xs
xsm
sm
md
lg

ไข่เจียวปูจานเดียวหนึ่งพัน!! ไหวมั้ย? แลกงบ 143 ล้าน อวดสตรีทฟูดทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อ ครม. อนุมัติเงินกว่า 143.5 ล้านบาท ให้ “มิชลิน” เหินฟ้ามามอบ “ดาว” การันตีความอร่อยจนต้องมาชิม แต่แค่ปีแรก จากสัญญา 5 ปีที่ไทยจัดทำ “มิชลินไกด์ ฉบับกรุงเทพฯ” กลับมีดรามาร้อนๆ มาให้ถกเกียงกันอย่างดุเดือดว่าเม็ดเงินมากขนาดนี้ ครม. อนุมัติไปได้อย่างไร ชาวโซเชียลฯ บ่นแล้วสตรีทฟูดเอกลักษณ์ของไทยไหงร้านที๋คว้าดาวราคาแพงเวอร์ สตรีทฟูดจริงราคาต้องเอื้อมถึง

** อนุมัติ 143.5 ลบ.แล้วคนไทยได้อะไร?
ย้อนไปตั้งแต่ต้นปี 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ดำเนินโครงการร่วมกับ มิชลิน เป็นระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) ด้วยงบประมาณรวม 143.5 ล้านบาท เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเพิ่มการจับจ่ายด้านอาหาร และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ขยับสูงขึ้น

รัฐบาลชุดนายกตู่ มองว่า การอนุมัติงบในครั้งนี้จะช่วยประเทศไทยในเรื่องเศรษฐกิจเพราะเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยว ได้ไปตามล่าร้านระดับมาตรฐานมิชลินเพื่อลองรับประทาน แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ทางฟากของประชาชนนั้นเห็นต่างกับการเอาเงิน 143.5 ล้านบาทไปใช้แบบสิ้นเปลืองซะมากกว่า

ชาวโซเชียลฯ เองต่างออกมาแสดงความเห็น หลังจากได้ทราบผลรางวัลว่าร้านไหนบ้างใน กทม. ที่ได้รับการติดดาว มิชลิน บ้างก็เห็นว่าสมเหตุสมผล บ้างก็สั่นหัวรัวไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ดังเช่ “จ้างเค้ามาทำ143ล้าน เอาร้านขายแพงๆ มาลงให้ได้รางวัล คนระดับกลางๆ และรากหญ้าไม่ต้องแด_กครับ..ไข่เจียวปู 800-1,000บาท เสียงบประมาณเปล่าๆ” Suksun Happy Anunboonlert

“แทนที่จะเอามาพัฒนาปากท้องประชาชน หรือ เอาไปพัฒนาเครื่องมือแพทย์ตาม รพ. กันดารๆ ก่อน ถถถ” Nattapat Purakum

** เจ๊ไฝ 1ดาว! ที่แลกมาด้วยคำด่าและชม
ฝั่ง มิชลิน เองทันทีที่เปิดตัว มิชลินไกด์ กรุงเทพฯ คู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พักเล่มแรกของประเทศไทยประจำปี 2561 และถือได้ว่าเป็นเล่มที่ 30 ของโลก ก็ถึงกับหน้าชา เพราะไม่คิดไม่ฝันมาก่อนว่ากระแสตีกลับใน “ด้านลบ” ของการมอบดาวมิชลินนั้นจะสร้างข้อสงสัยตามมาอีกหลายเรื่อง

ถึงกระนั้น มิชลินก็ยังคงเดินหน้าและยืนยันในผลการจัดอันดับ โดยมีร้านอาหารที่ผ่านการคัดเลือกรวม 98 ร้าน และผ่านการคัดเลือกให้รับรางวัล 2 ดาวมิชลิน 3 ร้าน ได้แก่ 1.ร้านกากั้น (Gaggab) ร้านอาหารอินเดีย ที่มีเอกลักษณ์ แปลกใหม่ และสร้างสรรค์ 2.ร้านเลอ นอร์มังดี ( Le Normandie ) ร้านอาหารฝรั่งเศสในโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล และ 3.ร้านเมซซาลูน่า (Mezzaluna) บนชั้น 65 ของโรงแรมเลอบัว

นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารอีก 14 ร้านที่ได้รับรางวัล 1 ดาวมิชลิน แต่ที่ถูกพูดถึงกันสนั่นโซเชียลฯ เพราะหนึ่งในร้านที่คว้า 1 ดาวมิชลินมาครองได้นั้นดันเป็นร้านอาหารริมทางหรือ Street Food ของ “เจ๊ไฝ ย่านประตูผี”
โดย 14 ร้านที่คว้าดาวมิชลินมาได้นั้น ได้แก่ 1.ร้านโบ.ลาน (Bo.Lan) สุขุมวิท 53, 2. ร้านชิม บาย สยาม วิสดอม (Chim by Siam Wisdom) สุขุมวิท 31 แยก 4, 3. ร้านอีเลเมนส์ (Elements) ชั้น 25 โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ สี่แยกเพลินจิต, 4.ร้านกินซา ซูชิ อิชิ (Ginza Sushi Ichi) ศูนย์การค้าเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์, 5. ร้านแฌม บาย ฌอง-มิเชล โลรองต์ (J'AIME by Jean-Michel Lorain) โรงแรมยู สาทร ซอยงามดูพลี, 6.ร้านลัตเตอลิเย่ เดอ โจเอล โรบูชง (L'Atelier de Joël Robuchon)ชั้น 5 อาคารมหานคร ถนนนราธิวาสราชนครินทร์

7. ห้องอาหารน้ำ (Nahm) โรงแรมโคโม เมโทร โพลิแทน กรุงเทพ ถนนสาทรใต้, 8. ร้านเพรทส์ (Paste) ชั้น 3 ศูนย์การค้าเกษรพลาซา สี่แยกราชประสงค์, 9. ร้านเสน่ห์จันทน์ (Saneh Jaan) อาคารสินธร ถนนวิทยุ, 10. ร้านซาเวลเบิร์ก (Savelberg) อาคารโอเรียนเต็ลเรสซิเดนท์ ถนนวิทยุ, 11. ร้านสระบัว บาย กิน กิน (Sra Bua by Kiin Kiin) โรงแรมสยามเคมปินสกี้, 12. ร้านเซอริง (Sühring) ซอยเย็นอากาศ 3, 13. ร้านอัพสแตร์ส แอท มิคเคลเลอร์ (Upstairs at Mikkeller) ซอยเอกมัย 10 แยก 2 และ14. ร้านเจ๊ไฝ ถนนสำราญราษฎร์

** ฮัลโหลโซเชียลฯ รางวัล “สตรีทฟูด” อยู่ตรงนี้
หลังจากทางมิชลินประกาศรางวัล กลับกลายเป็นเสียง “ไม่เห็นด้วย” จากชาวโซเชียลฯ เพราะมองว่าราคาแต่ละร้านที่ได้รับดาวมิชลินนั้นดูเหมือนจะโหดมาก ชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำที่ไหนจะมีปัญญาไปชิมร้านอาหารเหล่านั้น โดยเฉพาะ ร้านเจ๊ไฝ สตรีทฟูดหนึ่งเดียวที่ได้รับ 1 ดาวมิชลินถูกซัดในเรื่องของราคาที่สูงเวอร์
แต่หากรู้รายละเอียดลงลึกเข้าไปอีก จะรู้และเข้าใจทันทีว่าอาหารริมทางจำพวก “สตรีทฟูด” นั้น ได้ถูกจัดให้อยู่ในร้านอาหารประเภท บิบ กูร์มองด์ (Bib Gourmand) หรือ ร้านอาหารที่อร่อยในราคาสมเหตุสมผล โดยมีร้านที่ได้รับการจัดอันดับ อยู่ถึง 16 ร้านได้แก่

1. ร้านก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่สวนมะลิ (สาขาสี่แยกโรงพยาบาลกลาง) ถนนหลวง, 2. ร้านลิ้มเหล่าโหงว (สาขาเยาวราช) ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ถนนทรงสวัสดิ์, 3. ร้านแอน ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ถนนหลวง, 4. ร้านเย็นตาโฟคอนแวนต์ ถนนคอนแวนต์ เขตบางรัก, 5. ร้านโจ๊กปรินซ์ ถนนเจริญกรุง

6. ร้านก๋วยจั๊บอ้วนโภชนา ถนนเยาวราช, 7. ร้านนายหมงหอยทอด ถนนพลับพลาไชย, 8. ร้านเจริญแสงสีลม ข้าวขาหมู ถนนสีลม, 9. ร้านตั้งซุ่ยเฮงโภชนา (สาขาพระราม 4) บะหมี่เป็ดและห่านหม้อดิน ถนนพระราม 4 ย่านสะพานเหลือง, 10. ร้านเฮียหวานข้าวต้มปลา ถนนจันทน์, 11. ร้านโกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ (สาขาประตูน้ำ) ถนนราชดำริ, 12. ร้านทิพย์สมัยผัดไทย (สาขาประตูผี) ถนนมหาไชย, 13. ร้านก๋วยเตี๋ยวหมูรุ่งเรือง สุขุมวิท 26, 14. ร้านบ้านใหญ่ผัดไทย ซอยอินทามระ 47, 15. ร้านจ๊ากกี่ ราดหน้าเนื้อเส้นหมี่ ถนนราชวิถี และ 16. ร้านเอลวิส สุกี้ (สาขาซอยยศเส) ถนนพลับพลาไชย

บิบ กูร์มองด์ นี่เองที่คนทั่วๆ สามารถเข้าถึงและยอมจ่าย ซึ่งบางร้านอาจจะโดนใจหลายๆ คนที่เคยได้มีโอกาสไปลองลิ้มชิมรสชาตินั้นมากันแล้ว


** รสปากนักชิมก่อนปล่อย “ดาวมิชลิน” ประดับร้าน
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยกันมากเหลือเกิน ใครกันคือคนไปชิม? แล้วให้คะแนนแต่ละร้านค้า?
จริงๆ แล้วการจัดประเภทการให้ “ดาว” ของมิชลินนั้น ถูกแยกออกเป็น 4 ประเภท ด้วยกันคือ Michelin Stars ถือเป็นสุดยอดรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของทั้งเชฟและร้านอาหาร แน่นอนหลายคนใฝ่ฝันว่าจะได้ดวงดาวมาครอบครองให้ได้ เพราะ Michelin Star เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับโลกและมีเพียงไม่กี่ร้านในแต่ละพื้นที่เท่านั้นที่จะสามารถได้ดาว เมื่อได้รับดาวนักท่องเที่ยวต่างถิ่นมักจะเพิ่มชื่อร้านอาหารเหล่านี้เข้าไปอยู่ในแผนการเดินทาง เพราะใครๆ ก็อยากมาลองชิมของอร่อย

ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลินมี 3ระดับ คือ ร้านที่ได้ 1 ดาว คือร้านที่อร่อยคุ้มค่าแก่การแวะชิม ร้านที่ได้ 2 ดาว คือร้านที่อร่อยเลิศคุ้มค่ากับการขับออกนอกเส้นทางเพื่อไปชิม และร้านที่ได้ 3 ดาว คือมั่นใจได้เลยว่าร้านนั้นต้องยอดเยี่ยมเหนือคำบรรยายควรค่าแก่การเป็นจุดหมายเพื่อให้ได้ไปชิมซักครั้ง

ส่วน Bib Gourmand คือรางวัลสำหรับร้านอาหารที่มีคุณภาพดี คุ้มราคา อร่อยและราคาจับต้องได้ โดยราคาอาหาร 3 คอร์สของทางร้านต้องต่ำกว่าราคามาตรฐานสูงสุดของท้องถิ่นนั้นๆ อย่างเช่นประเทศไทยจะอยู่ที่ 1,000 บาท

ถัดมาเป็น Michelin Plates รางวัลสำหรับร้านอาหารที่มีจุดเด่นในการเลือกใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ และการปรุงอย่างพิถีพิถันและ Street Food ร้านอาหารที่อร่อยในราคาสมเหตุสมผล

สำหรับ Michelin Guide Inspectors หรือ ผู้ตรวจสอบมิชลิน คือผู้ที่มีหน้าที่ไปรับประทานอาหาร แล้วจัดทำรายงานส่งไปยังบริษัทฯ เพื่อพิจารณาการให้ “ดาว” โดยจะต้องปิดบังฐานะของตนเอง ทำตัวเสมือนเป็นลูกค้าธรรมดา หากผู้ตรวจสอบมิชลินถูกทางร้านอาหารจับได้ว่ามาจากมิชลิน ฝ่ายคณะกรรมการจะต้องยกเลิกการจองทันที

แต่ใช่ว่าเมื่อได้ดาวจากมิชลินแล้วจะจบ เพราะทางร้านอาหารเหล่านั้น จะต้องพัฒนาตนเองให้อยู่ในมาตรฐาน ห้ามต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะคณะกรรมการจะต้องกลับมารับประทานอาหารอีกถึง 4 ครั้ง เพื่อพิจารณาว่าจะเพิ่มหรือลดดาว ส่วนร้านที่คว้า 3 ดาวมาได้ผู้ตรวจสอบมิชลินจะต้องกลับไปที่ร้านอีกถึง10ครั้ง เพื่อความแน่นอน

โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนพิจารณาจากคุณภาพวัตถุดิบ การจัดเตรียมและรสชาติ ลักษณะเฉพาะตัวของเชฟที่สื่อผ่านอาหารที่ปรุง ความคุ้มค่าสมราคา และความเสมอต้นเสมอปลายของรสชาติอาหาร

แม้จะยังคงเป็นประเด็นให้ได้ถกเถียงกันมากมายหลายประเด็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “อาหารไทย” ไม่ว่าจะเป็นเมนูไหน ราคาจะถูกหรือแพง ขอเพียงให้ชาวต่างชาติที่ได้มาชิมแล้วชื่นชอบจนต้องบอกต่อ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว...


กำลังโหลดความคิดเห็น