"เรียนไปแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร" คงใช้ไม่ได้กับ "สาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า" หรือ "KMIDS" โรงเรียนต้นแบบสายวิทยาศาสตร์ที่สอนด้วยภาษาอังกฤษมาตรฐานโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกของไทยภายใต้การขับเคลื่อนของ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งโครงการนี้ขึ้น
"เด็กของเราต้องมี Leadership หรือภาวะผู้นำ" คืออัตลักษณ์ของนักเรียน "สาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า" ที่รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้อยากเห็นในอนาคต
ดังนั้น รูปแบบการเรียนการสอนของที่นี่ จึงไม่ใช่แค่เด็กนั่งฟังครู หรือมีอุปกรณ์แค่สมุด หนังสือ และดินสอแบบเดิมๆ แต่ครูจะต้องจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้คิดอย่างสนุก และนำไปต่อยอดได้ ด้วยเหตุนี้ "หุ่นยนต์" จึงถูกนำมาใช้เป็น "ฐานความรู้" ซึ่งอยู่ภายใต้หลักสูตรพิเศษ "STEM With Robotics" ที่ได้รับความร่วมมือจาก "คาร์เนกี เมลลอน โรโบติคส์ อคาเดมี่ สถาบันคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์
"หลักสูตรนี้ เรานำองค์ความรู้บูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชาระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ โดยหุ่นยนต์ เสมือนเป็นตัวแทนความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม และการประยุกต์ใช้งานความรู้ทั้ง 4 สาขาวิชาอย่างครบถ้วน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดความสนใจอยากเรียน นำไปสู่การเป็นนักสร้างนวัตกรรม และความเป็นผู้นำแห่งโลกอนาคต" ผอ.โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าบอก ก่อนขยายความต่อไปว่า
"เด็กๆ จะได้ทักษะจากหุ่นยนต์หลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องกลไกต่างๆ, แคลคูลัส, การคำนวณ ถ้าเด็กๆ สร้างหุ่นยนต์ได้ เขาจะมีทักษะในการคิด และการแก้ปัญหาต่างๆ โดยหุ่นยนต์เป็นแค่กิจกรรมหนึ่งที่เด็กจะได้ลงมือทำ เรายังมีอีกหลายกิจกรรมที่เด็กจะได้เรียนรู้อย่างสนุก แต่ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมของการเรียนรู้ผ่านหุ่นยนต์ก็คือ ความกระตือรือร้นของการอยากรู้ อยากเห็นของเด็กๆ"
สอดรับกับรูปแบบการสอนที่เน้นเน้นการพัฒนา 3I คือ Imagination (จินตนาการ) Inspiration (แรงบันดาลใจ) และ Innovation (นวัตกรรม) โดยสร้างบรรยากาศในการเรียนแบบ 5F คือ Fun (ความสนุกสนาน) Find (ค้นหาความถนัดเพื่อพัฒนาศักยภาพต่อไป) Focus (เลือกสายการเรียนที่ถนัดและเน้นการพัฒนาเฉพาะด้านในระดับมหาวิทยาลัย) Fulfil (เรียนรู้ทักษะอาชีพและมีจิตสาธารณะ) และ Fantastic (การส่งเสริมให้มีสมรรถนะในการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาตนเอง)
นอกจากนั้น อีกหนึ่งจุดเด่น คือ การจัดห้องเรียนในรูปแบบ Active Learning ผ่านห้องเรียนอัจฉริยะ หรือ Super Smart Classroom มีเครื่องมือ และระบบต่างๆ จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนครูผู้สอนมีประสบการณ์สอนในโรงเรียนนานาชาติ และจบการศึกษาโดยตรงในสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น MIT, Harvard, Imperial College London, UCLA, UC Berkeley และ Columbia University ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาเด็กโดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
ล่าสุด ทางโรงเรียนได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งนอกจากเอื้อประโยชน์ในการพัฒนา และใช้ทรัพยากรร่วมกันแล้ว ยังเปิดโควต้ารองรับนักเรียนที่เป็นผลจากการทดลองและสาธิตการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตด้วย
"เราค้นพบว่าข้อสอบ O-Net, A-Net ไม่ใช่คำตอบของการเข้ามหาวิทยาลัย ผมคลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้ ผมรู้ดี บวกกับสิ่งที่เห็นจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเด็กแต่ละกลุ่มที่รับเข้ามา กลายเป็นว่าเด็กที่รับตรงมีคะแนน และการเรียนที่ดีกว่าเด็กที่ผ่านการคัดเลือกมาจากข้อสอบกลาง ที่สำคัญคือ จบไปแล้วได้งานทำที่ดีกว่า นั่นคือเหตุผลว่าทำไม สจล.จึงตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งนี้ขึ้นมา" ผอ.โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (KMIDS) บอก ก่อนฝากถึงพ่อแม่ ถ้ารักลูก อย่ายัดเยียดฝันของตัวเองเพื่อให้ลูกเติบโตไปในทิศทางที่ลิขิตไว้
"ในฐานะที่ผมเองก็มีลูกเหมือนกัน ถ้าคุณรักลูกจริงๆ สนับสนุนลูกในทางที่เขาเลือกก็พอแล้ว ผมขอแค่นี้ เพราะที่เหลือเด็กเขาจัดการเองครับ"
สุดท้ายนี้ แม้รูปแบบการสอนที่เน้นสร้างจินตนาการ ผสานแรงบันดาลใจจนเกิดเป็นนวัตกรรม ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่หากบ่มเพาะ สะสมองค์ความรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนลงมือปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด วันหนึ่งสิ่งที่คิด และเรียนรู้ก็จะสามารถใช้งานได้จริง และคำว่า "เรียนไปแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร" ก็จะค่อยๆ หายไปจากสังคมไทย
สจล.ให้โควตา นร.สาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า สูงสุดกว่า 100 ที่นั่ง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประกาศโควตารับตรงสำหรับนักเรียนโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า กว่า 100 ที่นั่ง โดยจะนำร่อง 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้โควตานักเรียนเข้าศึกษาต่อจำนวน 40 ที่นั่ง และยังให้โควตานักเรียนเข้าค่ายเตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาต่อของคณะฯ 2. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ให้โควตานักเรียนเข้า pre-bee camp ซึ่งเป็นค่ายที่นักเรียนทุกคนที่ต้องการศึกษาต่อที่คณะต้องเข้าร่วม จำนวน 15 ที่นั่ง และยังให้โควตาศึกษาต่อที่คณะฯ จำนวน 15 ที่นั่ง 3. วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ ให้โควตานักเรียนเข้าศึกษาต่อ โดยไม่ต้องสอบข้อเขียน จำนวน 40 ที่นั่ง แบ่งเป็นหลักสูตรวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ 30 ที่นั่ง และหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ 10 ที่นั่ง และ 4.คณะวิทยาศาสตร์ ให้โควตานักเรียนเข้าศึกษาต่อ จำนวน 10 ที่นั่งรวมจำนวนกว่า 100 ที่นั่ง เมื่อนักเรียนกลุ่มนี้เข้าเรียนต่อในสถาบันฯแล้ว ทางสถาบันจะทำการศึกษาวิจัย พฤติกรรมการศึกษาและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยของนักเรียนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมที่จะสร้างนักเรียนที่มีคุณสมบัติอันพึงประสงค์ต่อไปโดยโครงการนี้จะเริ่มในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป และในอนาคตยังจะมีคณะอื่น ๆ เข้าร่วมในโครงการนี้อีกด้วย ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ หรือสมัครสอบได้ที่ www.kmids.ac.th หรือ โทร 061-415-2444 หรือ email info@kmids.ac.th |