สะเทือนใจรับปีใหม่! สาวไลฟ์ฆ่าตัวตาย จ้างหนุ่มวินไลฟ์สดคอยถือโทรศัพท์ จู่ๆก็ปีนราวสะพานดิ่งสะพานพระราม 8 ก่อนกระโดดยังยิ้ม กางแขนชูสองนิ้วทิ้งดิ่งร่าง ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สังคมตั้งคำถาม ทำไมพี่วินไม่ช่วยห้าม หรือกล่อม ไม่สำเหนียกอันตราย และความเสี่ยง เพราะสาวคนนี้กำลังอยู่ในอาการเมามายสภาพจิตใจไม่ปกติ หากรีบไปดึงตัวมา คงไม่กระโดด หลายคนตั้งข้อสงสัย ช่วยถ่าย ไม่ช่วยห้าม ผิดกฎหมายหรือไม่
คิดไม่ถึง ไม่เอะใจ!?
ช็อก! ไม่คิดว่าจะโดด น้องเคลียร์ - นิตยา สวัสดิวรรณ สาวระนองวัย 18 ไลฟ์สดยิ้มให้กับกล้องและร้องเพลง "แพ้แล้วพาล" ก่อนจะตัดสินใจดิ่งจากสะพานร่วงลงสู่แม่น้ำ หายไปในความมืด โลกโซเชียลฯ ต่างตกใจที่ได้เห็นคลิปดังกล่าวต่างตกใจพร้อม ๆ กับตั้งคำถามว่า ว่า ใครเป็นคนถือโทรศัพท์ถ่ายไลฟ์และทำไมไม่ห้าม ทั้งๆที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย
จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุบนสะพาน พบขวดสุรา โทรศัพท์มือถือ บัตรประชาชน และสิ่งของต่าง ๆ วางไว้ สำหรับหนุ่มผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าทำไม ไม่ช่วยนั้น คือ ภัทรดนัย นุ่มศรีนารถ อายุ 25 ปี ผู้ไลฟ์สดภาพเหตุการณ์ฆ่าตัวตาย เล่าว่า น้องเคลียร์เรียกใช้บริการแกร็บไบค์ที่ตนเป็นผู้ขี่จากซอยนาคนิวาส 30 ย่านโชคชัย 4 มาลงที่สะพานพระราม 8 เมื่อถึงที่หมาย น้องเคลียร์ขอให้ตนเองอยู่เป็นเพื่อนและให้ถือโทรศัพท์มือถือของน้องเคลียร์ที่ไลฟ์สดอยู่ โดยตกลงจะจ่ายเงินเพิ่มให้อีก 500 บาท
ขณะเดียวกัน น้องเคลียร์ก็บ่นถึงแฟนหนุ่ม จิบเหล้าโซจู และร้องไห้อยู่ตลอดเวลา ก่อนจะปีนข้ามราวสะพานแล้วทิ้งตัวลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นพยายามตะกุยน้ำตามสัญชาตญาณก่อนร่างจะจมหายไปต่อหน้าต่อตา
ส่วนสาเหตุที่หนุ่มวินฯ ไม่เอะใจว่าจะฆ่าตัวตายเพราะคิดว่า น้องเป็นคนอารมณ์ติสต์ ต้องการมาถ่ายรูปสวย ๆ เท่านั้น เพราะวิวกลางคืนที่สะพานพระราม 8 สวยงาม คนนิยมมาถ่ายรูปกันเยอะและอากาศก็ดี ไม่คิดว่าจะมาคิดสั้นแบบนี้
เมื่อคลิปดังกล่าวถูกแชร์ออกไปเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิหนุ่มวินว่า ทำไม ไม่ห้าม! ทั้งที่พอจะมีเวลาพูดปลอบใจ ไม่ยอมรีบไปล็อกตัวช่วยแบบนี้ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่
ไม่สำเหนียกถึงอันตรายหรือความเสี่ยง สภาพเมาแป๋เสียสติขนาดนั้น เป็นเราคงทนดูได้ไม่ถึงห้านาที ต้องมีกล่อมให้สงบ ให้กลับบ้าน ให้ถอยออกมา ไลฟ์จนน้องโดดลงไป มันซื่อหรือว่าแล้งน้ำใจ?”
ช่วยถ่าย ไม่ช่วยห้าม ผิด ก.ม.?!
"ปล่อยให้ผู้อื่นตาย เราอาจผิดติดคุกได้นะครับ"
โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีดังกล่าว สงสัย ยืนอยู่ด้วยทำไมไม่ห้าม
“คลิปเด็กผู้หญิงกระโดดสะพานพระราม 8 ที่ปรากฏเป็นข่าว เห็นแล้วเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ข่าวว่าเด็กผู้หญิงจ้าง จยย.รับจ้างให้ถ่ายคลิป คนถ่ายก็น่าจะเห็นแล้วว่าเด็กสาวอยู่ในอาการมึนเมา ในคลิปมีภาพเหมือนส่งขวดเบียร์ให้เด็กสาวดื่มด้วย
เมื่อปีนขึ้นราวสะพาน และเปิดเพลงในทำนองผิดหวังเสียใจ ก็ควรจะห้ามหรือเข้าล็อกตัวไว้ไม่ให้ข้ามราวสะพานออกไปได้แล้ว หน้าที่ตามกฎหมายต้องหยุดการกระทำไม่ให้เด็กสาวเสี่ยงชีวิต ยังกลับยืนถ่ายคลิปต่อไป อาจเป็นความผิดมีโทษถึงจำคุกนะครับคนถ่ายคลิป หรือคนที่ยืนอยู่ด้วยแล้วไม่ห้าม"
ตามมาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าคนถ่ายคลิปส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดื่ม ซึ่งผู้หญิงก็ไม่แน่ใจว่าอายุเท่าไหร่ ถ้าต่ำกว่า 18 ปี ก็จะมีข้อหาตามมาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์
หากฝ่าฝืนมาตรา 26 นี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการสอบสวนของตำรวจไม่มีข้อมูลอย่างอื่น เป็นภาพตามคลิป อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้
ฝากเตือน ระมัดระวังกันไว้นะครับ เหตุการณ์เช่นนี้ คนถ่ายคลิป คนยืนดู ไม่ยอมเข้าไปช่วย หยุดเหตุการณ์ร้าย ปล่อยให้เค้าตาย คุณอาจผิดกฎหมายมีโทษถึงจำคุกได้"
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต อธิบายถึงการช่วยเหลือคนที่กำลังประสบปัญหาชีวิต หรือพยายามฆ่าตัวตาย ว่าเป็นเรื่องของมนุษยธรรม ควรจะให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว เพียงแต่กฎหมาย (มาตรา 374) เป็นตัวช่วยสนับสนุนว่า ให้ทำเพราะเป็นหน้าที่ของความเป็นพลเมือง ถ้าไม่ทำ ก็อาจจะมีความผิดตามกฎหมายได้ เป็นพื้นฐานที่ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ช่วยเพราะจะผิดกฎหมาย แต่เป็นมนุษยธรรม
“เราต้องเข้าไปให้ถึงตัวเขา พูดคุยกับเขา ไม่ให้เขาทำพฤติกรรมที่ดูสุ่มเสี่ยง เช่น ปีน”
สัญญาณเตือน “ฆ่าตัวตาย”
สำหรับการไลฟ์สดฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง ในปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่น่าห่วงที่มักพบบ่อยครั้งนั้น น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการส่งสัญญาณก่อนทำร้ายตนเองทางโลกโซเชียลฯ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ และคลิปวีดีโอ เช่น การตัดพ้อหรือพูดจาสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ลาก่อน ครั้งนี้จะเป็นโพสต์สุดท้าย คงไม่ได้เจอกันอีกแล้ว อโหสิกรรมให้ด้วย หรือใช้ข้อความบ่งบอกไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยู่ไม่ได้จริงๆ ถึงเวลาแล้ว ชีวิตมันสั้นนัก หรือพูดถึงความเจ็บปวดสูญเสียที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมทั้งโพสต์ถึงการเป็นภาระของผู้อื่น หรือรู้สึกผิด
“เผลอส่งคลิปเสียงให้ใครขอโทษนะคะ โดนผู้ชายเห็นแก่ตัว ทำร้ายค่ะ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มัน สุดมากๆ ไม่สามารถอโหสิกรรมให้ได้...” น้องเคลียร์ โพสต์ข้อความก่อนฆ่าตัวตาย ซึ่งถือว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงความเศร้าอยู่เกาะกินใจ
“บางรายมีการโพสต์ภาพวิธีที่จะใช้ทำร้ายตัวเอง สัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญที่สุด ที่จะเกิดการทำร้ายตนเองจริงได้ ดังนั้นจึงอย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ไร้สาระ หรือล้อเล่น แต่ต้องช่วยเหลือทันที เพราะการปรากฏตัวในโลกโซเชียลฯ เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่า เขาอาจยังมีความลังเลอยู่ กำลังร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งในจังหวะนั้นสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตนี้ได้ ด้วยการประวิงเวลา ให้กำลังใจ ให้ข้อคิด สนทนาเรียกสติ ยับยั้งความคิด ให้หลุดพ้นห้วงอารมณ์นั้น ให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงไปให้ได้
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เตือนว่า ทุกคนอย่าท้าทาย เช่น ทำเลย กล้าทำหรือเปล่า เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้เขาทำ และอย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย ตำหนิ ด่าว่า เช่น โง่ หรือบ้า เพราะจะยิ่งเพิ่มความคิดทางลบและเพิ่มโอกาสมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้อย่าแชร์หรือบอกต่อ หรือเผยแพร่ข้อความ ภาพการทำร้ายตนเองของบุคคลนั้น เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นที่คิดจะทำร้ายตนเองเกิดการเลียนแบบเข้าใจผิดว่าเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะกับผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว และยิ่งหากเป็นเด็กและเยาวชน อาจเข้าใจผิดคิดว่าทำร้ายตนเองเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ง่าย
เหตุการณ์นี้ถืออุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี ถึงการพยายามเข้าใจ รับฟังผู้ผิดหวังในชีวิต เพราะเขาอาจจะทำในสิ่งที่คาดไม่คิดได้ทุกวินาที!