xs
xsm
sm
md
lg

“ผมยอมรับว่าสร้างภาพ” เมศ-เจ้าชายน้อย... มีน้อย-ให้มาก-สร้างภาพ เพื่อ “คนจน” [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ผมยอมรับว่าเป็นคนสร้างภาพเลยล่ะครับ แต่เป็นภาพคนเดือดร้อนนะ เพราะถ้าเราไม่สร้างภาพเหล่านี้ขึ้นมา ประชาชนที่เล่นสื่อออนไลน์ เขาจะรับรู้ไหมว่ามีคนเหล่านี้ กำลังรอความช่วยเหลืออยู่”

นี่ถือถ้อยคำของคนที่ได้รับประทานรางวัลและเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะคนที่ไม่ได้มีพร้อม แต่ยอมสละเพื่อผู้ด้อยโอกาส ยอมใช้ชีวิตแบบไม่มีวันหยุด ทำเพื่อสังคมตลอด 365 วันทั้งปี ยอมแม้กระทั่ง “กู้เงิน” เอามาบริจาคแก่คนยากไร้

 
ใครจะว่าเขาสร้างภาพ-อยากดัง-ทำดีเกินตัวก็ไม่เป็นไร เพราะเขามีความสุขที่ได้ให้ อาจเพราะรู้ซึ้งถึงรสชาติความลำบากดีว่ามันขมขื่นขนาดไหน กว่าจะลุกขึ้นมาสร้างเนื้อสร้างตัว กว่าจะหนีตายจากอาชีพขอทาน-รับเงินโปรยทาน ออกมาได้ และกว่าจะเป็นที่ยอมรับในนาม “เมศ เจ้าชายน้อย” บุคคลตัวอย่าง ผู้มีน้อยแต่ให้มาก เพื่อสังคม!!
 



 

“2 ร่างไร้วิญญาณ” เปิดเส้นทาง “สะพานบุญ”

[อุบัติเหตุในวันนั้น ทำให้กลายเป็นอาสาสมัครในวันนี้]
“ระหว่างที่ผมจะไปทำงาน เผอิญผมได้ไปเจอเข้ากับเคสอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเคสที่ค่อนข้างจะหนักมาก เป็นรถกระบะชนกับรถจักรยานยนต์ มีผู้บาดเจ็บค่อนข้างสาหัสอยู่ 2 ราย
 
วันนั้นผมอยู่คนเดียว เราเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง พอรถชนกัน ร่างของพ่อกับลูกก็กระเด็นกันไปคนละทิศละทาง ลูกสาวเขานอนคว่ำหน้าอยู่ ผมก็เลยวิ่งไปหา แต่น้องเขานิ่งไปเลย เหลือบไปเห็นคุณพ่อเขา ยังขยับตัวอยู่ ผมเลยไปหาคุณพ่อเขาแทน
 
ผมเข้าไปประคองคุณพ่อเขาขึ้นมาไว้บนอกผม แล้วก็ตะโกนเรียกเพื่อให้เขามีสติ บอกว่า "ลุงอย่าเป็นอะไรนะครับ"  โดยที่เราไม่รู้ว่าต้องช่วยยังไงดี ปฐมพยาบาลก็ไม่เป็น ติดต่อใครก็ไม่ได้
 
ผมตะโกนอยู่แบบนั้น จนผ่านไปไม่กี่วินาที ร่างของคุณลุงก็กระตุก แล้วก็นิ่งไปคาอกเราเลย หลังจากนั้นเราก็ได้ทราบว่า ทั้งคุณลุงและลูกของเขา เสียชีวิตทั้งคู่

พอกลับมาถึงที่ทำงาน เรานั่งซึมเลย เราโกรธตัวเองมากว่า ทำไมวินาทีนั้น เราไม่สามารถช่วยหรือยื้อชีวิตเขาเอาไว้ได้ ติดต่อใครก็ไม่ได้ ทำไมเราถึงไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

จากอุบัติเหตุสะเทือนขวัญในครั้งนั้นเอง ที่บันดาลใจให้ผู้ชายธรรมดาคนนึง ตัดสินใจลุกขึ้นมาใช้เวลาหลังเลิกงานไปกับการทำหน้าที่ “อาสาสมัครเคลื่อนที่เร็ว” ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ จนได้เป็นหนึ่งใน "อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู" ใส่เครื่องแบบหน่วยกู้ชีพเขียวขี้ม้า พร้อมตัวอักษรสีเหลือง ปักชื่ออยู่บนหน้าอกข้างซ้ายว่า “ปรเมศร์ มีสมภพ”

"ผมวิ่งช่วยเหลือคนหลังเลิกงาน ประมาณ 4-5 โมง ผมก็เปลี่ยนชุด จาก “ชุดข้าราชการ” ไปเป็น “ชุดอาสาสมัคร” ขับรถจักรยานยนต์ไปช่วยเหลือคนตามท้องถนน พอศูนย์วิทยุแจ้งมา เราก็จะขับรถไป”

ชุดข้าราชการที่ว่า คือเครื่องแบบประจำตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ธุรการ ประจำปลัดบัญชีทหารอากาศ” ที่เมศเรียกมันว่า “งานหลัก” ส่วน “งานรอง” ที่ไม่เคยได้เงินจากมัน แต่ทำไปเพื่อสนองหัวใจทุกวันนี้นั้น ก็คือการลงพื้นที่ บุกไปตามบ้านผู้ยากไร้ ทั้งในตัวเมืองและตามต่างจังหวัด เพื่อเข้าไปมอบโอกาส-จุดแสงสว่างให้พวกเขา นอกเหนือไปจากงานกู้ชีพที่จะช่วยเหลือได้เฉพาะตอนที่เหยื่อประสบเหตุเท่านั้น


โปรแกรม “เยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน” เริ่มจากการที่เมศใช้เงินส่วนตัวช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้นก่อน เว้นแต่ว่าถ้าเคสไหนเหลือบ่ากว่าแรง จนกำลังทรัพย์มีไม่มากพอ เขาก็จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใช้พื้นที่โซเชียลฯ เป็น “สะพานบุญ” ใช้เฟซบุ๊ก “Poramet Misomphop” บอกเล่าเรื่องราวความยากจนข้นแค้นของแต่ละชีวิต ตามปณิธานที่ได้ประกาศเอาไว้ว่า “ร่วมกันเป็นสื่อกลาง สะพานบุญ เพื่อต่อชีวิตและลมหายใจให้คนเหล่านี้มีชีวิตได้ก้าวเดินต่อไป”

“มีบางเคสเคยแจ้งให้เราไปรับคนป่วยตามบ้านด้วย ผมก็เลยรีบขับมอเตอร์ไซค์ไปดู แล้วภาพที่ผมเห็นก็ทำให้ผมรู้สึกหดหู่ บางทีคนป่วยก็ไม่มีญาติพี่น้อง มีแผลเต็มตัว นอนทับของเสียอยู่ในบ้านคนเดียว ไม่ได้กินข้าวมา 4-5 วัน

คือปกติแล้ว หน้าที่ของอาสาสมัคร คือการไปรับตัวผู้ป่วยจากบ้าน ไปที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับ แต่ผมกลับมานั่งคิดดู จากความรู้สึกส่วนตัว ผมรู้สึกว่าการที่เราไปส่งโรงพยาบาล เหมือนกับเราทิ้งผู้ป่วยให้โรงพยาบาล โดยที่ไม่ได้รู้ชะตากรรมเขา


พอคิดแบบนั้น หลังจากนั้น พอมีเคสแจ้งมา หลังจากผมพาเขาส่งโรงพยาบาลแล้ว ผมก็จะเข้าไปช่วยดูแลด้วย ถ้าหากคนป่วยเขาไม่มีเงินในการรักษา ถ้าไม่มากมายนัก ผมก็จะจ่ายค่ารักษาให้ก่อน แต่ถ้าค่ารักษาเกินกำลังเราแล้ว เราก็จะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่สามารถดูแลเรื่องนี้ให้เขาได้


ก็มีคนตั้งคำถามและสงสัยเยอะมากครับว่าผมเอาเงินบริจาคมาจากไหน (ยิ้ม) เพราะเงินเดือนเราก็เท่านี้ แล้วเราจะเอาเงินไหนไปช่วยเหลือค่าบ้าน ค่ารถ ค่าใช้ในชีวิตประจำวันของเขา แต่มันก็เพียงพอนะ แต่บางทีผมก็เป็นเงินส่วนตัวของเรา เงินแฟนเราก็มี หรือบางทีผมก็ไปกู้สหกรณ์ของที่ทำงานมาช่วยเหลือคน

มีคนถามผมอยู่เหมือนกันว่า ทำไมต้องถึงขนาดกู้เงินมาช่วยเหลือคนอื่นเลยเหรอ มันจะเป็นบาปต่อตัวเองไหมเนี่ย ช่วยเหลือคนอื่น แล้วทำให้ตัวเองเดือดร้อน มันเป็นบาปนะ แต่ผมกลับมองว่า เราไม่มี เรายังไปหยิบยืมคนนู้นคนนี้ได้ ผมยังไปกู้เงินที่สหกรณ์มาได้ เดี๋ยวเราก็มีเงินผ่อนเขาได้ แต่คนเหล่านี้ เขาไม่สามารถไปหยิบยืมใครมาได้เลย แล้วเราจะเดินหนีเขาไป เราไม่บาปกว่าเหรอครับ"


 

“เด็กขอทาน-เก็บเงินโปรย” รู้ซึ้งถึง “ความจน”

“ผมกลับมาจากทำงานตอนเย็น ผมไม่ทำอะไรเลยนะ กินข้าวเสร็จปุ๊บ ก็นอนดูมือถือตัวเองว่า ข้อมูลของแต่ละเคสมาจากแหล่งข่าวไหน แหล่งไหนเชื่อถือได้บ้าง มันก็เลยทำให้เรามีเวลาอยู่กับเคส มีการช่วยเหลือ มากกว่าจะใช้เวลาไปเที่ยวที่อื่น

เชื่อไหมว่าผมไม่ได้ไปเที่ยวห้างฯ เลย มีน้อยครั้งมากที่จะไป ทุกเสาร์-อาทิตย์ผมก็ไม่เคยอยู่บ้าน ไม่มีเลย เพราะเราต้องเดินทางไปช่วยเหลือเขาตลอด และส่วนมากก็เป็นเคสต่างจังหวัด ล่าสุดก็ต้องไปถึงระนอง เดินทางไกลหน่อย

คนก็ถามว่าทำไมไม่ซื้อตั๋วเครื่องบินไป ทำไมไม่ขับรถไป ผมคิดอย่างเดียวว่า ค่าตั๋วมันแพง เอาเงินที่ซื้อค่าตั๋วไปช่วยคนดีกว่า แลกกับความสบายของเรา"

สาเหตุที่ทำให้เมศใจดีและเป็นห่วงเป็นใยต่อความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมโลกขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาเคยตกอยู่ในภาวะที่ต้องการ “โอกาส” เหมือนกัน ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ในช่วงเวลาที่เด็กวัยเดียวกันอาจจะไม่ได้สนใจอะไรกับเรื่องราวในชีวิต แต่เด็กชายปรเมศร์กลับมีตัวอย่างจากคนใกล้ตัวที่สุดอย่างคุณแม่ของเขา พยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ต้องมาป่วยด้วยโรคเดียวกันเสียเอง จากเหตุการณ์นั้นจึงสอนให้เขารู้ว่า “กำลังใจ” มีความหมายต่อชีวิตของคนเราขนาดไหน

"เราก็นอนอยู่เตียงเดียวกันกับแม่นี่แหละ จนมาทราบวันนึงตอนคุณแม่เขาทนไม่ไหว ตอนนั้นเรานอนหลับอยู่ ปิดไฟอยู่ในมุ้ง พอถึงกลางดึก เรารู้สึกว่าไฟเปิด เราก็เลยมองผ่านมุ้งไป เราเห็นคุณแม่กำลังเอาเชือกผูกที่ขื่อ เหมือนกับกำลังจะผูกคอตาย (กะพริบตาถี่)


เรามองผ่านลอดมุ้งออกไป ภาพที่เราเห็นตอนนั้นคือคุณแม่ก้าวขึ้นเก้าอี้แล้ว และกำลังเอาเชือกผูกที่คอตัวเอง แต่สักพักเขากลับก้าวลงมาจากเก้าอี้ แล้วก็มานั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวนี้อยู่ประมาณ 2-3 นาที แล้วก็ตัดสินใจขึ้นไปใหม่อีกรอบนึง คราวนี้เรารู้แน่แล้วว่า แม่เขาตัดสินใจแน่แล้ว เราก็เลยตะโกนถามเขาไปว่า 'แม่กำลังทำอะไรอยู่' แม่เขาบอกว่าเขากำลังรีดผ้า แล้วเขาก็ปิดไฟ ขึ้นมานอน

แต่ตอนนั้น เราทราบแล้วว่าแม่ทำอะไรอยู่ เราก็เลยนอนไม่หลับแล้ว เราเลยพูดกับแม่ไปประโยคนึงด้วยความเป็นเด็กว่า 'เวลาเมศเล่นเกม กว่าจะชนะได้ มันเจออุปสรรคมาเยอะเลย แม่ต้องผ่านอุปสรรคไปให้ได้เพื่อชัยชนะของเกมนะ' นั่นแหละครับเป็นประโยคที่ผมพูดกับแม่คืนนั้น"

หลังจากคุณแม่จากโลกนี้ไปด้วยโรคร้าย บ้านที่เคยอยู่ที่พระราม 8 ก็ถูกไล่ที่ ครอบครัวใหญ่ของเมศจึงต้องแยกย้ายกันไปเอาตัวรอด ส่วนเมศได้อยู่กับคุณป้า พี่สาวของคุณพ่อ แต่ด้วยความเป็นเด็ก เมื่อเห็นทุกคนอยู่กันเป็นครอบครัว ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนเกิน

เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมีเงินติดตัวอยู่แค่ 5 บาท ไปนอนหน้าห้างฯ แถวฝั่งธนฯ แห่งนึง
จนที่นั่นกลายเป็นที่ค้างคืนประจำของเขา โดยมีน้ำพุหน้าห้างฯ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้พอประทังชีวิตไปได้



“พอออกมาสัก 2 วันได้ ก็เริ่มหิวข้าว เงินในตัวก็ไม่มี อยู่แค่ 5 บาทที่ติดตัว เลยเดินไปที่สะพานลอย เราเห็นมีคนนั่งอยู่ และมีคนให้เงิน เราก็เลยลองนั่งมั่ง ครั้งแรกที่เราได้วันนั้น คือมีคนให้เรามา 25 บาท เราดีใจมากเลย ก็เอาเงินอันนั้นมาซื้อข้าว ซื้อน้ำ ซื้อลูกชิ้นกิน ใช้ชีวิตขอทานอยู่ประมาณสัก 6-7 เดือนได้

ในตอนนั้น เมศใช้ชีวิตเป็นเด็กเร่ร่อน ซุกหัวนอนในสนามหลวง, ป้อมพระสุเมรุ และอาบน้ำใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ส่วนเรื่องอาชีพประจำก็มี “ขอทาน” สลับกับไปเก็บ “เงินโปรยทาน” ของวัดมาใช้ เดินตามพระบิณฑบาต จนได้ข้าววัดมาประทังชีวิต บวกกับการรับอาชีพ “เด็กเข็นรถเปิดท้ายขายของ” อยู่นานเหมือนกัน


[เครื่องแบบประจำตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ธุรการ ประจำปลัดบัญชีทหารอากาศ”]
และแล้ว มหากาพย์ความลำบากของเขาได้จบลง เมื่อตอนที่คุณพ่อได้ยินข่าวคราว เดินทางมาถามไถ่ จนกระทั่งกระซิบบอกให้คุณป้ามาหา พร้อมชี้ “ทางสว่าง” ในชีวิตให้ โดยแนะให้เมศไปสอบ "พนักงานทำความสะอาด" ที่สำนักงานปลัดบัญชีทหารอากาศ และเขาก็สอบติด ได้ทำงานอยู่ที่นั่นนาน 6 เดือน ตำแหน่ง "เจ้าหน้าที่ธุรการ" ก็เปิด และแน่นอนว่าเมศไม่เคยทิ้งโอกาสก้าวหน้า จนทำให้ได้รับราชการประจำ อยู่ในรั้วปลัดบัญชีทหารอากาศมาจนถึงทุกวันนี้


 
ตั้งใจ “สร้างภาพ-ให้โอกาส-ส่งความสุข”

[รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ” บุกบ้านเมศ ค้นให้ลึกถึงความเป็นอยู่]
กวาดสายตามองภายในบ้านพักหลังเก่า ที่ตั้งอยู่ใน ซ.จรัญสนิทวงศ์ 44 เป็นเพียงที่อยู่อาศัยหลังไม่ใหญ่หลังนึง ซึ่งไม่ได้เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกอะไร แถมยังออกจะโล่งๆ ด้วยซ้ำ ที่จะเห็นเด่นชัดที่สุดก็คงจะเป็น “ชุดกู้ชีพ” ที่แขวนเอาไว้บนผนังห้องถึง 2 ชุด เพื่อให้สามารถหยิบไปใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุ

จากการเยี่ยมเยือนบ้านพักของเมศและแฟนแล้ว มองยังไงก็ไม่มีเค้าของคนที่ถูกบางฝ่ายตั้งคำถามว่า ที่ทำไปทั้งหมดเพราะสร้างภาพ, อยากดัง หรือได้รับส่วนได้ส่วนเสียอะไรจากการบริจาคแม้เพียงสักนิดเดียว ข้อสงสัยดังกล่าวจึงถูกนำกลับไปถามเจ้าตัวอีกรอบหนึ่ง



“มีคนพูดเหมือนกันว่าผมอยากดังหรือเปล่าที่ทำแบบนี้ แต่พอคิดอีกมุมนึง ผมก็อยากดังนะ เพราะถ้าเราดัง ความช่วยเหลือที่จะเข้ามามันก็จะมีเพิ่มขึ้นมาอีก แต่คิดอีกมุมนึง เราก็ไม่อยากดัง เพราะถ้าเราดัง มันก็เหมือนเราเป็นคนสร้างภาพ

แต่ก็มีคำพูดมาอีกว่า ทำแบบนี้แหละสร้างภาพ เรียกร้องความสนใจ (ยิ้มปลงๆ) ผมยอมรับว่าผมเป็นคนสร้างภาพเลยล่ะ ภาพที่ผมทำ เป็นภาพที่คนเดือดร้อน นอนรอความช่วยเหลือ ถ้าเราไม่สร้างภาพเหล่านี้ขึ้นมา ประชาชนที่เขาเล่นสื่อออนไลน์ เขาจะรับรู้ไหมว่ามีคนเหล่านี้ กำลังรอความช่วยเหลืออยู่

ถ้าเราไม่ตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้ออกมา ถ้าเราไม่ออกมาสร้างภาพ แสดงตัวตนว่าเราอยู่ในภาพด้วยเนี่ย เขาจะรู้ไหมว่าเคสอยู่ตรงไหน มีการตรวจสอบแล้วหรือยัง... (พยักหน้ารับ) ผมเป็นคนสร้างภาพคนนึง แต่เป็นคนสร้างภาพในสิ่งดีๆ ออกมานะ แล้วก็เป็นประชาชนปกติธรรมดาคนนึงนี่แหละครับ เป็นผู้ชายตัวเล็กๆ คนนึง ที่พอจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เขาได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้มากมายอะไรนัก

แต่เรื่องที่ทำให้ท้อก็มีเหมือนกันครับ บางเคสได้เงินในการช่วยเหลือไป เอาเงินไปใช้ในทางที่ผิดก็มี อย่างคู่สามีภรรยาคู่นึงกำลังรักกันเลย พอมีเงินเข้ามาปุ๊บ ก็ทำให้ครอบครัวแตกแยก มันก็ทำให้เราท้อเหมือนกันนะ กลายเป็นเหมือนทำให้ครอบครัวเขาแตกแยก เราก็ท้อ


ผมเคยคิดนะครับว่าจะเลิกทำ จะเลิกช่วยเหลือคน (ถอนหายใจ) มีอยู่วันนึงผมนั่งร้องไห้ นั่งดูเคสส่งมา 4-5 เคส ไม่ได้ร้องไห้สงสารเคสนะครับ แต่อยู่ดีๆ มองปุ๊บน้ำตาไหล น้องเข้ามาถาม พี่ร้องไห้ทำไม ผมบอกว่าผมสงสารตัวเองว่า ทำไมเราต้องมาทำแบบนี้ด้วยวะ ทำไมเราไม่เอาเวลาเราไปมีความสุขอย่างอื่น ทำไมเราถึงเอาเวลาไปช่วยเหลือคน

น้องมันตอบมาว่า 'ก็เพราะใจพี่รักไง พี่ทำมาตั้งนานแล้ว ถ้าพี่ถอดใจตอนนี้ ที่ผ่านมาจะมีค่าอะไร' และผมก็เลยยึดคำนั้นมาตลอด เคยคิดหลายรอบด้วยว่าจะเลิกทำ แต่พอจะเลิกปุ๊บ พอเห็นภาพที่คนส่งเคสมา มันทำให้เราเลิกไม่ได้จริงๆ เคยคิดอยู่ประมาณ 3-4 รอบ แต่มันเลิกไม่ได้

ก็มีคนถามเหมือนกันนะครับว่า ทำไมเราไม่ทำให้ตัวเองสุขสบายก่อน ก่อนที่จะช่วยเหลือคนอื่น แต่ผมก็จะบอกว่า นี่แหละครับความสุขของผม ความสุขในการช่วยเหลือคน มันเหมือนกับเราไปผูกมิตร เราไปสร้างมิตรภาพ

[ครอบครัวที่ลูกสาวสติไม่สมประกอบ ถูกข่มขืน จนตลอดเด็กออกมา ยายที่เป็นอัมพฤกษ์จึงเลี้ยงดูทุกคนไม่ไหว ต้องเคยตักน้ำคลองหน้าบ้านกินประทัังชีวิต]

ถามว่าเราไปช่วยเหลือคน เราหวังสิ่งตอบแทนไหม ผมหวังนะ หวังมากด้วย หวังว่าเราไปช่วยเหลือเขามา สิ่งที่ตอบแทนกลับมาคือ "มิตรภาพ" ดีๆ ที่เขาหยิบยื่นให้เรามา คือ "รอยยิ้ม" ที่เขาให้มา

บางเคสพอกลับไปเยี่ยมเขาอีก เขาซื้อข้าวมาเลี้ยงดูเราเลยนะ ซื้อข้าว ซื้อน้ำให้เรา นี่แหละครับคือความสุขที่ผมต้องการ มันไม่ใช่ความสุขที่เป็น "เงิน" ไม่ใช่ความสุขที่เราซื้อมาด้วยเงินได้ แต่เป็นความสุขที่เราซื้อมาด้วยใจเรา ใจเราที่มอบให้กับเขา ซึ่งหายากนะ


[ได้รับประทานรางวัล "ประชาบดี" คนทำดีเพื่อสังคม]
และแม้เมศจะเต็มใจที่จะช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่หวังผลตอบแทน แต่ล่าสุด เขาก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับเลือกให้เข้ารับประทานรางวัล “ประชาบดี” และเข็มเชิดชูเกียรติ ประจำปี 2560 จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โดยหนุ่มนักสู้วัย 35 รายนี้ ได้รับรางวัลในฐานะ “บุคคลผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ที่ทำคุณประโยชน์และดำรงชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดี”

ทุกความพยายามที่ลงแรงไปมีผลลัพธ์ ทุกความล้าที่เคยมีกลับเลือนหาย เจ้าของรางวัลก็บอกผ่านแววตาแห่งความปลาบปลื้มว่า ครั้งแรกที่ได้ทราบข่าว ถึงกับขนลุก ทำอะไรไม่ถูก เมื่อรู้ว่าจะได้เข้ารับประทานรางวัล ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่ไม่ได้ส่งถึงเพียงแค่ตัวเมศคนเดียว แต่ยังส่งถึงครอบครัวของเขาด้วย

“ผมไม่ทราบนะครับว่าท่านทรงเห็นเรื่องอะไร แต่สิ่งที่เราทำก็คือเราช่วยเหลือประชาชน เราช่วยเหลือคนที่รอความช่วยเหลือ และอาจจะเพราะด้วยความที่เราสู้ชีวิตด้วยหรือเปล่า แต่ผมก็ไม่เคยอยากจะเรียกร้องอะไร ซึ่งก็ถือเป็นเกียรติอย่างสูงสุดในชีวิตของผมแล้วครับ"





[ติดตามเรื่องราวของ "คนสู้ชีวิต" ได้ที่นี่]

สัมภาษณ์โดย รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียงโดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Poramet Misomphop”


กำลังโหลดความคิดเห็น