xs
xsm
sm
md
lg

“กัญชง” พืชต้องห้าม ต่อยอดสู่พืชเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าให้แยกความแตกต่างระหว่าง "กัญชา" และ "กัญชง" จะมีจำนวนกี่คนสามารถตอบได้ถูกต้อง โดยชาวบ้านตามประสาคงคิดว่าเป็นพืชเสพติดชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่ทราบหรือไม่ลักษณะกายภาพหรือการนำไปใช้ประโยชน์แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร ในประเทศไทยก็เริ่มมีการวิจัย ควบคุม พัฒนา อย่างเป็นระบบเพื่อผลักดัน "กัญชง" เป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

ตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ย.59 มอบหมาย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดมาตรการควบคุมและกำกับดูแล กัญชง ให้เข้มงวดรัดกุมสอดคล้องกับนโยบายการควบคุมยาเสพติด สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)หรือ สวพส. เป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกและรายเดียวในขณะนี้ที่ได้รับอนุญาตจาก กองควบคุมยาเสพติด สำนักงาน อย. ให้ปลูกเพื่อเอาเมล็ดพันธุ์กัญชงไปศึกษาวิจัย ในพื้นที่โครงการส่งเสริมการปลูกนำร่องภายใต้ระบบควบคุม 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน และ เพชรบูรณ์ โดย สถานีเกษตรหลวงปางดะ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งแห่งในสถานที่ปลูกของ สวพส.

สำหรับ กัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp) จัดเป็นพืชล้มลุกและมีต้นกำเนิดเช่นเดียวกับกัญชา มีคุณลักษณะบางประการคล้ายคลึงกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วค่อนข้างแตกต่างกัน ของพืช 2 ชนิด เช่น กัญชามีส่วนยอดช่อดอก ช่อใบ ลักษณะเป็นพุ่ม แต่ กัญชง มีลักษณะเรียวเล็ก , กัญชามีใบใหญ่ กว้าง ส่วน กัญชง ใบจะเรียวและเล็กกว่า , กัญชามีกิ่งและลำต้นเตี้ยเป็นพุ่ม สำหรับ กัญชง ลำต้นจะสูง ชะลูด และ ในส่วนของราก ไม่มีลักษณะแตกต่างกันเด่นชัด



ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัย สำนักวิจัย สวพส.

ด้านคุณลักษณะองค์ประกอบทางเคมี กัญชาและกัญชง มีสารออกฤทธิ์ คือ เตตราไฮดโรแคนนาบินอล(THC) แคนนาบิไดออล (CBD) และ แคนนาบินอล (CBN) เหมือนกันแต่มีปริมาณแตกต่างกัน ที่สำคัญมาก คือ สาร (THC) เป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทซึ่งทำให้ผู้เสพมีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา จึงกำหนดขอบเขตปริมาณ (THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง เช่น กัญชา (ช่อดอก) ปริมาณ 3.1 เปอร์เซ็นต์ กัญชง (ช่อดอก) ปริมาณ 0.40เปอร์เซ็นต์ , กัญชา (ใบ) ปริมาณ 1.6 เปอร์เซ็นต์ กัญชง (ใบ) ปริมาณ 0.12 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น กัญชง จึงเป็นพืชห้ามปลูกตามกฎหมายไทย จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

ต่อมา มีประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อและประเภท ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 12) ได้กำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขของพืชกัญชง ซึ่งได้รับการยกเว้นเป็น เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และ ผลิตภัณฑ์จากเปลือกแห้ง ไม่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 นับเป็นการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชง กระทั่ง ล่าสุดมีประกาศ ราชกิจจานุเบกษา 6 ม.ค.2560 กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ กัญชง พ.ศ.2559 โดยมีผลบังคับใช้ หลังจากประกาศ 360 วัน คือ เริ่มวันที่ 1 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา




หมู่บ้านแม่สาน้อย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัย สำนักวิจัย สวพส. เผยว่า พืชกัญชง มีความจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อเป็นแนวทางควบคุมการเพาะปลูกและการพัฒนา โดยวัตถุประสงค์การปลูกและใช้ประโยชน์เนื่องจากเส้นใยกัญชง เป็นพืชสำหรับผลิตเส้นใยมีคุณภาพ ความยืดหยุ่น แข็งแรง ทนทานสูง นำมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ ตลอดจนการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อาทิ ทำปุ๋ย อาหารสัตว์ ผลิตอาหารเสริม เครื่องดื่ม เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนรถยนต์ เสื้อกันกระสุน เป็นต้น

ดร.สริตา เผยอีกว่า ส่วนการปฏิบัติมีหลายแนวทาง เช่น ควบคุมตรวจสอบในช่วงการปลูก คือ ช่วงที่ 1 ปลูกวันแรก หรือไม่เกิน 15 วัน , ช่วง 2 ก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน ตรวจค่าปริมาณ (THC) , ช่วง 3 วันเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ หากพบว่า ใบและยอด กัญชงมีสาร (THC) สูงเกินกว่าเกณฑ์ คือ ร้อยละ 1 เจ้าหน้าที่จะต้องนำไปทำลาย แต่ยังคงเก็บ ลำต้นและเส้นใย ไปใช้ประโยชน์ได้ , การเคลื่อนย้ายกัญชง เมื่อเก็บเรียบร้อยแล้วให้นำไป ตากแห้งหรืออบให้แห้ง โดยมีระบบการควบคุมที่ไม่ให้สูญหาย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังพบอุปสรรคปัญหาเพราะขาดโรงงานแปรรูปเนื่องจากยังติดขัดเรื่องข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจน จึงทำให้ยังไม่มีการแพร่หลายมากนัก

"นอกจากนี้ มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเขา โดยเฉพาะ ชาวม้ง ที่มีการเพาะปลูกบนพื้นที่สูงของประเทศไทยมาหลายชั่วอายุคน ยกตัวอย่าง หมู่บ้านแม่สาน้อย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีประชากร 2,000 กว่าคน รวม 200 ครัวเรือน มีความเชื่อว่า เส้นใยกัญชง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาทำเครื่องนุ่งห่ม เมื่อถึงเวลาจากโลกนี้ไปแล้วจะได้กลับไปเจอบรรพบุรุษอีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับอนุญาตให้ปลูกแต่อยู่ในการควบคุมของ สวพส. โดยใช้พื้นที่ปลูก 2-3 ไร่ต่อปี เคยมากสุด 5 ไร่ แต่ไม่สามารถขยายพื้นที่ได้แล้วเพราะอยู่ในเขตอุทยาน" ดร.สริตา ระบุทิ้งท้าย





สำหรับสถานการณ์การปลูกกัญชงในประเทศไทยยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการเนื่องจาก ชาวเขาจะปลูกเพื่อใช้ภายในครัวเรือน ซึ่งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจึงได้มีการนำเข้าเส้นใยเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำนวนมาก โดยได้นำเข้ามาจากประเทศจีน สาธารณรัฐประชาชนลาว ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และ ผลิตภายในประเทศ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ยังมีสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับมอบหมายให้สำรวจและติดตามการปลูกเฮมพ์ โดย สพส. ดำเนินการติดตามการปลูกเฮมพ์ มาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยภายหลังจากเข้าตรวจสอบพื้นที่ทั้ง ภาคพื้นดิน และ ภาคอากาศ ในจุดเป้าหมาย ทาง สพส. จะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบ และ รายงานข้อมูลการปลูกกัญชง เสนอ ผู้บริหาร ป.ป.ส. และ รายงานไปยัง สวพส. เพื่อติดตามพื้นที่ปลูกกัญชง ให้ได้ประสิทธิภาพต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น