ปัญหาเด็กเร่ขายดอกไม้ พวงมาลัย ลูกอม กระดาษทิชชู ตามร้านอาหาร หรือสถานบันเทิงต่างๆ ยามดึกดื่น ที่มักจะเดินเข้ามาเพื่อขายของ หากลูกค้าไม่สนใจที่จะซื้อ จะยืนจ้องหน้าไม่กระดุกกระดิกไปไหน บางรายหนักข้อถึงขั้นแสดงพฤติกรรมพูดจาหยาบคายเมื่อถูกปฏิเสธซื้อของ สร้างความหงุดหงิดชวนของขึ้นให้กับลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่ออยู่ไม่น้อย ด้าน ผอ.กองคุ้มครองเด็กและเยาวชน แนะผู้ปกครองควรดูแลลูกไม่ใช่ปล่อยให้เด็กออกไปขายของด้านนอกตอนกลางคืน
** มารยาเด็กเร่ขายไม่ซื้อ-ไม่ไป
ดังเช่นล่าสุดเมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Cash Sitipop Thaiutai ได้โพสต์คลิปวิดีโอพร้อมภาพเกี่ยวกับแม่ลูกคู่หนึ่งซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นคนไทยหรือไม่ ได้ให้ลูกออกมาเร่ขายของแล้วถูกลูกค้าทำร้ายจนต้องมีการเรียกเงินค่าเสียหายกันเกิดขึ้น ซึ่งผู้โพสต์คลิปได้ระบุข้อความว่า
“เหมือนเดิม แก๊งค์เด็กขายดอกไม้ ขายลูกอมหน้า RCA รีดไถลูกค้าที่มากินข้าวแถวนี้อีกแล้ว!!! เหตุการณ์คือ ลูกค้าไม่ยอมซื้อดอกกุหลาบ เด็กพวกนี้จะมี กิริยาโดยเดินเข้าไปชนลูกค้า ยุยงให้ซื้อ พอลูกค้าไม่ซื้อก็จะยืนกดดันอยู่เรื่อยๆ จนลูกค้าไม่พอใจ ถึงได้ลงไม้ลงมือกับเด็ก ตัวแม่ของเด็กไม่พอใจไม่ยอม เดินมาโวยวายเพื่อที่จะขอค่าเสียหาย ลูกค้าจึงยื่นเงินไปให้ 2,000 ถึงจะยอม แบบนี้รีดไถกันชัดๆ”
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ ตี 3 ลูกค้าที่ปรากฎในคลิปมีประมาณ 4 - 5 คน ได้เดินออกมาจากสถานบันเทิงเพื่อมารับประทานอาหาร จากนั้นเด็กที่ขายดอกไม้ 2 คน ได้พยายามไปตื๊อขายดอกไม้ให้กลุ่มลูกค้า ทางลูกค้าไม่ซื้อแต่ได้ให้เงินไป 40 บาท ซึ่งเด็กไม่รับเงิน พร้อมกับยัดดอกไม้ใส่มือลูกค้า แต่ทางลูกค้าไม่ยอมรับดอกไม้ เด็กจึงมีอาการไม่พอใจและได้โยนดอกไม้ทิ้ง พร้อมร้องไห้ออกมาเสียงดังจนเกินจริง โดยลูกค้าที่อยู่โดยรอบร้านต่างก็ตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ผ่านไป20 นาที เด็กขายดอกไม้ ได้มาที่ร้านเกิดเหตุอีกครั้ง พร้อมแม่ และคนอีกประมาณ 4-5 คน แม่เด็กได้นำรองเท้าไปตบหน้าลูกค้าคนดังกล่าว และถามว่าจะรับผิดชอบลูกตนอย่างไร กลุ่มลูกค้าเริ่มมีท่าทีรำคาญ จึงควักเงินให้ 2,000 บาทกับแม่เด็ก และแยกย้ายกันออกไป
ภายหลังจากเหตุกาณ์ถูกเผยแพร่ในโลกโซเชียล ทำให้ชาวเน็ตเข้ามาวิพากษ์วิจารย์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกันอย่างมาก โดยบอกว่า การกระทำของเด็กกลุ่มนี้ได้สร้างความรำคาญเป็นอย่างมาก บางคนก็บอกว่าเคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้บ่อยมาก โดยที่ ไม่แน่ใจว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนไทยหรือไม่ พร้อมกับอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและจัดการ เพราะการกระทำแบบนี้เข้าค่ายเหมือนการรีดไถ่เงิน โดยใช้เด็กมาบังหน้า
** ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ อย่าโทษลูก
นางสาวอรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองเด็กและเยาวชน เผยกับทีมข่าวผู้จัดการ Live ว่า จากปัญหาที่กำลังเป็นกระแสทางโซเชียลกรณีเด็กขายดอกไม้ตื๊อเพื่อขายดอกไม้จนเกิดเป็นการทะเลาะวิวาทถึงขั้นมีการทำร้ายร่างกายกันนั้น ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะ “เด็ก” ในที่นี้คือบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่เด็กต้องพักผ่อน เด็กต้องอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ อาศัยอยู่ในบ้านหรือสถานที่ที่ปลอดภัย ไม่ใช่ตี 3 ตี 4 ยังออกมาเร่ขายของโดยที่พ่อแม่กลับเต็มใจให้เด็กทำเช่นนั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาเด็กขายของนับเป็นปัญหาที่มีมานานมากแล้ว ทางกองกิจการเด็กและเยาวชนได้รับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเด็กที่ออกมาขายของตามสถานที่ต่างๆ ในยามวิกาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเด็กขายพวงมาลัยตามแยกต่างๆ ขายดอกกุหลาบ ขนม ลูกอม ถั่ว กระดาษทิชชู เป็นต้น
ใช่ว่าเด็กเหล่านี้จะถูกจัดให้อยู่ในประเภทที่มีความผิดไปทั้งหมด เพราะต้องดูด้วยว่าหากการขายนั้นเป็นการขายซึ่งเป็นการช่วยเหลืองานของครอบครัว เช่นพ่อแม่ประกอบอาชีพร้อยพวงมาลัยขาย แล้วลูกออกไปขายเพื่อช่วยพ่อแม่ เช่นนี้ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะเด็กอาจจะต้องช่วยพ่อแม่ในการหาเงินเลี้ยงชีพ ไม่ถือเป็นการใช้แรงงานเด็ก แต่อาจจะมีความผิด พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นโทษที่ไม่รุนแรงมากนัก
ถามว่าเหตุใดปัญหาเด็กขายดอกไม้ตามสถานที่ต่างๆ ในเวลากลางคืน และบางคนได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมา เวลาไปขายของตามที่ต่างๆ เช่น ยืนตื๊อจนกว่าจะขายของได้ สร้างความรำคาญและไม่เป็นส่วนตัวกับผู้อื่นนั้นถึงยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้สักที บทลงโทษที่มีอยู่เบาเกินไปหรือไม่
“ปัญหานี้ถูกผูกโยงกับหลายๆ เรื่องทั้งเศรษฐกิจของประเทศ อันมีผลมาจากโครงสร้างครอบครัว พ่อแม่ทะเลาะกัน แยกกันอยู่ มีผลลามมาถึงเรื่องรายได้ การเลี้ยงดูลูก การศึกษาลูก ตามกันมาเป็นทอดๆ ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องใช้เวลา เพราะเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย
ทางแก้ที่ดีที่สุด คือทางกองคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะเข้าไปพูดคุยกับทางครอบครัว ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเป็นหลัก เพื่อหาสาเหตุที่เด็กต้องออกมาทำงานขายของในสถานที่อันตราย หรือว่าในเวลากลางคืน หากขาดแคลนในเรื่องของเครื่องอุปโภคบริโภคทางกองคุ้มครองเด็กและเยาวชนจะมีการช่วยเหลือในส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญลูกจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่การอบรมเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้มอบให้” ผู้อำนวยการกองคุ้มครองเด็กและเยาวชนกล่าว
** บทลงโทษมีแต่ไม่แรง
ในส่วนของกฎระเบียบหรือข้อกำหนดในการบังคับให้เด็กขายพวงมาลัย แม้ผู้บังคับจะเป็นบิดามารดา หรือผู้ปกครอง จะมีความผิดตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ในการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งกรณีนี้รวมถึงพ่อแม่ ที่ให้ลูกไปขอทาน ก็ถือเป็นความผิดฐาน “การค้ามนุษย์”
รวมถึงปัญหาเด็กขายพวงมาลัย ดอกไม้ ของที่ระลึกตามสี่แยกไฟแดงและตามร้านอาหารทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เรื่องการห้ามประกอบการค้าบนผิวการจราจรมีโทษ ปรับไม่เกิน 500 บาท พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง พ.ศ. 2535 ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ผู้ปกครองที่ให้เด็กมาทำงานดังกล่าว ถือเป็นการยุยงส่งเสริม ยินยอมให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อนหรือทำงานอยู่ในสถานที่เสี่ยงอันตราย หรือเลี้ยงดูเด็กอย่างไม่เหมาะสมอันเป็นการแสวงประโยชน์จากเด็ก จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน
ผู้ฝ่าฝืนก็จะมีความผิดฐานส่งเสริมให้เด็กและผู้ปกครองกระทำผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ว่าด้วย ผู้ใดใช้ จ้าง หรือวานให้เด็กทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตราย
แก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวาง ต่อการพัฒนาการของเด็ก
สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ใช้แรงงานเด็กเกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด หรือการนำเด็กมาเป็นเหยื่อ เข้าข่ายการค้ามนุษย์ มีพฤติกรรมสร้างความรำคราญ หรือสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศไทยจะถูกทำการเสนอเรื่องเพื่อเพิกถอนสิทธิ์ที่ให้อยู่ในประเทศไทย แล้วทำการผลักดันออกนอกประเทศไปตามกฎหมาย
แม้ทางออกในปัญหาเด็กเร่ขายของตามร้านอาหารดูเหมือนจะยากต่อการแก้ปัญหา แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ คือไม่ต้องสนับสนุนสินค้าที่ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ หรือผู้พิการเหล่านั้นมาขาย แต่หากเกิดปัญหาเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเคลียร์ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด