มันสุดจะทน! นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ เดือด! ชกกระจกหน้าลิฟต์บีทีเอสอโศก โอด! ลิฟต์ถูกล็อกไว้ตลอดเวลา ท้อใจคนพิการเดินทางก็ลำบากแล้วยังมาเจออุปสรรค แฉ! ตามกฎบีทีเอส ผู้พิการจะได้รับสิทธิการขึ้นฟรีอยู่แล้ว แต่สถานีอโศกเป็นเพียงสถานีเดียวที่ต้องให้ผู้พิการทุกคนเขียนชื่อตัวเอง ซัด!ความเท่าเทียมของผู้พิการอยู่ตรงไหน สะท้อนความเหลื่อมล้ำระบบขนส่งสาธารณะ นายกสมาคมสถาปนิกสยามชี้การออกแบบลิฟต์ต้องให้ความสะดวกกับทุกคน
ลองมาเป็นคนพิการแบบผมดู!
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ ซาบะ ชายวัย 50 ปี ผู้พิการนั่งรถเข็นวีลแชร์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Accessibility Is Freedom นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ ตัดสินใจใช้มือชกกระจกบริเวณลิฟท์สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อโศก ขณะรอเจ้าหน้าที่มาเปิดลิฟต์อยู่บริเวณชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร (ชั้น Concourse) ซึ่งเป็นลิฟต์ที่จัดไว้เพื่อบริการผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่สะดวกในการใช้บันได หรือบันไดเลื่อน แต่กลับถูกล็อกกุญแจไว้ โดยเขาได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อนิ้วเล็กน้อย และถูกนำตัวไปดำเนินคดี
ส่วนปมที่ทำให้บันดาลโทสะนั้น เขาเปิดเผยว่า ปกติผู้พิการจะได้รับสิทธิ์การขึ้นฟรีอยู่แล้ว แต่สถานีอโศกเป็นเพียงสถานีเดียวที่ต้องให้ผู้พิการทุกคนเขียนชื่อตัวเองในสมุดบันทึก ซึ่งตนปฏิเสธและพยายามอธิบายสิทธิ์ เมื่อพูดกันไม่รู้เรื่องจึงซื้อตั๋วเพื่อเดินทางเหมือนคนปกติ เพราะใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมงแล้ว จากนั้นเมื่อซื้อตั๋ว ก็ไปที่ลิฟต์แต่พบว่า ไม่มีใครมาเปิดตนจึงได้ตัดสินใจทุบกระจกลิฟต์
ทั้งนี้ เรื่องการทำให้ผู้พิการได้รับสิทธิเท่าเทียม และได้ใช้ลิฟต์ตามที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ได้เรียกร้องมาเป็นเวลานานแล้ว ชี้ลิฟต์สถานีนี้มีการออกแบบที่ผิดพลาด และมีสภาพเหมือนกันลิฟต์ถูกล็อกไว้ตลอดเวลา ไม่เคยถูกแก้ไขทั้งๆ ที่สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดาย
แต่ผู้ให้บริการเลือกการแก้ปัญหาด้วยการล็อกลิฟต์คนพิการมีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ เดินทางได้ลำบากแล้วเจออุปสรรคทุกๆ อย่าง ไม่เคยแก้ไข “ลองมาเป็นคนพิการแบบผมดู”
พร้อมกับโพสต์คลิปซึ่งเคยทำไว้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมของผู้พิการโดยพบว่า สถานีของบีทีเอสได้เปิดให้ใช้ลิฟต์แต่ผู้พิการต้องกดออดเรียกให้เจ้าหน้าที่มาเปิด ไม่ว่าจะเป็นวันที่ฝนตกแดดออก ก็ไม่มีที่กันฝนกันแดด ต้องรออยู่อย่างนั้นซึ่งไม่ต่ำกว่า 15-30 นาที
“ลิฟต์แบบยาว” ความผิดพลาดในการออกแบบ?
ปัญหาลิฟต์ในสถานีบีทีเอสที่คาราคาซังมาเนิ่นนานนั้น เขาเคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่า “ลิฟต์แบบยาว” เป็นความผิดพลาดในการออกแบบของ BTS ที่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารที่จำเป็นต้องใช้
“ตั้งแต่เริ่มสร้าง บางสถานีมีการติดตั้งลิฟต์ ที่เรามาพบทีหลังว่าเป็นลิฟต์แบบยาว ที่สามารถขึ้นทะลุไปได้ทุกชั้น ผลก็คือ จะทำให้ BTS ไม่สามารถควบคุมผู้โดยสารได้ กระทบถึงทั้งความปลอดภัยและการควบคุมการจำหน่ายตั๋วสถานีต้องปิดลิฟต์ และเปิดเมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น
ลิฟต์ BTS สถานีอโศก ฝั่งหน้าห้าง Terminal 21 ยังเป็นลิฟต์แบบเปิด(ไม่มีหลังคา) ทำให้ผู้โดยสารที่กำลังรอลิฟต์ต้องทนตากแดด ตากฝน กดเรียก รอเจ้าหน้าที่มาเปิดลิฟต์ให้ และยังมีผลกระทบคือเจ้าหน้าที่ต้องมาคอยดูแล เปิด/ปิด ลิฟต์ตลอดเวลาที่สำคัญ เจ้าหน้าที่เองก็มีจำนวนจำกัด ช่วงเวลาเร่งด่วนทุกๆ ครั้งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลผู้โดยสารได้พร้อมๆ กัน”
สำหรับการออกแบบลิฟต์แบบยาว ที่สามารถขึ้นทะลุไปได้ทุกชั้น จนก่อปัญหาไม่สามารถควบคุมผู้โดยสารได้นั้น พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวผ่านทีมผู้จัดการ Live ว่า
“เวลาเราจะออกแบบลิฟต์ต้องให้ความสะดวกกับทุกคน เป็นเรื่องหนึ่งที่มีหลักการในการออกแบบในทางสถาปัตยกรรม ตามหลักการควรจะสร้างลิฟต์ให้ตามจุดเชื่อมต่อที่ถูกต้อง จากระดับถนนควรจะต้องขึ้นไปที่จุดจำหน่ายตั๋วก่อน จากนั้นซื้อตั๋วผ่านระบบก็ขึ้นลิฟต์อีกตัวเพื่อขึ้นต่อไปชั้นชานชาลาได้
หรืออาจจะเป็นไปได้มั้ย การที่ทางบีทีเอสสร้างลิฟต์แบบนี้เขาอาจจะออกแบบว่า ให้คนพิการขึ้นฟรีจากระดับถนนจึงขึ้นไปสู่ชานชาลาเลย แต่จะต้องมีคนเปิดประตูให้หรือไม่ จึงออกแบบมาเป็นนี้”
สร้างแบบขอไปที?
หลายคนไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกด้วยวิธีทำลายข้าวของแบบนี้ แต่ก็ตั้งคำถามถึงบีทีเอสว่า ทำไมถึงสร้างลิฟต์แบบนี้ ราวกับไม่ได้คิดถึงผู้โดยสารเลย!
โลกโซเชียลฯซัดประเด็นนี้สะท้อนปัญหาขององค์กร ที่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย และความสะดวกของผู้โดยสาร หรือสร้างแบบขอไปทีกันแน่?
อย่างไรก็ตาม ปัญหาลิฟต์สถานีบีทีเอสอโศกล็อกไม่ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้พิการเท่านั้น ยังสร้างปัญหาให้กับผู้สูงอายุที่ขึ้นบันไดไม่ไหวอีกด้วย หลากหลายคนประสบเหตุแบบเดียวกันนี้ถึงกับตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดถามว่า “ลิฟต์บีทีเอส ใช้ขึ้นได้จริงหรือหลวงหลอก?
เรื่องลิฟต์กับรถไฟฟ้าบีทีเอสนี้ เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานานอยู่พอสมควร BKKTrains.com เพจเฟซบุ๊กแหล่งรวมความรู้ด้านการขนส่งระบบรางของประเทศไทย ให้ความคิดเห็นต่อเรื่องนี้โดยคาดว่าปัญหาผู้พิการทุบกระจกน่าจะเกิดจากการที่สถานีอโศกมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้โดยสาร เนื่องจากเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความไม่สะดวกในการใช้บริการของผู้พิการ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของ "การทำลายทรัพย์สิน" ไม่เห็นด้วยที่จะไปใช้วิธีการทุบ ทำลาย หรือทำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวนั้นอาจจะส่งผลให้สิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวนั้น ต้องปิดให้บริการชั่วคราวจนกว่าจะซ่อมแซมเสร็จ ทำให้จากเดิมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้พอใช้ได้อยู่บ้าง แต่พอเป็นแบบนี้กลับไม่มีให้ใช้เลย
ส่วนเรื่องการปรับปรุงแก้ไขลิฟต์ในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้ผู้โดยสารสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกนั้น ขอสนับสนุนการปรับปรุงอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้โดยสารทุกท่านสามารถใช้บริการได้ โดยไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาปลดล็อกลิฟต์ให้
และทางเพจเราเคยเสนอแนวคิดการปรับปรุงลิฟต์ของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสไปแล้วเมื่อช่วงปี 2559 เช่น การกั้นพื้นที่และติดตั้งประตูตรวจบัตรโดยสารบริเวณหน้าลิฟต์บนชั้นชานชาลาในบางสถานีที่สามารถทำได้ เช่น สถานีหมอชิต ฝั่งชานชาลาปลายทาง หรือสถานีช่องนนทรี ฝั่งไปสถานีบางหว้า แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองในจุดนี้แต่อย่างใด ซึ่งในจุดๆ นี้ ผมเข้าใจผู้โดยสารที่ก่อเหตุดังกล่าว เพราะทาง BTS เองก็เฉื่อยชาในการแก้ปัญหานี้พอสมควร หรือพูดง่ายๆ ว่า "ผมเองก็เอือม BTS ในจุดนี้เหมือนกัน"
เพราะจากประสบการณ์ที่เคยช่วยเหลือผู้พิการ เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS จากสถานีบางหว้า มายังสถานีพญาไท เพื่อต่อรถไฟฟ้า Airport Rail Link นั้น มีความทุลักทุเลพอสมควร เมื่อมาถึงสถานีพญาไท ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังไม่มีการติดตั้งลิฟต์ เมื่อพาผู้พิการออกจากขบวนรถไฟฟ้าแล้ว ต้องยืนรอเจ้าหน้าที่เป็นระยะเวลาพอสมควร เพื่อ "ปิดบันไดเลื่อน" และ "ปรับทิศทางของบันไดเลื่อน" เพื่อพาผู้พิการลงจากชานชาลาด้วยบันไดเลื่อนครับ ก็ได้แต่หวังว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ จะทำให้ BTS นั้น หันมาใส่ใจแก้ไขปรับปรุง Facilities ต่างๆ ให้มี User Friendly มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันครับ”
สำหรับการออกแบบพื้นที่สาธารณะในปัจจุบันนี้ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม มองว่า มีความพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน มีการออกแบบเพื่อคนทุกคน ทั้งคนแก่ เด็ก ผู้พิการ จึงมีการรณรงค์ให้เวลาก่อสร้างออกแบบพื้นที่สาธารณะให้คิดถึงการอำนวยความสะดวกให้คนทุกคน เป็นหลักการที่เหมาะสมถูกต้อง
ส่วนเมืองไทยต้องมีการพัฒนาในเรื่องพื้นที่สาธารณะอีกเยอะหากเทียบกับต่างประเทศ
ปัญหาลิฟต์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงภาพใหญ่ของปัญหา ผู้พิการยังเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะอีกมากมาย ปิดกั้นการพัฒนาของคนพิการในสังคมไทยมาช้านาน และเมื่อไหร่หนอ? กรุงเทพฯ จะเป็น “เมืองสำหรับทุกคน”