xs
xsm
sm
md
lg

“กำจัดพยาธิในจิ๊มิ” ยาสมุนไพรลวงโลก? แม่ค้าออนไลน์มโนได้โล่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพน่าสยดสยองของพยาธิตัวยาวไชในช่องคลอดว่อนโลกโซเชียลฯ แม่ค้าออนไลน์สุดมโนประกาศขายยาสมุนไพรเหน็บอวัยวะเพศ อ้างช่วยกำจัดพยาธิในช่องคลอด สังคมตั้งข้อสงสัย พยาธิในช่องคลอดมีจริงหรือ ทำไมตัวเบ้อเริ่มขนาดนี้ หมอยันมีจริง แต่พบน้อยมาก และไม่ตัวใหญ่ขนาดนี้ ห่วงประชาชนอย่าเอาตัวเองไปเสี่ยงลองยาอันตราย ไร้ความน่าเชื่อถือ

สะพรึง! พยาธิโผล่ในช่องคลอด

เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ออกโรงโพสต์ข้อความเตือนกรณีแม่ค้าออนไลน์ประกาศขายยาสมุนไพร เหน็บช่องคลอด อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงว่าช่วยกำจัดพยาธิในอวัยวะเพศหญิงและช่องคลอด สังคมตะลึง!พยาธิตัวใหญ่ยาวขนาดนี้ชอนไชจริงหรือในช่องคลอด

“ทุกคนล้วงดูค่ะ มันออกมาจากช่องคลอด”

“สกปรก เน่าใน ดีท็อกซ์หมดจด”

พร้อมภาพทิชชู่ห่อพยาธิตัวสีชมพูขนาดตัวยาวราวไส้เดือน เห็นแล้วสะพรึงขนลุก พร้อมสรรพคุณอวดอ้างว่า “หลังใช้สาวฟินขับออกเกลี้ยง”

หลายคนแสดงความคิดเห็นต่างๆนานา ว่าแม่ค้าออนไลน์ผู้นี้ “มั่ว” โฆษณาชวนเชื่อด้วยภาพสุดน่าขยะแขยง ผู้จัดการ Live ขอต่อสายตรงเคลียร์ประเด็นพยาธิในช่องคลอดกับ นพ. ออมสิน บูลภักดิ์ แพทย์ผู้เชียวชาญให้คำปรึกษาปัญหาเพศสัมพันธ์

คุณหมอ กล่าวว่า พยาธิในช่องคลอดนั้นมีจริง แต่ขนาดเล็กมาก เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว Trichomonas จะทำให้เกิดอาการคัน ตกขาว สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มียารักษาอยู่แล้ว พบผู้ป่วยน้อยมาก เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

ส่วนการซื้อยาสมุนไพรออนไลน์นั้น คุณหมออมสิน เตือนว่า อย่าเอาชีวิตมาเสี่ยงกับยาอันตรายเหล่านี้
“ก่อนจะขายยาพวกนี้ต้องมีการพิสูจน์จากองค์การเภสัช หรือองค์การวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาล อยู่ๆเอามาขายไม่น่าเชื่อถือ เป็นผมไม่กล้าซื้อ ควรรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรนำยาอะไรก็ไม่ทราบทานเข้าไป เหมือนกับเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงกับยาอันตรายพวกนี้

การขายยาทางออนไลน์เขาก็ห้ามอยู่แล้ว หากเป็นขนม อาหาร ยังพอเข้าใจได้ แต่เรื่องยา ไม่แนะนำ เป็นห่วงสุขภาพประชาชนที่ไปซื้อยาเหล่านี้ ที่ไม่มีการผ่านคำแนะนำมาจากแพทย์ ไม่สมควรอย่างยิ่ง และไม่น่าเชื่อถือ”
รักษาง่าย หายขาด

นอกจากนี้ อ.พญ.เจนจิต ฉายะจินดา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ยังเคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคพยาธิในช่องคลอดผ่านผู้จัดการออนไลน์ไว้ว่า เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้น้อยลงในปัจจุบัน แต่สามารถทำให้เกิดอาการแสบคันในช่องคลอดหรือท่อปัสสาวะที่ค่อนข้างรุนแรง

สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อ Trichomonas vaginalis ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงเม็ดเลือดขาว เชื้อนี้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้เกิดการระคายเคืองมาก สามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด จึงถ่ายทอดผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก แต่ไม่ติดต่อโดยการกอดจูบ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยใช้มือหรือนิ้วช่วย รวมถึงการใช้ห้องน้ำ ผ้าเช็ดตัว สระว่ายน้ำ จนถึงแก้วน้ำ จาน ชามร่วมกันก็ไม่ติดต่อ

ในเรื่องอาการ พบว่าผู้ชายมักไม่แสดงอาการ ในขณะที่ผู้หญิง อาการจะค่อนข้างชัดเจน มีตกขาวออกมากและมีสีเหลืองหรือเขียว แสบเวลาปัสสาวะ คันในช่องคลอด ส่วนผู้ชาย จะมีมูกใสออกจากท่อปัสสาวะ ซึ่งไม่ใช่น้ำปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ แสบเวลาปัสสาวะ ปวดที่อัณฑะ และอาจมีการอักเสบที่หนังหุ้มปลายองคชาติ แต่อาการอย่างหลังพบได้น้อย

หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมา หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรมารับการตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน ซึ่งแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน โดยนำตกขาวไปตรวจ รวมถึงตรวจมะเร็งปากมดลูก และหากพบว่าติดเชื้อ ก็ควรตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส พร้อมกับเก็บสิ่งส่งตรวจทุกส่วนของร่างกายที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ตรวจหาเชื้อในคอ หรือตรวจทางทวารหนัก

อย่างไรก็ดี ไม่มีการตรวจใดให้ผล 100% ดังนั้น หากท่านยังคงมีอาการอยู่ ทั้งที่ผลการตรวจทุกอย่างเป็นลบ แนะนำให้มาตรวจติดตามเพื่อประเมินซ้ำอีกครั้ง ในทางกลับกัน หากท่านไม่มีอาการแต่ผลการตรวจเป็นบวก เนื่องจากคู่ของท่านติดเชื้อ แนะนำให้ท่านรับการรักษาไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่เชื้อ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หลังเริ่มการรักษา แต่มีข้อห้ามคือ ในระหว่างการรักษาห้ามดื่มแอลกอฮอล์
โรคพยาธิในช่องคลอดเป็นโรคที่รักษาได้ง่ายและหายขาด แต่อาจกลับเป็นซ้ำได้ ไม่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก-ไม่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และจะมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เมื่อเป็นโรคนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ แต่จะไม่มีการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ทารก

โฆษณาเกินจริง ฝ่าฝืนปรับแสน

ภาพพยาธิยาวเหยียดน่ากลัวในช่องคลอดที่แม่ค้าออนไลน์ผู้นี้โพสต์ผ่านโลกโซเชียลฯนั้น ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า การขายสินค้าเกินจริงขนาดนี้ ไม่มีโทษทางกฎหมายบ้างหรือ?

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า จากรายงานของ “ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค” ที่มีการเปิดเผยตัวเลขการร้องเรียนปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภค ในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2560 มีจำนวน 1,153 ราย
โดยปัญหาอันดับหนึ่งที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุด คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป โดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า

อันดับสอง คือ การถูกเอาเปรียบ ซึ่งมีสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วน รวมถึงข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และหน่วยงานรัฐไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการใช้ช่องทางการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ที่หลากหลาย

และอันดับสาม คือ เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภค ดำเนินการเชิงรุกในการแก้ปัญหาเชิงนโยบายไม่ใช่รายกรณี โดยออกกฎระเบียบหรือกฎหมายบังคับเกี่ยวกับการอนุญาตโฆษณาขายสินค้าที่กระทบกับสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งให้มีตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาขายสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ

สำหรับกรณีของการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและเข้าใจผิดในคุณสมบัติ หรือบรรยายสรรพคุณเกินจริงนั้น ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการติดตามเฝ้าระวังการกระทำที่ผิดกฎหมายบนสื่อออนไลน์มาโดยตลอด ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นความผิดจริง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (1)

“อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท”

และศาลอาจสั่งให้ระงับการเข้าถึง หรือ ลบข้อมูลหลอกลวงนั้นออกจากระบบ หรือ ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรได้

นอกจากนั้นกระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดฯ สื่อสารให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงแนะนำวิธีการรู้เท่าทันกลโกงของผู้ไม่หวังดีหรือกลุ่มมิจฉาชีพผ่านช่องทางสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการย้ำเตือนประชาชนหรือผู้บริโภคให้ระวังปัญหาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการทำงานทั้งเชิงรุกและรับ เพื่อปกป้องประชาชนผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการที่หวังเพียงแต่ได้ โดยไม่สนใจผลเสียที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของประชาชนเองยังสามารถร่วมกันสอดส่องและแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานรัฐ หรือผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างๆ ดำเนินการตรวจสอบได้อีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยกันดูแลสิทธิของผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น