กล้ากินไหม?! ปลานำเข้าจากแหล่งกัมมันตภาพรังสีรั่ว ด้าน อย.ตรวจแล้วปลอดภัย ไม่ปนเปื้อน ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเสริม ไม่ปลอดภัย รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ส่งออก แนะผู้นำเข้าไทยควรบอกที่มาให้ลูกค้าตัดสิน ดีไม่ดีของไทยเองอันตรายกว่า!
ยัน ปลอดภัยแน่นอน!
กลายเป็นประเด็นดรามา สะเทือนวงการอาหารญี่ปุ่นในบ้านเราอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่สื่อดังของญี่ปุ่น รายงานว่า ไทยเป็นชาติแรก ที่นำเข้าปลาจากเมืองที่เคยมีกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อ 7 ปีก่อน แม้ทางประเทศต้นทางจะยืนยันว่า ปลาที่ส่งมานั้นปลอดภัยหายห่วง แต่ผู้บริโภคชาวไทยก็อดที่จะกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยไม่ได้
เจแปนไทมส์ สื่อใหญ่แดนอาทิตย์อุทัย รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ผู้ส่งออกปลาจากเมืองฟุกุชิมะ เริ่มส่งออกปลาไปยังต่างประเทศได้อีกครั้ง โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรก ซึ่งปลาตาเดียวจำนวนกว่า 110 กก. จากท่าเรือโซมะ ถูกส่งไปปรุงอาหารใน 12 ร้านอาหารญี่ปุ่น ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 61 ที่ผ่านมา
นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ จนทำให้กัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมืองฟุกุชิมะ เมื่อปี 54 เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้การทำประมงในพื้นที่ถูกระงับลงอย่างสิ้นเชิง อาหารทะเลจากพื้นที่แหล่งนี้ถูกสั่งห้ามนำเข้าจากประเทศต่างๆ
หลังจากนั้น ชาวประมงในพื้นที่ ทดลองกลับมาทำการประมงในปี 55 และจากการสุ่มตรวจอาหารทะเลในพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ตรวจพบการปนเปื้อนของรังสี ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่นได้ในปี 58 ถึงอย่างนั้น หลายประเทศก็ยังห้ามการนำเข้าแต่ไม่เข้มงวดดังเช่นสมัยก่อน ซึ่งการส่งออกปลามาไทยได้อีกครั้ง นำมาซึ่งความยินดีแก่ชาวประมงญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยยืนยันว่าจะส่งออกปลาที่ปลอดภัยจากเมืองนี้ไปทั่วโลก
ไม่เพียงแค่คำยืนยันจากทางประเทศต้นทางเท่านั้น อุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมงของไทย ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่า ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าปลาจากทุกประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่มีการสั่งห้ามนำเข้าแต่อย่างใด รวมถึงเมื่อช่วงปี 54 ด้วย
แต่การดำเนินการจำต้องเป็นไปตามมาตรฐานนำเข้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมถึงการควบคุมมาตรฐานกัมมันตภาพรังสีด้วย สำหรับขั้นตอนการนำเข้าปลาทุกชนิด เจ้าหน้าที่ด่านตรวจประมงจะต้องตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงต้องเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจด้วย และหากผ่านเกณฑ์มาตรฐานจึงสามารถให้นำเข้าได้
เพื่อความชัดเจนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้พูดคุยกับ ธนากร ใจสุขสกุลดี ล่ามภาษาญี่ปุ่นชาวไทย ที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นกว่า 9 ปี ถึงสถานการณ์ความกังวลสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นตอนนี้ ว่าเป็นอย่างไรแล้วบ้าง
“หลังจากปี 58 ระดับกัมมันตภาพรังสีในอากาศและในน้ำทะเลอยู่ในค่าที่เป็นปกติแล้วครับ รัฐบาลญี่ปุ่นเข้มงวดมาก นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นตรวจระดับรังสีเกินกว่า 100 ชนิด ถ้าไม่สบายใจ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือสาหร่ายทะเล เพราะมันเคลื่อนที่ไม่ได้ ถ้าเราจะกลัวอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เราต้องกลัวทั้งประเทศครับ ถ้าไม่มีความมั่นใจในระดับสูงสุด รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ส่งออกไปต่างประเทศแน่นอนครับ ถ้าตรวจตามสภาพอากาศแล้ว เกาหลีเหนือ เซี่ยงไฮ้ ระดับรังสีสูงกว่าฟุกุชิมะเสียอีกครับ
ส่วนกลุ่มคนที่มีความกังวลก็ยังมีอยู่ แต่ว่าเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่แล้ว ทั่วประเทศญี่ปุ่นตอนนี้ก็ให้การยอมรับครับ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือผักผลไม้จากฟุกุชิมะ ตอนนี้มีวางขายทั่วไปตามซูปเปอร์มาร์เกตทั่วประเทศ อย่างสมาคมซูโม่ ให้ความเชื่อมั่นต่อ จ.ฟุกุชิมะมาก ซูโม่บางท่านถึงขนาดบอกว่า ถ้าไม่ใช่ผักผลไม้ที่มาจากฟุกุชิมะ ไม่ยอมรับประทานเลย เพื่อเป็นการสนับสนุนชาวบ้าน
แล้วสินค้าที่วางขายในประเทศญี่ปุ่นทุกที่จะบอกที่มา บอกชื่อของเกษตรกรด้วยครับ เราสามารถอ่านได้ว่ามาจากจังหวัดไหน สินค้าบางประเทศจะมีชื่อและรูปถ่ายของเกษตรกรติดด้วยนะครับ สำหรับปลาและผักผลไม้จากฟุกุชิมะ ผมซื้อเป็นประจำอยู่แล้วครับ”
นอกจากนี้ ล่ามธนากรยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีการนำเข้าสินค้าจากเมืองฟุกุชิมะ เพราะล่าสุด มีอีกหลายประเทศเริ่มนำเข้าด้วยแล้ว ที่สำคัญผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้น จนอาจจะปลอดภัยกว่าสินค้าจากพื้นที่อื่นอีกด้วย
“ทำไมจะต้องกลัวแค่ฟุกุชิมะที่เดียว เพราะว่าแถบนั้นมันก็ชายฝั่งเดียวกัน ยาวขึ้นไปถึงเกาะฮอกไกโด ซึ่งเขาก็ตรวจสอบตลอด น้ำที่ไหลมาทำน้ำประปามาให้ชาวโตเกียว ก็มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ค่าอยู่ในระดับปกติ ปลอดภัย ทั้งอากาศ น้ำจืด ข้าว อาหารทะเลทุกชนิด ตรวจสอบมากกว่าปกติอยู่แล้ว ดีไม่ดีอาจจะปลอดภัยกว่าจังหวัดอื่นๆ ด้วยซ้ำไปครับ
ทั้งสิงคโปร์กับมาเลเซียก็เริ่มนำเข้าอยู่เหมือนกันครับ ไม่ใช่เฉพาะไทยเรา รัฐบาลญี่ปุ่นก็ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ออกมาแถลงผลการตรวจค่ากัมมันตภาพรังสีเป็นระยะๆ อยู่แล้ว ตอนนี้ระดับต่ำและปลอดภัยครับ ทางการไทยสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ผมเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ทางการตรวจสอบของรัฐบาลญี่ปุ่นนะครับ เพราะเขาทุ่มเทงบประมาณลงไปมหาศาล ในการทำความสะอาดและให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานได้อย่างเต็มที่”
แนะควรบอกที่มาชัดเจน!!
ไม่เพียงแค่คำยืนยันจากที่ล่ามชาวไทยที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวด้านประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะและอาศัยในประเทศญี่ปุ่นถึง 2 ปี มาการันตีถึงความเข้มงวดในการตรวจสอบสารปนเปื้อนของรัฐบาลญี่ปุ่นอีกเสียง ว่าทุกวันนี้ไม่มีการตรวจพบสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนในปริมาณที่เกินมาตรฐานแล้ว
“ตอนนี้มันผ่านมาประมาณ 7 ปีแล้วครับ อย่าง 1 - 2 ปีแรกที่เพิ่งเกิดเหตุ ทางบริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ รับซื้ออาหารทะเลทั้งหมดที่จับมาภายในระยะ 30 กม. ใกล้พื้นที่โรงไฟฟ้า คือซื้อมาแล้วเอาไปทิ้งทั้งหมด โดยให้เงินกับชาวประมงไป แต่หลังจากนั้นก็มีการทดลองจับปลาเพิ่มขึ้น จนมีรายงานชัดเจนว่าหลังจากเดือน เม.ย.58 สินค้าในพื้นที่ประสบภัยจากการสุ่มตรวจ ไม่พบสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนในปริมาณที่เกินมาตรฐานอีกเลย
ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามการันตีและส่งเสริม คือ 1.มีผลการพิสูจน์ชัดเจนจากห้องทดลองต่างๆ ว่าสินค้าที่ออกมาจากพื้นที่ประสบภัย มันไม่มีการปนเปื้อนหลงเหลืออยู่เลยครับ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค 2.รัฐบาลญี่ปุ่นรณรงค์การช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ประสบภัย ก็คือการสนับสนุนสินค้าครับ เพราะฉะนั้น การบริโภคสินค้าที่ปลอดภัยจากพื้นที่ มันก็จะมีรายได้ให้กับเกษตรกร ชาวประมง เพื่อให้เขาไปฟื้นฟูพื้นที่ได้ครับ ส่วนเรื่องความกังวล จริงๆ แล้วก็แล้วแต่คนครับ ถามว่าความกังวลใจมีอยู่ไหม ก็มี แต่ไม่ใช่ทุกคน แล้วมันก็ลดลงเรื่อยๆ
สำหรับปลาตาเดียวก็ถือว่าเป็นปลาที่มีมูลค่า ปกติคนญี่ปุ่นจะทานปลาเป็นหลัก หลังจากเกิดภัยพิบัติ ทำให้ปริมาณคนหาปลาที่เข้าสู่ตลาด มันลดลงมาก ไม่เพียงพอ ราคาปลาก็เพิ่มสูงขึ้น ปลาจากพื้นที่ประสบภัย แทบถูกกันออกไปครับ แม้แต่ตอนนี้การทำประมงในพื้นที่ฟุกุชิมะ เริ่มฟื้นฟูมาบางส่วนแล้ว แต่มันก็ยังถือว่าน้อยมาก เหลือสักประมาณ 13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดแผ่นดินไหวครับ คือยังน้อยมากๆ”
ไม่ใช่เฉพาะแค่ปลาตาเดียว 110 กก. ที่นำเข้ามาต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเท่านั้น กูรูประเทศญี่ปุ่น ยังให้ข้อมูลอีกว่า ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยก็เคยนำเข้าลูกพีชจากแหล่งผลิตในพื้นที่ประสบภัยมาแล้ว แต่ทว่ากลับไม่เป็นประเด็นครึกโครมดังเช่นตอนนี้
สุดท้าย เขาได้ฝากแง่คิดไปยังผู้บริโภคที่มีความกังวลถึงสินค้าจา จ.ฟุกุชิมะ ว่าอาจจะไม่ปลอดภัย แต่อย่าลืมนึกถึงเรื่องใกล้ตัว อย่างสินค้าของไทยเราเอง ก็น่ากังวลเรื่องความปลอดภัยไม่แพ้กัน
ภาพตัวอย่างฉลากสินค้าพีชที่ระบุว่ามาจากฟูกุชิมะ ญี่ปุ่น
“สำหรับตัวผมเองก็ดื่มเหล้าสาเกจากฟุกุชิมะ ที่เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงมาก เพราะว่าเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น มีอากาศดี ปลูกข้าวได้มีคุณภาพสูง ได้ข้าวมาทำเป็นเหล้าสาเกที่มีรสชาติดี ส่วนอาหารทะเลยังไม่เคยทาน แต่ผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เหล้าสาเก ผลไม้ ทานได้ปกติ ไม่มีปัญหาอะไร ยังเป็นการสนับสนุนพื้นที่ประสบภัยครับ
แต่สำคัญกว่านั้นคือ รัฐบาลไทยให้ข้อมูลชัดเจนแค่ไหน ว่าปลาตาเดียวนำเข้ามาแค่ 110 กก. จำกัด 12 ร้าน หรือมากกว่านั้นในอนาคต ตรงนี้เราไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด อีกอย่างที่สำคัญคือ การบอกแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน ในญี่ปุ่น อาหารทุกชนิด ต้องมีการระบุแหล่งที่มาหรือแหล่งผลิตชัดเจน ซึ่งผู้บริโภคจะซื้อหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของเขา
เพราะฉะนั้น ถ้าไทยยินยอมให้สินค้าจากฟุกุชิมะหรือที่อื่นเข้ามา ก็ควรจะมีป้ายบอกชัดเจนว่ามาจากที่ไหน แต่เราไม่เคยบอกว่าหมูนี้มาจากจังหวัดอะไร จับปลามาจากไหน เราไม่รู้แหล่งที่มาเลย คุณคิดว่าสินค้าจากฟุกุชิมะปนเปื้อน แต่คุณไม่คิดว่าปลาของไทยที่จับมา มีการใช้สารเคมีต่างๆ ในกระบวนการแปรรูปปลา รวมถึงความสะอาดหรือเปล่า เหมือนเราไปกังวลกับเรื่องไกลตัวเกินไปมาก แต่เราไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เราเอาเข้าปากอยู่ทุกวัน มันปลอดภัยจริงหรือ เราไม่รู้แม้กระทั่งมันมาจากไหนหรือว่าใครเป็นคนผลิตเลย”