xs
xsm
sm
md
lg

คนรุ่นใหม่เสพง่ายไป ปล่อย “โลกออนไลน์” ทำลาย “จิตวิญญาณศิลปิน”!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

[หนึ่งในผลงานที่ถูกหยิบมาตั้งคำถามว่า “สร้างสรรค์” หรือ “ทำลาย” ต้นฉบับเดิม “ไมเคิล แองเจโล”]
...วิถีก๊อบปี้ตัดแปะ, ผลิตงานไร้ลายเซ็น, ยำรวม “ศิลปะไร้ค่า” กับ “ศิลปะสูงราคา” อย่างไม่ไยดี, สูญเสียความหมายที่แท้ของงานศิลป์, สูญสิ้นจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ของศิลปินไทย ฯลฯ...

หลากหลายความกังวลที่ “ศิลปินรุ่นใหญ่ชื่อดัง” จากหลากสาขาฝากเอาไว้ หาก “ศิลปินรุ่นใหม่” ยังปล่อยให้ “โลกออนไลน์” ทำลายความคิดสร้างสรรค์ด้วยวิธีเล่นง่ายเข้าว่าต่อไป คงยากที่จะมี “รุ่นถัดไป” ให้ยังคงความภาคภูมิใจในฐานะ “ศิลปิน”



เสพศิลป์ผ่านจอ สูญเสียความหมายที่แท้จริง...

[คุณค่าของผลงานออริจินัล ที่จะหายไปกับการดูผ่านจอสี่เหลี่ยม]
อินเทอร์เน็ตมักจะทำให้งานศิลปะของออริจินัลผิดเพี้ยนไป เพราะขนาดของผลงานจะถูกแปลงไปจากของเดิม เวลาดูบนจอคอมพิวเตอร์, จอไอแพด, จอมือถือ ก็จะเป็นอีกไซส์หนึ่ง ยิ่งพอเวลาคนถ่ายภาพผลงานในแกลเลอรี เอาไปอัปโหลดลงออนไลน์ บางทีเขาจะไปครอป (crop) ส่วนต่างๆ ของภาพออกไป ทำให้ผู้ชมไม่ได้เห็นภาพขนาดไซส์จริงแบบเต็มๆ ซึ่งจะทำให้ความหมายต่างๆ ที่ศิลปินอยากนำเสนอมันหาย หรือผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น

ดาว วาสิกสิริ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกเล่าความคิดของเขาเอาไว้ ผ่านงานเสวนาที่ตั้งคำถามชวนคิดเอาไว้ว่า “ศิลปะออนไลน์...ทำลาย หรือพัฒนา” ในโอกาสที่โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย “Young Thai Artist Award” ซึ่งทางมูลนิธิเอสซีจี (SCG) จัดนิทรรศการสัญจรขึ้นเป็นครั้งแรก หลังมอบรางวัลให้แก่ศิลปินรุ่นใหม่มาได้เป็นปีที่ 13 แล้ว

[Art Talk ระดับปรมาจารย์ ในหัวข้อ “ศิลปะออนไลน์...ทำลาย หรือพัฒนา”]

โดยในครั้งนี้มาแบ่งปันพื้นที่สร้างสรรค์กันภายใต้ชื่องาน “จะอั้น จะอี้ จะอาร์ต” เชิญศิลปินรุ่นใหญ่จากทุกแขนงมาแลกหมัด ผลัดเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงที่ จ.ลำปาง

“ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าหน้าจอต่างๆ ที่คนเสพผ่านโลกออนไลน์นี่แหละครับ ที่เป็นเหมือนกำแพงกั้นระหว่าง “ผู้ชม” กับ “งานศิลปะต้นฉบับจริง” เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คนไม่สามารถไปสัมผัสของจริงได้”

ถึงแม้คำว่า “โลกออนไลน์” จะดูมีคุณค่าที่การให้ข้อมูลได้กว้างไกลแค่ไหน แต่สำหรับนายกสมาคมถ่ายภาพฯ รายนี้แล้ว เขานิยมใช้วิธีค้นคว้าแบบเดิมๆ อย่างการ “อ่านหนังสือ” เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจในการผลิตงานมากกว่า “เพราะผมมีความรู้สึกว่า จะพิมพ์หนังสือออกมาได้แต่ละเล่ม ต้องผ่านการหาข้อมูลมาอย่างละเอียดมาก ซึ่งมันน่าเชื่อถือ”

[ชิ้นงานรางวัลยอดเยี่ยม จากเวที “Young Thai Artist Award” สาขาศิลปะ 3 มิติ “สัมพันธภาพของรูปทรง”]

ถ้าเทียบกับการเสพงานของศิลปินแบบดั้งเดิมด้วยวิธีเดินทางไปถึงแกลเลอรีแล้ว เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่โลกออนไลน์ให้ไม่ได้คือเรื่อง “กรอบรูป” และ “พื้นผิว” ของผลงาน ซึ่งเป็นอีกองค์ประกอบที่มีความหมาย และที่น่าเสียดายมากที่สุดเมื่องานศิลป์ถูกอัปโหลดอย่างไร้พรมแดนบนโลกออนไลน์ก็คือ มันทำให้การแบ่งแยก “ระดับผลงาน” ไม่มีความหมายอีกต่อไป

“ทุกวันนี้ ด้วยความที่งานภาพถ่ายศิลปะทุกรูปแบบ มันถูกใครอัปโหลดขึ้นไปก็ได้ เลยทำให้ผลงานทุกอย่างถูกจับเอาไปรวมกันไว้ในระดับเดียวกันหมด กลายเป็นว่างานที่ขายแพงๆ ก็ถูกเอาไปปะปนกับงานขยะบางงาน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้คุณค่าของงานศิลปะมันลดลงไปด้วย


[กนกวลี นายกสมาคมนักเขียนฯ เปรียบเทียบภาพนี้ กับการอ่านหนังสือออนไลน์ยุคดิจิทัล]
ศิลปะอีกหนึ่งแขนงที่มองเห็น “หนทางตาย” มากกว่า “หนทางรอด” จากการมีโลกออนไลน์เข้ามา คงหนีไม่พ้นงานด้าน “วรรณกรรม” อย่างที่ กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ช่วยวิเคราะห์เอาไว้ จะเห็นได้ว่าหนังสือที่ได้รับความนิยมในยุคนี้สำหรับเด็กรุ่นใหม่ จะดำเนินเรื่องด้วยตัวการ์ตูนเป็นหลัก และแทบไม่มีตัวหนังสือเลย ส่วนเรื่องราวที่ขายได้ก็ไม่ใช่วรรณกรรมที่แท้จริง

“เนื้อเรื่อง “แนววาย (ชายรักชาย)” ก็จะขายดีมาก นักเขียนที่ผลิตงานประเภทนี้จะได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ถึงขั้นเขียนแล้วซื้อบ้านซื้อรถได้ กลายเป็นว่าตอนนี้นักเขียนวรรณกรรมจริงๆ ต้องหลบไปก่อน เช่นเดียวกับการขายผลงานออนไลน์ที่ทำให้ระบบร้านหนังสือเดิมๆ ต้องทยอยปิดกันไปเป็นแถวๆ เพราะเดี๋ยวนี้ คนซื้อหนังสือผ่านเว็บออนไลน์กันหมดแล้ว



“จิตวิญญาณ” สูญหาย แต่ขายได้เพิ่ม

[ชิ้นงานของศิลปินสมัยนี้ มีรูปแบบอัปโหลดลงบนโลกออนไลน์กันหมดแล้ว]
เรื่องของ “จิตวิญญาณ” ในการสร้างสรรค์ผลงาน ก็เป็นอีกเรื่องที่จะลืมไปไม่ได้ อ.ประยอม ยอดดี ศิลปินล้านนาชื่อดัง จ.ลำปาง ผู้ทำงานถ่ายภาพมาตลอด 20 ปี คือวิทยากรอีกหนึ่งท่าน ที่ช่วยชี้ให้เห็นอีกหนึ่งมิติข้อเสียของการมีโลกออนไลน์ที่สะดวกสบาย จนส่งผลให้ “คนรุ่นเยาว์-ศิลปินรุ่นใหม่” แทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับ “ขณะจิต” อันทรงคุณค่าแห่งการสรรค์สร้างที่แท้จริง

“ต้องอย่าลืมว่างานบางชิ้นหรือบางขณะ ต้องอาศัยซึ่งจิตวิญญาณในการสร้างสรรค์ ต้องออกมาจากจิตวิญญาณของศิลปิน แล้วจึงนำมาสร้างเป็นผลงานขึ้น แต่ถ้าน้องๆ ได้เสพผ่านวิธีที่ง่ายเกินไป เข้าไปศึกษาในระบบออนไลน์บ่อยๆ บางทีก็อาจจะทำให้เขาไม่ได้รู้จักวิถีแห่งการสร้างสรรค์ของศิลปินในแต่ละท่าน


[อ.ประยอม ศิลปินล้านนาชื่อดัง]
ยกตัวอย่าง อาจารย์เฉลิมชัย (โฆษิตพิพัฒน์) หลายคนคงได้เห็นผลงานของอาจารย์ท่านตามโลกออนไลน์เต็มไปหมด แต่จะมีสักกี่คนที่ได้ไปสัมผัสอาจารย์ด้วยตัวเอง ไปสัมผัสจิตวิญญาณของท่านว่า ท่านเป็นคนนิสัยยังไง ชอบกินอะไร มองโลกแบบไหน การดูผลงานผ่านโลกออนไลน์ มันจะมีผลเสียตรงนี้แหละครับ ตรงจิตวิญญาณของการทำงานมันจะหายไป

แต่โดยรวมแล้ว ผมยังมองว่าการศึกษาศิลปะออนไลน์ น่าจะเป็นไปในทาง “สร้างสรรค์” มากกว่า “ทำลาย” นะครับ เพราะมันทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักโลกศิลปะได้กว้างขึ้น จากผลงานของศิลปินจากทั่วทุกมุมโลก”

รศ.ทินกร กาษรสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คืออีกหนึ่งคนที่มองความเปลี่ยนแปลงในระบบดิจิทัลครั้งนี้ เป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย จากประสบการณ์การสอนในมหาวิทยาลัยมาเกือบ 20 ปี บวกกับรับทำหน้าที่คัดงานศิลปะ และทำงานทั้งภาพพิมพ์และภาพวาดมาเป็นเวลานาน บอกเลยว่าการทำให้ผลงานกลายเป็น “ศิลปะออนไลน์” ช่วยสร้างทางรอดให้ศิลปินไม่ต้องไส้แห้งอีกต่อไปได้มากเลยทีเดียว

[หนึ่งในลายเส้นของศิลปินระดับปรมาจารย์ ที่มีเอกลักษณ์สร้างสรรค์เป็นของตัวเอง]

“ผมว่าเรื่องที่เป็นแง่ดีมากๆ ก็น่าจะเป็นเรื่อง “การขาย” ที่ศิลปินสามารถทำได้เองผ่านโลกออนไลน์ ไม่ต้องอาศัยการพีอาร์ผ่านแกลเลอรี หรือหนังสือต่างๆ เพียงเท่านั้น ซึ่งจะมีความยากเรื่องการวางแผนให้พอดีกับการปิดเล่มล่วงหน้า เพื่อให้ตรงกับช่วงเวลาของผลงานที่จะโชว์ ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร

แต่ทุกวันนี้ จะลงโปรโมตตอนไหนเองก็ได้ และถ้ายิ่งคนแชร์หรือกดไลค์มากๆ ยิ่งจะทำให้เผยแพร่ไปได้ไกลมากยิ่งขึ้นไปอีก เทียบกับผลงานที่โชว์ในนิทรรศการจริงแล้ว คนอาจได้เห็นรายละเอียดมากกว่าจากผลงานต้นฉบับจริง แต่ส่งถึงคนได้แค่ 500 คน วัดกันแล้ว มันก็เป็นประโยชน์ต่อผู้คนได้น้อยกว่า


[ผลงานของศิลปินไทย ที่นำเอาผลงานตะวันตก "ไมเคิล แองเจโล" มาต่อยอด และถูกตั้งคำถามว่าเป็นการนำ "ศิลปะออนไลน์" มาทำให้สร้างสรรค์ หรือทำลายไปมากกว่าเดิม]
แต่ในอีกมุมมันก็มีส่วนไม่ดีเหมือนกัน ถ้าเลือกเอาไปใช้ไม่ถูกต้อง อย่างเวลาผมตรวจงาน จะเห็นประจำเลยครับเวลานักศึกษาส่งสเก็ตช์งานมาให้ ด้วยความมักง่าย เขาก็จะไปหยิบเอารูปในโลกออนไลน์ รูปดอกไม้ รูปวิวสวยๆ ต่างๆ เอามาแปะทำภาพคอลลาจ (ศิลปะภาพปะติด) พอถามว่าเอามาจากไหน เด็กก็ตอบว่าเอามาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งภาพแบบนี้มันมีลิขสิทธิ์ของมันอยู่ ถ้าหยิบไปประกวดจริงๆ ก็จะถูกฟ้องร้องได้

ข้อเสียของการเอางานจากอินเทอร์เน็ตมาใช้งานในของตัวเองก็คือ ทำให้เด็กคนนั้นไม่มีจินตนาการของตัวเอง ซึ่งในฐานะคนเป็นอาจารย์ก็จะพยายามย้ำกับเด็กตลอดว่า ต้องไปเปิดโลกด้วยตัวเอง ต้องไปถ่ายรูปเอง ค้นคว้าเอง ต้องไปศึกษาเรื่องกายภาพของสิ่งแวดล้อมเอง เพื่อจะเอามาทำงานของตัวเอง เพราะมันเป็นสิ่งที่สำคัญมากจริงๆ ครับ”



“ผู้กำกับดัง” เตือน! ออนไลน์ทำลายจินตนาการ!!

[อุ๋ย-นนทรีย์ ผู้กำกับชื่อดัง ผู้ร่วมวิเคราะห์วงการศิลปะภาพยนตร์]
“อย่างเวลาผมทำหนัง 1 เรื่อง พอเริ่มต้นสตาร์ตเมื่อไหร่ ตั้งแต่เริ่มเขียนตัวหนังสือตัวแรกเป็นสคริปต์บนกระดาษขาว ผมจะเลิกดูหนังเลย แต่จะอ่านหนังสือแทน เพราะเวลาคุณอ่านหนังสือ จะทำให้คุณเกิดจินตนาการอยู่ในหัวของตัวเอง ซึ่งจะเป็นภาพที่เป็นส่วนตัวของใครของมัน ไม่ใช่ภาพที่เอามาจากอินเทอร์เน็ต ไม่ได้มาจากซีนหนังเรื่องไหน ทำให้เวลาทำหนังออกมา เราจะมีลายเซ็นเป็นของตัวเอง

อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง บอกเคล็ดลับสำคัญฝากถึง “คนทำหนัง” เอาไว้ ด้วยความห่วงใยว่าศิลปินผู้ผลิตภาพยนตร์รุ่นใหม่ จะเอาแต่ก๊อบปี้จนหาลายเซ็นของตัวเองไม่เจอ เหมือนอย่างที่เขาเห็นว่าบ่อยๆ จากการตรวจงานของนักศึกษาในฐานะ “อาจารย์” คนหนึ่ง

“ข้อดีของการใช้โลกออนไลน์ของเด็กสมัยนี้ก็คือ สามารถทำให้เขาสามารถหาภาพยนตร์มาดูได้กว้างขวางขึ้น แต่ปัญหาก็คือการนำเอามาใช้นี่แหละครับ เพราะนักศึกษามักจะเซฟเก็บไว้ แล้วเอาไปใช้ตัดต่อ เอาแต่ละซีนของหนังมาปนกัน จนกลายเป็นหนังอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งคนที่มีอาชีพที่ทำให้ต้องดูหนังเยอะอย่างผม ก็จะดูรู้เลยว่าซีนไหนถูกตัดต่อมาจากหนังเรื่องอะไรบ้าง

และถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป การพัฒนาศิลปะทางด้านภาพยนตร์ก็จะไม่ก้าวหน้าไปไหน ผมจึงมักจะบอกนักศึกษาว่า อยากให้ใช้ออนไลน์ในการเข้าไปอ่าน เข้าไปศึกษาข้อมูล แล้วถ้าจะทำหนัง ให้พยายามเลิกดูหนัง แล้วอ่านหนังสือแทน

[ผลงานในนิทรรศการสัญจร ซึ่งนำมาจัดแสดงไว้ที่ หอศิลปะและการแสดงนครลำปาง บ้านบริบูรณ์ จ.ลำปาง ถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น]

อย่างหนังของผม ฉาก “นางนาคห้อยหัว” มันก็มาจากจินตนาการของผมเอง จากการที่ผมได้อ่านหนังสือของ “หม่อมคึกฤทธิ์ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)” ที่เขียนเอาไว้ในหนังสือแค่ 1 ประโยคเท่านั้นเองว่า “คุณแม่พาไปที่วัดมหาบุตร ไปชี้ให้เห็นว่ารอยเท้าของนางนาคอยู่บนเพดานศาลา” ทำให้ผมเกิดจินตนาการขึ้นมาได้เองว่า ถ้ามีรอยเท้าอยู่บนหนังคาได้ แสดงว่านางนาคก็ต้องยืนห้อยหัวลงมาสิ

โปรดักชันของผมก็เลยมีฉากนางนาคห้องหัวลงมาจากเพดาน เป็นแบบที่เป็นลายเซ็นของผมคนเดียว เวลาคนได้ดูก็จะรู้ว่า อ๋อ..หนังนนทรีย์ หน้าตามันเป็นแบบนี้แหละ เพราะมันจะไม่เหมือนใคร จะมีออริจินัลของตัวเองในการออกแบบฉากต่างๆ”

[ชิ้นงานรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะ 2 มิติ ชื่อผลงาน “ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง”]

ในฐานะที่ทำหนังมาตลอด 30 ปี ผู้กำกับชื่อดังคนนี้ออกปากเลยว่า โลกออนไลน์ทำให้โลกแผ่นฟิล์มหมุนไปเร็วขนาดไหน ทุกวันนี้ที่ยืนที่ทางโรงหนังที่ให้แก่ “หนังไทย” แทบไม่เหลือ

“ตอนผมทำเรื่อง “ปืนใหญ่จอมสลัด” ใช้เวลา 4 ปี แต่มีเวลาฉายแค่ 4 วันเท่านั้นเองที่จะวัดผลออกมาว่า เราจะยังอยู่ในโรงได้ต่อไปไหม ฉายวันที่ 1 วันพฤหัสฯ ต้องได้ 8 ล้านบาท ถึงจะได้ฉายวันศุกร์ และภายใน 4 วันแรกของการเข้าฉาย ต้องได้ 12 ล้านขึ้นไป อาทิตย์หน้าถึงจะมีฉายในโรง มันมีกฎเกณฑ์พิลึกพิลั่นแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ออนไลน์ยิ่งทำให้วงจรของหนังอาการหนักขึ้นไปอีก

[น้องวุฒิ, น้องโน้ต, น้องจี และน้องจิ้น (แถวล่าง) ยุวศิลปินผู้ได้รับ "ถ้วยพระราชทาน" รางวัลยอดเยี่ยม]

โลกออนไลน์ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการหนังทุกวันนี้ ต้องบอกว่ามันส่งผลทั้ง “ทำลาย” และ “สร้างสรรค์” เรื่องการทำลายก็คือทำให้รายได้จากหนังน้อยลง จากเมื่อก่อนเราส่งออกไปต่างประเทศเยอะมาก มีเงินเข้าประเทศเป็นหมื่นๆ ล้านบาท แต่ปัจจุบัน การส่งออกทำไม่ได้แล้ว ไม่จำเป็นแล้ว เพราะออนไลน์ดูได้ทุกอย่างแล้ว

ตอนนี้จาก “ผู้กำกับจอยักษ์” ที่ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงในประเทศไทย ถูกทาง Netflix เรียกไปคุยหมดแล้ว ถูกติดต่อให้ไปเป็น “ผู้กำกับจอเล็ก” ผู้กำกับจอมือถือ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากนะครับ จากแต่ก่อน เราเคยฉายในจอใหญ่มากๆ รูจมูกเท่าถ้ำเลย แต่ทุกวันนี้ รูจมูกเหลือเล็กเท่ามดแล้ว กลายเป็น “ผู้กำกับจอโทรศัพท์” ไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้ มันก็เปลี่ยนไปมากจริงๆ”


“ออนไลน์” ไม่ทำลาย! 4 แนวคิดจาก “ยุวศิลปินไทย”

[น้องจี ยุวศิลปินผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาวรรณกรรม จากผลงานชื่อ “ฉันเป็น...”]
“เวลาเราเหมือนจะไปก๊อบฯ ใคร หนูว่าตัวเราจะรู้สึกได้นะ คนทำจะรู้ตัวเองค่ะ” น้องจี-สุภาวดี เจ๊ะหมวก ยุวศิลปินผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาวรรณกรรม จากผลงานชื่อ “ฉันเป็น...” ในโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย “Young Thai Artist Award” ครั้งที่ 13 บอกเคล็ดลับของการสร้างงานให้สำเร็จแบบพึ่งโลกออนไลน์ แต่ก็ไม่ถูกทำร้ายจากการก๊อบปี้

“คนที่เป็นศิลปินที่มีความคิดเป็นของตัวเอง จะไม่มีใครอยากทำหรอกค่ะ เพราะการผลิตผลงานออกมาชิ้นหนึ่ง มันก็เหมือนกัน “โชว์ของ” ของเราเอง ถ้าเราไปก๊อบฯ เขา มันก็ไม่ได้ภูมิใจ รู้สึกว่ามันไม่เจ๋งจริง หนูเลยคิดว่าถ้าเป็นคนที่มีความเป็นศิลปินจริงๆ ก็จะไม่ได้มีปัญหาเรื่องการก๊อบฯ จากโลกออนไลน์เลย หนูใช้วิธีอ่านและศึกษาจากผลงานของนักเขียนคนอื่นๆ แล้วเอามาทดลอง มาหาภาษา หาเอกลักษณ์ของตัวเอง ที่สำคัญก็คือเราต้องมีเรื่องที่จะเล่า และรู้จักใส่ความคิดตัวเองลงไป หรือตั้งคำถามให้คนอ่านคิดไปด้วยกัน


[น้องจิ้น ยุวศิลปินผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ จากผลงานชื่อ “The Blue Baby"]
ในส่วนของยุวศิลปินผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ อย่าง จิ้น-พศุตม์ ธนพุฒิศิน เขาบอกว่าผลงานชื่อ “The Blue Baby” ที่ได้รางวัลในครั้งนี้ มีส่วนที่ได้จากโลกออนไลน์อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะการศึกษามุมกล้องจากภาพยนตร์สารคดีที่ทำเป็นประจำช่วงออกแบบหนังแอนิเมชันเรื่องนี้ขึ้นมา

“ผมว่าสำคัญก็คือการมองโลกออนไลน์เป็นแค่เครื่องมือในการหาความรู้ครับ แต่ถ้าเราแค่ไปเอาข้อมูลจากในนั้น แล้วทำตามนั้นเลย สุดท้ายผลงานที่ออกมาก็จะไม่ใช่ของเราเอง เพราะฉะนั้น เวลาเราทำงาน ถ้าอยากให้มันออกมาเป็นผลงานของตัวเอง เราก็แค่ต้องเลือกว่าจะหยิบ “เครื่องมือ” ไหนมาใช้ และให้เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ หรือต้องการทำอะไร แล้วเราก็จะรู้เองว่าสิ่งที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ทุกอย่าง ต้องเลือกมาใช้ดีๆ”


[น้องโน้ต ยุวศิลปินผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะ 3 มิติ จากผลงานชื่อ “สัมพันธภาพของรูปทรง"]
เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมรับรางวัลยอดเยี่ยมจากเวทีเดียวกัน ในสาขาศิลปะ 3 มิติ อย่าง โน้ต-อนิเทพ คูณทอง ที่มองว่า “ศิลปะออนไลน์” ของศิลปินท่านอื่นๆ มีส่วนช่วยสร้างสรรค์ มากกว่าจะมองในแง่ลบ เพียงแต่ต้องไม่ไปก๊อบปี้แนวทางของใครมาทั้งดุ้น “วิธีของผมก็คือ การเอาแค่ส่วนที่มันดูสมบูรณ์ ในผลงานของศิลปินแต่ละท่านมาดัดแปลงเป็นของตัวเอง แต่ไม่ใช่การลอกเลียนแบบครับ”


[น้องวุฒิ ยุวศิลปินผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะ 2 มิติ จากผลงานชื่อ “ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง”]
“เราแค่ต้องหยิบข้อมูลจากออนไลน์มาบางส่วน เอามาปรับใช้ แล้วทำให้เป็นลายเซ็นของเราเองครับ” วุฒิ-ธีรวุฒิ คำอ่อน ยุวศิลปินผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาศิลปะ 2 มิติ จากผลงานชื่อ “ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง” บอกวิธีการศึกษาศิลปะออนไลน์แบบไม่ทำลายเอาไว้แบบนั้น เช่นเดียวกับผลงานของเขาที่ตั้งคำถามกับเรื่อง “การบูรณะโบราณสถาน” แบบวาดทำ ทำใหม่แบบไม่เหลือเค้าเดิม ที่ใช้วิธีเสิร์ชหาข้อมูลมาเติมเต็มช่องโหว่ เพื่อให้ไอเดียที่วาดไว้สมบูรณ์แบบที่สุด




สกู๊ปข่าวโดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น