xs
xsm
sm
md
lg

“ต้องเป็นคนผิดปกติ ถึงจะกล้าทำ!!” ล่าสัตว์ยุคอนุรักษ์ “เสือดำ” ใน “พื้นที่มรดกโลก” [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ถ้าเราเหลือเสือสัก 80-100 ตัวในป่า ล่ามา 1 ตัว ก็เกิน 1 เปอร์เซ็นต์แล้วนะ” อ.ศศิน ช่วยสะท้อนภาพ กรณี “นายใหญ่อิตาเลียนไทย” แอบอ้างยศใหญ่-บุกล่าสัตว์ป่าคุ้มครองใน “ทุ่งใหญ่นเรศวร” ขณะที่สถิติชี้ ขณะนี้นับรวมจำนวน เสือดำ-เสือดาว ได้ 100-130 ตัวเท่านั้น สะท้อนบทเรียนใหญ่ “แขกวีไอพี” เตือนกรมอุทยานฯ คิดให้ดีก่อนฝากฝังใคร เพราะที่นี่ไม่ใช่แค่อุทยานฯ แต่เป็น “เขตอนุรักษ์พันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แถมยังเป็น “พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย" อีกด้วย



 

ถ้าไม่เคยล่า รับรองไม่กล้าทำ!!

[จับได้คาหนังคาเขา พร้อมอาวุธครบมือ แต่ล่าสุดปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา]
"มันก็เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของการทำลายธรรมชาติ ก็คือคนข้างในนั่นแหละ ก็คือคนของกรมอุทยานฯ เอง ที่จะเลือกคบหากับใคร จะคัดกรองใคร หรือจะอ้างในการที่จะฝากฝังใครเข้ามา นั่นแหละคือเรื่องใหญ่
 
ส่วนเรื่องที่จะมีภัยจากข้างนอกเข้ามา มันทำอะไรป่ากรมอุทยานฯ ไม่ได้หรอก เพราะว่ามีหน่วยพิทักษ์ป่า มีคนดูแล ก็ต้องเป็นบทเรียนว่า กรมอุทยานฯ เอง จะให้ใครเข้ามา ทำอะไรในพื้นที่ที่จะส่งผลเสียหาย อันนี้ต้องเป็นบทเรียนใหญ่ที่ต้องคัดกรอง


[อ.ศศิน เฉลิมลาภ พูดในฐานะนักอนุรักษ์ และประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร]
อ.ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์กับสื่อผู้จัดการเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา หลังเกิดคดีอุกอาจ เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) อ้างตัวเป็นแขกวีไอพี เอ่ยชื่อผู้อำนวยการสำนักสำนักหนึ่งจนได้อนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร” ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อแอบนำอาวุธครบมือเข้าไปล่า “เสือดำ, เก้ง และไก่ฟ้าหลังเทา” กระทั่งโดนเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ และกลายเป็นข่าวครึกโครมในภายหลัง

เมื่อย้อนเวลากลับไป จะพบว่าการแอบอ้างแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ วันที่ 29 เม.ย.16 ที่เหล่าทหาร-ตำรวจ อ้าง “ราชการลับ” เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อล่าฝูงกระทิง กระทั่งกลายเป็นเรื่องแดงขึ้นมา หลังเฮลิคอปเตอร์ขากลับของคณะล่าครั้งนั้นตก ส่งให้พบทั้งศพ “นักล่าผู้เสียชีวิต” และซากสัตว์ป่าจำนวนมากที่ตายสังเวยความโหดเกลื่อนป่าเดียวกัน

[ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ปี 16 รุกพื้นที่ ฆ่าสัตว์ป่าสงวน]

แต่เมื่อเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน มาเกิดในยุคสมัยนี้อีกครั้ง ในสายตาของนักอนุรักษ์อย่างอาจารย์ศศิน จึงมองว่าเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” และคงหลงเหลือแต่คนรุ่น 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น ที่ยังคงอยากโชว์ความกล้าด้วยการรังแกสัตว์แบบนี้

คนที่อายุเท่านั้น เขายังมีความสุขกับการได้ไปล่า มีความสุขกับการมีหนังเสือมาครอบครอง เพื่อแสดงว่าตัวเองมีความกล้าที่จะไปเผชิญกับชีวิต outdoor ต้องทำกิจกรรมที่ใช้ร่างกาย ใช้จิตใจไปปะทะกับความลำบาก แล้วก็หาสัตว์ร้ายมาเป็นคู่ประลอง ต้องเป็นคนรุ่นนู้นแหละครับที่คิดแบบนี้ เพราะค่านิยมแบบนี้ตอนนี้ก็แทบจะไม่มีแล้ว ผมถึงบอกว่าต้องเป็นคนกรณีผิดปกติเท่านั้น ถึงจะกล้าทำ”


[อาวุธครบมือ]

[ซากสัตว์จากฝีมือ ซีอีโอชื่อดัง]

จากปกติ นักล่าผู้ลักลอบฆ่าสัตว์ป่าในบริเวณ มักจะเป็น “พรานเวียดนาม” ที่ได้รับใบสั่งมาให้ล่า เพื่อนำไปขาย จึงจะกล้าเข้ามา ก็เพิ่งมีกรณีนี้ที่พิศดาร อ้างว่าเป็นแขกวีไอพี “พฤติกรรมแบบนี้ ทั้งไม่เกรงกลัวกฎหมาย และไม่เกรงใจคนที่ตัวเองขออนุญาต หรือแนะนำเข้ามากันบ้างเลย ไอ้ไม่เกรงกลัวกฎหมายก็ชัดอยู่แล้ว แต่ไอ้ไม่เกรงใจเนี่ย นานๆ จะเจอคนแบบนี้สักที"

อย่างที่ทุ่งใหญ่ฯ ใครๆ ก็รู้ว่า คุณสืบ นาคะเสถียร เขียนรายงานเสนอเป็นมรดกโลกเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว มันมีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น เป็นป่าใหญ่ที่สุด ดีที่สุดใน South-East Asia มีการดูแล แล้วไปล่าที่ไม่ไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่า อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้เลย


จุดที่เกิดขึ้น เป็นจุดนอกการอนุญาต ผมไม่ทราบเหตุการณ์ว่าเขาไปได้ยังไง แต่ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตหรอกครับ ตอนกลางวันเขาอาจจะขับรถออกไปเที่ยวรอบๆ หน่วย ซึ่งก็อนุญาตกันได้ แต่อาจจะไปแล้วไม่กลับมา ไปกางเต็นท์เลยแบบนี้ แต่เรื่องที่ดีก็คือ พอเจ้าหน้าที่เขาตรวจว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หายไป ก็ไปตาม แล้วก็ไปพบการกระทำผิด พบซากสัตว์ป่าซ่อนไว้ และกระสุนซ่อนไว้เยอะมาก กรณีนี้ต้องเป็นคนที่เคยล่า ไม่งั้นเขาก็ทำไม่ได้



อย่าเกรงกลัวอิทธิพล!! เตือนสร้างบรรทัดฐานการอนุรักษ์

ดร.กาญจนา นิตยะ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุถึงจำนวน “เสือดำ” สัตว์ป่าหายากเอาไว้ในงานแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่เกิดเหตุว่า ขณะนี้พื้นที่ในป่าตะวันตก (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร) เหลือเสือดำและเสือดาว นับรวมกันเพียง 100-130 ตัวเท่านั้น ส่วนเสือโคร่งเหลืออยู่ 100 ตัว บนพื้นที่ที่กว้างใหญ่เกือบ 2 ล้านไร่

[ดร.กาญจนา นิตยะ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ]


จากจำนวนสัตว์หายากที่เหลืออยู่ดังกล่าว เมื่อมาเทียบกับทัศนะของนักอนุรักษ์บนพื้นที่นี้มาอย่างยาวนาน อย่างอาจารย์ศศินแล้ว บอกเลยว่าเป็นจำนวนที่น่าใจหายอยู่เหมือนกัน ดังนั้น การถูกฆ่าไปแม้เพียงตัวเดียว จึงถือเป็นจำนวนที่มากแล้ว สำหรับส่วนที่เหลืออยู่

“สมมติกรณีการล่าสัตว์ เป็นชาวบ้านสักคนเข้าไปหาของป่า ยิงเก้งสักตัวออกมากิน แล้วต้องติดคุก 3 ปี ปรับ 3 แสน ความรู้สึกของคนในหมู่บ้านก็แบบหนึ่ง แต่ถ้าสมมติ เราเหลือเสือสัก 80-100 ตัวในป่า แล้วมีพรานเข้ามาล่ามา ล่ามา 1 ตัวก็เกิน 1 เปอร์เซ็นต์แล้วนะ ซึ่งโทษมันคือปรับแค่ 2 แสน ถ้าเอาไปชำแหละขาย ตัวนึงขายได้ 1 ล้านบาท มันก็คุ้มถ้ารอดออกไป หรือแม้จะโดนจับก็ยังคุ้มอยู่ดี (ในสายตาคนล่า)”

[เจ้าหน้าที่เข้าตรวจทุกซอกทุกมุม หลังทราบว่าลอบฆ่าสัตว์ป่า]

ยิ่งป่ามีความสมบูรณ์มากเท่าไหร่ ยิ่งดึงดูด-ล่อตาล่อใจนักล่า... อาจารย์ศศินเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้แบบนั้น ในรายการ “ฅนค้นคน” ในสารคดี “ผู้พิทักษ์แห่งทุ่งใหญ่ ผู้ปกป้องหัวใจผืนป่ามรดกโลก” ซึ่งลงพื้นที่สำรวจความอุดมสมบูรณ์ของ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร”

ป่าที่มันมีเสือ จะสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ เพราะเสือตัวนึงมันจะกินกวางหรือกระทิง ปีละประมาณ 80 ตัว ดังนั้น การมีเสือ 1 ตัว แสดงว่าจะมีสัตว์ที่เป็นเหยื่ออีกหลายตัว จะมีสัตว์กีบอยู่มากเท่านั้น และการที่มีสัตว์กีบอยู่ เป็นพัน เป็นหมื่นตัว แสดงว่าความอุดมสมบูรณ์ของพืชต้องมากพอ เพราะแต่ละตัวต้องกินพืชหลากหลายทางชีวภาพ

["เสือดำ" สัตว์ป่าหายาก จะอาศัยอยู่ในป่าอุดมสมบูรณ์เท่านั้น]

[ซาก "เสือดำ"]

ดังนั้น การที่จะดูว่าป่านั้นสมบูรณ์ไหม ก็ต้องดูที่สัตว์ป่า ซึ่งเป็นตัวที่บ่งชี้ว่าป่านี้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเขาก็จะดู "เสือ" ซึ่งเป็นตัวสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร เขาหาเสือกันทั้งประเทศไทย หาไม่ได้ แต่เราเข้ามาในนี้แค่ 5 นาที เราก็เจอเสือแล้ว

และพอเรามีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เรื่องสถิติสัตว์ป่า เราก็สามารถบอกโลกได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เรามีศักดิ์ศรี คือเรารักษาแหล่งพันธุกรรมระดับโลกเอาไว้

และการที่พื้นที่แห่งนี้ได้เป็นมรดกโลก ก็สะท้อนว่าเรามีทรัพยากรมากกว่าที่อื่น และเหมือนเป็นการบังคับตัวเอง เป็นพันธะสัญญาต่อโลกว่า เมื่อเรามีของดีระดับโลก ประเทศไทยจะรักษาไว้ให้คุณ ให้คนทั่วโลก และเมื่อไปสัญญาเอาไว้แล้ว ถ้าเราไม่รักษาสัญญา เขาก็จะถอดเราออกจากมรดกโลก ในฐานะศักดิ์ศรีของชาติ เราก็ต้องช่วยกันกระตุ้นเรื่องนี้


อย่างไรก็ตาม จากการเกิดกรณีฆ่าสัตว์อย่างอุกอาจของระดับผู้บริหารใหญ่เช่นนี้ แม้จะทำให้กระทบต่อภาพหน่วยงานที่สอดส่องดูแลและอนุญาตให้เข้าไป แต่โดยรวมแล้วอาจารย์ก็ยังมองเห็นถึง “ความซื่อสัตย์” ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อยู่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมควรยกย่องชื่นชม

“ถึงยังไง เราก็ควรจะภูมิใจที่เรามีเจ้าหน้าที่ ที่กล้าจะดำเนินการ พอนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ (เปรมชัย และคณะ) หายไปจากพื้นที่ เขาก็ไปตรวจตราดูแล เสร็จแล้วก็ยังกล้าดำเนินการ แม้รู้ว่าเป็นแขกของผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่ถ้าจะเคลียร์ซะ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพราะมันอยู่ในป่า ไม่มีกล้องวงจรปิดเหมือนในเมืองหรอกครับ เพราะฉะนั้น ผมจึงชื่นชมคุณหัวหน้าวิเชียรนะ (วิเชียร ชินวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก)


จากกรณีนี้ นอกจากเรื่องของการสงสารสัตว์ป่า เสือดำที่โดนทำร้ายแล้ว ผมยังมองว่าเป็นเคสที่ดีนะ คือเรามีเจ้าหน้าที่ที่ดูแล, สาธารณชนให้ความสนใจ และยังสะท้อนให้เห็นว่ามันก็ยังมีสัตว์ป่า แค่ออกไปนิดเดียวก็ยังมีเสือดำออกมา ก็แสดงว่าป่าที่เรารักษาไว้อย่างอุดมสมบูรณ์

เรื่องระบบนิเวศน์ไม่สะเทือน แต่เรื่องการอนุรักษ์ เขาอนุรักษ์กันมาตั้งนานแล้ว แล้วยังมีคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ และเคสแบบนี้ก็ไม่ได้มีเยอะหรอกครับ ต้องเป็นคนผิดปกติถึงจะกล้าทำ ถ้าคนปกติเขาก็ไม่ทำกันหรอกครับ คนที่เข้ามาล่าสัตว์ในฐานะที่เป็นซีอีโอบริษัทแบบนี้


ที่น่าเป็นห่วงและน่าจับตามองมากกว่า เห็นจะเป็นผลของกระบวนการยุติธรรมต่อไปจากนี้ต่างหาก อย่างที่ อ.ศศิน ได้ลงนามเอาไว้ในฐานะ “ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร” พร้อมคำฝากฝังที่ว่า “ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาล อย่าได้เกรงกลัวต่ออิทธิพลและสถานะทางธุรกิจอันใหญ่โตของผู้ต้องหา ขอให้สืบสวนและดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดเพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อไป”

["อ.ศศิน" ประกาศเจตนารมณ์ในฐานะ "ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร"]









ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "ศศิน เฉลิมลาภ" และ แฟนเพจ "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช"


กำลังโหลดความคิดเห็น