xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายยืมหนังสือเรียนทำป่วน เด็กโรงเรียนรัฐโดนตัดงบ 50 %

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปีการศึกษาใหม่ พ.ศ. 2561 ที่จะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม นักเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะไม่ได้รับแจกหนังสือเรียนตามนโยบายเรียนฟรีของรัฐบาล เหตุเพราะสำนักงบประมาณ จัดงบประมาณค่าหนังสือเรียนให้สถานศึกษาเพียง 50% ของจำนวนนักเรียน

ในการประชุมทางไกลเรื่องแนวทางการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงรายละเอียดการเบิกจ่ายงบประมาณ สำหรับปี การศึกษา 2561 แก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผู้บริหาร สพฐ อธิบายเหตุผลที่สำนักงบประมาณ ตัดงบรายการค่าหนังสือเรียนถึงครึ่งหนึ่ง เพียงสั้นๆว่า สำนักงบประมาณ ปรับลดงบประมาณตามนโยบายยืมเรียนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์”


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

ผู้บริหาร สพฐ. แจ้งต่อที่ประชุมว่า สพฐ. ได้ทำเรื่องของบกลางเพื่อซื้อหนังสือเรียนที่ถูกตัดไป 50 % แต่ไม่แน่ใจว่าจะทันเปิดเทอมภาคแรกซึ่งจะเริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้หรือไม่ ดังนั้นจึงให้นโยบายกับ ผอ .เขตพื้นที่ให้แจ้งกับโรงเรียนในพื้นที่ว่า ให้แจกหนังสือเรียนให้นักเรียนทุกคนยืมเรียน และส่งหนังสือเรียนคืนให้แก่สถานศึกษาเมื่อสิ้นปีการศึกษา ยกเว้นกลุ่มสาระวิชาที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ให้ซื้อหนังสือแจกนักเรียนครบตามจำนวน

นั่นแปลว่า โรงเรียน สพฐ. อยูในภาวะจำยอม ต้องใช้นโยบาย “ยืมหนังสือเรียน” ที่ นพ.ธีระเกียรติ เคยประกาศไว้ตอนรับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2559 ทั้งๆ ที่นโยบายนี้ เป็นนโยบายของ นพ.ธีรเกียรติ ไม่ใช่นโยบายอย่างเป็นทางการของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้เพราะยังอยู่ในขั้นทดลองศึกษาข้อดีข้อเสีย

ตัว นพ.ธีระเกียรติเอง ยังลงนามในหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพื่อของบประมาณปี 2561 ในการสนับสนุนค่าหนังสือเรียน 100% จำนวน 8,394 ล้านบาท โดยเป็นค่าหนังสือเรียนสำหรับโรงเรียน สพฐ . 5,239 ล้านบาท แสดงว่า กระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีนโยบายยืมหนังสือเรียนในปีการศึกษา 2561

นอกจากนั้นในการประชุมทางไกล วันที่ 22 มกราคม ผู้บริหาร สพฐ. ยังได้แจ้งที่ประชุมเรื่องแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายการค่าหนังสือเรียนปี พ.ศ. 2561 ว่ามีการปรับเพิ่มค่าหนังสือเรียนชั้น ป.1 ป.2 ป.4 ป.5 ม.ศ.1 และ ม.ศ.4 ตั้งแต่ 14 บาท จนถึง 64 บาทต่อหัว



การปรับเพิ่มค่าหนังสือเรียนรายหัวเกือบทุกระดับชั้น แสดงว่ากระทรวงศึกษาธิการยังมีนโยบายแจกหนังสือเรียน ไม่ใช่ยืมหนังสือเรียนตามที่สำนักงบประมาณใช้เป็นเหตุผลในการตัดงบประมาณค่าหนังสือเรียนถึง 50%

สำนักงบประมาณเข้าใจผิดเอง หรือเข้าใจผิดเพราะนพ.ธีระเกียรติ สื่อสารกับสำนักงบประมาณไม่รู้เรื่อง นโยบายเรื่อหนังสือเรียนไม่ชัดเจนเช่นนี้ ทำให้เด็กนักเรียนต้องรับกรรมหรือไม่ โดยที่ไม่ได้รับแจกหนังสือเรียนในปีการศึกษาใหม่นี้?

นโยบายยืมหนังสืออาจประหยัดแต่จะสร้างปัญหาระยะยาว

หลังจาก นพ.ธีระเกียรติ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ก็ได้ประกาศนโยบาย “หนังสือยืมเรียน” โดยจะใช้ให้ทันเปิดภาคเรียน 16 พฤษภาคม 2560

อย่างไรก็ตาม ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ชี้แจงว่า นโยบาย “หนังสือยืมเรียน” ยังอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมและศึกษาแนวทางการให้ยืมหนังสือเรียน โดย สพฐ.จะศึกษาระบบการให้ยืม การคืนหนังสือ การดูแลหนังสือของนักเรียน และการเก็บรักษาหนังสือ เพื่อหาคำตอบว่าการให้ยืมหนังสือที่เหมาะสมนั้นควรทำอย่างไร มีหนังสือชำรุดเสียหายมากน้อยแค่ไหน และควรจะให้ยืมหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดวิชาใด จำนวนเท่าไร และนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ประกอบการเสนอขอจัดตั้งงบประมาณในการในรายการค่าหนังสือเรียนในปีงบประมาณ 2562 ต่อไป



ดังนั้น ปีการศึกษา 2560 และ 2561 นักเรียนยังได้รับหนังสือเรียนฟรีเหมือนเดิม 100%

เจตนาของนพ.ธีระเกียรติในการใช้นโยบายหนังสือยืมเรียน แทนการแจกหนังสือให้นักเรียนทุกคน ก็เพื่อประหยัดงบประมาณ จะได้มีเงินเหลือนำไปพัฒนาสื่อการเรียนการสอนแบบใหม่

แต่หนังสือเรียนเป็นสื่อการเรียนที่สำคัญ นักเรียนควรจะมีหนังสือเรียนเป็นของตัวเอง แม้ว่าจะจบภาคการศึกษาแล้ว เพราะเนื้อหาในแต่ละสาระวิชา มีความต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน การมีหนังสือเรียนอยู่กับตัวทำให้นักเรียนสามารถทบทวนเรื่องที่ได้เรียนไปแล้ว เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเรียนการสอบในภาคเรียนใหม่ หรือ บางครั้ง ไม่เข้าใจเรื่องที่เรียนอยู่ ต้องกลับมารื้อฟื้นความรู้เดิมจากหนังสือเรียน ซึ่งจะสะดวกกว่า มีแรงจูงใจมากกว่าการยืมหนังสือเรียนที่พอจบภาคเรียน ก็ต้องคืนหนังสือไม่มีหนังสืออยู่กับตัว

นโยบายยืมหนังสือเรียนจะมีผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในระยะยาว

ดังนั้น นโยบายเรียนฟรี ของรับบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2552 จึงกำหนดไว้ชัดเจนให้รัฐบาลต้องสนับสนุนค่าหนังสือเรียน คือให้แจกหนังสือนักเรียนทุกคนไม่ใช่ให้ยืม



สำหรับเด็กเล็กในชั้นประถมศึกษา 1-2 -3 ยังมีปัญหาในการดูแลรักษาหนังสือให้อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ เพราะยังเล็กอยู่ และชอบขีดเขียนแต่งเติมลงฝนหนังสือตามจิตนาการวัยเด็ก ซึ่งยากจะควบคุม และไม่ควรจะปิดกั้น เมื่อถึงเวลาส่งคืน หากชำรุดเสียหาย ก็ถือเป็นภาระผู้ปกครองที่จะต้องซื้อหนังสือใหม่มาชดเชยให้ทางโรงเรียน

การยืมหนังสือเรียน ยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับโรงเรียน และครูที่จะต้องจัดระบบการดูแลรักษาหนังสือ ตรวจสอบการส่งมอบส่งคืนหนังสือตรวจสภาพหนังสือว่า มีความเสียหายตรงไหนบ้างหรือไม่ หากเสียหายจะซ่อมแซมอย่างไร ผู้ปกครองจะต้องรับผิดชอบในการจัดหาหนังสือใหม่มาทดแทนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่กินเวลาของครู

ข้อดีของนโยบายยืมหนังสือเรียน มีเรื่องเดียวคือ ประหยัดงบประมาณ มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น เช่น ผลิตสื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ ฯลฯ แต่คุณภาพการศึกษาของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรนำไปแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งอื่นๆ หากต้องการ ผลิตสื่อแบบใหม่ กระทรวงศึกษาธิการก็ควรจัดสรรงบประมาณจากทางอื่นๆ ไม่ใช้วิธีตัดงบค่าหนังสือเรียน เพราะจะมีผลต่อคุณภาพการเรียนของนักเรียนอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น