขียนตาม



[ตัวอย่าง การสอบทักษะการพูดภาษาอังกฤษ]
อีกหนึ่งไฮไลต์ น่าจะเป็น “แบบทดสอบทักษะการพูด” ค่ะ เพราะเราให้นักเรียนแต่ละคน ได้พูดกับผู้สัมภาษณ์โดยตรง ซึ่งถือเป็นการวัดตามสภาพจริง ซึ่งจะพูดกับคอมพิวเตอร์ โดยใช้เวลาประมาณ 5-8 นาทีในการตัดสินผล


สำหรับคำถามที่ใช้ในการวัดทักษะการพูด ก็จะเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวว่า ชื่ออะไร, มาโรงเรียนยังไง, ใช้เวลามาโรงเรียนนานเท่าไหร่ แล้วก็จะมีให้ฟัง และเลือกว่าถูกหรือผิดด้วย จะเป็นการวัดทักษะการตอบคำถามที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้คุ้นชินกับการตอบข้อสอบแบบต่างๆ ไปด้วย



[ดร.ภัทรชาติ ผอ.ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ]
ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ บอกเอาไว้ว่า ก้าวต่อไปของโครงการพัฒนาแบบทดสอบตัวนี้ ก็คือการอัพโหลดขึ้นบน “ระบบออนไลน์” เพื่อขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในประเทศไทย “และนี่จะเป็นก้าวสำคัญให้กับประเทศ ให้ก้าวไกลในสังคมโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของจุฬาฯ”



[รศ.ดร.ศิริเดช คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ]
ที่น่าสนใจคือ รศ.ดร.ศิริเดช คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ รับรองเอาไว้ว่า แบบทดสอบตัวนี้ที่ทางจุฬาฯ ทำขึ้นมา จะไม่มีวันหยุดนิ่งอยู่กับที่อย่างแน่นอน ต่างจากการซื้อข้อสอบมาจากต่างประเทศ “ถ้าเราซื้อเขามา 1,000 ข้อ ข้อสอบมันก็จะอยู่อย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ที่เราทำเอง ข้อสอบจะถูกพัฒนาตลอดเวลา ถูกตรวจสอบคุณภาพ ถูกคัดเข้าสู่คลัง และถูกเลือกให้มาใช้ในการทดสอบแต่ละครั้งด้วยครับ

โรงเรียนเป้าหมายที่คาดว่าเขาจะสนใจแบบทดสอบนี้ ผศ.ทินกร บัวพูล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ระบุไว้ว่าน่าจะเป็นโรงเรียนในเครือ “สาธิตฯ” และ “เซนต์ฯ (Saint)” ทั้งหลาย โดยยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการแข่งขันกับแบบทดสอบมาตรฐานที่ทาง “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ” เป็นคนทำ แต่แค่คิดว่ามีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง น่าจะช่วยอุดช่องโหว่ได้มากกว่า มีแบบทดสอบมาตรฐานของประเทศอยู่เพียงชุดเดียว


[ผศ.ทินกร ผอ.โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม]

“ถ้าเขาสามารถนำเอาแบบทดสอบของเราไปใช้ได้จริงๆ พัฒนาครูได้จริง และทำได้อย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าทักษะความสามารถภาษาอังกฤษของเด็กไทย ก็คงจะพัฒนาได้ในเร็ววัน แต่ถ้าเกิดปัจจัยเรื่องการพัฒนาครูไม่ประสบความสำเร็จ ก็คงจะต้องรอกันต่อไปครับ

การมีแบบทดสอบมาตรฐาน 2 ชุด ผมถือว่าเป็นการแข่งขันกันสร้างมาตรฐานให้กับประเทศนะครับ เพราะถ้ามีเจ้าเดียวก็อาจจะขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนา ตอนนี้อาจจะยังบอกไม่ได้ว่าของใครดีไม่ดี และเราก็คงไม่เอาไปเปรียบเทียบ เราตั้งใจว่าจะทำของเราให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง ส่วนเขาจะใช้ไม่ใช้ อาจจะต้องดูกันต่อไป บอกได้แค่ว่าโปรดติดตามตอนต่อไปครับ”


[แถลงข่าวเปิดตัว "แบบทดสอบ" ล้างช่องโหว่ O-Net]




ข่าวโดย ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น