“700 ล้านดอลลาร์” คือเม็ดเงินขนาดมหึมา ที่นักธุรกิจสาววัย 24 รายนี้พร้อมทุ่ม เพื่อสานฝัน สร้าง “เครือข่ายท่องเที่ยวรอบโลก” บุกเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ติดอันดับ “Top 100” ทั่วราชอาณาจักร ด้วยวิธีสร้างแอปฯ “Tuk Tuk Pass” รวมข้อมูลเชิงลึก พร้อมบริการที่ใช่ประจำเมืองนั้นๆ มาไว้ในที่เดียว
แล้วเสิร์ฟจุดขายให้ขาเที่ยวผ่านวิธีสบายๆ ทั้ง แอปฯ บนมือถือ, เว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ รวมถึง ตู้ปฏิบัติการ ที่ขนไปเซอร์วิสกันถึงที่โรงแรม ทั้งหมด 100,000 แห่งทั่วโลก!! ที่สำคัญ โปรเจกต์ใหญ่ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ราคาคุย เพราะมีนักลงทุนรายใหญ่ล็อตแรก ร่วมระดมทุนรอบก่อนเปิดตัว เทเงินให้กับไอเดียนี้ไปแล้ว ทะลุ 62 ล้านบาท!!
ตุ๊กตุ๊กพาส = ทุกทุกพาส (แอปฯ เดียว อยู่หมัด)!!
“จากการศึกษาข้อมูล เราพบว่าตอนนี้นักเดินทางจากทั่วโลกในปีที่แล้ว มีจำนวนทั้งหมด 1,235 ล้านคน และเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมากที่สุด ติดอันดับ 100 แห่งแรกเหล่านั้น คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างประเทศทั่วโลก
หมายความว่าถ้าฟ้าสามารถขยายแพลตฟอร์มของเรา ไปทั้ง 100 เมืองท่องเที่ยวเหล่านั้นได้ ก็จะทำให้เครือข่ายการทำโปรเจกต์นี้ขยายใหญ่ขึ้นได้ด้วย ทำให้เราสามารถเข้าถึงคนได้อย่างน้อย 45 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก หรือประมาณ 555 ล้านคน”
นี่คือคำพูดฉะฉานที่ออกมาจากปากของนักธุรกิจสาววัย 24 ฟ้า-ปรางพิสุทธิ์ แดงเดช เจ้าของไอเดียและผู้ก่อตั้ง “ตุ๊กตุ๊กพาส (Tuk Tuk Pass)” เครือข่ายท่องเที่ยวสัญชาติไทยที่กำลังจะโด่งดังไกลระดับโลก ด้วยสมองและสองมือของคนรุ่นใหม่
แม้จะเป็นสาวร่างเล็กและดูเด็กแบบนี้ แต่ทุกถ้อยคำที่ส่งตรงมาจากฟ้า ล้วนถูกบอกเล่าผ่านระบบความคิดที่เป็นยิ่งกว่าคำว่า “ผู้ใหญ่” สมแล้วที่ถูกการันตีคุณภาพด้วยตำแหน่ง “อดีตนักเรียนทุนฟุลไบรท์ (Fulbright)" ซึ่งถูกยกให้เป็น 1 ใน 10 ทุนการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับนักศึกษาต่างชาติ แถมยังได้รับรางวัล “Innovator Award 2015” จากคณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ADTDC) อีกต่างหาก
[ไอเดียโปรเจกต์ ได้มาจากการท่องเที่ยวรอบโลก]
หลังรับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาพยนตร์และสื่อใหม่ ด้านเทคโนโลยีและ New Media จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ไม่นาน ฟ้าก็หันมาทำรายการท่องเที่ยวที่ชื่อ “The Passion Thailand” อยู่นาน 2 ปี โดยเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และพิธีกรเอง ตระเวนถ่ายทอดเรื่องราวนักเดินทางรอบโลก กระทั่งเกิดจุดประกายโปรเจกต์ “Tuk Tuk Pass” ขึ้นมา เพราะมองเห็นช่องโหว่ในโลกแห่งการท่องเที่ยวที่เป็นอยู่
สาเหตุที่ตั้งโปรเจกต์นี้ว่า “ตุ๊กตุ๊กพาส” เพราะเธอมองว่า “ตุ๊กตุ๊ก” คืออีกหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศไทย ผู้ใช้บริการจากทั่วทุกมุมโลกจะได้จดจำได้ และอีกนัยหนึ่งคำว่า “Tuk Tuk Pass” เมื่ออ่านออกเสียงตามภาษาสากล จะได้คำว่า “ทุกทุกพาส” ซึ่งตรงกับหน้าที่ของแพลตฟอร์มตัวนี้ ที่ร่วมเอา “ทุกๆ อย่าง (ทุกๆ พาส)” ของสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวเอาไว้ด้วยกัน
และเพื่อให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ตัวนี้ เป็นที่รู้จักได้ทั่วโลก จึงเกิดเป็นไอเดียของการตั้ง “ตู้ปฏิบัติการ” หรือ “ตู้คีออส (Kios)” เพื่อให้บริการด้านข้อมูลเป็นจำนวน 100,000 ตู้ ตามโรงแรมชั้นน้ำของประเทศนั้นๆ กระจายไปตามเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งหมด 100 แห่งทั่วโลก ซึ่งเป็นวิธีการโฆษณาที่ฟ้าเชื่อว่า จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวรอบโลกได้มากกว่าการทุ่มงบไปลงโฆษณา เพื่อละลายทิ้งในแม่น้ำแห่งการตลาดทุกวันนี้
“ตู้จะตั้งอยู่ในจุดสนใจแรกของโรงแรมเลยค่ะ เพราะแพลตฟอร์มของเรา เป้าหมายหลักคือการร่วมมือกับทุกคนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศนั้นๆ ฟ้าขอย้ำว่าเราไม่ได้ต้องการทำแข่งขันกับคนอื่น แต่เราต้องการรวมเอาแพลตฟอร์มดีๆ มาไว้ด้วยกัน ซึ่งหมายความว่าเราก็ต้องมีคนร่วมมือจำนวนมาก ซึ่งในไทยเราก็ร่วมมือกับ สมาคมโรงแรม, สมาคมมักคุเทศก์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ส่วนตัวตู้จะมี 2 จอ จอล่างจะเป็น Touch Screen ให้สามารถจองโรงแรม ถามบริการได้ ส่วนจอบนจะเป็นโฆษณาของการท่องเที่ยวของแต่ละที่ คือเป็นการร่วมมือระหว่าง “การท่องเที่ยว” และ “โรงแรม” ทางฝั่งโรงแรมเอง เขาก็บอกว่าดีซะอีก เขาไม่ต้องเสียทรัพยากรคนในการไปนั่งอธิบายอะไรๆ ให้กับลูกค้า แนะนำให้ไปที่ตู้ได้เลย ซึ่งมันจะทำให้เราได้ traffic ของนักท่องเที่ยวจากตัวตู้ด้วย เราจึงมีเป้าหมายในการตั้งในโรงแรมทั้งหมด 100,000 ตู้ ใน 100 เมืองท่องเที่ยว”
เตรียมขยายครบ 100 เมือง บริการ “ขาเที่ยว” ครบสูตร!!
ถึงแม้จะดูไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเจรจาให้ “100 เมืองท่องเที่ยวระดับท็อปของโลก” ยอมสนับสนุนและร่วมมือในโปรเจกต์ของเธอครั้งนี้ แต่ถ้าเจอคนที่ “มีความเชื่อเหมือนกัน” ความฝันก้อนใหญ่ก้อนนี้ก็ไม่ยากจนเกินไป ฟ้าบอกกับเราอย่างนั้น ก่อนย้อนเล่าถึงวิธีโน้มน้าวให้ “พาร์ตเนอร์ระดับโลก” มาร่วมมือกับเธอได้สำเร็จ
“จากการที่ฟ้าเคยทำรายการท่องเที่ยวมา ระหว่างทำรายการ ฟ้าก็ได้เจอนักท่องเที่ยว นักเดินทาง แล้วก็ได้เจอหน่วยงานดูแลเรื่องการท่องเที่ยวประจำแต่ละประเทศอยู่แล้วค่ะ ซึ่งทางภาครัฐของที่นั่น เขาจะชอบไอเดียนี้อยู่ เพราะเขามองว่าเป็นข้อดีที่จะได้มีพื้นที่ในการโฆษณาเพิ่มที่ตู้ของเรา เขาก็เลยยินดีที่จะร่วมมือกับเรา
ส่วนพาร์ตเนอร์ที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวของแต่ละเมือง ทางการท่องเที่ยวประจำประเทศนั้นๆ เขาก็จะเป็นฝ่ายช่วยเราหารายที่มีคุณภาพมาให้ด้วยค่ะ"
นอกจากนี้ ฟ้ายังมีทีมที่ปรึกษาที่แข็งแรงด้วยค่ะ อย่าง ศ.นพ.ดร.กระแส ชนะวงศ์ ที่เป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งได้รางวัล “รามอนแมกไซไซ”, คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ที่ช่วยดูทางด้านธุรกิจ และ ดิเอโก้ กูเตอเรส ซัลดิวาร์ (ผู้บุกเบิกด้านการพัฒนาเว็บในอาร์เจนตินาและละตินอเมริกา) ที่มาช่วยดูเรื่อง Technical ให้ด้วย เพราะโปรเจกต์เราต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอยู่ตลอด”
หลายคนที่ได้ข่าวโปรเจกต์นี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่แหละคือ “อนาคตของแพลตฟอร์ม” รวมทุกแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องเอามาไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกสบายของผู้ใช้ โดยเฉพาะตุ๊กตุ๊กพาสตัวนี้ ที่ในอนาคตจะเปิดให้บริการครบถึง 15 ด้าน ดังต่อไปนี้
1.จองแพ็กเกจท่องเที่ยว 2.มัคคุเทศก์ 3.โรงแรม/ รีสอร์ต 4.การเดินทาง/ขนส่งในประเทศ 5.ดีลิเวอรี่อาหารและเครื่องดื่ม 6.สุขภาพและความงาม 7.ชอปปิ้งออนไลน์ 8.ที่ปรึกษาทางธุรกิจ 9.แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตสำหรับนักท่องเที่ยว 10.ประกันการเดินทาง 11.ฉลองวันพิเศษ 12.ตั๋วคอนเสิร์ต-การแสดง 13.จองคลาสเรียนพิเศษ 14.ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว และ 15.บริการแลก-โอนเงิน
[2 บริการ ที่จะเปิดให้ใข้ก่อน แล้วค่อยตามมาอีก 13 บริการ ให้ครบตามที่วางไว้]
“การ Service ของเราจะแบ่งออกเป็น 15 ด้านด้วยกันค่ะ ซึ่ง 2 อันแรกที่เราจะปล่อยออกมาก่อนในเฟสหนึ่งคือ เรื่องของ “Package Tour (จองแพ็กเกจท่องเที่ยว)” กับ “Tour Guide (จองมัคคุเทศก์)” เพราะเรามองว่า 2 สิ่งนี้มันจะเป็นสิ่งที่คนไม่ได้จองมาก่อน ซึ่งงบในการทัวร์ก็อยู่ที่ว่าอยากได้ระดับไหนค่ะ ถ้าเป็นระดับปกติก็จะอยู่ที่ 75 เหรียญต่อทัวร์ (1 เหรียญตุ๊กตุ๊กพาส = 1 ดอลลาร์) แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เราก็มีส่วนลดพิเศษในร้านค้าที่ร่วมรายการให้ด้วย”
การสร้าง “เครือข่ายแห่งความสะดวกสบายด้านการท่องเที่ยว” คือหัวใจของโปรเจกต์นี้ เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาต่างแดน ต้องตกระกำลำบากอย่างที่เธอเคยเจอตอนไปต่างบ้านต่างเมือง “ตอนนั้น ฟ้าต้องดาวน์โหลดแอปฯ ตั้ง 20 กว่าแอปฯ คือตัวนึงใช้รถ, อาหาร, ทัวร์ท่องเที่ยว ฯลฯ ฟ้าเลยต้องการจะอุดช่องโหว่ตรงนั้น ด้วยการรวบรวมทุกอย่างมาไว้ในแอปฯ เดียว และยังสามารถตรวจสอบข้อมูลไกด์ได้จากแอปฯ จะได้มีนักท่องเที่ยวถูกหลอกลดลงไปด้วย”
“หรืออย่างเรื่องสะดวกสบาย สมมติว่าถ้าเราอยู่ฮ่องกง เครื่องบินออกเที่ยงคืน แต่เราต้องออกจากโรงแรมภายในตอนเที่ยง วิธีแก้ปัญหาคือที่ฮ่องกงเขาจะมีสถานีรถไฟกลาง ที่เราสามารถไปเช็กอิน เอากระเป๋าไปฝากได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวชอบมา แต่ที่ไทยไม่มีแบบนั้น
แต่เรามีบริการอยู่ตัวนึงที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ชื่อ “Airportail” ให้บริการรับกระเป๋าจากโรงแรมไปสนามบิน ถามว่านักท่องเที่ยวกี่คนกันที่รู้จักบริการนี้ เพราะฉะนั้น เราก็จะรวมการอำนวยความสะดวกตรงนี้ไว้ จากการที่เขาเป็นพาร์ตเนอร์ของเราด้วย”
[ฟ้ายืนยัน วิธีตั้งตู้คีออสของเธอ ใช้เงินน้อยกว่าการลงโฆษณา อย่างที่โรงแรมดังๆ ต้องจ่ายให้ Priceline เพื่อโปรโมตแน่นอน]
ทั้งนี้ “ไทย, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง และสิงคโปร์” คือ 4 ประเทศ (10 เมือง) ที่จะเป็นประเทศบุกเบิกในการเปิดตัวเฟสแรก ซึ่งฟ้าและทีมวางแผนคร่าวๆ ไว้ว่าจะเปิดให้บริการช่วง ก.ค.นี้ เพราะจากสถิติการท่องเที่ยวระดับโลกระบุว่า 4 ประเทศที่ถูกเลือกทั้งหมดนี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางแวะเวียนมา สูงถึง 89 เปอร์เซ็นต์จากการท่องเที่ยวในต่างแดนรอบโลก
ทั้งยังจะเปิด “สำนักงานใหญ่ Tuk Tuk Pass” ใน 3 เมือง คือ ไทย, ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยให้สำนักงานที่ไทยเป็น “ศูนย์ Call Center” เพราะคนไทยมีใจรักบริการ, ให้ที่ฮ่องกงเป็น “Gate Way ของจีน” ซึ่งมีเมืองท่องเที่ยวมากถึง 7 แห่ง และให้สิงโปร์เป็น “แหล่งเพิ่มพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ” เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีสำนักงานต่างประเทศอยู่มากที่สุดในเอเชีย จึงเป็นผลดีต่อการหาพาร์ตเนอร์เพิ่มจากตรงนั้นด้วย
ระดมทุนสูงสุดในประวัติศาสตร์ สานฝันเที่ยวรอบโลก!!
[วิธีจัดสรรเหรียญในการ "ระดมทุน" ร่วมโปรเจกต์นี้]
เมื่อต้องสร้าง “เครือข่ายระดับโลก” ก็จำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินจาก “นักลงทุนระดับโลก” มาช่วยสนับสนุน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โปรเจกต์นี้เกิดจาก “การระดมทุนผ่านโลกออนไลน์” อย่างที่นักซื้อขายเรียกกันว่าการแลกเปลี่ยนผ่านหรียญลงทุน “ICO (Initial Coin Offering)”
“มันคือระบบการระดมทุนที่เกิดโอกาสให้คนที่มีไอเดียทำธุรกิจ หรือเพิ่งเริ่มธุรกิจค่ะ ที่จะช่วยให้เราสามารถระดมทุนให้กับคนทั่วโลกได้ ซึ่งต่างจากระบบเดิม “ITO (Initial Token Offering)” ที่จะระดมทุนได้แค่ประเทศเดียว ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้ส่งเป็นค่าเงินจริง (บาท หรือดอลลาร์) ให้แก่กัน แต่ส่งเป็นสกุลเงินตามที่ตกลงกันในอินเทอร์เน็ต จากการเห็นด้วยกับไอเดียธุรกิจของคนคนนั้น (สำหรับโปรเจกต์ “ตุ๊กตุ๊กพาส” นี้ สกุลเงินใช้ชื่อว่า “TTP-A : Tuk Tuk Pass Asset”)
และตอนนี้ก็มี Private Investment ที่ให้ทุนเบื้องต้นมาแล้วเหมือนกันค่ะ เป็นจำนวนเงินที่ช่วยให้ซื้อเครื่องคิออสไปตั้งในเฟสแรกได้เรียบร้อยแล้ว คือตอนนี้ฟ้าพร้อมลง 800 ตู้ในกรุงเทพฯ แต่การจะขยายไปให้ครบ 100 เมืองท่องเที่ยวทั่วโลก ก็ยังเป็นเรื่องใหญ่อยู่เหมือนกัน เพราะต้องใช้เม็ดเงินอีกจำนวนมาก”
ฟ้าพูดด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่นว่า โปรเจกต์นี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้มากกว่าการระดมทุนแบบอื่นๆ เพราะ “ตุ๊กตุ๊กพาส” ไม่ได้บอกเล่ากันปากเปล่าเพื่อเสนอเป็นไอเดียเหมือนโปรเจกต์อื่นๆ แต่มีทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ มีเงินลงทุนสำหรับ 800 ตู้แรกอยู่พร้อมแล้ว ไม่ได้มาแบบจับเสือมือเปล่าเพียงเท่านั้น แต่ต้องการหาพาร์ตเนอร์ที่ต้องการสร้างเครือข่ายที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
“จากจำนวนเงินระดมทุนซึ่งตั้งไว้ที่ 700 ล้านเหรียญ (1 เหรียญตุ๊กตุ๊กพาส = 1 ดอลลาร์) จะทำให้เรากลายเป็น ICO ที่ระดมทุนได้มากที่สุดในโลกด้วยค่ะ ซึ่งถ้าเทียบกับการระดมทุนเพื่อไปโฆษณาแล้ว ถือว่าเงินระดมทุนเราใช้งบน้อยกว่ามาก ที่สำคัญ เราจะไม่ระดมทุนทั้งหมด 700 ล้านเหรียญ(ตุ๊กตุ๊กพาส)ทีเดียวด้วย แต่จะระดมใหม่ทุกครั้งที่เราเปิดเฟสขยายธุรกิจ แบ่งออกเป็น 10 รอบ ครั้งละ 70 ล้าน
โดยเหรียญที่นักลงทุนซื้อไป จะไปแลกเป็นเงินไม่ได้ แต่ไปแลกสิทธิพิเศษที่อยู่ในรายการของของตุ๊กตุ๊กพาสได้ คิดง่ายๆ ว่ามันเป็นบัตรสมาชิก แต่ในจำนวนเหรียญที่เขาลงทุนไป จะถูกตอบแทนกลับมาด้วยผลกำไรสุทธิในทุกๆ ปี (หรือที่เรียกว่า “TTP-C : Tuk Tuk Pass Coin”) ซึ่งจะมอบให้พวกเขาประจำไตรมาสที่ 4 ส่วนจะได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเหรียญที่เขาลงทุนซื้อเอาไว้ตั้งแต่แรก
และการแบ่งการลงทุนเป็น 10 รอบ มันให้ผลดีต่อนักลงทุนรายแรกสุดด้วยค่ะ ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า เขาจะได้ 10 เด้ง เพราะเราจะให้สิทธิกลุ่มนักลงทุนที่ซื้อในรอบแรก ให้สามารถซื้อเหรียญในรอบถัดๆ ไปได้ในราคาเดิม แม้ว่าเหรียญรอบหลังๆ จะขึ้นราคาไปแค่ไหนแล้วก็ตามในราคาตลาดโลก เพราะเราอยากให้เขามีต้นทุนต่ำที่สุดจากการร่วมลงทุนตั้งแต่แรก”
[ความฝันของหลายๆ คน การได้ไปเปิดโลกกว้างต่างแดน]
ไม่ใช่แค่ “นักลงทุน” เท่านั้น ที่มีสิทธิจะได้รับ “เหรียญสะสมแต้ม” จากกำไรสุทธิของโปรเจกต์ หรือที่เรียกว่า “TTP-C” แต่ “เจ้าของธุรกิจ” รวมถึง “ผู้ใช้แอปพลิเคชัน” ก็มีลุ้นรับเหรียญ เพื่อนำไปแลก “รางวัลท่องเที่ยว-สิทธิพิเศษ” ได้ด้วยเหมือนกัน โดยการช่วยโปรโมต “Tuk Tuk Pass” สร้างคอนเทนต์ดีๆ แล้วเผยแพร่ไปสู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก
“จุดมุ่งหมายของฟ้าในการสร้างแพลตฟอร์มก็คือ การยกระดับการท่องเที่ยว และเป็นการสร้าง Global Travel Community หมายความว่าคุณมีสิทธิที่จะได้เดินทาง จากการที่ได้อยู่ในแพลตฟอร์มนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่เข้ามาร่วมในแพลตฟอร์ม หรือเป็นนักเดินทางที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์ม
[ภาพทั้งหมดนี้ เป็นภาพที่ฟ้าและทีมของเธอ ถ่ายด้วยมือตัวเอง ระหว่างไปเก็บประสบการณ์]
ยกตัวอย่าง บริษัททัวร์ที่มาเข้าร่วมกับเรา ยิ่งถ้าเขาให้บริการดี คนรีวิวให้เยอะ ยิ่งเก็บแต้มได้เยอะ จนกลายเป็น “Gold Star Guide (ไกด์ติดดาว)” ยิ่งมีสิทธิได้ไปเที่ยวฟรีๆ หรือแม้แต่คนเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มนี้ ก็สามารถสานฝันไปเที่ยวฟรีได้ด้วยเหมือนกัน แค่รีวิวสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นแพลตฟอร์ม ถ้านักท่องเที่ยวทั่วโลกโหวตให้เป็นคอนเทนต์ที่ดี แค่เป็น “Local Guide” ให้กับแพลตฟอร์มนี้ ก็มีสิทธิได้เที่ยวรอบโลกฟรีเหมือนกันค่ะ
หรือแค่เป็นผู้ใช้แพลตฟอร์มนี้ ก็มีสิทธิได้รับรางวัล เช่น ตั๋วเครื่องบิน, ตั๋วรับประทานอาหาร, ตั๋วโรงแรม จนถึงรางวัลใหญ่ที่สุดคือ “ตั๋วล่องเรือรอบโลก 100 วัน” ฟรีทุกอย่าง จากการจับรางวัลของเรา ซึ่งจะประกาศรางวัลทุกวัน วันละ 1 คน แล้วพอครบ 1 อาทิตย์ ก็เอารายชื่อทั้ง 7 คนนั้น มาจับผู้โชคดีอีกครั้งนึง และผู้โชคดีคนนั้นก็จะถูกถ่ายลงบนเฟซบุ๊กไลฟ์ของเรา เป็นเหมือน Reality ชีวิตของคนคนนึง
การที่เราเป็นเซอร์วิสใหม่ที่ต้องการจะสร้างคอนเทนต์และให้คนเข้าถึง เราจะทำยังไงให้คนรู้จักโดยที่ไม่ต้องทุ่มเงินมหาศาลไปกับการซื้อโฆษณาที่เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เราก็เลยเลือกวิธีนี้ค่ะ คือการแจกรางวัล แจกแต้ม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มของเรา
วิธีคิดของเราคือ จากคน 7,600 ล้านคนทั่วโลก มี 1,300 ล้านคนที่มีเงินไปเที่ยวต่างประเทศ แต่อีก 6,000 ล้านคนยังไม่มีเงินไป แต่เราจะทำยังไงให้ 6,000 ล้านคนที่เหลือนี้ แม้จะยังไม่มีเงิน แต่ยังมีแรงจูงใจที่จะเข้าแพลตฟอร์มเราทุกวัน เพื่อเก็บแต้มให้ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ
แพลตฟอร์มออนไลน์ทุกๆ แพลตฟอร์มทุกวันนี้ มีปัญหาเดียวคือมีคนเข้ามาใช้ปีนึงครั้ง 2 ครั้งเอง รวมถึงบริการการท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งที่กำหนดความถี่ไม่ได้ เราไม่รู้ว่าใครอยากจะเที่ยววันไหน ดังนั้น ถ้าเราทำให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของเขา
และถ้าวันนึงเราหยุดแจกรางวัล เพราะมีคนใช้ 4,000 - 5,000 ล้านคนทั่วโลกแล้ว เราก็เชื่อว่าคนก็ยังคงใช้แพลตฟอร์มนี้อยู่ เพราะคนที่เข้ามาสร้างคอนเทนต์เองเขาก็ได้ความภาคภูมิใจ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “Global Travel Community” และคือส่วนหนึ่งที่ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกสำหรับทุกๆ คนเป็นไปได้”
ค้น “เส้นทาง Unseen” เปิดประสบการณ์-เรียนรู้โลก [ภายใน “มัสยิดสีชมพู” เมืองชีราซ] ตอนนี้ Road Map ของเราคือ 5 ปี ที่วางไว้ว่าต้องขยายทุกเฟสให้ครบ 100 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยม และมีการระดมทุนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี และหลังจากนั้น ถ้ามีเมืองอื่นๆ ที่สนใจอยากเข้าร่วมกับเราอีก เราก็ค่อยขยายไป เพราะจริงๆ ฟ้าอยากขยายเฟสไปช่วยเมืองเล็กๆ ด้วย อย่าง “หลวงพระบาง” ก็เป็นเมืองที่ดีมาก แต่ไม่ติด 100 อันดับเมืองท่องเที่ยว ฟ้าก็อยากช่วยโปรโมตสิ่งดีๆ ให้โลกได้รับรู้ หรืออย่าง “เมืองชีราซ” ที่อิหร่าน ก็เป็นเมืองที่ได้ไปเที่ยวแล้วมีความสุขมาก ถึงแม้ว่าประเทศของเขาจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งด้านการเมือง ทำให้เรื่องของการท่องเที่ยวไม่ได้รับการโปรโมตเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะ “มัสยิดสีชมพู” ที่สวยงามมากๆ โดยเฉพาะตอนที่มีแสงตอนเช้าส่องเข้ามา และเขาก็มีเมืองที่สร้างขึ้นมาจากทราย มีสถานที่ที่หลายคนอาจจะไม่เคยไป และจริงๆ แล้ว ผู้คนของเขาน่ารักมากค่ะ ด้วยธรรมเนียมที่ถูกปลูกฝังมานาน จากสมัยก่อนจะมี “ชนเผ่าเร่ร่อนเบดูอิน” มาขอพักพิงบ่อยครั้ง จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าใครรอนแรมหลงทางมา เขาก็จะดูแลเป็นอย่างดี เขาจะให้ที่พักคุณ เพราะมันเป็นพื้นฐานของเขา คือความใจดีที่เขามี ตอนฟ้าไป ฟ้าประทับใจมาก เพราะฟ้าได้ไปอยู่กับคนท้องถิ่น จนตอนนี้แทบจะเป็นบ้านหลังที่ 2 ของฟ้าแล้ว อย่างทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่เลยค่ะ แต่ด้วยข่าวเรื่องการก่อการร้าย คนก็มักจะคิดว่าคนตะวันออกกลางจะโหดร้าย [ความเป็นมิตรของคนตะวันออกกลาง] หรืออย่างที่อิหร่าน เขาจะเชิญเราไปจิบชา คุยกัน แล้วก็ถามไถ่ว่าคุณเป็นคนประเทศอะไร คนไทยเหรอ ฉันชอบประเทศไทยมาก ฉันอยากไปเที่ยวประเทศไทย หรือแม้แต่คนอเมริกาที่เดินทางไป ถึงแม้ว่าอิหร่านจะมีปัญหากับอเมริกา แต่เขาก็ต้อนรับเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไม่รู้ ถ้าถามว่าการท่องเที่ยวให้อะไรกับฟ้า ฟ้ามองว่ามันทำให้เรา Connect กับคนอื่นได้ และการเดินทางยังทำให้เรากล้าที่จะไปลองอะไรใหม่ๆ เพราะว่าเราไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น ภาษาที่พูดก็ไม่ใช่ภาษาของเราด้วยซ้ำ มันทำให้เราเรียนรู้ที่จะปรับตัว เรียนรู้ที่จะเปิดกว้าง การเดินทางมันทำให้เราเปิดทัศนคติของเรา บางที การที่เราไม่ออกไปเห็นอะไรด้วยตาของตัวเอง มันอาจจะทำให้เราเชื่อว่ามันเป็นแบบนั้น จากการที่เราได้เสพสื่อ แต่เมื่อเราได้ไปเห็นเอง มันอาจจะมีอีกมุมหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักเลยก็ได้ |
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพบางส่วน: fb.com/tuktukpass