จับจริง!! ปัญหาการซื้อ-ขาย บนถนนสาธารณะ ของ “แม้ค้ากล้วยทอดนางเลิ้ง” ที่ก่อนหน้านี้คึกคักไปด้วยผู้คน “ใส่เอี๊ยม” หลากสี ถือถุงกล้วยทอด เดินเร่ขายกันให้ควั่ก ฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร-เทศกิจ “คุมเข้ม” พ่อค้า-แม่ค้า โอด “รายได้หดหาย” บางร้านหยุดขาย ไม่คุ้มค่าน้ำมัน ค่าทอดกล้วย ที่เสียไป “ปิดกิจการ” จริง หรือแค่รอเจ้าหน้าที่เลิกเฝ้า ค่อยมาขายใหม่ในอนาคต?
จับจริง!! คนเร่ขาย คุ้มเข้ม เต็มกำลัง!!
[เดินขายกล้วยทอดกลางถนน ภาพชินตาในอดีต ตอนนี้ได้หายไปแล้ว / ขอบคุณภาพ: luerat]
จากกระแสข่าว การซื้อ-ขายกล้วยทอดนางเลิ้งบนถนนสาธารณะ ที่ทางสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มีมติให้จัดระเบียบผู้ค้ากล้วยทอด มันทอดในพื้นที่เหมาะสม ไม่ให้กีดขวางทางจราจรบริเวณถนนหลานหลวง ถนนนางเลิ้ง ถนนราชดำเนิน และถนนบริเวณโดยรอบ ที่มีการเดินเร่ขายบนถนน ซึ่งเป็นภาพที่เห็นชินตากันมาอย่างยาวนาน
สัญลักษณ์เด่นๆ อยู่ที่ “เอี๊ยมหลากสี” เช่น แดง, ขาว, น้ำเงิน, ชมพู, เขียว, และม่วง สาเหตุที่ต้องมีเอี๊ยมหลายสี เพราะมีกล้วยทอดหลากหลายเจ้า จึงต้องแบ่งสีกันอย่างชัดเจน เพื่อสร้างการจดจำให้กับลูกค้าที่ซื้อกล้วยทอดกิน ใครอยากกินสีไหน ก็เปิดกระจกรถ กวักมือเรียก รอคนขายวิ่งมาหา “จ่ายเงินสด” รับกล้วยทอดไป ก็ได้กินสมใจ
ส่งผลให้ทางเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ได้เข้ามาคุ้มเข้มพื้นที่ขายกล้วยทอดนางเลิ้งอย่างจริงจัง และทางเพจเฟซบุ๊ก “กองบัญชาการตำรวจนครบาล - บช.น.” ได้มีการชี้แจงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยปละละเลย ไม่จับกุมบุคคลที่นำกล้อยทอด-มันทอด เร่ขาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน โดยโพสต์เอาไว้ดังนี้
[บรรยากาศในอดีต ที่อาจไม่ได้เห็นกันอีกต่อไป / ขอบคุณภาพ: posttoday]
"กรณีดังกล่าว พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผกก.สน.นางเลิ้ง ได้กำชับการปฏิบัติ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทุกนายทราบหากพบเห็นการกระทำความผิดให้ดำเนินการจับกุม และเปรียบเทียบปรับบุคคลเร่ขายกล้วยทอดบนผิวการจราจรและได้กำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ให้กวดขันจับกุมผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
ส่วนเรื่องที่มีการอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจกดสัญญาณไฟจราจรเพื่อเอื้อต่อผู้เร่ขายกล้วยทอดนั้น ขอชี้แจงว่าการกดสัญญาณไฟจราจรเป็นไปตามปริมาณรถที่สัญจรผ่านในพื้นที่ ไม่ให้มีการจราจรติดขัด มีผู้บังคับบัญชา ระดับรองผู้กำกับการจราจร และสารวัตรจราจร เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติอยู่ตลอด
[ล่าสุด "เจ้าหน้าที่เทศกิจ" มาคอยเฝ้าบริเวณร้านกล้วยทอดตลอด ทำให้ไม่มีใครกล้าลงไปขายกลางถนนอีก]
อย่างไรก็ตามทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ก็ได้สั่งกำชับทุก สน.ในเขตพื้นที่ ทำการตรวจตรา และประชาสัมพันธ์ ผู้ที่ขายและซื้อสินค้าทุกประเภท ซึ่งเร่ขายบนถนนสาธารณะ “กีดขวางการจราจร” ให้ทราบถึงความผิดและอัตราโทษ และให้บังคับใช้กฎหมายโดยเด็ดขาด"
ถึงแม้การขายกล้วยทอดจะห้ามเดินเร่ขายบนถนน ก็ยังสามารถขายได้ตามปกติ แต่คงหนีไม่พ้น ขายได้แค่หน้าร้านของตัวเองเท่านั้น กลายเป็นว่ารายได้ที่เคยขายในแต่ละวันจากขายได้ 4,000-5,000 บาท ก็ลดลงเหลือเพียงวันละไม่ถึง 200 บาทเท่านั้น
“กล้วยทอดนางเลิ้ง” เลิกขายจริง!! หรือ แค่หยุดชั่วคราว?
["ร้านเอี๊ยมแดง" ที่เคยรุ่งเรือง ปัจจุบันพบว่าปิดร้านเงียบ]
ความโด่งดังของกล้วยทอดย่านนางเลิ้ง สามารถสร้างรายได้ให้พ่อค้า-แม่ค้าแถวนั้นมาอย่างยาวนาน แต่ละร้านก็มีสูตรเด็ดที่แตกต่างกัน ลูกค้าเลือกได้ตามใจ ทำเลขายกล้วยทอดแถวนั้นที่เต็มไปด้วยรถวิ่งผ่านตลอดเวลา ผู้ค้าจึงเดินเร่ขายกันหลายเจ้า
แต่ด้วยการคุ้มเข้ม ห้ามขายบริเวณถนน ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงได้ลงพื้นที่สำรวจร้านกล้วยทอดบริเวณถนนนางเลิ้ง พบว่ามีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเทศกิจ มาเฝ้าหน้าร้านขายกล้วย และบริเวณรอบๆ จำนวนหลายนาย จึงไม่มีใครกล้าลงมาเดินเร่ขายกล้วยให้ลูกค้า
แม่ค้าขายกล้วยย่านนางเลิ้ง บอกกับทางทีมข่าวเกี่ยวกับการห้ามเดินเร่ขายกล้วยบริเวณถนนสาธารณะว่าเดือนร้อนอย่างมาก อยากให้เจ้าหน้าที่ลดความเข้มงวดลงบ้าง
“เทศกิจมาคอยเฝ้า เขาไม่ให้ลงไปขายบนถนน ไม่ใช่เดือดร้อนแค่เจ้าของร้านนะ ลูกน้องก็เดือดร้อนด้วย”
“ขายไม่ได้เนี่ย จะขายได้ยังไง เพราะนักข่าวทำให้เกิดเรื่อง ไปลงข่าวว่าให้ส่วยเจ้าหน้าที่ ทำให้ขายไม่ได้ กล้วยเหลือเต็มร้าน”
ปัญหายาวนานหลายปี การขายกล้วยถึงแม้จะเป็นอาชีพสุจริต ต้นทุนไม่มาก รายได้ดี แต่หากมีการเดินขายบนถนน ก็เสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ และยังกีดขวางการจราจร สร้างผลกระทบต่อคนส่วนรวม ก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายบนถนน ซึ่งจะมีโทษผู้ซื้อปรับไม่เกิน 500 บาท ผู้ขายปรับไม่เกิน 2,000 บาท
[เจ้าหน้าที่ยังคงคุมเข้ม จึงไม่มีร้านใด กล้าหิ้วถุงกล้วยทอดลงไปขายกลางถนนเหมือนสมัยก่อน]
สำหรับการจับกุมผู้เดินเร่ขาย พ.ต.อ.กัมปนาท บอกว่า ช่วงเดือน ต.ค. 60 กวดขันจับกุมได้ 9 ราย, ช่วงเดือน พ.ย. 60 กวดขันจับกุมได้ 10 ราย, ช่วงเดือน ธ.ค. 60 กวดขันจับกุมได้ 11 ราย, ช่วงเดือน ม.ค. 61 กวดขันจับกุมได้ 9 ราย และตั้งแต่วันที่ 1 - 14 ก.พ.61 กวดขันจับกุมได้ 3 ราย
ส่งผลให้บรรยากาศบริเวณร้านขายกล้วยเงียบเหงาอย่างมาก ไม่คึกคักเหมือนตอนเดินเร่ขาย บางร้านก็ต้อง “ปิดเงียบ” ไปก่อน เพราะกำไรหด ไม่คุ้มกับค่าน้ำมัน ค่าทอดกล้วย “หยุดขายดีกว่า” เทศกิจมาคอยเฝ้าอยู่ตลอดเวลา
ทางด้านร้านกล้วยทอด “เอี๊ยมสีชมพู” ที่ก่อนหน้านี้ขายได้ดีนับร้อยหวี หลังจากเทศกิจมาคอยเฝ้าหน้าร้าน ยอดขายก็น้อยลง กล้วยที่เริ่มสุกงอม ทอดไม่ทัน ต้องเอาออกมาแจกฟรีบริเวณหน้าร้าน ในแต่ละวันต้องลดจำนวนการทอดกล้วยลง เพราะกลัวขายไม่หมด
["ร้านเอี๊ยมขาว" ยังเปิดขายตามปกติ แต่ยอดกลับตกลงอย่างมาก]
ตอนนี้ร้านกล้วยทอดนางเลิ้งสร้างรายได้กำลังได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากการห้ามซื้อ-ขาย แม้ว่าจะมีการจับกุมอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มีการเดินเร่ขายให้ได้เห็นเป็นประจำ แม้ว่าเทศกิจมาคอยเฝ้าทุกวัน ผลที่ได้ขณะนี้จึงกลายเป็นแม่ค้าต่างพากันปิดร้านหนี
คงต้องติดตามกันต่อไปว่าการเข้ามาคุ้มเข้มของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้นานแค่ไหน และหากวันไหนไม่มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล้ว แม่ค้าเหล่านี้จะกลับมาดำเนินธุรกิจขายกล้วยทอดอีกหรือไม่? และถ้าเป็นเช่นนั้น สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็เท่ากับ "การอวสานปลอมๆ" ดีๆ นี่เอง...
["กล้วยทอดนางเลิ้ง" จะอวสานจริง หรือแค่หยุด ให้ชะล่าใจ? ต้องรอติดตามผลการควบคุมในระยะยาว]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพเดินขายกล้วยทอดในอดีต: luerat, posttoday