xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่มีวันดูถูกละครไทย” จากใจ “โดนัท” ในมาด “ผู้กำกับหลังข่าว” ครั้งแรก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ที่เรามีทุกวันนี้ได้ก็เพราะละครจริงๆ เพราะฉะนั้น โดนัทจะไม่มีวันดูถูกวงการละครเลย” ถึงแม้จะเคยผันตัวไปเป็นผู้กำกับหนังทางเลือกมาแล้ว แต่นางเอกสาวฝีมือคุณภาพคนนี้ก็ไม่เคยหลงลืมเสน่ห์บนจอแก้วเลยสักครั้ง ท่ามกลางกระแสนิยมซีรีส์ต่างแดนที่โหมกระหน่ำ จนดึงความสนใจของผู้ชมไป อยากให้รู้ว่ายังคงมีผู้กำกับสาวอีกหนึ่งคน ที่กำลังพยายามขับเคลื่อนวงการที่เธอรักต่อไป เพื่อให้ “ละครไทย” หลุดจากคำว่า “ชาวบ้าน” แล้วไปครองใจอีกหลายๆ เจเนอเรชันได้สักที




แบ่งอารมณ์เป็น “เฉดสี” ไม่ใช่แค่ “เล่นใหญ่” แล้วจบ

[มาดผู้กำกับฉายแวว ตั้งแต่สมัยทำหนัง]
เพราะสถานะ “เป็นผู้กำกับละครครั้งแรก” ของเธอ ทำให้ผู้สัมภาษณ์ต้องขอนัดหมายเพื่อแลกเปลี่ยนบทสนทนาในครั้งนี้ ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะได้พูดคุยกัน เรารู้จักผู้หญิงที่ชื่อ “โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล” ในมาด “นักแสดง” มาตลอด 17 ปี และเพิ่งได้รู้จักตัวตนอีกมุมหนึ่ง ผ่านผลงานการกำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “The Journey บันทึกทางไกล..ถึงพ่อ” เมื่อ 2 เดือนที่แล้วนี้เอง



ในเมื่อต้องคุยกับคนที่ตั้งใจไปเรียนคอร์สทำหนัง “Digital Film Making” จนจบจาก “New York Film Academy” ได้สำเร็จอย่างโดนัท ความคาดหวังเรื่องการเปลี่ยน “ความไม่สมจริง” หรือ “การเล่นใหญ่” ที่เห็นๆ กันในละครไทย จึงเป็นประเด็นแรกๆ ที่ผู้สัมภาษณ์ต้องขอหยิบมาถาม ว่าจะมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม ในการกำกับละครเรื่อง “เดือนประดับดาว” ซึ่งเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของเธอ จนนำมาสู่คำตอบที่น่าจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจคำว่า “ละครไทย” มากขึ้น


[ผลงานการกำกับละครเรื่องแรกของโดนัท]

“คนอาจจะมองว่า ละครต้องเล่นใหญ่ หนังต้องเล่นเล็กกว่า แต่สำหรับโดนัท โดนัทไม่อยากให้เรียกอย่างนั้นเลย เพราะมันผิด เวลาที่คนบรีฟละคร ถ้ามาบรีฟนักแสดงว่าต้องการให้เล่นใหญ่ มันไม่ใช่นะ สำหรับโด โดมองว่าแอ็กติ้งสำหรับทีวี มันแค่ต้อง “ขยายความ” แล้วก็ต้องเล่าเรื่องให้จบได้ภายในระยะเวลาสั้น

เราต้องเข้าใจก่อนว่า คนดูทีวีไม่เหมือนคนดูหนัง คนดูหนังเขาอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ที่เขาตั้งใจว่าเขาจะมาดูหนัง เขาโฟกัส แต่คนดูละครทีวี มีทั้งถูบ้าน กินข้าว ล้างจาน รีดผ้า คุยกับลูก แชต อินสตาแกรม ไลน์ ฯลฯ ทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน คนดูเขาอยากจะหันมาดูแล้ว เห็นแอ็กชั่นนั้นปุ๊บ เขาเข้าใจเลย มันถึงเขาเลย แอ็กชั่นทีวีมันจะชัดกว่า


สำหรับโดนัท เวลาจะอธิบายน้องๆ นักแสดง ถ้าอยากบอกให้เขาเล่นให้ชัดกว่านั้น โดนัทจะอธิบายให้เขาเห็นภาพ สมมติมีฉากที่ “บอม” (ธนิน มนูญศิลป์ พระเอกเรื่อง “เดือนประดับดาว”) ต้องโกรธ เราก็จะบอกเขาว่า โกรธระดับไหน คือจะไม่บอกว่าให้โกรธให้ใหญ่กว่านี้



[เบื้องหลังฮา ระหว่างผู้กำกับ กับ "พรีม" นางเอกของเรื่อง]
หรืออย่าง “พรีม (รณิดา เตชสิทธิ์ นางเอกของเรื่อง)” เองก็ยังใหม่ ก่อนจะถึงหน้าเซต ก็ต้องให้เขามาตีกันก่อนว่า วันนี้ต้องเล่น “สีไหน” อย่างอารมณ์โกรธ อยากได้ระดับไหน โดนัทก็จะมีวิธีของโดนัทแหละว่า อยากได้โกรธแบบจริง, โกรธแบบไม่จริง, โกรธแบบไม่มองหน้า, โกรธแบบจะฆ่า, โกรธแบบไม่เผาผี ฯลฯ ซึ่งเราก็ต้องมาคุยกัน ถึงจะได้แอ็กติ้งที่เราอยากได้”

เรื่องที่ได้หยิบยืมเอาศาสตร์ของภาพยนตร์มาใช้ น่าจะเป็นเรื่อง “การเล่าเรื่องด้วยภาพ” มากกว่า จากการถ่ายแบบเดิมๆ ของละครไทยที่อาจถ่ายแค่ไม่กี่ครั้ง หรือถ่ายรับมุมภาพไม่กี่มุม แต่กองของโดนัทก็เป็นอีกกองที่ใช้วิธีผสมผสาน

“มีทั้งขอถ่ายแบบภาพกว้าง ภาพพิเศษ แล้วภาพแคบ คือใน 1 ฉากต้องค่อยๆ ถ่าย จะได้ภาพหลายๆ มุม เวลาเอาไปตัดต่อ มันก็จะดูสนุกขึ้น โดนัทก็พยายามทำให้ละครเรามีความเป็นดิจิทัลมากขึ้นนะ ให้มันมีความเป็นซีรีส์มากขึ้น



“ผู้กำกับโดนัท” ไม่เคยดูถูกละครไทย

“ทำยังไงก็ได้ ให้นักแสดงอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลายที่สุด แล้วเราจะได้ซีนที่ดีที่สุดจากเขา” คือเคล็ดลับที่ทำให้ผู้กำกับสาวในมาดนักแสดงวัย 35 คนนี้ สามารถเค้นเอาอินเนอร์ออกมาจากนักแสดงหนุ่มที่ถูกตราหน้าว่า “เล่นแข็งเป็นท่อนไม้” อย่างบอมได้ และเมื่อถามถึงความยากในการเทรนพระเอกของเรื่องนี้ เธอก็ให้คำตอบแค่ว่า เรื่องที่คนครหากัน ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเธอเลย

โดนัทไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการแสดงของบอมเลยนะ โดนัทรู้สึกว่าน้องไม่ได้แย่จนทำไม่ได้ บอมปรับง่าย แต่แค่ต้องมีความมั่นใจให้เขา ต้องให้เขาสบายที่สุด และเขาต้องรู้ว่าให้เขาทำอะไร ถ้าเขาไม่รู้ เขาก็จะเกร็ง แล้วก็ทำไม่ได้ โดนัทว่าบอมเขาก็พัฒนา แล้วก็พยายามมากๆ เพราะน้องเขาก็รู้ว่ามีคนวิจารณ์เยอะมากเรื่องการแสดงของเขา


ที่สำคัญ โดนัทจะอยู่ตรงนั้นตลอดสำหรับนักแสดง เขาจะรู้ว่าถ้าเขาหันมา เขาจะเจอเรา อย่างในซีนที่มันยากมาก โดนัทก็ไม่ได้จะเริ่มด้วยการบอกเขาว่า โห..ซีนนี้มันยากมากนะ เราจะต้องไปด้วยกัน แต่โดนัทจะทำให้มันง่าย คือถ้าซีนนี้ยาก เรารู้อยู่แล้ว แต่เราต้องทำให้เขารู้สึกว่า มันโคตรง่ายเลยที่จะเล่น ต้องทำให้เขารู้สึกไม่กังวล ไม่มีความกดดัน เพราะนักแสดงมันเร็วมากกับเรื่องแบบนี้

ถ้าวันนี้มีซีนอารมณ์หนักมาก แล้วเราเดินไปบอกเขาว่า เอ้า! นี่ซีนอารมณ์นะ เขาก็เครียดแล้ว โดนัทจะใช้วิธีเดินไปบอกเขาว่า อะ..ค่อยๆ ทำนะพรีม หรือถ้าสมมติอารมณ์พรีมยังไม่มา ก็จะซ้อมกับน้องก่อนว่า นี่ภาพกว้างนะ ให้น้องหยอดก่อนเลย เสร็จแล้วเดี๋ยวเขามาของเขาเอง หรือถ้าเล่นไม่ได้ โดนัทก็จะบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเล่นให้ดูเอง เพราะเราอยากเล่นเพื่อให้เขา react สิ่งที่เราอยากจะได้

[คู่พระนางที่ผ่านการเทรนจากโดนัทมาแล้ว]

นอกจากความรู้ในห้องเรียนที่ได้จากเอก “การแสดงและกำกับการแสดง” คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็มีวิชา “ครูพักลักจำ” ตลอด 17 ปีที่อยู่ในวงการนี่แหละ ที่สั่งสมให้กลายเป็น “ผู้กำกับโดนัท” หลักสูตรผสมผสาน หยิบเอาส่วนดีๆ ของ “ผู้กำกับรุ่นใหญ่” แต่ละคนมาปรับใช้จนมีลายเซ็นของตัวเอง

“อย่าง “อานะ (ชนะ คราประยูร)” เขาจะห้ามพูดบทผิดเลย ทำให้เราเกร็งมาก แต่ก็ทำให้เรามีวินัยมากสุดๆ เหมือนกัน จากที่โดนัทไม่ใช่คนที่จำบทได้ดีเลย เราก็ต้องอ่านแล้วอ่านอีก อ่านๆๆ พยายามทำให้คำเข้าปาก ส่วน “พี่ปุ๊ย (ผอูน จันทรศิริ)” ก็จะเป็นคนที่เดินมาหาเราหน้าเซตตลอดเวลา ไม่เคยพูดผ่านวอ เราก็จะจำตรงนี้ไว้ตลอดว่า ไม่ว่าปีนเขา ลุยน้ำ หรือไกลแค่ไหน พี่ปุ๊ยก็จะเดินมาหาเรา

[ผู้กำกับสาว กับ "บอม" พระเอกหนุ่ม]

“พี่อ๊อฟ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง)” ก็จะเป็นคนที่แค่มายืนอยู่ ทุกอย่างก็จะง่าย ไม่มีความกดดันเลย เราก็หยิบตรงนี้มาใช้ ส่วน “พ่ออี๊ด (สุประวัติ ปัทมสูต)” ก็จะเป็นคนที่สบาย แล้วก็จะใช้ปรัชญาว่าชีวิตคืออะไร ให้เล่นแบบหนังชีวิต เล่นแบบไม่ต้องเล่นละคร แต่ทำให้มันเป็นชีวิต

และครูของโดนัทอีกคนก็คือ “หม่อมน้อย (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล)” ค่ะ ที่จะมีความเป็นพุทธศาสนา ให้เราฝึกสมาธิ รวมถึงความละเมียดละไม พิถีพิถัน เราก็เห็นจากหม่อม คือถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อย แต่หม่อมก็จะทำเพื่องาน จนกว่ามันจะถึงที่สุด

เราก็จะเอาทุกคนมาผสมกัน แล้วก็ต้องผสมรูปแบบของนักแสดงด้วย หรืออย่าง “พี่หนุ่ม (กฤษณ์ ศุกระมงคล)” เราก็จะชอบเรื่อง blocking ของเขามาก เขาจะตื่นตัวตลอดเวลา ทำให้ blocking ของพี่หนุ่มมีความเคลื่อนไหว และเขาจะสอนโดนัทตลอดว่า มันคือจิตวิทยานะ ทุกวันโดนัทก็ต้องคิดว่ามันคือจิตวิทยา (หัวเราะ) ไม่ว่าโดนัทจะอยู่ในสภาวะไหนก็ตาม หน้ากองโดนัทก็ต้องแสดงออกว่าแฮปปี้นะ ค่อยๆ ทำกันต่อไป


ต้องบอกว่าที่เรามีทุกวันนี้ได้เพราะละครจริงๆ ค่ะ ที่สอนเรา ที่ให้อะไรกับเรา อย่างทุกวันนี้เวลาทำงาน เราก็เอาคำสอน เอาวิธีการของผู้กำกับละครหลายๆ ท่านมาใช้ ซึ่งโดนัทก็โชคดีนะที่ได้ทำงานกับรุ่นใหญ่ๆ เยอะ พอเราได้ไปถ่ายหนัง ถ่ายโฆษณา เราถึงรู้ว่า โห..คนทำละครได้นี่อึดมาก (เน้นเสียง) โดนัทว่าละครหนักสุดแล้ว

วงการละครเป็นอะไรที่เหนื่อยนะ เพราะเราทำงานหนักจริงๆ ถ่ายละครมันไม่ง่ายนะ 7 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่มที่ต้องอยู่กอง แล้วยิ่งละครที่ต้องถ่ายต่างจังหวัด ต้องตื่นตี 4 กลับถึงบ้านเที่ยงคืน-ตี 1 แล้วก็ต้องตื่นมากองถ่ายอีก วันๆ หนึ่งถ่ายทุกฉาก เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวเป็นบ้า ไม่มีเวลาให้มา relax เลยค่ะ

ถ้าถ่ายหนัง ยังมีแบ่งถ่ายเป็นคัดๆ ไป แต่ถ่ายละครต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งต้องอึดและถึกมากจริงๆ เพราะฉะนั้น โดนัทจะไม่มีวันดูถูกวงการละครเลยค่ะ เพราะสำหรับโดนัท ถ้าโดนัทไม่ได้โตมากับวงการละคร โดนัทจะไม่เป็นคนแบบนี้เลย”



ตัวตนหลากมิติ!! ชอบทดลอง-รักที่จะบอกเล่า

[รับได้ทุกบท รวมถึงบทหญิงสาวที่ไม่ซีเรียสเรื่องความสัมพันธ์]
เป็นหลายๆ อย่างให้แฟนๆ ได้เห็นแล้ว ทั้งนักแสดง, นักเขียน, คนเขียนบท, ผู้กำกับหนัง และผู้กำกับละคร ดูเหมือนว่าเราจะได้เห็น “บทบาทใหม่” ในตัวเธอคนนี้ตลอดเวลา สงสัยจริงๆ ว่าอะไรทำให้ผู้หญิงร่างเล็กๆ คนนี้มีแรงขับเคลื่อนตัวเองให้ทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอๆ คนถูกถามยิ้มรับบางๆ ก่อนให้คำตอบว่า เป็นเพราะเธออยาก “เป็นเด็ก” อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

“คงเป็นเพราะเป็นคนชอบเรียนรู้ค่ะ รู้สึกว่าสนุกดีนะ ได้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ การได้ลองอะไรใหม่ๆ ทำให้เราเป็นเด็กตลอดเวลา และโดนัทก็ไม่อายนะเวลาที่ทำอะไรไม่เป็นแล้วถาม โดนัทก็จะพูดเลยว่า อันนี้โดนัททำไม่เป็นนะ อันนี้ต้องช่วยดูหน่อย แต่ก็จะไม่ชอบเวลาที่อันนี้คือหน้าที่เรา แล้วเราไม่รู้จริง จะไม่ชอบ จะรู้สึกว่าเราจะไปบอกคนอื่นยังไง เราจะไปพูดกับคนอื่นได้ยังไงว่าเราทำได้


และโดนัทว่าคนก็น่าจะชินที่โดนัทเป็นแบบนี้แล้วนะ (ยิ้ม) ก็มีบอกว่าเราติสต์บ้าง แต่ถ้าวัดจากตัวเอง คำว่า “ติสต์” สำหรับโดนัทมันดูไกลนะ เอื้อมไม่ถึง โดนัทรู้สึกว่าโดนัทเป็นคนง่ายๆ มากกว่า แค่มีความชอบในสิ่งที่ทำหลายอย่าง แต่จริงๆ เราก็เป็นคนสบายๆ คนนึง”

ถ้าให้หาจุดที่เชื่อมโยงกันในสิ่งที่เธอเลือกทำ โดนัทมองว่าน่าจะมาจากความรู้สึก “อยากเล่าเรื่อง” ของตัวเองนี่แหละ “ที่มาค้นพบตอนหลังว่าตัวเองชอบงานกำกับมาก เพราะมันได้ใช้ทั้งเรื่องแอ็กติ้งของเรา และเราก็ได้เล่าเรื่องด้วย แต่จริงๆ ที่โดนัทชอบที่สุดคืองานตัดต่อค่ะ เพราะมันได้เล่าเรื่องด้วยภาพ อย่างหนังเรื่อง “The Journey” โดนัทก็มีตัดเองด้วย ก็อาจจะเป็นคำตอบเดียวกันที่ว่า ทำไมเราถึงชอบเขียนหนังสือ เขียนบทบ้าง เพราะมันได้เล่าเรื่องเหมือนกัน นักแสดงก็เป็นคนเล่าเรื่องอย่างนึง”

พอๆ กับเรื่องงานแสดงที่โดนัทก็ได้ทำหน้าที่ “เล่าเรื่อง” หลากหลายไม่แพ้กัน เพราะเธอเลือกที่จะรับบทแบบเปิดกว้างให้ได้มากที่สุด ถ้ามั่นใจว่าบทบาทนั้นๆ มีมิติให้แสดงมากเพียงพอ ด้วยความตั้งใจที่ว่าอยากให้ตัวเอง “เป็นอะไรก็ได้” ในฐานะนักแสดง


“โดนัทก็เล่นได้ทุกบทนะ แม้แต่บทเล็กมากๆ โดนัทก็เล่น และโดนัทก็ไม่มีปัญหา แล้วโดนัทก็รู้สึกว่าคนดูก็ไม่ได้ติด เล่นเป็นแม่ก็เล่นมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้อยากเล่นเป็นแม่อีกนะ (หัวเราะ) แต่รู้สึกว่าก็ไม่ได้มีปัญหา ถ้าในบทมันมีอะไรให้โดนัททำ คืออาจจะมีงอแงบ้าง แต่สุดท้าย เราก็จะทำงานอยู่บนความคิดที่ว่าเราเป็นอะไรก็ได้

หรืออย่างตอนไปเล่น “โสดสตอรี่” ก็เล่นเป็นแอร์โฮสเตสที่ไม่แคร์เลยเรื่องความสัมพันธ์ มองเรื่องความสัมพันธ์เป็นอะไรที่สบายๆ โดนัทก็เล่นได้ ทุกคนก็ โห..เล่นได้ไง แต่เราก็มองว่ามันเป็นงาน เล่นเสร็จแล้วมันก็จบ ถึงจะมีบทเลิฟซีนก็ตาม แต่โดนัทชัดเจนอยู่แล้วว่าขอบเขตเราอยู่ตรงไหน ถ้าเราคุยแล้ว และมันเซฟ ก็คือทำ อย่างปีนี้ โดนัทเล่นทั้งเรื่อง “นางบาป” กับ “มาตุภูมิแห่งหัวใจ” ซึ่งก็คนละบท และคนดูก็ไม่ติดภาพนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเล่นออกมาแบบไหนมากกว่า”


แต่ก่อนจะรับงานแบบเปิดกว้างได้ขนาดนี้ ที่สำคัญก็คือต้องรู้จักลิมิตของตัวเอง “ไม่ชอบ-ไม่ฝืน ถ้าทำ-ต้องดี” คือคติประจำใจที่โดนัทบอกกับตัวเองเสมอระยะหลังๆ มานี้ หมายความว่าถ้าไม่ชอบก็จะไม่ฝืนใจทำ แต่ถ้ารับปากแล้วว่าจะทำ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด

“ถ้าบางทีเราไปทำงาน เรารู้สึกว่าถ้าเรารับปากแล้ว ยังไงเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด แต่เราก็ไม่อยากไปอยู่ในภาวะที่แบบ เราไม่อยากทำ แล้วต้องไปฝืนทำ โดนัทก็จะพยายามไม่ให้ตัวเองไปอยู่ตรงนั้น แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว โดนัทก็จะแบบ โดนัทไม่ทำแล้วดีกว่า เพราะว่าเรารู้ว่าเราก็จะไม่น่ารัก เวลาเราต้องฝืนใจทำอะไร

ถึงแม้คนจะมองว่าวงการมายาฉาบฉวย แต่โดนัทก็พยายามจริงใจกับมันนะ และพยายามไม่เอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่รู้สึกว่าเราอึดอัด หรือเราอยู่ไม่ได้ ตรงที่ดีๆ ในวงการมันก็มี และมันก็ทำให้เราเป็นคนแบบนี้ ทำให้มองอะไรแบบนี้ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจุดที่มันฉายฉวย มันไม่ดี มันแล้วแต่ว่าความต้องการในชีวิตของแต่ละคน มันอยู่ที่ตรงไหน


แต่สำหรับโดนัท มันอาจจะไม่ใช่เรื่องชื่อเสียงไงคะ มันอาจจะเป็นความสุขจากการทำงาน และนี่ก็เป็นอีกอาชีพนึงของโดนัทที่โดนัททำมาหากิน โดนัทก็รู้สึกว่าโดนัทก็มีความสุขดี ตรงไหนที่มันอึดอัด โดนัทก็ไม่อยู่แค่นั้นเอง เพราะเราเป็นคนเก็บไม่เก่ง พอเราไม่มีความสุขปุ๊บ ก็ดูออกได้ทันทีเลย

และจริงๆ แล้ว ชีวิตโดนัทในวงการก็มีทั้งช่วงที่ขึ้นและลงนะคะ และโดนัทก็งอแงบ่อย มีช่วงที่ไม่อยากทำแล้ว แต่โดนัทก็พยายามเลือกอะไรที่เป็นตัวเองที่สุด และนิสัยไม่ดีของโดนัทเลยก็คือ โดนัทจะไม่แฮปปี้ ถ้าโดนัทต้องทำในสิ่งที่โดนัทไม่อยากทำ และมันดูออกง่ายมาก และโดนัทก็ไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น

แต่ก่อนบางที เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่า เราอยากเล่นอะไร ไม่อยากเล่นอะไร แล้วพอเราไม่อยากเล่น มันก็ออกมาในงาน และเรารู้สึกว่าเราไม่อยากเอาเปรียบคนดู หลังๆ ก็เลยบอกตัวเองว่า ถ้าเรารับปากแล้วว่าจะเล่น เราก็จะทำให้ดีที่สุด”


เข้าใจ “ความรัก” อยู่กันแบบสบายๆ

ไลฟ์สไตล์โดนัทจะมิกซ์มาก ส่วนใหญ่อยู่กับที่ทำงาน เพราะว่างานเยอะ และมันเป็นช่วงที่บริษัทเพิ่งเริ่มได้ 3 ปี ก็ยังล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ เราก็ยังต้องพยายามเสนองาน หาอะไรที่เราอยากทำจริงๆ ทำ ส่วนใหญ่ก็เลยจะ hang out กับออฟฟิศ

แต่ด้วยวัยของเรา เราก็พยายามมีเวลาให้ทุกคนมากขึ้นแล้ว เพราะตอนนี้มีหลานด้วย ก็ติดหลาน อยากจะหาหลานทุกวัน ส่วนแฟน (ตาม จำนงค์อาษา นักธุรกิจหนุ่ม คู่ใจโดนัท) ก็ต้องเจอ เราก็ต้องดูแลกันเนอะ ไม่ใช่จะทำงานอย่างเดียว คืองานก็ต้องทำ ในขณะเดียวกัน เราก็ยังต้องมีความสัมพันธ์กับเพื่อนอยู่ ไม่งั้นชีวิตมันไม่รอด ก็พยายามจะ balance ทุกอย่างให้โอเคค่ะ

แฟนเรา เขาก็ไม่ได้เข้าใจทั้งหมดหรอกค่ะ (หัวเราะเบาๆ) แต่เราว่าเขาก็พยายามเข้าใจ และเราก็ต้องรู้ตัวไงว่า เราต้องทำอะไร ตรงไหน (ยิ้ม) ก็ถือว่าเรามองเรื่องความสัมพันธ์แบบโตขึ้น เพราะเราก็โตขึ้นทุกวัน ทำให้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ การทำงาน เรื่องส่วนตัว ฯลฯ มันก็เป็นไปตามวัย



เรื่องความรัก โดนัทไม่มีนิยามอะไร มันแค่ต้องทำให้เรามีความสุข ทำให้เราสบายใจ อบอุ่น โดนัทรู้สึกว่าคนเป็นคู่กันจริงๆ มันไม่ได้อยู่ด้วยกันด้วย “ความสุข” อย่างเดียวหรอก มันต้องรับ “สิ่งที่แย่ที่สุดของกันและกัน” ได้ด้วย แล้วก็ดูว่าเราจะประคองกันไปด้วยกันได้ยังไง เป็นกำลังใจให้กันได้ยังไงมากกว่า


ทุกวันนี้ โดนัทไม่ปิดเรื่องนี้นะ (เสียงสบายๆ) ไม่ปิดแต่ก็ไม่ได้ present เราก็เป็นคนสบายๆ คบกันก็ไม่ได้หลบซ่อน เพราะเราก็โตแล้ว แต่ก็มีอารมณ์ไม่อยากทำให้คนที่อยู่กับเราเขารู้สึกอึดอัด เพราะว่าเราอยู่ในที่ที่มัน public มากไงคะ ทุกคนรู้จักเรา ทุกคนมีข่าวเรา บางทีเราก็จะเกรงใจเขา แต่เราก็ไม่ได้ปิดหรือหลบซ่อน แต่ก็ไม่ได้อยากจะบอกใครว่า เฮ้ย! ฉันมีแฟนนะ (ยิ้มเขินๆ) มันก็ปกติแหละ

อย่างเวลาเล่นโซเชียลฯ ตอนนี้โดก็มีแต่โพสต์โปรโมตละคร บางทีลงรูปตัวเองก็เขินว่า ฉันจะลงรูปฉันอะไรกันนักหนา (ยิ้ม) หรือบางทีก็มีลงรูปคู่บ้าง เราก็ไม่ได้คิดอะไร ถ้าน่ารักก็ลง ไม่ได้คิดว่ามันมีวาระอะไรเป็นพิเศษ เราก็เป็นแบบสบายๆ มากกว่า



ชีวิตไม่เคยขาด เพราะ “ครอบครัวอบอุ่น”

[คุณพ่อกับคุณแม่]
โดนัทถูกเลี้ยงมาแบบค่อนข้างปล่อยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ก็จะมีห้ามบ้างว่า เลิกทำเถอะลูก บริษัทเนี่ย (หัวเราะ) เพราะมันเหนื่อย คือมันก็ยากนะ มันก็หนัก แต่เขาก็จะปล่อยให้เราทำเอง ล้มลุกคลุกคลานเอง แต่เขาก็ยัง support เสมอ เวลามีปัญหาก็บอกเขาได้ ตังค์หมดก็ขอ (ยิ้ม) เราก็จะอายบ้าง โตขนาดนี้แล้ว ยังต้องมาขอตังค์ เราโตมาแล้วนะ 35 แล้ว แต่บางทีมันไม่ทัน ก็มีขอไปก่อนบ้าง

สุดท้ายแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เคยบังคับเลยค่ะ เพราะเขารู้ เขาบังคับไม่ได้ เพราะเขาเลี้ยงมาแบบปล่อย เขาก็จะปล่อยให้เราทำ แต่เราก็จะรู้เองว่าโอเค ลิมิตเราอยู่ตรงนี้นะ ถ้าทำแล้วยังไม่เวิร์กอีก ครั้งต่อไปก็ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เราก็จะรู้ด้วยตัวเองแหละ



ส่วนใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จะไม่ค่อยได้สอนเป็นคำพูดอะไรเท่าไหร่ เขาจะปล่อยให้เราทำอะไรๆ เองมากกว่า แล้วก็ support เรา เวลาอยากทำอะไร แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนเต็มที่ขนาดนั้นนะ (ยิ้ม) ก็มีบ่นบ้างเวลาที่เขารู้สึกว่าเราวางแผนไม่ดี แต่ก็ปล่อยให้เราทำ ให้เรียนรู้เอง

โดนัทว่าโดนัทโชคดีแหละ เพราะบ้านเราอบอุ่นมาก เราไม่เคยรู้สึกว่าเราขาดเลย เรามีพ่อ มีแม่ มีน้า ป้า ตา ยาย ฯลฯ ครอบครัวใหญ่มาก เราก็เลยไม่ได้เป็นเด็กมีปัญหาอะไร




A post shared by Manatsanun P. (@manatsanun_p) on




สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @manatsanun_p และละคร "เดือนประดับดาว"
กำลังโหลดความคิดเห็น