“ตำรวจ - ครู - จิตอาสา - เกษตรกร” เปิดเรื่องราว “ดาบเลิศ” ตำรวจผู้อุทิศใจให้วิชาชีพ อุทิศกายเพื่องานส่วนรวม จนกลายเป็นที่รักของประชาชนและผู้บังคับบัญชา ทั้งยังได้รางวัลการันตีความสามารถอีกมาก สมกับที่ได้ชื่อ “ตำรวจน้ำดีแห่งเมืองโคราช”
สวมบทบาท “ตำรวจ - ครูแดร์”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพลักษณ์ทั่วไปของตำรวจไทย บางครั้งก็ไม่ได้ดีนัก เพราะตำรวจบางคนไม่ทำหน้าที่ให้สมกับเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ขณะที่ตำรวจบางคนแทนที่จะทำหน้าที่จับผู้ร้าย กลับกลายมาทำตัวเป็นโจรเสียเอง
แต่สำหรับ “ดาบเลิศ - ดาบตำรวจ บุญเลิศ กองโคกสูง” อายุ 48 ปี ผบ.หมู่งานป้องกันปราบปราม ปฏิบัติหน้าที่สายตรวจจราจร สถานีตำรวจภูธรโนนไทย จ.นครราชสีมา เพราะเขาไม่เพียงเป็นตำรวจที่ทำงานตามหน้าที่เป็นอย่างดี แต่เขายังรักประชาชนดุจญาติมิตร ช่วยเหลือทุกคนด้วยใจ เขาจึงเป็นที่รักของประชาชนอย่างมาก
“ผมเป็นลูกชาวไร่ชาวนาครับ พอเรียนจบ ม.6 ก็เริ่มไปสอบตำรวจ แต่สอบไม่ได้ สอบ 3 ครั้งกว่าจะได้ ก่อนจะมาสอบตำรวจได้เริ่มจากสอบเข้าทหารเรือแต่ติดสำรอง สอบทหารบกก็ไม่ติด จึงเบนเข็มไปสอบตำรวจ ก็เข้ามารับราชการตำรวจ ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 3 จอหอครับ จริงๆ แล้ว ไม่ได้ใฝ่ฝันว่าจะเป็นตำรวจ แค่อยากมีอาชีพที่มั่นคงคือรับราชการ และเป็นตำรวจมา 23 ปีแล้ว
จริงๆ แล้ว ไม่มีใครอยากจะมาโรงพัก ไม่อยากมีใครต้องมามีเรื่อง มีอุบัติเหตุ ฉะนั้นหลักของตำรวจที่ผลคิดนะครับ คือว่า ทำยังไงก็ได้ ในเมื่อเขาเดือดร้อนมา เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา หมายความว่า เขาเดือดร้อนมาก็ซักถาม หรืออำนวยความสะดวก หรือให้คำแนะนำนะครับ คือตำรวจจริงๆ แล้ว เป็นคนคอยแก้ปัญหา คอยช่วยเหลือ คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนนะครับ นั่นล่ะครับคือหลักพื้นฐานที่ผมคิดว่า
อย่างบางที่เป็นจุดเสี่ยงไหม เป็นธนาคาร ร้านทอง จุดต่างๆ ที่เราควรจะเข้าไปดู ไปแนะนำอะไรได้ก็ทำ นั่นคือหลักพื้นฐานที่เรามองได้ทุกทิศทางว่า ตรงนี้เราสังเกตแล้วว่าน่าจะปรับปรุงอะไร เราก็ไปพูด ไปสื่อบอกเขา นั่นหลักพื้นฐานที่ผมคิดว่า เราทำตัวเองให้ได้กับทุกคน ทุกอาชีพ เราก็จะมองเห็นงานอยู่ตลอด”
นอกจากดาบเลิศจะรับผิดชอบสายงานจราจร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 6.00 น. เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนและคนเดินเท้าแล้ว เขายังเป็นตำรวจในโครงการ “ครูแดร์” หรือ D.A.R.E. (Drug Abuse Resistance Education) เป็นโครงการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย ที่นำแนวคิดมาจากตำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทำหน้าที่อบรมนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ห่างไกลยาเสพติด นอกจากนี้ยังให้ความรู้ด้านอื่นๆ ทั้งความรู้ด้านกฎหมาย , การใช้รถใช้ถนน และการแก้ปัญหาเด็กแว้น แก่นักเรียน ครู และผู้ปกครองด้วย
“คือตรงนี้ผมมองว่า โรงเรียนเป็นหน้าที่ของครูใช่ไหมครับ อย่างตำรวจเราปฏิบัติหน้าที่งานจราจรวางแผนยังไงกับเด็กอนุบาล เด็กประถม เด็กมัธยม คือมองภาพว่า ถ้าเราคุยกับเด็กเหล่านี้เข้าใจว่าสังคมข้างนอก มีตำรวจ มีกฎหมายจราจรมาเกี่ยวข้อง เรื่องของความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ผมก็เลยต้องวางแผนว่า วันนี้ว่างโรงเรียนนี้นะ โซนนี้กลุ่มนี้ ไปคุย ไปให้ความรู้เขา ประถมเป็นเรื่องง่ายๆ ฝึกให้เด็กรู้เรื่องจักรยาน เรื่องเดิน เรื่องโดยสารรถ
ส่วนมัธยมก็คุยอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะหนักกว่าประถมขึ้นมาหน่อยก็อาจจะเป็นเรื่องจราจร เรื่องสิ่งเสพติด คอยบอกเขา อย่าไปยุ่งเกี่ยวนะครับ ไปยกตัวอย่างให้เขาฟัง ก็แบ่งไป อาทิตย์นี้โรงเรียนนี้นะ อาทิตย์หลังก็โรงเรียนนี้ หมุนไปเรื่อยๆ จังหวะที่ผมไม่ได้อยู่เวรหลักคือเวรหน้าโรงเรียน ก็จะมานั่งคิด ก่อน 8 โมงเช้า เด็กยืนหน้าเสาธง เราก็ไปให้ความรู้เด็กได้”
ไม่เฉพาะเรื่องยาเสพติด หรือเรื่องข้อกฎหมายในการใช้รถใช้ถนน ที่ดาบเลิศนำมาถ่ายทอดให้เด็กๆ ฟังเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงเรื่องที่เข้ากับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ด้วย
สวมบทบาท “ครูแดร์” ให้ความรู้แก่นักเรียน
“หัวข้อจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ อย่างเช่นว่าเห็นสื่อเด็ก อาจจะต่างอำเภอหรือต่างหมู่บ้านน้ำท่วม เด็กจมน้ำ เราก็ด้วยความเป็นห่วง เห็นสื่ออื่นนำเสนอมา เด็กจมน้ำ 3 - 4 คนเลย โดยไม่มีผู้ใหญ่ไป นึกในใจ ร้อนแล้ว ก็เอาสื่อที่เราเห็น ช่วงนี้น้ำเยอะนะลูกนะ ก็ระวังตัว อย่าไปเล่นน้ำ ไปไหนก็ให้ผู้ปกครองไปด้วย อย่างนี้ครับ ก็ใช้วิธีตามสถานการณ์
หรือโซนโรงเรียนด่านจาก เด็กมีรถล้ม เกิดอุบัติเหตุ ก็ไปกลุ่มตรงนั้น เอาเรื่องอุบัติเหตุไปพูด ก็แล้วแต่มุมมองที่เรามองเห็นตามพื้นที่รับผิดชอบ ว่าตรงนั้นมันมีเหตุการณ์อะไรที่น่าเป็นห่วงนะครับ บางคนรถล้ม ไม่สวมหมวกกันน็อก หรือมีเคสตัวอย่าง เมาแล้วขับ เราก็จะมาดูว่าที่โลกปัจจุบันเขาเป็นอยู่ เราก็ไปบอกเขาให้ระวัง ให้มีความพร้อม ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นทางบวก ให้ดีขึ้นอย่างนี้ครับ”
แก้ปัญหา...ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้แข็ง
สำหรับวิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหาสังคมของดาบบุญเลิศ จะใช้วิธีละมุนละม่อม ซึ่งอาจจะไม่เหมือนตำรวจบางคนที่นิยมใช้ไม้แข็งในการแก้ปัญหา เพราะเขารู้ว่าบางครั้งการแก้ปัญหาด้วยการลงโทษอย่างเดียว ผลที่ได้จะออกมาในทางตรงกันข้าม เช่น การแก้ปัญหาเด็กแว้น เป็นต้น
“ผู้ปกครองทุกคนรักทุกคนแหละ บอกให้ทำถูกทุกคน เชื่อได้เลยว่าพ่อแม่ไม่ได้ตามใจ แต่ทีนี้ในระหว่าง มีสื่อที่เป็นตำรวจจราจรยืนอยู่ ก็ขอเบอร์ผู้ปกครองคุยเลย ผู้ปกครองก็บอกว่า ดาบเตือนให้หน่อย ผมก็บอกผมเตือนให้นะวันนี้นะ ผมถ่ายรูปไว้ด้วย รถคันนี้ ทะเบียนนี้ ถ้าวันหลังผมไม่ยอมนะ ผมจับนะ นี่ก็คือสื่อกันไประหว่างผู้ปกครองเด็ก ใช้วิธีนี้บ่อยๆ พอวันหลังเจอเด็ก เขาก็ให้สัญลักษณ์ว่าวันนี้ใส่แล้วนะ ว่าให้ความร่วมมือดีนะ ส่งรอยยิ้มให้กัน
ถ้าเรา
ลงโทษหรือใช้ความรุนแรง ก็จะมีผลอีกอย่างหนึ่ง ไม่อยากเข้าหา อยากหลบหนี อยากขี่รถแรงๆ ไปแล้วเบิ้ลใส่ก็มีครับ พอเราทำอย่างนี้ จะเริ่มจะ 1 เป็น 2 เป็น 3 แล้ว เพื่อนเขามากันหลายๆ คัน เห็นไหมเพื่อนยังเรียบร้อยเลย ทำไมเธอทำไม่ได้ ช่วยกันสิ ให้ความร่วมมือกัน เรื่องเรียนเป็นเรื่องใหญ่ ขอความร่วมมือได้ไหมครับ”
ดาบเลิศไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดี ทั้งในบทบาทของตำรวจและครูแดร์ แต่เขายังเป็นคนมีน้ำใจ เห็นใครเดือดร้อนก็พร้อมช่วยเหลือโดยไม่ต้องรอให้เจ้าตัวร้องขอ
“ที่เราเห็นอยู่บนท้องถนน รถอาจจะสตาร์ทไม่ติด หรือลืมกุญแจไว้ในรถ หรือประสบอุบัติเหตุ หรือขอความช่วยอื่นๆ ที่เห็น เข้าไปแสดงตัวก่อน บางทีเขาอาจจะกำลังโทรศัพท์อยู่ ไม่รู้จะตามช่างที่ไหน เข้าไปถาม แล้วก็ติดต่อช่างให้เขาก็ได้ แล้วเราก็ต้องรู้เบอร์ช่างว่าช่างคนนี้ซ่อมอะไร มีข้อมูลอยู่
เป็นที่รักของคนทุกเพศทุกวัย
ต้องเอาตัวเองเข้าไปช่วย ถึงเราไม่ใช่ความสามารถเฉพาะตรงนั้น เราไม่เก่งเรื่องนั้น เราประสานได้นี่ครับ เราไปเจอเครื่องเสีย เราไม่รู้เรื่องเครื่อง แต่เราหาให้เขาได้ ก็เป็นสิ่งที่เรามีไหวพริบ แล้วก็สร้างให้ตัวเองได้ว่า หาข้อมูลอันนั้นอันนี้ไม่ได้ ก็โทรไปถามข้อมูลที่โรงพัก อะไรต่างๆ แนะนำเส้นทางอะไรก็แล้วแต่มนการบริการจราจร ชั่วโมงเร่งด่วนต่างๆ เราทำได้ นอกเหนือจากงานประจำ”
ความใส่ใจในความเดือดร้อนของคนอื่น แล้วยื่นมือเข้าช่วยเหลือแบบที่ดาบบุญเลิศทำอยู่นั้น คงหาไม่ได้ง่ายๆ ในสังคม ทำให้ผู้สัมภาษณ์สงสัยว่า ดาบเลิศสั่งสมบ่มเพาะความเป็นคนดีของสังคมแบบนี้มาจากไหน
“ครอบครัวก็มีส่วนครับ อย่างพ่อแม่ก็ฝึกสอนบอกกล่าวในทางที่ดี คือพฤติกรรมวัยเด็กของผม ผมจะเป็นเด็กที่เรียบๆ ทำกับข้าวเก่ง สมัยเด็กๆ ชอบช่วยแม่ทำกับข้าว พอโตขึ้นมามุมมองเป็นคนที่มองอะไรแบบกลางๆ ถูกต้อง เพียงแต่ว่าเราก็มีฝึกตัวเองในมุมมองของสังคมที่มีความต้องการ
ดังนั้นการฝึกตัวเอง ผมมองว่าเราโตแล้ว เราฝึกได้ว่าเราจะมองวิธีการทำงานยังไง วางฐานความคิด วางวิธีปฏิบัติให้ตัวเองยังไงมากกว่า ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร ถ้าเราไม่วางแผนอะไรเลย มันก็จะเป็นสับเพเหระไปเรื่อย แต่เราเป็นตำรวจต้องมีหน้าที่คลุกคลีกับประชาชนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องมาวางแผนให้ตัวเองว่าเราจะช่วยเหลือชาวบ้านยังไง เราจะฝึกตัวเองจะพูดจะคุยยังไงนะครับ ช่วยเหลือเขานิดๆ หน่อยๆ เขาก็ดีใจแล้วครับ ต้องฝึกในตัวเองให้อยู่กับสังคมได้ ให้ความช่วยเหลือสังคมเท่าที่เราทำได้ครับ”
ไม่เพียงแค่งานในหน้าที่ที่ดาบเลิศได้รับมอบหมาย ทั้งงานจราจรและครูแดร์ อบรมนักเรียนให้ห่างไกลยาเสพติด ก็ถือเป็นคุณูปการต่อสังคมแล้ว แต่เขายังไงมีงานจิตอาสาทั้งแบบส่วนตัวและแบบกลุ่ม ช่วยเหลือผู้ยากไร้อีกด้วย
“ส่วนตัวก็มีบ้าง ถ้าเราไปเห็นเราก็ตัดสินใจทำได้เลย อย่างเช่นการให้ทุนการศึกษาเด็ก บางทีแบบเห็นเด็กแต่งตัวเสื้อผ้าเก่าๆ ก็จะประสานไปทางโรงเรียนว่าผมจะให้ทุน โรงเรียนละ 500 - 1,000 บาทต่อเด็ก 1 คน คือไม่ได้เยอะครับ
ถ้าในภาพรวมก็คือเกาะกลุ่มกัน อย่างเช่นว่าไปเจอเด็กที่ไม่มีจักรยานไปโรงเรียน ก็สมทบทุนกัน หรือไปเจอครอบครัวที่เขาเดือดร้อน หรือมีคนป่วยนอนติดเตียง ก็ซื้อของไปให้ ไปก็ไปเป็นกลุ่ม เราฝึกทีให้มีความสามัคคี เพราะว่าถ้าพูดถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณทีมกู้ชีพกู้ภัยของโนนไทย ทุกวันนี้มีเร่งด่วนปุ๊บประสานเลย เขามีส่วนร่วมกับงานราชการอย่างมาก”
ปรับวิธีคิด เพิ่มความสุขในอาชีพ
ปัจจุบันนอกเหนือจากอาชีพรับราชการเป็นตำรวจแล้ว ดาบเลิศมีอาชีพเสริมหลายอย่าง เพื่อวางรากฐานให้ครอบครัวในอนาคต ได้แก่ ทำสถานตรวจรถ หรือ ตรอ. ร้านคาร์แคร์ ร้านขายแอร์บ้าน รวมถึงทำการเกษตรทำนาและเลี้ยงวัวเลี้ยงแพะ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙
“คือวางพื้นฐานไว้ว่า ถ้าเราเกษียณแล้ว หรือเราต้องออกจากราชการ อยากอยู่อย่างเงียบๆ ก็เลยวางฐานด้านการเกษตรไว้นะครับ ตรงนี้ต้องวางแผนการทำงานครับ เช่นที่ ตรอ. ก็จะให้ลูกชายดูแล อย่างเลี้ยงแพะก็ให้ลูกน้องมีส่วนร่วม เราต้องวางจุดแต่ละคน ใครเก่งเรื่องอะไรก็แบ่งกำลัง
ส่วนทุนที่ใช้ขยายกิจการ ตำรวจกู้ได้ครับ(หัวเราะ) มีสหกรณ์ตำรวจครับ ร้านแอร์ก็กู้ธนาคารออมสินครับ การกู้ของผมก็คือ เราเอามาลงทุนแล้วจะมีกำไร บริหารคน บริหารวิธีการทำงาน ไม่ใช่กู้แล้วเอาไปใช้ในทางที่ผิด มันก็จะสูญเปล่า ถึงกำไรจะไม่เยอะก็ได้ส่งใช้หนี้ เหลือกำไรก็ได้ขยายอันนู้นนิด อันนี้หน่อย เพราะฉะนั้นตำรวจถึงจะเงินเดือนไม่เยอะ แต่ก็มีสวัสดิการเรื่องของสหกรณ์ตำรวจได้กู้แล้วเอามาลงทุน”
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทุกวันนี้ ดาบเลิศเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย ตำรวจชั้นประทวนไม่ใช่สัญญาบัตร ทำไมดาบเลิศจึงไม่สอบเทียบเพื่อเลื่อนชั้นยศ เพื่อที่จะได้มีอนาคตที่สดใสกว่านี้
เป็นเกษตรกร หารายได้เสริม
“พอดีปรึกษาครอบครัวว่าไม่อยากให้ย้ายไปไหน อยากให้ทำงานแบบพอกินพอใช้ มีความสุข ก็เลยไม่ได้สอบเลยครับ แต่ก็อาศัยให้ตัวเองอยู่ได้ มีอาชีพเสริมมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอยู่ได้ เลยไม่คิดไปตรงนั้น กลับมาปรับวิธีการงาน ฝึกลูกให้ทำงาน ดูแลลูกน้อง ดูแลทีมงาน ก็อยู่ได้ครับ เลยไม่ได้คิดที่อยากจะเป็นนายตำรวจ”
เมื่อถามถึงความภูมิใจและเป้าหมาย ตลอด 23 ปี ของดาบเลิศที่ยึดอาชีพตำรวจมา ดาบเลิศตอบว่า รางวัลที่ได้รับและเสียงสะท้อนจากคนที่ตนเองได้ร่วมงานด้วย ก็ถือว่าเป็นความภูมิใจที่สุดของตนเองแล้ว
“ก็มีผู้บังคับบัญชาเห็นในเรื่องของผลงาน การปฏิบัติ อย่างเช่น ได้ระดับจราจรดีเด่นของโรงพัก ของภาค ของจังหวัดครับ แล้วก็มีตำรวจดีศรีเมืองย่า แล้วก็เขียนเรียงความประกวด ก็ได้ระดับประเทศ ในหัวข้อเป็นตำรวจดีที่ประชาชนต้องการ ก็ได้รับใบประกาศฯ ในหลายโครงการที่เราทำแล้วมีใบประกาศฯ รับรอง ก็ประมาณนั้นครับความภูมิใจ แต่ที่ภูมิใจที่สุดคืออยู่ตรงนี้ได้อย่างมีความสุข มีคนรู้จัก ปรึกษาหารือ มีอะไรจะฟังเสียงสะท้อนดู
รางวัลการันตีความสามารถ
ผมทำอาชีพเสริมด้วย ผมมองว่าเราอยู่ในอาชีพตำรวจได้อย่างดี และอาชีพเสริมที่เราทำประกอบกันไป คือเราได้อยู่ในพื้นที่แบบสบายใจ มีความสุข ไม่กระทบกระทั่ง ถ้ากระทบต่อประชาชนหรือสังคมเมื่อไหร่ อันนั้นเป็นบทหนักที่เราต้องเสียใจ ไม่อยากให้เกิดแบบนั้น วันนี้เราต้องรักษาระดับการทำงาน ถึงจะช่วยเหลือใครไม่ได้มากมาย แต่ว่าให้คงระดับ หรืออาจจะเผื่อความถี่ให้การดูแล ตรงนั้นอยู่ได้”
สุดท้าย ตำรวจน้ำดีเแห่ง อ.โนนไทย ได้ฝากข้อคิดถึงตำรวจไทยทั่วประเทศ เพื่อป้องกันภาพลักษณ์ตำรวจไทยติดลบ ว่า คนที่จะประกอบอาชีพตำรวจต้องรู้จักปรับทัศนคติของตนเอง ให้เข้ากับงานบริการและช่วยเหลือประชาชน
“ปรับทัศนคติของตัวเองให้ได้ว่าเราจะต้องพบปะประชาชนนะครับ บอกตัวเองให้ได้ว่าเราต้องอยู่ในเรื่องของการบริการ การช่วยเหลือ เราจะต้องทำงานผิดเวลาบ้าง ต้องเหนื่อยกว่าเขาบ้าง เทศกาลไม่ได้หยุดหรอกครับ ต้องบอกตัวเอง บอกครอบครัวให้ได้ว่างานมันเป็นอย่างนี้นะ แต่อาชีพมันไม่ได้ได้มาง่ายๆ
เพราะฉะนั้นในภาพลักษณ์ของตำรวจบางนายที่เสียไป ก็อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวเขา แต่ถ้าว่าถ้าเราคิดในเรื่องภาพรวมขององค์กรแล้ว ถ้าเราช่วยองค์กรตำรวจให้มีการพัฒนาหรือว่ามีการปรับมุมมองให้ดีขึ้น ผมว่าถ้าทุกคนปรับ ทุกคนเอาใจเขามาใส่ใจเราให้ได้ องค์กรก็จะน่าอยู่
ที่ปฏิบัติทุกวันก็ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ตัวเราเองก็ปรับวิธีคิดให้เข้ากับคนหมู่มากให้ได้ เพราะถ้าถามว่า ตัวเองเหนื่อยไหม มีเวลาไหม ทุกเวลาที่ทำมันจะสนุกไปในตัว ผมไปสอนเด็กผมก็จะหัวเราะ ไปมีความสุขกับกิจกรรม เวลามันก็จะผ่านไป คือความสุขที่เกิดขึ้นกับเรา ได้มิตรสัมพันธ์ ได้ความไว้เนื้อเชื่อใจ”
23 ปีที่อยู่วงการตำรวจมา ดาบเลิศบอกว่า ความสุขอยู่ที่ได้ทำงานกับประชาชน ได้อยู่กับพี่น้องที่คอยให้การช่วยเหลือหรือมาปรึกษาปัญหา สิ่งเหล่านี้ทำให้ตำรวจชั้นประทวนอย่างตนเองทำงานได้สนุกแล้ว ก็รู้สึกดีใจที่เมืองไทยมีตำรวจน้ำดีอย่างดาบบุญเลิศ ที่ไม่เพียงทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้เกินร้อย แต่ยังเป็นตำรวจหัวใจงาม เปี่ยมด้วยความเมตตา ใส่ใจความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนราวกับญาติมิตรลูกหลานของตนเอง เชื่อเหลือเกินว่าดาบเลิศจะเป็นตำรวจในดวงใจของชาวโนนไทยตลอดไป...
ติดตามรับชมรายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ” ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1
สัมภาษณ์โดย รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียงโดย ผู้จัดการ Live