xs
xsm
sm
md
lg

สมควรไหม? ผกก.หนังไทยขายความฉาว สร้าง "คน(เคย)ผิด" ให้เป็น "คนดัง"!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ให้โอกาสหรือฉวยโอกาส?! จวกสนั่น “หลวงพี่แจ๊ส 5G” ดัน “ปืน” หนุ่มจากคลิปด่าตำรวจ เจ้าของวลี “ถอดเครื่องแบบมาต่อยกับตูป่าว?” มาเล่นหนัง ซ้ำยังให้รับบทวัยรุ่นท้าต่อยพระไปอีก ด้าน “พชร์ อานนท์” ผกก. ตอบกลับกระแสดรามา คิดดีแล้วถึงเอามาเล่น น้องไม่ได้ไปฆ่าใครตาย เอาสแตนด์อินมาเล่นก็ไม่มันเท่าตัวจริง นักวิชาการด้านสื่อยัน ความไม่ถูกต้องไม่ควรขยายภาคต่อ!

จากด่าตำรวจ มาท้าต่อยพระ!

"ตำรวจตูยังด่าได้เลย ทำไมพระตูจะด่าไม่ได้วะ!"
“ปืน - พายุ แซ่โง้ว” วัยรุ่นหัวร้อนจากคลิปด่าตำรวจ จนเป็นข่าวดัง กลายมาเป็นประเด็นดรามาที่ผู้คนให้ความสนใจอีกครั้ง นั่นก็เพราะเขาถูกรับเชิญมาแสดงในภาพยนตร์ชื่อดัง มิหนำซ้ำยังได้รับบท วัยรุ่นท้าต่อย “พระ” ตอกย้ำภาพจำสุดฉาวในอดีต จนโลกโซเชียลฯ ถึงกับเซ็ง แถมซัดผู้กำกับหนังเละ เกาะกระแสจากคนที่เคยทำผิดแบบนี้สมควรแล้วหรือ?!



ยังไม่ทันจะเข้าโรงฉาย ก็มีเรื่องฉาวเสียแล้ว ทันทีที่มิวสิกวิดีโอเพลงประกอบภาพยนตร์สุดฮา “หลวงพี่แจ๊ส 5G” ที่กำกับโดยผู้กำกับดังอย่าง “พชร์ - อานนท์ มิ่งขวัญตา” ถูกเผยแพร่ออกมา ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นั่นก็เพราะบางช่วงบางตอนของ MV นั้น ปรากฏภาพของ “ปืน” เด็กหนุ่มอารมณ์ร้อนที่เคยสร้างวีรกรรมด่าและถ่มน้ำลายใส่ตำรวจ พร้อมด้วยแม่ของเขา ร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ ซึ่งมีฉากท้าตีท้าต่อยกับพระ รวมถึงให้คำพูดกับพระด้วยถ้อยคำที่หยาบคายอีกด้วย

ทางฝั่งของโลกโซเชียลฯ หลังจากที่หลายคนได้ชมมิวสิกวิดีโอนี้ ความคิดเห็นส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือตำหนิผู้กำกับของเรื่อง ที่ดึงเอาผู้ที่เคยกระทำผิดในอดีต มาใส่ไว้ในหนังของตนเองเพื่อเรียกเรตติ้ง แถมยังยัดเยียดให้แสดงในบทบาทตอกย้ำพฤติกรรมเดิมๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการเลียนแบบในกลุ่มเยาวชนได้อีก ขณะเดียวกันทางฝั่งของปืนและแม่ ก็ถูกกระแสโซเชียลฯ โจมตีในเรื่องของความไม่เหมาะสมที่มาแสดงหนังเรื่องนี้



เมื่อมีกระแสตีกลับขนาดนี้ “ปืน” จึงได้เปิดใจผ่านรายการทุบโต๊ะข่าว ช่องอมรินทร์ทีวี ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เขาเล่าว่า มีทีมงานมาติดต่อ ทีแรกเขาบอกว่าให้ไปทะเลาะกับเด็กวัดจึงรับเล่น แต่พอไปถึงเขาเปลี่ยนบทให้ไปด่าพระ แล้วรับงานเขามาแล้วก็ต้องเล่น และกล่าวต่อไปว่า “ผมไม่ได้คิดอะไรมากมาย มันเป็นหนังเขาให้เล่นมาผมก็เล่นตามบทที่เขาวางแค่นั้นเองครับ แล้วแต่คนจะมองผมไม่ได้ไปมีปัญหาส่วนตัวกับเขา” ปืนกล่าว

ด้านแม่ของปืน คือ สราวรรณ หว่างตาล ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มองว่าเป็นโอกาสของลูกจึงรับงานนี้ โดยให้ปืน แสดงตามอารมณ์ที่ทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันเกิดเหตุ แต่ให้ลูกชายทะเลาะกับพระ ตอนแรกที่ได้ยินรู้สึกตกใจ เพราะบทดูรุนแรงกว่าที่คุยกันไว้ แต่เมื่อรับงานมาแล้วต้องแสดงตามบท หนังเรื่องนี้เป็นหนังตลก ที่มีคติสอนใจ ตนจึงไม่ได้คิดอะไร ยอมรับว่า ลูกชายตนเคยทำผิดพลาด แต่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นฆ่าตนตาย ถึงขนาดไม่สามารถแสดงหนังได้ เข้าใจว่า ต้องมีกระแสวิจารณ์ แต่เมื่อทางคุณพชร์ให้โอกาส และทีมงานเชื่อมั่นในตัวลูกชาย จึงรับงานนี้เพราะเป็นแค่การแสดง



นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการดึงเรื่องของพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ โดยเฉพาะการนำมาถ่ายทอดผ่านมุมของหนังตลก สำหรับประเด็นที่มีฉากด่าและท้าต่อยกับ “พระ” ของหนังเรื่องนี้ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมนั้น ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ติดต่อไปยัง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งก็ได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ แต่ก็ได้ฝากข้อมูลเอาไว้

“ตรงนี้มันมีกฎหมายบ้านเมืองคุมอยู่ ก็คือว่าการแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์มีไหม ถ้ามีก็ผิดกฎหมาย แต่ถ้าไม่ได้มีเจตนาก็อีกเรื่องหนึ่งนะครับ อาจจะเป็นการแสดงหนังธรรมดา เหมือนกับคนแต่งเครื่องแบบตำรวจ เครื่องแบบข้าราชการนะครับ ที่แสดงในหนัง ซึ่งโดยมากแล้วถ้าเป็นการเล่นหนัง เขาก็เห็นว่าไม่เจตนา ในส่วนที่จะกระทำให้คณะสงฆ์เสื่อมเสียหรือไม่ คำว่าคณะสงฆ์ก็ไม่ใช่นิติบุคคล องค์หรือรูปใดเสื่อมเสียก็ไปดำเนินคดีหรือแจ้งความร้องทุกข์ได้ครับ”



ล่าสุด ผู้กำกับของเรื่อง ก็ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวเป็นที่เรียบร้อยว่า ถ้าใครจับจุดให้ดี ในหนังจะมีการสอนว่าให้ใช้สติ สมัยนี้ใครไม่มีสติก็จะถูกรุมจนตาย ในเพลงที่ปล่อยออกมามีแค่นั้น แต่ในหนังมีอีก ฉากนั้นเป็นฉากที่พระแจ๊สเดินไปบิณฑบาต แม่ลูกคู่นี้เป็นใส่บาตร ก็มีการพูดคุยกันให้มีสติ ซึ่งในเรื่องมีคนรับเชิญเป็นเหตุการณ์ในสังคมอีก “น้องเขาไม่ได้ฆ่าคนตาย คิดแล้วถึงเอาน้องมาเล่น” พชร์ อานนท์ กล่าว

อย่าเอาความไม่ถูกต้องมาทำภาคต่อ!

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ที่ผ่านมา ผลงานของผู้กำกับผู้นี้ มักจะมีการดึงเอาบุคคลที่เคยเป็นกระแสบนโลกโซเชียลฯ ที่มีทั้งกระแสด้านบวกและด้านลบ มาเป็นนักแสดงรับเชิญในหนังของตนเอง เพื่อสร้างกระแสให้กับหนังจนถูกวิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งคนดังบนโซเชียลฯ ก็มีทั้ง หนุ่มปากแดงอย่าง “เทพพิทักษ์” หรือจะเป็น “น้องน้ำเต้า” สาวปั๊มที่ถูกเหยียดเรื่องหน้าตา และอีกหลายต่อหลายคน จนกระทั่งมาถึง “ปืน” หนุ่มท้าต่อยกับตำรวจ จนหลายคนกังวลว่า การทำเช่นนี้จะทำให้เยาวชนเลียนแบบพฤติกรรมหรือไม่

เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงสอบถามไปยัง ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนท่านนี้ ได้ให้คำตอบมาว่า ไม่ควรนำผู้ที่เคยตกเป็นประเด็นฉาวมานำเสนอซ้ำและไม่ควรเล่นกับประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเรื่องศาสนา



“ในฐานะผู้สอนเรื่องรู้เท่าทันสื่อ ยืนยันว่า สื่อมีอิทธิพลต่อผู้ชมแน่นอนค่ะ การนำผู้ที่เคยมีภาพของความเสียหายเข้ามาอยู่ในภาพยนตร์ สาเหตุเพื่ออาจจะให้โอกาส มันไม่ใช่แบบนั้น คือคนทำภาพยนตร์จะต้องนึกว่าภาพยนตร์คุณต้องการอะไร ต้องการเงินหรือต้องการบอกอะไรกับสังคม เพราะฉะนั้นการที่จะบอกสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ควรนำคนที่มีภาพพจน์ที่ดีมานำเสนอ

ถ้าผู้ตกเป็นข่าวหรือผู้ที่เป็นประเด็นทางสังคมที่มีการด่าว่ามาเล่น เท่ากับว่าช่วยดึงเรื่องเก่าๆ กลับมาอีก เราควรจะยุติเรื่องราวเหล่านั้น ไม่ให้เป็นการตอกย้ำและนำมานำเสนอซ้ำ อีกอย่างเรื่องพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่คุณกลับเอามุกนั้นมาเล่นเป็นเรื่องตลกในหนัง หรือเพื่อที่จะทำเงินในหนัง มันไม่ใช่จุดที่ควรจะทำ เราควรจะเชิดชูวีรกรรมที่ดีๆ เรื่องดีๆ ในสังคมมีเยอะ

อย่าถือว่าตลกจะทำอะไรก็ได้ อย่ามาเอาสาระกับตลก มันไม่ใช่ค่ะ เพราะในการทำตลก มันมีสาระที่ออกมาอยู่แล้ว มันจะบ่งบอกรสนิยมของคนทำ บ่งบอกรสนิยมของคนดู ถ้าอยากให้คนดูขำอะไรสักอย่าง คุณช่วยใส่มุกที่มันสร้างสรรค์นะคะ อย่าเล่นกับศาสนา อย่าเล่นกับการเมือง ซึ่งมันเป็นประเด็นทางสังคมที่เขาไม่เล่นกันค่ะ”

เมื่อถามถึงเรื่องของการนำเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตมาฉายซ้ำผ่านสื่อต่างๆ จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้จริงหรือไม่ ผศ.ดร.พรทิพย์ ได้ตอบอย่างหนักแน่นกลับมาว่า เกิดขึ้นจริงและเกิดจากสื่อทุกประเภทไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอผ่านจอเงิน
"


โลกโซเชียลฯ มีการตัดต่อภาพล้อกับเหตุการณ์นี้

เอาเป็นว่าพฤติกรรมการเลียนแบบของเยาวชนเกิดขึ้นจากสื่อทุกประเภทนะ
สื่อที่ไม่ดีแล้วมันโดนใจเขา เขาก็เลียนแบบเรื่องพฤติกรรมหรือการแต่งกาย อย่างกรณีวัยรุ่นตีกันในห้องฉุกเฉินโดยที่ไม่ได้คำนึงว่านั่นคือโรงพยาบาล ในสัปดาห์นั้นเห็น 3 ข่าวเลย เนื่องจากเยาวชนขาดจิตสำนึกที่ถูกต้องนะคะ


เพราะฉะนั้นการเลียนแบบ เขาก็จะเลียนแบบตามกลุ่ม บางครั้งสื่อไม่บอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี พอนำเสนอมาเขาก็ลืมที่จะแยกแยะ ยืนยันว่าสื่อมีผลกระทบต่อการเลียนแบบของผู้ชมแน่นอนค่ะ ถึงบอกว่าทำไมต้องทำให้ผู้ชมรู้เท่าทันสื่อ เข้าใจว่านั่นคือสิ่งไม่ถูก นั่นคือการแสดง แล้วเขาก็จะไม่เลียนแบบ แต่มันไม่ใช่ไง ในความรู้สึกว่าทำแบบนี้มันสนุกนะ มันดีนะ คนชอบนะอย่างปัจจุบันเลียนแบบปานามากัน ทุกงานต้องมีเพลงนี้ มันเป็นความบันเทิง ด้วยลีลา เสียง ทำนอง เลียนแบบเรื่องเต้นกันไปก็ไม่ว่ากัน แต่มันจะมีบางคนที่ใส่แค่บิกินีเต้น บางคนขายตัวเองทางยูทูบโดยใช้เพลงนี้ ถ้าจะเลียนแบบทางนี้มันก็ไม่ถูกค่ะ"

สุดท้ายนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ได้ฝากแง่คิดไปยังคนทำหนังไทยในปัจจุบัน หากอยากให้หนังออกมาดี บทหนังต้องดีก่อนเป็นอันดับแรก และหากเป็นหนังตลก ก็ควรจะตลกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ตลกอย่างก้าวร้าวดังเช่นที่ผ่านมา



“จริงๆ หนังไทย มีการพัฒนาการขึ้นมาตลอดเวลาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่หลายๆ ครั้งมันไม่พัฒนาต่อ มันก็กลับไปที่จุดเดิม เมื่อ 5 ปี 10 ปีที่แล้ว หนังจะดี ยืนยันเลยนะคะ บทต้องดี ถามว่านักแสดงของเราดีไหม ดีค่ะ แต่บางครั้งบทไม่ดี บทไม่ถึง เพราะฉะนั้นคุณภาพของหนังมันจะขยับไปได้ โลกของภาพยนตร์น่าจะสรรหาบทที่ดี คนเขียนบทที่ดี และกล้าที่จะดึงประเด็นที่มันเป็นโลกของความบันเทิง ยืนยันว่าหนังคือความบันเทิง แต่ในนั้นแค่วางความบันเทิงหรือประเด็นเล็กๆ มันก็สามารถอิ่มได้นาน ดูได้นาน และก่อการกระตุ้นจิตสำนึกหรือแรงบันดาลใจที่ดี ให้กับสังคมไทยได้ค่ะ

การทำหนังตลกก็มีมุกอื่นเยอะแยะ ไม่อยากให้ไปถึงทางตันที่นึกอะไรไม่ได้ก็เอาคลิปที่ รู้แหละว่ามุกนั้นคนดูบางทีก็ชอบ แต่มันก็คือเป็นความก้าวร้าว เป็นความไม่ถูกต้องในสังคมและไม่ควรขยายภาคต่อ ถ้าใครจะทำหนังตลกก็หามุกใหม่ มุกที่สร้างสรรค์ก็ได้ แต่ไม่อยากให้เอามุกที่เคยสร้างความเสียหายและเป็นประเด็นที่ไม่ดีในสังคมมาขายค่ะ”

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “ทุบโต๊ะข่าว” และ เฟซบุ๊ก “พชร์ อานนท์”
ขอบคุณภาพ : ภาพยนตร์ “หลวงพี่แจ๊ส 5G”
กำลังโหลดความคิดเห็น