xs
xsm
sm
md
lg

“น้องเกี่ยวก้อย” มาสคอตปรองดองปนสยอง งานมือสองที่ประชาชนส่ายหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ขนาดผู้ใหญ่ยังหลอน! กลาโหมเปิดตัวมาสคอต “น้องเกี่ยวก้อย” ตัวแทนสร้างความปรองดองในประเทศ โซเชียลฯ วิจารณ์หนัก น่ากลัวมากกว่าน่ารัก แถมหน้าดำเพราะส่อเค้าเอาของเก่าเอามาใช้ซ้ำ!

“น้องเกี่ยวก้อย” มาสคอตมือสอง?!

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นโลกโซเชียลฯ หลังจากที่กระทรวงกลาโหม แถลงข่าวเปิดตัวมาสคอต “น้องเกี่ยวก้อย” มาสคอตเด็กผู้หญิงหน้าตายิ้มแย้ม ในชุดเอี๊ยมสีขาวลายหัวใจ จะมาทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แทนความปรองดอง แต่หลังจากที่ใครต่อใครได้เห็นแล้ว กลับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “หลอน”

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ นำมาสคอตที่มีชื่อว่า “น้องเกี่ยวก้อย” มาเปิดตัวต่อหน้าสื่อมวลชน พร้อมกล่าวว่า ใช้มาสคอตตัวนี้ให้เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างความปรองดองในประเทศไทย รวมถึงสร้างสำนึกแก่ประชาชนในเรื่องที่ควรทำและไม่ควรทำ โดยกระบวนการสร้างความปรองดองที่ได้ระดมความเห็นจากหลายภาคส่วนมาแล้วจะยังคงเดินหน้าต่อไป โดยสาระสำคัญของกระบวนการสร้างความปรองดองไม่ได้สร้างปัญหาหรือไปทำร้ายบุคคลใด



สำหรับน้องเกี่ยวก้อย ที่เป็นลักษณะของเด็กผู้หญิงหน้าตายิ้มแย้มนั้น เพื่อแสดงถึงความอ่อนหวาน มีไมตรีจิต ส่วนคำถามที่ว่าใครเป็นคนออกแบบมาสคอตตัวนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมก็ได้ให้คำตอบกับสื่อว่า เกิดจากไอเดียของอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ เอง ไม่ได้มีการจ้างทำพีอาร์ และไม่ได้ใช้ต้นทุนสูง


 
โลกโซเชียลฯ ตัดต่อภาพแซวน้องเกี่ยวก้อยยกใหญ่

ทางด้านของความคิดเห็นบนโลกโซเชียลฯ หลังจากที่ได้เห็นภาพของน้องเกี่ยวก้อยกันไปแล้ว ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงรูปลักษณ์ที่ดูแล้วค่อนไปทางน่ากลัวมากกว่าน่ารัก โดยมีการนำน้องเกี่ยวก้อยไปเปรียบเทียบกับภาพยนตร์สยองขวัญในต่างประเทศ อย่าง “แอนนาเบล” อีกด้วย

มิหนำซ้ำยังมีคนตาดีไปขุดภาพมาสคอตทหารชาย-หญิงเมื่อหลายปีก่อน ที่ดูยังไงมาสคอตทหารหญิงตัวนั้นก็เหมือนกับน้องเกี่ยวก้อยไม่มีผิดเพี้ยน หากจะต่างก็ต่างกันแค่ชุดที่ใส่เท่านั้น จนถูกตั้งข้อสังเกตถึงที่มาที่ไปของน้องเกี่ยวก้อยว่า สาเหตุที่หน้าตาของมาสคอตตัวนี้ที่ดูมอมแมมและไม่สะอาด อาจจะเป็นเพราะเป็นของเก่าที่เก็บไว้หลายปีก็เป็นได้


 
น้องเกี่ยวก้อย ถูกนำมาเปรียบเทียบกับมาสคอตทหารหญิงเมื่อ 3 ปีก่อน

“ส่งน้องก้อยไปรายการ Let me in เถอะ น้องเขาสมควรได้รับโอกาสจริงๆ”
“ตอนนี้น้องเกี่ยวก้อยก็ได้ประสบความสำเร็จที่ทำให้ทุกคนปรองดองแล้ว พวกเราสามัคคีทันที...แบบช่วยกันรุมด่า”
“มันดีไซน์ออกมาเพื่อจัดงานฮัลโลวีนหรือเปล่าวะ ทำไมมันหลอนกว่าชาวบ้านเขา”
“การปรองดองที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การรับฟังปัญหา และความทุกข์ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม”
“หน้าดำนี่ไม่ใช่ว่าไม่ได้ซักมาเหรอวะ ตุ๊กตาเก่าฝุ่นเกาะหมดแล้ว”

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก “ปรองดองเป็นของประชาชนที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ได้จัดกิจกรรมวาดภาพแฟนอาร์ต “น้องเกี่ยวก้อย” ขึ้น หากผลงานใครสวยถูกใจ 2,000 บาท

ส่วนการทำหน้าที่ของน้องเกี่ยวก้อย จะช่วยปรองดองเกิดขึ้นหรือไม่นั้น คงต้องรอติดตามกันต่อไป แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ ความปรองดองที่เห็นได้ชัดที่สุด คือทุกคนต่างพร้อมใจกันจับผิดน้องเกี่ยวก้อยนี่แหละ

เพจ “หมอแล็บแพนด้า” ขอแซว จาก “น้องเกี่ยวก้อย” เป็น “น้องเกี่ยวสร้อย”

ทำได้ไหม...แก้ปัญหาด้วยมาสคอต!

นี่อาจจะไม่ใช่ครั้งแรกของประเทศ ที่มีการนำมาสคอตหรือหุ่น มาเป็นตัวแทนในการส่งเสริมกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ที่เห็นมักจะเป็นมาสคอตที่ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องของการท่องเที่ยวหรือประชาสัมพันธ์หน่วยงานต่างๆ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ทำมาเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปี ก่อน หากใครยังจำสโลแกน “อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง” เป็นอันต้องนึกถึงมาสคอตรูปดวงตาขนาดใหญ่สีเขียวสดใส สัญลักษณ์ของโครงการ “ตาวิเศษ” ที่โด่งดังมากในสมัยก่อน โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญโดยหวังที่จะกระตุ้นเตือนให้ประชาชนรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง และแยกประเภทของขยะก่อนทิ้ง โดยมีการรณรงค์ผ่านเจ้ามาสคอตสีเขียว รวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ



แต่หากถามถึงผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้ว่าสามารถช่วยสร้างจิตสำนึกเรื่องการทิ้งขยะได้หรือไม่ ก็ลองนึกถึงเหตุการณ์ “น้ำรอการระบาย” ที่คนในกรุงเทพมหานครต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเกิดฝนตกหนักส่วนใหญ่ไม่เกิดจากฝนที่ตกหนักจนระบายไม่ทัน หากแต่เป็น “ขยะ” จำนวนมากจนไปกีดขวางทางระบายน้ำ เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เมืองหลวงต้องกลายเป็นเมืองบาดาลแทบจะทุกฤดูฝน

ไม่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ปริมาณขยะของประเทศไทยก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี นอกจากโครงการตาวิเศษแล้ว หน่วยงานอื่นๆ รวมถึงภาครัฐก็พยายามจัดการปัญหานี้ ถึงขนาดผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ดูเหมือนว่า แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นัก

และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้อีกกรณี คือ “จ่าเฉย” หุ่นตำรวจรูปร่างเหมือนคนจริง รูปร่างกำยำ หน้าตาขึงขัง แต่งกายด้วยชุดตำรวจ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 51 ที่ใช้งบประมาณจัดสร้างราวๆ 20,000-28,000 บาท จ่าเฉยคือตัวแทนจากทางฝั่งสีกากี ทำหน้าที่กวดขันวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่ตามแยกต่างๆ โดยมีแนวคิดว่า เมื่อใดที่คนใช้รถปะหน้าหรือเพียงเห็นเครื่องแบบตำรวจจะเข็ดขยาดไม่กล้าฝ่าฝืนกฎจราจร



แต่หลังจากนั้น 2 ปีถัดมา การปฏิบัติหน้าที่ของจ่าเฉยก็ได้มีอันสิ้นสุด เนื่องจาก พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) มีคำสั่งสายฟ้าฟาดให้เก็บจ่าเฉยกลับโรงพักทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถลดปัญหาการจราจรได้ และต้องการให้ตำรวจจราจรตัวจริงลงไปปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ปล่อยให้หุ่นที่ไม่มีชีวิตชีวาไปทำหน้าที่แทน

แม้จะกลับโรงพักไปแล้ว แต่ก็ยังมีจ่าเฉยบางส่วน ที่ยืนทำหน้าที่อยู่ เมื่อต้นปี 60 ที่ผ่านมา ยังมีการอัปเกรดจ่าเฉยขึ้นไปอีกขั้น โดยจะเน้นการกวดขันไปที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ที่มักจะละเลยในการสวมหมวกนิรภัย ในโครงการระบบจ่าเฉยอัจฉริยะ “ระบบตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยอัตโนมัติ”



โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างตำรวจจราจรและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เมื่อพบผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายไม่สวมหมวกนิรภัยขับผ่านกล้องวงจรปิดที่ติดไว้บนตัวจ่าเฉย ระบบจะตรวจจับและส่งข้อมูลไปยังกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อออกใบสั่งให้คนทำผิดกฎจราจร แม้จ่าเฉยจะมีความไฮเทคมากขึ้น แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ทำผิดกฎจราจร รวมถึงตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยติดอันดับการเกิดอุบัติเกิดบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แนวความคิดการใช้หุ่นมาสคอต เป็นตัวแทนในการรณรงค์แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ ดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแค่เพียงระยะสั้นๆ ซึ่งการจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนนั้น ต้องมาจากความสามัคคีและจิตสำนึกที่เห็นแก่ส่วนร่วม ที่จะช่วยให้ผลักดันให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างแท้จริง ...

ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Wassana Nanuam” และ “CSI LA”
กำลังโหลดความคิดเห็น