นึกว่าหลุยส์วิตตอง! ฮือฮา วัดดังนครปฐมปลุกเสก “กระเป๋า พูล เพิ่ม ทรัพย์” สรรพคุณล้น เมตตามหานิยม โชคดีมีลาภ ลั่นนำเงินช่วยเหลือโรงพยาบาล แถมยังแตกไลน์ทำผ้าพันคอ-น้ำหอมเพิ่ม เจ้าคณะจังหวัดกล่าวไม่ใช่กิจของสงฆ์ ด้านนักวิชาการศาสนาย้ำ ถ้าพระทำขายถือว่าผิด!
บูชาไหม “กระเป๋า-ผ้าพันคอ-น้ำหอม” เรียกทรัพย์
กลายเป็นประเด็นดรามาในแวดวงผ้าเหลืองอยู่ตอนนี้ หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก “วัตถุมงคลหลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม นครปฐม - สายตรง” ของวัดไผ่ล้อม วัดชื่อดังใน จ.นครปฐม โพสต์ภาพ กระเป๋ามหามงคล “พูล เพิ่ม ทรัพย์” มีสรรพคุณไม่ธรรมดา เงินทองไหลมา เมตตามหานิยม เสริมบุคลิกราศี โชคดีมีลาภ ถูกโฉลกร่ำรวย โดยจะนำรายได้ไปจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ มอบให้แก่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม และถึงแม้ทางวัดจะกล่าวว่าเป็นการทำบุญ แต่ก็ยังไม่วายถูกสังคมตั้งคำถาม ว่าสิ่งที่พระสงฆ์ทำกระเป๋าออกมาขายนั้น เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่?!
เมื่อถูกกระแสถาโถมมากเข้า พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จึงได้ออกมาชี้แจงถึงกระเป๋าดังกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงที่ทำออกมา อันเนื่องมาจากหลายปีที่ผ่านมา มีญาติโยมนำกระเป๋ามาให้ทางวัดเจิม เพื่อเป็นสิริมงคลในการค้าขาย อีกทั้งยันต์ของหลวงพ่อพูล อดีตเจ้าอาวาสผู้ล่วงลับ นั้นเป็นพุทธคุณเมตตามหานิยม
ประจวบเหมาะกับโรงพยาบาลศูนย์นครปฐม ได้ทำหนังสือมาขอความอนุเคราะห์ในเรื่องของการขอรับบริจาคเงินในการก่อสร้างอาคารในโรงพยาบาล ทางหลวงพี่น้ำฝนเห็นว่าเป็นโครงการใหญ่ จึงได้คิดวิธีจะหารายได้ช่วยเหลือ และเกิดเป็นกระเป๋ามหามงคลขึ้น
ส่วนประเด็นที่มีคนตั้งข้อสังเกตถึงลวดลายบนกระเป๋า ที่ดูคล้ายกับกระเป๋าแบรนด์เนมชื่อดัง หลวงพี่น้ำฝนยืนยันว่าไม่จริง เพราะลายบนกระเป๋าเป็นยันต์ ส่วนซิปมีการตีตรา WPL คือ วัดไผ่ล้อม ในตอนนี้มีคนเข้ามาขอซื้อจำนวนมาก ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำผ้าพันคอสาลิกามหาเสน่ห์ โดยนำผ้าจากยุโรปมาพิมพ์ลายยันต์ของวัด ซึ่งจะนำรายได้ช่วยเหลือสังคมเช่นกัน
สำหรับกระเป๋ามหามงคล “พูล เพิ่ม ทรัพย์” ประกอบไปด้วย กระเป๋าเป้ใส่เงินขนาดใหญ่, กระเป๋าใส่เงินแบบไซส์ปกติ (ธนบัตรไทย), กระเป๋าใส่เงินแบบไซส์ธนบัตรต่างประเทศ, กระเป๋าใส่เงินแบบสามพับยาว, กระเป๋าใส่เงินแบบสามพับสั้นไม่มีซิป, กระเป๋าใส่เงินแบบซิปรอบยาว, กระเป๋าใส่เงินแบบสามพับสั้นมีซิปด้านหลัง, กระเป๋าเป้ใส่เงิน,กระเป๋าสะพายเก็บเงินแบบแมสเซนเจอร์ และกระเป๋าถือเก็บเงินแบบคอนเซ็ปต์ 7 วัน มีให้เลือก 7 สี ราคาตั้งแต่ 1,000-3,000 บาท
หลวงพี่น้ำฝนได้กล่าวทิ้งท้ายว่า กระแสสังคมที่มองว่านี่คือการค้า ขอให้เข้าใจ นี่คือการทำบุญร่วมกัน ซึ่งจะมีการทำโชว์รูมจำหน่ายสินค้าที่วัดไผ่ล้อมแบบชัดเจน และจะมีการออกอีเวนต์ไปจำหน่ายสินค้าเพื่อนำปัจจัยมาสนับสนุนการแพทย์และการศึกษาตามที่เคยทำนับสิบปีมาแล้ว โดยยังจะมีการออกน้ำหอมอีกในอนาคต
หลังจากที่ภาพกระเป๋าปลุกเสกของวัดดัง เผยแพร่ไปบนโลกโซเชียลฯ แล้ว ความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ที่พระสงฆ์ทำกระเป๋าออกมาเรี่ยไรเงินญาติโยมเช่นนี้ ซึ่งมีบางความคิดเห็น โยงกรณีนี้ เข้ากับกรณีของวัดธรรมกาย ที่เคยมีการออกมาจำหน่ายสินค้าอวดอ้างสรรพคุณร้อยแปด อย่างที่เคยเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว
หรือแม้กระทั่งความคิดเห็นล่าสุดจากวงการพระสงฆ์ โดย พระมหาไพรวัลย์ ก็ได้แสดงความคิดเห็น ผ่านรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” ถึงเรื่องนี้ไว้เช่นกันว่า หากทางวัดไผ่ล้อมจะใช้กระเป๋าเป็นของที่ระลึก ทำไมต้องปลุกเสก อะไรที่มันมากเกินไปก็จะนำมาซึ่งความไม่งาม รวมถึงการที่นำชื่อของหลวงพ่อพูลมาตั้งเป็นชื่อกระเป๋า ซึ่งเป็นพระที่มีคนนับถือมาก ส่วนกระเป๋าที่ถูกระบุว่ามีพุทธคุณนั้น มันไม่มี มันเลอะเทอะ จะนำพุทธคุณมาอยู่ในกระเป๋าได้อย่างไร
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ พระเทพมหาเจติยาจารย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ที่ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ข่าวเวิร์คพอยท์” ว่าการกระทำดังกล่าวก็ไม่ได้แตกต่างจากการปลุกเสกวัตถุมงคล ที่สร้างให้คนมีความเชื่องมงายในวัตถุมากกว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา และการหารายได้จากการบูชากระเป๋าและนำเงินไปบริจาคให้โรงพยาบาล ไม่ใช่กิจของสงฆ์
แม้จะมีกระแสต่อต้านมาเพียงไร ก็ไม่สามารถทำลายศรัทธาของผู้คนที่มีต่อกระเป๋าดังกล่าวได้ เพราะล่าสุดยอดการสั่งซื้อบูชากระเป๋า “พูล เพิ่ม ทรัพย์” พุ่งไปแต่ถึงหลักล้านบาทแล้ว ...
ถ้าพระทำ ยังไงก็ไม่ถูก!
เกี่ยวกับประเด็นข้างต้นนี้ ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ต่อสายตรงไปยัง “รศ.ดร.ธวัช หอมทวนลม” หัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถึงเรื่องราวที่สังคมกำลังตั้งคำถามอยู่ในตอนนี้กับบทบาทของพระสงฆ์ ที่ทุกวันนี้ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เผยแผ่พระธรรมคำสอนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาได้ช่วยวิเคราะห์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว
“ในพระวินัยจริงๆ หลักๆ แล้ว พระสงฆ์มีหน้าที่สั่งสอนประชาชน มีหน้าที่แนะนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปถ่ายทอดให้คนปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส สำหรับหลวงพี่น้ำฝนท่านก็ทำประโยชน์ทางสังคมเยอะ ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อพูลอยู่ แต่ในกรณีนี้ถ้ามันชัดเจนมากก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ที่จริงมีวิธีการอื่นเยอะแยะที่พระจะทำ เป็นวัตถุสิ่งของตอบแทน แต่ถ้าทำเป็นเชิงพาณิชย์ มีการตั้งราคาค่างวดก็ถือว่าไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นลูกศิษย์ทำ ญาติโยมทำมาให้วัดก็ไม่เป็นอะไร
ถ้าเป็นบุญบริสุทธิ์จริงๆ คนทำเขาจะตั้งใจที่จะทำ ขณะที่ทำก็มีจิตใจบริสุทธิ์ หลังทำแล้วก็อนุโมทนาบุญ ไม่เสียดายเงินทองที่ทำไป ไม่หลงในวัตถุสิ่งตอบแทน หมายถึงว่าทำบุญก็คือได้บุญ แต่ถ้าทางวัดไปตั้งว่าทำบุญเท่านี้มีกระเป๋าให้ คนที่ได้กระเป๋าจะทำมาค้าขายขึ้น เงินทองไหลมาเทมา อันนี้ถือว่าไม่ถูก ไม่ใช่คำสอนที่บริสุทธิ์ทางพระพุทธศาสนาครับ
ยิ่งเอาชื่อพระดังมาตั้งชื่อกระเป๋า อันนี้ยิ่งไม่เหมาะสมเลยด้วยประการทั้งปวง ผมมองว่าเป็นการล่อใจให้คนมาซื้อ พอประกาศเกียรติคุณว่ากระเป๋าผ่านการปลุกเสกแล้ว มีพระสงฆ์สวดมนต์กี่คืนกี่คืน คนก็ไปติดตรงนั้น ไม่ได้คิดว่าเงินที่ให้ไป เอาไปช่วยโรงพยาบาล เจตนาของท่าน ที่ท่านบอกจะเอาปัจจัยตรงนี้ ไปให้โรงพยาบาล ไปสังคมสงเคราะห์อะไรพวกนี้ มันก็ดีอยู่ แต่กลายเป็นว่าคนได้กระเป๋ามาแล้วอยากจะรวยต่อ มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องครับ ของพวกนี้ มันเหมือนเป็นเครื่องล่อใจ”
ส่วนประเด็นที่หลายคนกังวลว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้บ่อยเข้า ต่อไปในอนาคต “วัด” ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้พุทธศาสนิกชนเข้ามาเคารพสักการะ จะกลายสภาพร้านขายของหรือไม่ นักวิชาการศาสนาก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้เอาไว้ดังนี้
“ตอนหลังทางคณะสงฆ์ มีหนังสือเวียนไปตามวัด แม้กระทั่งพระบูชา พระเครื่องที่ตั้งในอุโบสถ ก็ให้ออกไป เพื่อแยกกันให้ออก ว่าถ้าคุณอยากจะเช่า ก็ไปอยู่นอกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นว่ามีหลายวัดที่ตั้งร้านขายของที่ระลึก เช่นทำบุญเท่านี้ให้เสื้อ แต่ถ้าเงินตรงนี้ได้มาแล้วบำเพ็ญประโยชน์ต่อก็ไม่เป็นไร หมายถึงว่าเป็นการสงเคราะห์ชาวบ้านที่เขาทำเสื้อผ้าอย่างเช่นเสื้อหม้อห้อม คล้ายๆ โอทอปมาวางขายที่วัด ถ้าซื้อขายตรงๆ มันก็ไม่เป็นอะไร ถ้าไม่มีพระเข้าไปยุ่งนะ แต่ถ้าพระไปตั้งราคาด้วย ก็ถือว่าไม่ถูกต้องครับ”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 60 มีหนังสือเวียนในหมู่สงฆ์ มีคำสั่งให้พระสังฆาธิการตรวจสอบพฤติกรรมและลงโทษพระภิกษุสามเณรในปกครอง เพื่อแก้วิกฤตสงฆ์ที่มีความเสื่อมเสีย อันก่อให้เกิดความไม่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยได้มีการออกกฎระเบียบข้อห้าม 9 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ ห้ามภิกษุและคฤหัสถ์เรี่ยไร ตั้งแผงพระ วัตถุมงคล รูปเหมือน รูปบูชา ในงานประเพณีชักพระ - ทอดผ้าป่า ห้ามติดแผ่นป้ายโฆษณา พระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล เทวรูป อ้างอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ และงดขึ้นป้ายงานพุทธาภิเษก
สุดท้าย อ.ธวัช ได้ฝากไปยังผู้ที่ชอบทำบุญทั้งหลาย ว่าการทำบุญมีหลายรูปแบบ ไม่ได้มีเพียงแค่การบริจาคเพียงอย่างเดียว และสิ่งที่จะทำแล้วได้บุญสูงสุด คือ “การเจริญภาวนา”
“ที่จริงวิธีการทำบุญบ้านเรามีเยอะแยะครับ อย่างเช่นการให้ทาน เราก็ทำกันอยู่ ชาวพุทธก็ทำกันอยู่ โดยเฉพาะปีใหม่ ทำบุญ ทำทาน รักษาศีล สวดมนต์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เราปฏิบัติธรรมกัน เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรม มีแนวทางเยอะ
สังคมชาวพุทธในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าไปเน้นเรื่องการบริจาคทานเป็นหลัก ผมอยากจะให้เน้นในเรื่องของการรักษาศีล การเจริญภาวนาให้มากกว่า คือการบริจาคทาน เป็นการกำจัดกิเลสชั้นหยาบ หมายถึงว่าเป็นพื้นฐาน การรักษาศีลก็จะละเอียดขึ้น ก็ยกระดับขึ้นสู่การรักษาศีล ศีล 5 ศีล 8 ศีลอุโบสถ และขั้นสูงสุดคือการเจริญภาวนา นั่นถือว่าเป็นบุญที่สูงสุด ได้บุญมากกว่าการบริจาค จะเน้นไม่ให้บริจาคเลยก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าให้ยกระดับการกำจัดกิเลสขึ้นไป รักษาศีล แล้วก็เจริญภาวนา ถือว่าได้บุญสูงสุด แล้วก็จิตใจก็สงบ สังคมก็เป็นสุขครับ”
ขอบคุณภาพและข้อมูล : เพจเฟซบุ๊ก “วัตถุมงคลหลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม นครปฐม - สายตรง”, “ข่าวเวิร์คพอยท์” รายการ “ทุบโต๊ะข่าว”