xs
xsm
sm
md
lg

CPR เข้าไม่ถึงคนไทย?! ปั๊มหัวใจผิดปลิดชีวิต “โจ บอยสเก๊าท์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ใครจะไปคิดคนกำลังร้องเพลงบนเวทีอยู่ดีๆ จะวูบล้มลงไป จากนั้นก็ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย กรณีของ โจ - บอยสเก๊าท์ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมถึงมัจจุราชภัยเงียบ “โรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” และอุปสรรคการ CPR ปั๊มหัวใจ ที่คนไทยยังเข้าไม่ถึงแม้จะบรรจุอยู่ในการเรียนการสอนก็ตาม กระทั่งเขาเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา!

ปฐมพยาบาลเป็น ยื้อชีวิต


“ตอนแรกคิดว่าเขาเล่นมุก เพราะเขาวูบล้มลงไป แต่อาการเริ่มออกแล้วคือตาเหลือก เกร็ง ชัก น้ำลายฟูมปาก และปัสสาวะรดกางเกง ในขณะเกิดเหตุการณ์ทุกคนรวมถึงตนตกใจทำอะไรไม่ถูก อีกอย่างตนไม่มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น” วินรวีร์ ใหญ่เสมอ หรือ ต๊ะ หนึ่งในสมาชิกวงบอยสเก๊าท์ บอยแบนด์ยุค 90 เล่าเหตุการณ์หลังจากที่ พวกเขากำลังเล่นคอนเสิร์ตในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง เป็นคืนสุดท้ายที่เขาจะได้เจอ ธนัท ฉิมท้วม หรือ โจ บอยสเก๊าท์ อายุ 44 ปี ที่จากไปก่อนวัยอันควร

ตามสคริปต์ที่ต้องขึ้นโชว์มีทั้งหมด 16 เพลง จนมาถึงเพลงที่ 15 คือเพลง “เกรงใจ” พอร้องจบกำลังจะกล่าวลาจบคอนเสิร์ตและส่งเข้าเพลงสุดท้าย แต่ โจ กลับมาล้มฟุบลงไปท่ามกลางความตกใจของทุกคน

ทว่า ก่อนหน้าที่โจจะวูบล้ม วงบอยสเก๊าท์ได้เล่นคอนเสิร์ตในชุดเพลงเร็วเพลงเต้นทั้งหมด 4 เพลงรวด

“การจะไปช่วยอะไรแบบนี้มันไม่สามารถมั่วได้ รวมถึงรถพยาบาลและรถมูลนิธิค่อนข้างมาถึงช้า เท่าที่ได้คุยกับคุณหมอบอกว่าถ้าจะกระตุ้นด้วยการชอร์ตให้กลับมา ก็มีสิทธิยื้อชีวิตได้ แต่สมองไปหมดแล้วเพราะขาดอากาศหายใจไปนาน แต่ทีนี้พอกระตุ้นแล้วมันไม่มาเพราะกล้ามเนื้อหัวใจของเขาไม่ ตอบสนอง สรุปสาเหตุที่ทำให้โจเสียชีวิตคุณหมอบอกว่าเป็นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว”

นอกจากนี้ หลังเสียชีวิตแพทย์ตรวจเลือดพบน้ำตาลในเลือดสูงถึง 300 ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต คือ กล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงาน

หลังจากที่โจล้มลงไปนั้น มีหลายคนพยายามมาช่วยเหลือ แต่ทุกคนล้วนแต่ไม่ใช่สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ เห็นได้ชัดจากในคลิปที่มีคนถ่ายไว้ขณะรอรถพยาบาลมาถึง กินเวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งในระหว่างนั้นสังคมตั้งข้อสงสัยว่า หากมีใครสักคนสามารถปั๊มหัวใจโจขึ้นมาได้ เขาอาจรอด!
บรรยากาศบนเวทีคอนเสิร์ตวันเกิดเหตุก่อนโจ บอยสเก๊าท์ จะล้มวูบลงไป


"ขั้นตอนการปฐมพยาบาลในคลิปเลวร้ายมาก คุณโจ ในคลิป หายใจเฮือก แบบคนหัวใจกำลังจะหยุดเต้น นั่นคือเฮือกสุดท้ายแล้ว

ถ้าเจอคนหมดสติไม่รู้สึกตัว และหายใจผิดปกติแบบนี้ต้องเริ่ม CPR แล้ว มีคนตะโกนบอก ไม่ต้องปั๊ม ยังหายใจได้ยังไม่ต้องปั๊ม แล้วก็เอาแต่พัดโบกให้ บางคนก็บอกว่าให้จับตะแคงข้าง เพราะเขานึกว่าโจชัก แต่เขาไม่ได้ชักไง

กว่าจะเริ่มมีคนบอกว่าต้องปั๊มแล้วนะ ก็ผ่านไป 4 นาทีแล้ว แถมยังมีคนบอกให้หยุดปั๊มเป็นระยะ มีคนขึ้นปั๊มแป๊บเดียวตอนนาทีที่ 4 จากนั้น ไม่มีใครทำไรเลย ปล่อยให้เขานอนหายใจเฮือกตรงนั้นจนสิบนาที ถึงมี จนท กู้ภัยมาเริ่ม CPR จริงจัง" เพจ Drama-addict ให้ความเห็นในฐานะแพทย์คนหนึ่ง ทั้งยังเรียกร้องให้มีการบรรจุเรื่องการทำ Cardiopulmonary resuscitation (CPR) วิธีการปั๊มหัวใจ ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ ให้เป็นหลักสูตรมาตรฐานของการศึกษาของนักเรียนไทย

ทว่า ก็ยังมีคนมาเห็นแย้งว่า เอาจริงๆต่อให้ตั้งใจ แต่ชีวิตคนเราที่ไม่ค่อยได้ใช้ถึงเวลาก็ลืมป่าว? ใครจะมีโอกาส CPR มนุษย์บ่อยๆถ้าไม่ใช่หน่วยกู้ภัย!

หายใจเฮือก-พะงาบ รีบทำ CPR ด่วน!

พบคนหยุดหายใจ หายใจเฮือก ให้รีบแจ้ง 1669 จากนั้นรีบทำ CPR ระบุหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แต่สมองยังสั่งการให้ร่างกายพยายามหายใจ ทำให้มีอาการหายใจพะงาบ ทำเข้าใจผิดว่ายังปกติ จนทำ CPR ช้า

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจเป็นภัยเงียบที่อาจนำมาสู่อาการภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความเสี่ยงได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ในผู้ป่วยทั่ว ไปก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจจะมีภาวะเต้นพลิ้วไม่เป็นจังหวะ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดภาวะหมดสติ ไม่รู้สึกตัว แต่สมองยังคงสั่งการให้ร่างกายพยายามหายใจ ที่เรียกว่า Gasping breathing หรือ การหายใจเฮือก ซึ่งผู้ป่วยจะหายใจแบบอ้าปากพะงาบ ทำให้คนรอบข้างเข้าใจผิดว่ายังหายใจเป็นปกติ และทำให้การตัดสินใจช่วยเหลือด้วยการกดหน้าอก CPR นั้นช้าลง

“จากการวิจัยทางการแพทย์นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการกดหน้าอกช่วยภายในเวลา 4 นาที หลังจากที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จึงจะสามารถเพิ่มโอกาสรอด ขอแนะนำว่า ขั้นตอนของการช่วยชีวิตสำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อพบผู้หมดสติให้ปลุกเรียก ถ้าไม่ตอบสนอง ให้สังเกตการหายใจ หากไม่หายใจ หรือหายใจเป็นเฮือก หรือสงสัยว่าไม่หายใจ ให้ โทร.1669 เพื่อเรียกหน่วยกู้ชีพ จากนั้นให้เริ่มทำการกดหน้าอก CPR โดยประสานมือตรงกี่งกลางหน้าอกระหว่างหัวนมสองข้าง กดลึก 5 - 6 เซนติเมตร กดต่อเนื่องด้วยจังหวะ 100 - 120 ครั้งต่อนาที จนกว่าหน่วยกู้ชีพมาถึง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนอง

หากสถานที่นั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ให้ร้องขอเพื่อนำมาใช้โดยทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ขณะรอคอยชุดปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จะมาถึง

พักผ่อนน้อย เครียด โรคหัวใจถามหา!

“ตัวพี่โจ เขาเองทำงานประจำอยู่สยามกีฬา มีละคร 2 เรื่อง และคอนเสิร์ตกับพวกผม เค้าก็คงไม่มีเวลาไปตรวจสุขภาพ พวกนี้มันเป็นเพชฌฆาตเงียบ ถ้าไม่ไปตรวจ พักผ่อนน้อยก็ส่วนหนึ่ง” ทรงพล คล้ายพงษ์พันธ์ หรือ ดิ๊บ บอยสเก๊าท์ เพื่อนร่วมวงอีกคนเล่าถึงสาเหตุของโรคหัวใจภัยเงียบของเพื่อนที่ไม่มีใครเคยรู้ สอดคล้องกับ ต๊ะ ที่เล่าว่า โจเป็นคนไม่ค่อยแข็งแรง เล่นกีฬาได้น้อย

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูไลฟ์สไตล์ของโจ มักจะเห็นว่าอาหารโปรดของเขา คือ ปิ้งย่าง หมูกระทะ เสต๊ก และเค้ก ล้วนแต่เป็นอาหารที่มีไขมันสูง

เว็บไซต์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้อธิบายภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนี้ นี้ว่า เกิดจากมีการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลันและขัดขวางการไหลของเลือดจนทำ ให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ เมื่อหัวใจขาดเลือด ผลที่ตามมาก็คือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย โดยมีสาเหตุมาจาก การมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน

ลิ่มเลือดเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะไขมันมากเกินไปจนพอกเป็นตะกรัน (plaque) เกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือด เมื่อรวมเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากัดกินก็ทำให้เกิดเป็นกลุ่มเซลล์ที่ไม่สามารถดูดกลับเข้าไปในร่างกายได้ แต่กลับฝังตัวอยู่ในผนังหลอดเลือดแทน เมื่อเวลาผ่านไป ตะกรันนี้จะแตกตัวหรือปริออก หลอดเลือดจะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จนเกิดลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือด ถ้าเป็นการแตกตัวที่หลอดเลือดแขนงเล็ก ซึ่งจะมีเพียงอาการเจ็บหน้าอก แต่ถ้าลิ่มเลือดนี้อุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ก็อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

“อัตราการเสียชีวิตโดยรวมของโรคหัวใจตอนนี้ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม” นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวถึงสถิติในการตายด้วยโรคหัวใจครองแชมป์ขึ้นแท่น

“โรคหัวใจ แบ่งง่ายๆ คือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจที่เกิดภายหลัง แบ่งตามโรคหัวใจทั่วไป จะแบ่งได้ว่า เป็นโรคของหลอดเลือดหัวใจ และโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ โรคของการนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจ แต่ละอย่างจะมีความผิดปกติในแต่ละแบบ”

“จะเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มอิ่ม คนไข้มักจะบอกว่าหายใจเข้าไม่เต็มปอด ไม่เต็มที่ นี่คือสัญญาณอย่างหนึ่งที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเวลาออกกำลังกาย แล้วเหนื่อยง่าย เช่นเราเคยเดินขึ้นสะพานลอยข้ามถนนได้ ทั้งที่อายุเรายังไม่มาก แต่เราเกิดเหนื่อย นี่คือสัญญาณเตือนแล้ว

อาการแน่นหน้าอกที่จะบ่งชี้ชัดเจนว่า เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มักจะแน่นหน้าอกบริเวณหน้าอกตรงไหน ชี้ตำแหน่งที่แน่นอนไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะบริเวณหน้าอกค่อนมาทางด้านซ้าย แต่ถ้าชี้ตำแหน่งได้ว่าเจ็บ ตรงนี้ กดไปตรงนี้แล้วเจ็บ อันนั้นไม่ใช่โรคหัวใจ ส่วนใหญ่จะต้องแน่นหน้าอกตรงบริเวณโดยรวม ไม่ใช่ว่าชี้จุดได้ ส่วนใหญ่ถ้าชี้จุดได้จะเจ็บจากกล้ามเนื้อมากกว่า”

คุณหมอแนะพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามเครียด ออกกำลังกาย เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน ติดหนัง

“ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว คุมไขมันในเส้นเลือดสูง เลิกสูบบุหรี่ คุมเบาหวาน คุมความดันโลหิตไม่ให้สูง พยายามปล่อยวางอย่าให้เครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหลักในการเกิดโรค หลอดเลือดหัวใจตีบ อย่าทานอาหารรสเค็ม และพักผ่อนให้เพียงพอ

ฉะนั้นอาหารที่เราควรรับประทานถ้าจะเน้นคือผัก ปลา เลี่ยงของทอดของมัน คาร์โบไฮเดรต เนื้อสัตว์เพราะมีไขมันแทรกอยู่ เช่นเนื้อหมู วัว เป็ด ไก่ อย่าทานเนื้อสัตว์ติดหนัง เมื่อเราทานคาร์โบไฮเดรตเยอะๆ แล้วเรา ทานอาหารอื่นที่มีไขมันด้วย คาร์โบไฮเดรตทีเราทานเข้าไปจะถูกไปใช้เป็นพลังงาน ไขมันที่เราทานเข้าไปจะเก็บสะสม ดังนั้นเราควรทานคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง เพื่อให้อาหารที่เราทานเข้าไปถูกนำไปใช้เป็นพลังงานด้วย“



วงบอยสเก๊าต์โด่งดังมากในยุค 90 (จากซ้าย) โจ ดิ๊บ ต๊ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น