xs
xsm
sm
md
lg

ก๊อบฯ อย่างกะขอแฟรนไชส์! ญี่ปุ่นด่า “ร้านราเมง” ลาม “ไทยแลนด์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ขายหน้าอีกแล้ว! สื่อญี่ปุ่นจวกเละประเทศไทย “ดินแดนสวรรค์ของก๊อบปี้” หลังพบร้านราเมงแห่งหนึ่งในไทย ก๊อบร้านราเมงชื่อดังในญี่ปุ่นเหมือนยันเงา! ผู้บริโภคผิดหวัง นึกว่าซื้อแฟรนไชส์จากประเทศญี่ปุ่น ที่ไหนได้งานก๊อบเกรดเอซะงั้น!! ทีมข่าวต่อสายตรง “นักการตลาด” เลียนแบบร้านทั้งดุ้นแบบนี้..ผิดหรือไม่!?

ดินแดนสวรรค์ “ของก๊อบปี้”

“ก๊อบทั้งดุ้นร้านราเมงชื่อดัง “อิจิรัน” โดยไม่ได้ขออนุญาต!” พาดหัวข่าวสื่อค่ายใหญ่ในญี่ปุ่น อย่าง Yahoo, Nikkei และ Livedoor ต่างพากันรุมประณามร้านราเมงในไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการลอกเลียนรูปแบบบรรยากาศร้านราเมงชื่อดังในประเทศญี่ปุ่นจนถึงกับแยกไม่ออก

โดยใจความสำคัญของเนื้อหาในสื่อประเทศญี่ปุ่น ถูกเผยแพร่ผ่านเพจดัง “J-DORADIC ดิคออนไลน์ไทย-ญี่ปุ่น” ซึ่งมีการระบุไว้ว่า ประเทศไทยนั้นขึ้นชื่อเรื่อง “ดินแดนสวรรค์ของก๊อบปี้” ซึ่งคุณสามารถพบของก๊อบปี้ได้อย่างมากมายราวกับว่ามันไม่ผิดกฎหมาย ทั้ง นาฬิกา กระเป๋า เสื้อผ้าแบรนด์เนม ซอฟต์แวร์ สมาร์ทโฟน ไม่เว้นแม้แต่ร้านราเมง

ถือได้ว่าประเทศไทยคือตลาดที่น่าสนใจสำหรับชาวญี่ปุ่น โดย ร้านราเมงอิจิรัน ร้านต้นตำรับซุปกระดูกหมูแท้ต้นกำเนิดจากคิวชู ปัจจุบันเปิดในญี่ปุ่นไปแล้ว 71 สาขา ซึ่งครองใจผู้บริโภคทั่วโลกด้วยต้นกำเนิดรูปแบบการสั่งราเมงผ่านกระดาษแบบสอบถาม ที่ภายหลังคนไทย เรียกว่า “การทำข้อสอบ”


 
หากพูดถึงเอกลักษณ์ของร้านอิจิรัน คือ การเน้นให้นักชิมได้ลิ้มรสชาติอาหารให้ได้ใกล้เคียงกับรสนิยมของตัวเองมากที่สุด และรูปแบบการนั่งกั้นฉากกินแบบออริจินัลไม่เหมือนใคร ซึ่งต่อมาทางบริษัทที่ทำอิจิรันกลับมารู้ความจริงว่าราเมงในเอกลักษณ์ของตัวเองนั้น มีคนเอาไปเปิดที่ไทยแล้ว จนหลายคนเข้าใจผิดเสียว่าเป็นต้นตำรับแท้ที่ขยายมาเปิดที่ไทย

ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นได้เดินทางไปชิมร้านราเมงไทยดังกล่าว พบว่า มีการลอกเลียนแบบแทบทุกอย่าง ทั้ง วิธีการสั่งผ่านกระดาษ กั้นฉากที่นั่ง กระดิ่งเรียก ก๊อกน้ำดื่ม และ สไตล์ร้านไปจนถึง หน้าตาของซอสพริกสูตรเฉพาะที่หล่นลงบนเส้นราเมง

หากเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของอิจิรันจะได้เห็นว่า ทางบริษัทชูเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร 5 องค์ประกอบ นั่นคือ ซอสพริกสูตรเฉพาะ, ซุปกระดูกหมูไร้กลิ่นคาว, ที่นั่งกั้นฉาก, กระดาษข้อสอบสั่งอาหาร และ ระบบสั่งเพิ่มเส้น

โดยทั้ง 5 เอกลักษณ์นี้ คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าโดนก๊อบปี้ไปทั้งหมด ซึ่งระบบการสั่งอาหารแบบข้อสอบผ่านที่นั่งกั้น บริษัทที่ทำอิจิรันได้จดสิทธิบัตรไว้แล้วเลขที่ 4267981 ทำให้เป็นไปได้สูงว่าร้านราเมงดังกล่าวนั้นได้ละเมิดกฎหมายนี้อยู่

อย่างไรก็ตาม สิทธิบัตรที่จดนั้นโดยพื้นฐานจะครอบคลุมเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ยังเป็นประเด็นว่าในต่างประเทศจะพิจารณาครอบคลุมไปถึงการฟ้องร้องนี้ได้หรือไม่ และหากร้านราเมงไทยดังกล่าวชิงจดสิทธิบัตรวิธีการขายและเอกลักษณ์นี้ในไทยเสียก่อน อาจกระทบต่อการเปิดร้านของราเมงอิจิรันในประเทศไทยได้ในอนาคต

ดังนั้น ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นหากคิดจะเปิดธุรกิจในประเทศไทย นอกจากการจดสิทธิบัตรในญี่ปุ่นแล้ว คุณต้องไม่ลืมที่จะจดสิทธิบัตรที่ประเทศไทยด้วย เพื่อป้องการการละเมิดแบบที่ร้านราเมงอิจิรันกำลังประสบอยู่

โซเชียลฯ แซะแรง “ร้านอาหารก๊อบเกรด A” ไม่ใช่ครั้งแรก!

หนึ่งในหลายๆ ความคิดเห็นถูกโพสต์ลงโลกโซเชียลฯ ทันทีที่ประเด็นการลอกเลียนแบบร้านราเมงจากประเทศญี่ปุ่นถูกเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ ซึ่งยอดแชร์ได้ถูกส่งต่อไปแล้วมากกว่า 4,000 แชร์ โดยความคิดเห็นส่วนใหญ่มุ่งไปที่เรื่องการลอกเลียนแบบสไตล์ร้านอาหารจากร้านออริจินอล อย่างประเทศญี่ปุ่น

อีกทั้ง กระแสในโลกออนไลน์เองได้มีการขุดประเด็นเรื่องการก๊อบปี้ของธุรกิจร้านอาหารในไทยด้วยเช่นกันว่า นี่ไม่ใช่ร้านแรกที่มีการลอกเลียนแบบหรือนำแรงบันดาลใจจากต้นฉบับของต่างประเทศมาสร้างกิจการของตนเองในลักษณะนี้

โดยผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้นำภาพ 2 ร้านคาเฟ่จากในประเทศไทยและเกาหลี มาทำภาพเปรียบเทียบกันว่ามีความคล้ายกันมากทีเดียว ซึ่งระบุข้อความไว้ว่า “ซ้าย เกาหลี VS ขวา ไทย อินสปายเรชั่นเบาๆ 2ร้านเกาหลี คือ คนละร้านนะ แต่ของไทยคือเอามายำรวมกัน”

ซึ่งจะเห็นว่าบรรยากาศของร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งในไทยที่มีความคล้ายกันกับคาเฟ่ดังในประเทศเกาหลี ทั้งด้านการตกแต่งออกแบบ ประตูทางเข้า หรือแม้แต่กระเบื้องที่ใช้ในการตกแต่งผนังของร้าน
หลังจากที่ภาพและข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป โลกออนไลน์ก็เริ่มวิจารณ์เชิงประชดประชันอีกด้วยว่า..นี่ร้านสาขาย่อยหรือซื้อดีไซน์มากันแน่!

 
“นักออกแบบ ควรแค่ดูเป็นแรงบันดาลใจ ไอเดียมันต่อยอดได้อีกหลายทางเลย นี่เล่นก๊อบมาทั้งดุ้น แบบนี้ เหมือนไม่รู้ว่ามีโลกโซเชียล”

“อุ๊ย สงสัยจะได้แรงบันดาลใจมาจากร้านนี้นะคะ เหมือนยันกระเบื้อง ”

“ก๊อบได้สะใจมาก ควรเปิดเป็นร้านซีรอกซ์แทน ไอ้เราก็นึกว่าซื้อลิขสิทธิ์มา ที่แท้ copy!! งามไส้”

แน่นอนว่า การเกิดกระแสดรามาก๊อบปี้ (หรืออิงแรงบันดาลใจ) ร้านอาหารจากต่างประเทศในครั้งนี้ อาจเป็นบทเรียนให้กับหลายๆ ผู้ประกอบการที่กำลังตัดสินใจทำธุรกิจ ให้เห็นความสำคัญของการเคารพสิทธิและการให้เกียรติเจ้าของผู้สร้างสรรค์และออกแบบผลงานด้วยเช่นกัน!

มุมมองนักการตลาด “เพราะมีดี..จึงโดนก๊อบ”

“มันต้องดูว่าการเลียนแบบ มันเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ถ้าใช่ก็ผิดแน่นอน แต่ถ้าในธุรกิจร้านอาหาร การเลียนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่เรื่องง่าย”

“ดร.ประสิทธิ์ รัตนพันธ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้เปิดเผยกับทีมข่าว ผู้จัดการ Live ถึงประเด็นดราม่าร้านราเมงในไทยสร้างเลียนแบบร้านราเมงชื่อดังต้นฉบับในประเทศญี่ปุ่น

“ถ้ามองในเนื้อหา ต้องดูว่าหลังจากนี้ มันเกมทางธุรกิจมันเป็นยังไง ถ้าบอกว่าร้านนี้ก๊อบปี้ต้องเป็นไปตามกฎหมายในเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งในมุมมองของผม การที่เราจะก๊อบปี้ร้านอาหารสักร้าน มันไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุผลในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบ สูตรอาหาร การบริการ การตบแต่งร้าน มันอาจเป็นเกมทางการตลาดในการโฆษณาอย่างหนึ่ง

ส่วนถ้ามองอีกมุมหนึ่ง หากว่าเป็นการก๊อบปี้จริงๆ ลักษณะการทำธุรกิจ มันมีเรื่องของการพัฒนาหรือการสร้างธุรกิจขึ้นมา เช่น การนำของคนอื่นมาต่อยอด หรือการลอกเลียนแบบ



 
ถ้าผมมองเคสนี้คือการเลียนแบบ ซึ่งการเลียนแบบมันมีช่องว่างเรื่องการก๊อบปี้ค่อนข้างเยอะ ผมยกตัวอย่างอาหารกลุ่มสุกี้ หรือชาบู ซึ่งเราจะเห็นหลายๆ ร้านที่มีลักษณะคล้ายกัน ผมมองว่ามันเป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมมากกว่า

ด้วยเหตุผลนี้ จึงต้องดูว่าการเลียนแบบ มันเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ถ้าใช่ก็ผิดแน่นอน แต่ถ้าในธุรกิจร้านอาหาร การเลียนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้เรานั่งกินร้านที่คล้ายกัน สูตรอาหารมันก็ต่างกันอยู่แล้ว ยังไม่รวมถึงบริบทของทำเล การตบแต่งร้าน ตรงนี้มันยาก แต่ถ้าเรานำชื่อ-โลโก้ร้านเขามา นั่นผิดเต็มๆ”

อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยของสังคมที่มองว่า หากอนาคตร้านราเมงแบรนด์ดังของญี่ปุ่น ต้องการมาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย แต่กลับมีร้านราเมงในไทยที่มีสไตล์เดียวกับร้านต้นฉบับอยู่ก่อนแล้ว จะเกิดผลเสียหรือข้อเสียเปรียบทางธุรกิจอย่างไรหรือไม่

“การทำลักษณะนี้มันส่งผลทางลบกับต้นฉบับไหม ผมมองว่ามันเป็นการส่งผลทางบวกด้วยซ้ำไป มันแสดงให้เห็นว่าเรามีดี เขาถึงต้องเลียนแบบ และย้อนกลับไปจากกระแสตรงนี้ ผมมองว่าปัจจุบันการแข่งขันมันค่อนข้างเปิดกว้าง เราทำธุรกิจอะไรก็ตามจะห้ามคนอื่นทำตามหรือเลียนแบบไม่ได้ แต่เราต้องใช้จุดนี้ให้เป็นโอกาส

จริงๆ แล้ว การทำธุรกิจ เรื่องของความเสี่ยงมันมีอยู่แล้ว ทั้งร้านอาหารคู่แข่งทางตรงและทางอ้อม แต่สิ่งสำคัญที่ผมอยากให้คนที่ทำธุรกิจควรตระหนัก คือ เรื่องของจรรยาบรรณ ความถูกต้อง คุณธรรมและจริยธรรม เพราะมันเป็นหลักปฏิบัติวิชาชีพที่ควรมี”

ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพประกอบ FB: J-DORADIC ดิคออนไลน์ไทย-ญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น