xs
xsm
sm
md
lg

FC ขอตายตามไอดอล!? อันตราย "เสพดรามา-ซึมเศร้า-เลียนแบบ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ซึมเศร้าคร่าชีวิตอีกหน! นักร้องดัง 'จงฮยอน' จากวงเกาหลี 'SHINee' จบชีวิตเหตุโรคซึมเศร้า! สอดคล้องงานวิจัยกรมสุขภาพจิต “ศิลปิน-คนดัง” เสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย” สูงกว่าคนทั่วไป 10-18 เท่า ทีมข่าวสอบถาม 'จิตแพทย์' แจง เสพดราม่า “สิ่งเร้ากระทบจิตใจ” เสี่ยง ภาวะเลียนแบบการฆ่าตัวตาย!

เสพ “ความเศร้า-จิตตก” เสี่ยง “ภาวะฆ่าตัวตายตาม”

“ได้แต่ฝากพ่อแม่ทุกคนกรุณาดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะน้องๆ ที่เขาติดตามศิลปินเกาหลีอย่างใกล้ชิดมากในช่วงนี้ เพราะข่าวศิลปินดังเสียชีวิต อาจส่งผลต่อแฟนคลับมากจนบางคนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือคนที่เป็นอยู่แล้ว ก็อาจอาการหนักมากขึ้น หากสังเกตุว่ามีอาการไม่สู้ดี มีแนวโน้มทำร้ายตัวเอง รีบพาไปหาหมอด่วนที่สุด!”

ข้อความจากเพจดัง 'Drama-addict' โพสต์เตือนพ่อ-แม่ให้ดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด หลังมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่ง ได้โพสต์ถึงเพื่อนของตน ซึ่งเป็นแฟนคลับตัวยงของวง SHINee และชื่นชอบ 'จงฮยอน' มากที่สุด 

โดยพยายามติดต่อเพื่อนคนดังกล่าว หลังมีข่าวการเสียชีวิตของจงฮยอน แต่ปลายสายไม่มีการตอบรับ ก่อนพบว่า เพื่อนรายนี้ได้พยายามฆ่าตัวตายตามนักร้องเกาหลีที่ตนชอบอย่างน่าสลด แต่ดูเหมือนว่าข่าวการฆ่าตัวตายของแฟนคลับจะกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ!

เมื่อมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งยืนยันว่าได้มีการพูดคุยกับเจ้าของโพสต์ และเป็นเพื่อนกับผู้ที่ถูกอ้างชื่อว่าฆ่าตัวตายตามศิลปินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระบุว่าสิ่งที่โพสต์เรื่องราวลงในโซเชียลฯ นั้นเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น และทำไปเพราะตนเองเป็นโรคซึมเศร้า และอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทธาหรณ์ต่อคนที่กำลังคิดสั้น ซึ่งงานนี้ทำเอาชาวเน็ตต่างหัวเสียไปตามๆ กัน



หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นาน ได้มีกระแสวิจารณ์เดือดในโลกออนไลน์ ในเชิงต่อว่าการกระทำของผู้โพสต์รายนี้ ซ้ำยังไม่ควรอ้างว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า เพราะทำให้ผู้ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจริงๆ ดูแย่ในสายตาผู้อื่น

แต่อย่างไรก็ดี อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะการฆ่าตัวตายเลียนแบบ(Suicide Contagion) เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ไม่ว่าจากกรณีนี้หรือจากกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง

“Copycat Suicide หรือ Suicide Contagionคือ พฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตายของผู้อื่น ซึ่งหากพูดถึงการเสียชีวิตของบุคคลที่มีชื่อเสียง และมีคนชื่นชอบติดตามมากมาย มีผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนที่ติดตามข่าวมาก

ยกตัวอย่าง 'เชสเตอร์' นักร้องนำวง Linkin Park เสียชีวิต บางคนได้ยินข่าวเชสเตอร์ก็ถึงกับเฟลและซึมเศร้าไปซักระยะ ส่วนคนที่เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว การรับรู้ข่าวของเชสเตอร์ก็อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้

โดยเฉพาะยิ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของบุคคลที่มีชื่อเสียง อาจทำให้เกิด Suicide Contagion ตามมา และทำให้สถิติการฆ่าตัวตายหลังข่าวที่ว่าสูงพรวดพราดอยู่ระยะหนึ่ง”

ทีมข่าว ผู้จัดการ Live ต่อสายตรงไปยัง 'พญ.พรพิมล วิปุลากร' รองปลัดกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อถามความเห็นที่มีต่อเรื่องนี้และภาวะการลอกเลียนแบบพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในประเทศไทยว่ามีความน่าเป็นห่วงและควรตระหนักรู้ต่อความเสี่ยงในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

 
“ถ้าเรากลับไปที่ปัญหาเรื่องการทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตายมันมีปัจจัย ทั้งจากตัวของเขาเอง และสิ่งที่เข้ามากระตุ้นทำให้เกิดความกังวลหรือเกิดพฤติกรรม จริงๆ เราต้องกลับไปดูที่พื้นฐาน เพราะซึมเศร้ามันเป็นแค่สาเหตุหนึ่งในสามเท่านั้น ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่พบในคนที่ทำร้ายตัวเอง

คนที่ฆ่าตัวตายทุกคนไม่ใช่โรคซึมเศร้า คนที่ซึมเศร้าทุกคนก็ไม่ได้ฆ่าตัวตาย มันมีปัจจัยหลายอย่าง หนึ่ง ถ้าเขามีภาวะความกดดันในชีวิต มีภาวะโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว และเขารู้สึกว่ามันมีอารมณ์ร่วมกับคนที่เขารู้สึกว่าเป็นตัวแทนแบบเดียวกับที่เขากำลังรู้สึกอยู่

อาจนำไปสู่การตัดสินใจแบบเดียวกัน หรือถ้าเขามีพื้นฐานเป็นคนที่เมื่อมีอะไรมากระทบรุนแรงก็จะทำอะไรหุนหันพลันแล่นทันทีทันใด เขาก็จะมีความเสี่ยงเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ซึ่งหากพูดถึงพฤติกรรมการเลียนแบบการฆ่าตัวตายในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีให้เห็น เท่าที่เห็นจะมีในต่างประเทศ ด้วยตัวดาราเองที่มีอิมแพคต่อผู้คนค่อนข้างมาก”

อย่างไรก็ดี พญ.พรพิมล ยังฝากทิ้งท้ายถึงสังคมไทยในเวลานี้ที่กำลังเผชิญกับภาวะโรคซึมเศร้า หรือคนใกล้ตัวมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าด้วยว่า ต้องสังเกตตนเองและผู้อื่น รวมถึงใช้ความเข้าใจในการเยียวยา และเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ

 
“เรื่องนี้พอมันเกิดขึ้น มันเป็นโอกาสให้คนได้เรียนรู้และเข้าใจตัวเราเองว่า คนเราประสบความสำเร็จไปถึงจุดไหนก็ตาม อาจจะมีความคาดหวังที่เรายังรู้สึกว่ามันไม่เป็นอย่างที่เราตั้งใจ ตรงนี้ต้องกลับมาค่อยๆ เข้าใจ ไม่งั้นอาจผิดหวังกับสิ่งๆ นั้น ทั้งๆ ที่ความจริงเราก็เดินหน้ามาได้แล้ว

รวมถึงถ้าเรารับรู้ว่าคนรอบข้างมีความเสียใจ หรือมีอารมณ์ที่เขาเปลี่ยนแปลงไป จากเรื่องการใช้ชีวิตหรือมีปัญหาชีวิต เราอาจเป็นคนที่สามารถช่วยเขาได้เสมอ ในฐานะที่เป็นผู้ติดตามข่าวสารต้องเข้าใจว่า เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของการถ่ายทอดชีวิตของตัวบุคคล แต่ละบุคคลก็ต้องมีเส้นทางที่จะใช้ชีวิตของตัวเอง

ไม่อยากให้คิดว่าศิลปินรายนั้นมีปัญหาเดียวกันกับเรา เราจึงตัดสินใจแบบเดียวกันได้ แต่ความจริงแล้วเขาอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ตัดสินใจกระทำลักษณะนั้นที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับตัวเขาอีก ดังนั้นมันจึงย้อนกลับมาว่าทุกคนต้องมีเส้นทางที่จะใช้ชีวิตของตัวเองนั่นเอง”

“ซึมเศร้า” ไม่ใช่ความอ่อนแอ!

ทันทีที่ข่าวการเสียชีวิตของศิลปินเกาหลี 'จงฮยอน' ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ ทำเอาเหล่าแฟนคลับหัวใจสลาย! หลังเปิดข้อความคำลาสุดท้ายที่พูดถึงความเจ็บปวดที่นักร้องหนุ่มต้องเผชิญมาโดยตลอด จนกลายเป็นกระแสอันน่าเศร้าที่ถูกพูดถึงอย่างหนักในสังคมขณะนี้ ถึงมัจจุราชเงียบ 'โรคซึมเศร้า' ที่พรากลมหายใจของใครหลายคนไปนักต่อนัก!

ย้อนกลับไปไม่นานจะเห็นว่าข่าวคราวคนวงการบันเทิงทั้งไทยและเทศ อย่าง 'สิงห์-มุสิกพงศ์' มือกีตาร์วง 'สควิซ แอนนิมอล' หรือ 'เชสเตอร์ เบนนิงตัน' นักร้องชื่อดังจาก 'Linkin Park' ที่ตัดสินใจปิดชีวิตตัวเอง ซึ่งสาเหตุที่ถูกพูดถึงอันดับแรกคือ การเป็นโรคซึมเศร้า ของพวกเขา

จากกระแสที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนหันมาสนใจและตื่นตัวกับโรคซึมเศร้าอย่างมาก โดยเฉพาะจิตแพทย์หลายคนมักใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องดังกล่าว ล่าสุด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เข็นเด็กขึ้นภูเขา' ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน


 
“หมอเห็นความเห็นในบางเพจที่พูดถึงเรื่องนี้ว่า เพราะไม่เข้มแข็งพอ เพราะอ่อนแอ ทำให้ตัดสินใจคิดสั้น จริงๆ คงจะไปพูดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะโรคซึมเศร้าไม่ใช่ความอ่อนแอ ไม่ใช่ว่าไม่เข้มแข็ง

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทและสามารถรักษาได้ ผลร้ายแรงที่สุดของโรคซึมเศร้าคือ การฆ่าตัวตาย ทำให้เกิดความสูญเสียที่ไม่มีวันย้อนคืนอย่างที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ที่สำคัญโรคซึมเศร้าสามารถเกิดกับใครก็ได้ ไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ สีผิว หรือ ความยากดีมีจน แม้แต่เด็กๆ

มันไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คุณจะอ่อนแอ หรือคุณจะดราม่ากว่าคนอื่น มันคือความเจ็บป่วยที่รักษาให้หายได้”

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เผยว่า ในประเทศไทยมีผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคน และโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ซึ่งการสังเกตคนที่มีโรคหรือภาวะซึมเศร้า อาจมีอารมณ์เบื่อหน่าย ท้อแท้ หงุดหงิดง่าย รู้สึกไม่มีค่า ไม่อยากทำอะไรเลย ยิ่งถ้าเป็นในเด็ก-วัยรุ่นที่ซึมเศร้าอาการแสดง อาจไม่ตรงไปตรงมาเหมือนผู้ใหญ่

ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือการเกิดโรคซึมเศร้าในกลุ่มอาชีพ “นักเขียน-ศิลปิน” ที่กรมสุขภาพจิตยืนยันว่ามีความเสี่ยง “ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย” สูงกว่าคนทั่วไป 10-18 เท่า สาเหตุเพราะถูกคาดหวัง, การรักษาภาพพจน์ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐานะ

 
“คำพูดที่บอกว่า "ไม่เป็นไรมากหรอก" "อย่าไปคิดมาก" "ตอนเราถูกแฟนทิ้งยังชิลได้ แกอย่ามาดราม่า" "เสแสร้งเปล่า" "เรียกร้องความสนใจ" "ฆ่าตัวตายทำไมบาปนะ" "ทำไมไม่คิดถึงพ่อแม่" คำพูดเช่นนี้อาจยิ่งทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าคนอื่นไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับในตัวเขา

ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียเช่นนี้ เมื่อมีข่าวคนที่เป็นซึมเศร้าทำร้ายตัวเอง หลายคนก็เอามาวิจารณ์กันในโลกโซเชียล ซึ่งมันคือความไม่เข้าใจและการไปตัดสิน ทั้งที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น คนรอบข้างควรระมัดระวังเรื่องการทำร้ายตัวเอง พาเขาไปรับการรักษาและคำปรึกษาจากจิตแพทย์

เรื่องของอารมณ์ต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งอารมณ์ด้านบวกและด้านลบ ชีวิตคนเรามีเรื่องทั้งดีและร้ายผ่านเข้ามาเป็นธรรมดา วันหนึ่งอาจจะเป็นเราก็ได้ที่มีภาวะซึมเศร้า แต่อย่างที่บอก โรคนี้รักษาได้ แค่อย่านิ่งนอนใจ
หากสงสัยว่ากำลังซึมเศร้า หรือเครียด ในเบื้องต้นสามารถโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่องค์กรสมาริตันส์ ประเทศไทย 02713-6793 ได้เช่นกัน”

ข่าวโดย ทีมข่าว ผู้จัดการ Live
กำลังโหลดความคิดเห็น