เล่นสนุก-ปลูกความรู้-พัฒนาสมอง-สร้างนิสัยสร้างสรรค์-ฝังพระราชปณิธานในหลวง ร.๙... ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า เกมเพียงเกมเดียว จะสามารถตอบโจทย์ดีๆ ทั้งหมดนี้ได้ แต่ “เกมนักพัฒนาความสุข” เป็นบอร์ดเกมที่สามารถทำแบบนั้นได้จริงๆ โดยทาง เอ.พี.ฮอนด้า ตั้งใจออกแบบมาแจกโดยเฉพาะ หวังปลุกปั้นเด็กไทยผ่านวิธีแยบยล แม้แต่แพทย์เด็กยังคอนเฟิร์มว่า ช่วยพัฒนาได้ทั้งเรื่องความจำ, ความคิด และการตัดสินใจ
เกมแบ่งปัน ไม่แข่งขัน เรียนรู้ผ่าน “โครงการหลวง”
[มอบตัวเลือกให้ผู้ปกครอง ตอบคำถามอยากให้ลูกโตขึ้นเป็นอะไร?]
“โตขึ้นอยากให้ลูกเป็นอะไร?” เมื่อถามประโยคนี้ออกไป ก็มีคำตอบหลากหลายที่โยนกลับมาจากผู้ปกครองว่า อยากให้เป็น... “หมอ, วิศวกร, สถาปนิก, นักธุรกิจ ฯลฯ” แต่เอาเข้าจริง พอให้เลือกคำตอบได้เพียงข้อเดียว คุณพ่อคุณแม่ต่างก็กากบาทในช่องสี่เหลี่ยมเดียวกันว่า อยากให้ลูกเป็น... “คนดี” จึงเป็นที่มาของโครงการเพื่อสังคมในครั้งนี้ ซึ่งทางผู้จัดทำบอกเล่าปณิธานผ่านคลิปเอาไว้อย่างชัดเจน
“เราอยากเห็นพวกเขาเติบโตเป็นคนดี คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตนเอง วันนี้ เอ.พี.ฮอนด้า จึงจัดทำ “เกมนักพัฒนาความสุข” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่สานต่อสิ่งดีๆ ตามแบบอย่างของในหลวงรัชกาลที่ ๙”
[บอร์ดเกม “นักพัฒนาความสุข”]
จุดที่ทำให้บอร์ดเกมชุดนี้แตกต่างออกไปจากเกมอื่นๆ ก็คือ เป็นเกมที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เด็กๆ “ช่วยเหลือกัน” ไม่ใช่ “แข่งขันกัน” เพราะถ้ายิ่งคิดจะแข่ง เกมก็จะยิ่งจบช้า โดยจะเล่นด้วยกันครั้งละ 4 คน รูปแบบคล้ายๆ เกมเศรษฐีที่หลายๆ คนคุ้นชิน คือเล่นแบบทอยลูกเต๋า เดิมตามช่อง แต่เป้าหมายในเกมจะแตกต่างออกไป ไม่ใช่แข่งขันกันให้สะสมเงินได้เยอะๆ แล้วจะชนะ
วิธีจะทำให้เกมจบได้อย่างสมบูรณ์แบบก็คือ เด็กๆ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาให้แก่คนที่พวกเขาได้พบเจอตามพื้นที่ต่างๆ เช่นเดียวกับที่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเดินทางไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ราษฎรของพระองค์ตามพื้นที่ต่างๆ จนเกิด “โครงการในพระราชดำริ” กว่า 4,000 โครงการ
[ตัวเลือกที่ พ่อแม่ทุกคน เห็นตรงกัน สิ่งที่อยากให้ลูกเป็น]
“ตัวเกมจะเป็นแผ่นกระดานว่างๆ ที่แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ค่ะ ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์ตัวโครงการในพระราชดำริ คือโครงการที่เกี่ยวกับน้ำ, ป่า, การเกษตร และพื้นที่เมือง และจะมีคนที่ประสบปัญหาอยู่ในทั้ง 4 พื้นที่นั้น เช่นเดียวกับที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทอดพระเนตรเห็นมาก่อน เช่น พื้นที่นา ต้องการน้ำ แต่ฝนไม่ตกเลย เด็กๆ ก็จะต้องแก้ปัญหาโดยการไปเรื่อยๆ
เด็กๆ ต้องเดินหมากจนไปตกช่องฝนเทียม ต้องหาการ์ดฝนเทียมให้เจอ เพื่อเอามาแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีปัญหา ทำให้เกมนี้ต้องอาศัยความจำในการเปิดการ์ด แล้วก็เป็นทริกให้เด็กๆ ได้ช่วยกันด้วย เผื่อใครจำไม่ได้ ก็ให้เพื่อนๆ ช่วยกัน
หลังจากให้เด็กเล่นเกมนี้แล้ว จะเห็นเลยว่าเขาไม่มีการแข่งขันกันเลย ทั้งที่ตอนแรกเขาบอกว่า อยากจะชนะให้ได้ แต่สุดท้าย เขาก็จะรู้เองว่า กลไกของเกมมันบังคับให้ต้องร่วมมือกัน ถ้าแข่งกันยังไงก็ไม่มีวันชนะ
นอกจากนี้ เราออกแบบ “ช่องแบ่งปัน” เอาไว้ให้เขา เพื่อใช้เอาไปเติมต้นไม้, คน, บ้าน ฯลฯ ให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์ แต่มีข้อแม้ว่าเขาจะไม่สามารถเติมสิ่งต่างๆ เองได้ แต่ต้องเลือกต้นไม้, บ้าน หรือคน ให้เพื่อนคนใดคนนึงเป็นคนวาง และให้สิทธิเพื่อนคนนั้นเลยว่าวางตรงไหน ระหว่างเล่นเขาก็จะเกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนกัน ใครอยากวางตรงไหน ปรึกษาและแบ่งปันกันให้เห็นจริงๆ”
[ต๊อง-รัตติกร ผู้ออกแบบเกม]
ต๊อง-รัตติกร วุฒิกร บริษัท คลับ ครีเอทีฟ จำกัด ผู้ออกแบบและผลิตเกมบอร์ดเกมตัวนี้ อธิบายวิธีการเล่นให้ฟังอย่างละเอียด ทั้งยังฝากขอบคุณมาถึงทาง “บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด” ด้วย ที่เป็นคนต้นคิดในการสร้างเกม ที่ใส่ความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้เด็กๆ แบบนี้ขึ้นมา รวมถึงทาง “อุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค” ด้วย ที่สนับสนุนพื้นที่ในการทดสอบเกมกับเด็กๆ หลายต่อหลายครั้ง ก่อนที่จะออกมาเป็นเกมเวอร์ชั่นนี้ได้
ซึมซับแบบสนุก พระราชปณิธาน “เพื่อส่วนรวม”
“1,000 ชุด” คือจำนวนที่ บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ตั้งใจผลิตออกมาเพื่อแจกฟรีให้แก่ครอบครัวที่ต้องการ โดยสามารถลงทะเบียนขอรับได้ทางเว็บไซต์ www.aphonda.co.th/honda2017/happinesscreators ส่วนอีก 1,000 ชุดนั้น จะกระจายไปตาม “ศูนย์จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าทั่วประเทศ” และอีก 500 กล่อง จะมอบให้แก่ทาง “อุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค” และส่วนอื่นๆ ต่อไป
จริงๆ แล้ว โครงการเพื่อสังคมแบบนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทาง เอ.พี.ฮอนด้า ทำขึ้นมา แต่ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มอบทุนการศึกษาและจัดกีฬาเพื่อเยาวชนมาตลอด 20 ปี ผ่านโครงการ “ฮอนด้าเพื่อสังคมไทย” โดยมุ่งเน้นการคืนกำไรไปที่เยาวชนไทย เพราะมองว่าเป็นวัยที่จะเติบโตไปเป็นกำลังของชาติได้ในอนาคต
[เอ.พี.ฮอนด้า บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของการสร้าง “เกมนักพัฒนาความสุข”]
เช่นเดียวกับโครงการ “เกมนักพัฒนาความสุข” ในครั้งนี้ที่ทำออกมาเป็นปีแรก ซึ่ง สุชาติ อรุณแสงโรจน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด และผู้จัดทำโครงการ ประกาศจุดมุ่งหมายเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ทำขึ้นเพื่อต้องการปลูกฝังค่านิยมดีๆ ให้แก่เด็กไทย โดยดึงเอาแกนหลักจากโครงการในพระราชดำริ ค่านิยม “การทำเพื่อส่วนรวม” มาถ่ายทอดให้พวกเขาได้ซึมซับ ผ่านรูปแบบของ “บอร์ดเกม” ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้
“การที่เราจะให้ความรู้เด็กๆ เนี่ย โดยพื้นฐานแล้ว ถ้าไม่สนุก เด็กๆ ก็คงไม่ชอบแน่ หรือถ้าจะทำให้เขาเข้าใจ ให้เรียนคนเดียว เขาก็ไม่สนุกอีก เลยมานั่งคิดว่า อะไรจะทำให้เด็กๆ สามารถซึมซับดีเอนเอตรงนี้ไปได้ จนได้คำตอบว่าควรจะเป็น “บอร์ดเกม” ที่จะถูกนำมาใช้เป็นกุศโลบายอันใหม่ ในการช่วยให้เขาซึมซับคำสอนที่ดีๆ ไปได้ ซึ่งเป้าหมายของเราก็คือ เด็ก ป.3-ป.6 ครับ
[“สุชาติ อรุณแสงโรจน์” เจ้าของโครงการ ผู้บริหารบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด]
ภาพใหญ่ๆ ที่เราต้องการก็คือ เราอยากให้เขารู้จักทำเพื่อส่วนรวม นี่เป็นคีย์เวิร์ดหลักที่อยากให้เกิดขึ้น คืออย่าคิดเพื่อตัวเองคนเดียว แต่ต้องคิดเพื่อช่วยกัน ถึงจะได้แก้เกมได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งถ้าเราสามารถสอนให้เขาคิดถึง “ส่วนรวม” ก่อนได้ เขาก็จะไม่คิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง อย่างที่ในหลวง ร.๙ ทรงทำ ตรงนี้แหละจะเป็น Key Message ที่จะช่วยพัฒนาเยาวชนของเรา และจะทำให้เขาโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในอนาคต
ที่สำคัญ เราไม่ได้ให้เขาเล่นเพื่อแข่งขันกัน แต่ให้เขาช่วยเหลือกัน แล้วก็ยังเป็นเกมที่ช่วยพัฒนาเรื่องความจำของเขาด้วย สมมติเปิดการ์ดมาเจอตัวนี้ เขาก็ต้องจำไว้เพื่อเอาไปใช้ในการแก้ปัญหาข้างหน้า หรือถ้าจำไม่ได้ คนอื่นๆ ที่เล่นด้วยกันต่อต้องช่วยกัน มันก็จะทำให้เขาสนุก และถ้าเล่นครั้งต่อๆ ไป ให้ลองจับเวลาว่าทำได้เร็วขึ้นไหม มันก็จะยิ่งสนุกขึ้น
สิ่งที่ได้จากการเล่นเกมนี้ในทางตรงคือ เป็นการปลูกฝังความคิดและค่านิยมที่ดีให้แก่เด็กๆ และในทางอ้อม ถ้าเกมนี้มีพ่อแม่เล่นไปกับเด็กด้วย ก็จะเป็นการสานสัมพันธ์กันไปในตัว หรือถ้าเป็นเพื่อนก็จะรู้จักกันและจะยิ่งสนิทกันมากขึ้นด้วยครับ
และหลังจากเล่นเกมนี้แล้ว ถ้าเขาสามารถคงความคิดที่เราปลูกฝังเอาไว้ให้ตรงนี้ได้ และเอาไปใช้ในชีวิตจริงของ ทางเราก็ถือว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือประเทศชาติแล้วล่ะครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการช่วยเหลือได้ส่วนหนึ่ง แค่ 2,500 กล่อง ซึ่งอาจจะไม่ได้มากมายอะไรนัก”
แพทย์คอนเฟิร์ม “บอร์ดเกม” พัฒนาสมอง-จิตสำนึกเด็ก
“บอร์ดเกมก็เป็นได้ทั้ง “สื่อการเรียน” และ “สื่อการเล่น” ที่สามารถสอดแทรกประโยชน์เข้าไปให้เด็กได้แบบไม่เก้อเขิน ถือว่าช่วยให้เขาซึมซับเรื่องราวต่างๆ เข้าไปได้แบบแยบยล ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นสมองของเด็กๆ ไดตรงจุดมากครับ เพราะฉะนั้น บอร์ดเกมจึงสามารถกระตุ้น “EF (Executive Function)” ของเด็กๆ ได้เต็มที่อย่างแน่นอน”
ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกตามใจหมอ” ช่วยคอนเฟิร์มอีกแรงว่า บอร์ดเกม “นักพัฒนาความสุข” จะช่วยปลูกฝังทักษะสำคัญที่เด็กๆ ควรจะมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทักษะสำหรับสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า “EF”
[ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์]
“การที่เด็กจะเรียนรู้อะไร เด็กเขาจะเรียนรู้ผ่านการเล่น ยิ่งการเล่นนั้นสนุกเท่าไหร่ การเรียนรู้ก็จะยิ่งเกิดมากขึ้นเท่านั้น สำหรับคำว่า “ทักษะ” นั้น เราก็ต้องไปดูว่าทักษะแบบไหนที่เราอยากมอบให้กับเด็ก
สำหรับบอร์ดเกม สามารถแทรกเรื่องทักษะเข้าไปได้เยอะมากเลยครับ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ติดตามเรื่องวิทยาศาสตร์การเรียนรู้ของลูกในช่วง 2-3 ปีนี้ อาจจะได้ยินคำว่า “EF” หรือ “Executive Function” การจะเป็นคนที่ จะต้องพัฒนา EF ให้ได้
ถามว่า EF คืออะไร แปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ “สันดานดีที่สร้างสรรค์” ซึ่งจะสามารถพัฒนา EF ของเด็กได้ตั้งแต่ช่วง 3-6 ปี ถือเป็นช่วงวินาทีทองที่จะปลูกฝัง EF ให้กับเด็ก
เพราะฉะนั้น EF มันขึ้นอยู่กับสมองส่วนหน้า บอร์ดเกมเองก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาสมองส่วนหน้าได้อย่างเต็มที่ ช่วย 3 ส่วนคือ 1.ความจำ 2.ความยืดหยุ่นทางด้านความคิด และ 3.การยับยั้งชั่งใจไตร่ตรอง
แน่นอนว่าเมื่อเล่นบอร์ดเกมตัวนี้ (บอร์ดเกม “นักพัฒนาความสุข”) เด็กก็จะต้องรอเพื่อน เวลายังไม่ถึงตาตัวเอง จะช่วยให้เด็กรู้จัก “การยับยั้งชั่งใจ” คือรู้จักรอ, ส่วนในบอร์ดเกมนี้ก็ต้องจำให้ได้ว่า การ์ดอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาเรื่อง “ความจำ” และสุดท้ายการที่เด็กต้องดูว่าแต่ละพื้นที่ในบอร์ดเกมมีปัญหาตรงไหน ก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ “สมองของเรามีพื้นที่ยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา” ซึ่งถือว่าเป็นการฝึกทักษะที่ตรงจุดมากเลยครับ”
คุณหมอวรวุฒิย้ำให้ฟังว่า “เด็ก” ไม่ใช่ “ผู้ใหญ่ตัวเล็ก” ดังนั้น พัฒนาการของเขาจะต้องถูกกระตุ้นให้เป็นไปตามวัย และที่สำคัญที่สุดคือ การกระตุ้นจาก “คุณพ่อคุณแม่” ของเขา ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นที่ดีที่สุดแล้ว
“อย่าลืมว่า ก่อนที่จะไปหาบอร์ดเกมมาให้เขาเล่น หาเวลาเล่นกับเขาก่อนดีกว่า เพราะเวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ถ้าเป็นเด็กวัยเล็ก อายุต่ำกว่า 3 ปี เขาจะเรียนรู้ผ่านการเล่นมากที่สุด เพราะฉะนั้น ดีที่สุดคือการเล่นแบบไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย ให้เขาจินตนาการเอง จะหยอกล้อ วิ่งเล่น เล่นทราย ได้หมด หรือถ้าจะเอาบอร์ดเกมเข้ามาเล่นกับเด็ก ก็จะมีหลายประเภท เช่น การจับคู่สี, จับคู่สัตว์, จับคู่ชื่อสิ่งมีชีวิต ฯลฯ
พอวัย 3-6 ปี เขาก็จะเริ่มเล่นเลียนแบบ เอาของมาจำลองเป็นโทรศัพท์ ทำท่าพูดคุย, เล่นทำครัว ขายของ ซึ่งตรงนี้ก็มีบอร์ดเกมให้เขาเล่นเหมือนกัน จากนั้นพอผ่านช่วงนี้ไปก็จะเก่งมากขึ้น พอวัย 6-10 ปี ก็จะเป็นช่วงที่ “บอร์ดเกมนักพัฒนาความสุข” สามารถเข้าไปสอดแทรกได้ บอร์ดเกมช่วงนี้ควรจะเป็นบอร์ดเกมง่ายๆ ฝึกการวางแผน เช่น หมากฮอส, หมากรุกไทย, เกมโกะแบบง่ายๆ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีคือ เกมเศรษฐี
และถ้าเป็นเด็กโตกว่านี้ (วัย 10 ปีขึ้นไป) ก็จะต้องเป็นเกมที่ต้องใช้ความคิดมากขึ้น เช่น อูโน่, สแครปเบิ้ล, โมโนโพลี ฯลฯ ซึ่งจะเห็นว่าเราสามารถใช้บอร์ดเกม เข้าไปช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กตามวัยของเขาได้”
ให้ลูก “โตตามวัย” เลี่ยงหน้าจอ เล่นบอร์ดเกม
[“คุณแม่พลอย” และ “น้องชิลลี่” (ลูกสาว)]
ที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้ว่าบอร์ดเกม “นักพัฒนาความสุข” จะกำหนดอายุของผู้เล่นไว้ว่า น่าจะเป็นเด็กชั้น ป.3-ป.6 ซึ่งอายุประมาณ 8-12 ปี แต่ลูกคนเล็กของ พลอย ชิดจันทร์ ซึ่งมีอายุเพียง 3 ขวบ กลับเล่นเกมนี้ร่วมกับพี่ๆ ได้อย่างสนุกสนานเช่นเดียวกัน จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าบอร์ดเกมชุดนี้ เล่นง่ายและเหมาะกับเด็กๆ แทบจะทุกวัยเลยจริงๆ
“ที่เห็นเลยก็คือ เกมนี้ช่วยปลูกฝังให้เขาช่วยเหลือกันค่ะ ลูกๆ ที่เล่นด้วยกันจะไม่มีอารมณ์ว่าแข่งขันกันเลย แต่ก็จะมีตอนไหนที่เขาได้เดิน เขาก็จะสนุกมากขึ้นอีก (ยิ้ม) คือปกติ ครอบครัวเราก็เล่นเกมลักษณะนี้กันอยู่แล้วที่บ้าน พอได้บอร์ดเกมตัวนี้ไป ก็รู้สึกว่าใช่เลย เพราะเป็นเกมที่เด็กๆ ชอบอยู่แล้ว
อย่างน้องคนเล็กสุด (วัย 3 ขวบ) ก็มาแจมกับพี่ๆ ได้ด้วย ตอนแรกพลอยก็คิดว่าเขาไม่น่าจะเล่นได้ แต่เขาก็เล่นได้ ทำให้เริ่มมาจอยกับพี่ๆ ได้ ส่วนคนโต (วัย 8 ขวบ) เขาเริ่มฝึกอ่านแล้ว ในเกมก็จะมีข้อมูลให้เขาได้อ่านด้วย ก็เหมือนเขาได้ฝึกภาษาไทยไปด้วย และยังทำให้ได้รู้จักโครงการในพระราชดำริในหลายๆ โครงการด้วย
ที่พลอยชอบมากๆ เวลาดูลูกๆ เล่นด้วยกันก็คือ เราจะเห็นว่าเขาได้ช่วยเหลือกัน โดยเพราะพี่คนโตที่จะคอยช่วยสอนน้องว่าต้องเล่นยังไง เดินตรงไหนบ้าง ทำให้เขาได้เล่นด้วยกันแบบไม่ต้องแข่งขัน ช่วยปลูกฝังให้เขาได้ช่วยเหลือกัน แล้วก็ยังช่วยให้เขารู้จักคิด แก้ไขปัญหาไปในตัวด้วยค่ะ”
คุณแม่ลูกสี่คนดัง ยังบอกอีกว่าสาเหตุที่เธอเลือก “บอร์ดเกม” เป็นของเล่นของลูกๆ เป็นหลัก เพราะเธอไม่อยากให้เด็กๆ เอาสายตาไปจดจ่ออยู่กับการเล่นเกมผ่านหน้าจอ เพราะกลัวผลกระทบเรื่องของสายตา และเพราะอยากให้เด็กๆ ค่อยๆ โตไปกับของเล่นที่เหมาะสมกับวัยของพวกเขาด้วย
เราอยากให้ค่อยๆ โต ค่อยๆ เรียนรู้จากของเล่น และที่บ้านเราก็ซื้อของเล่นให้ลูกๆ เยอะอยู่เหมือนกันค่ะ เพราะเราอยากให้เขาเล่นกับของเล่น เล่นกันเอง วิ่งเล่น ปีนป่าย อยู่กับธรรมชาติ อยู่ตามวัยที่เขาเป็นค่ะ
ส่วนใหญ่เราจะสอดแทรกการสอนเขาผ่านการเล่น แล้วก็จะเล่นแบบไม่กลัวแดดกันเลย เพราะเราชอบให้ลูกได้เล่นอยู่แล้ว เพราะการเล่นคือการเรียนรู้ เพราะเราเคยอ่านผลการวิจัยด้วยไงคะว่า การเล่นจะทำให้สมองของเขาพัฒนาไปได้ไว ไม่เหมือนอยู่หน้าจอคนเดียว
[ความร่าเริงของ "น้องชิลลี่" วัยอยากรู้อยากเล่น ที่ติดใจ "เกมนักพัฒนาความสุข" เหมือนกัน]
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เหมือนในคลิปที่ทาง เอ.พี.ฮอนด้า ทำออกมาให้ดูเลยค่ะ คือที่เราบอกที่พูดที่สอนเขา ยิ่งลูกโต ยิ่งพูดเยอะ ต้องบอกต้องสอนจนบางทีเสียงหาย ทุกอย่างก็เพราะเราอยากให้เขาเป็น “คนดี” นี่แหละค่ะ ที่แม่พร่ำอยู่ตลอดก็เพื่อสิ่งนี้สิ่งเดียว
เรื่องที่เราอยากปลูกฝังกับเขา หลักๆ ก็คืออยากให้เขาช่วยเหลือกัน ให้รู้จักมีน้ำใจ แบ่งปันกัน เป็นสิ่งที่พูดกับลูกบ่อยมาก ซึ่งก็ตรงกับตัวเกมที่ให้เข้าไปช่วยเหลือคนที่เขามีปัญหา ก็ถือว่าเกมนี้ตอบโจทย์ของเราแล้วค่ะ เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเอาไปสอนลูกได้ด้วยค่ะ
อย่างในเกมจะมีกำหนดปัญหาไว้ว่า มีพื้นที่ไหนมีปัญหาอะไรบ้าง เด็กๆ ที่เล่นก็ต้องคิดว่าจะหาทางแก้ไขปัญหานั้นยังไง เราก็จะสอนเขา เหมือนให้เขารู้จักพัฒนาความสุข ถ้าเห็นปัญหาตรงไหน มีความทุกข์ตรงไหน ก็ให้แก้ไขให้มีความสุข”
[ลงทะเบียนขอรับ "เกมนักพัฒนาความสุข" ได้ทางเว็บไซต์ www.aphonda.co.th/honda2017/happinesscreators]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live