xs
xsm
sm
md
lg

She is amazing! 'นุชี่' เจ้าแม่หนังเกย์มือรางวัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เฉิดฉายในเทศกาลหนังที่ปูซาน
"อนุชา บุญยวรรธนะ"

ชื่อนี้ เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้จัก เช่นเดียวกับชื่อเล่น "นุชี่" แม้จะพอคุ้นๆ หูอยู่บ้าง แต่ก็ยังนึกไม่ออกอยู่ดีว่าเธอเป็นใคร มาจากไหน ทว่า ในแวดวงหนัง ทั้งสองชื่อเป็นที่รู้จักอย่างแจ่มชัด เพราะเธอเป็นผู้กำกับหนังชายรักชายที่มาแรง และผลงานเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เป็นที่ยอมรับทั้งในไทย และระดับโลก

เรื่องแรก "อนธการ (The Blue Hour)" อำนวยการสร้างโดยบริษัท G-Village เปิดตัวไกลถึงเทศกาลหนังเมืองคานส์ ฝรั่งเศส Cannes Film Festival 2016 และฉายในเทศกาลภาพยนตร์รอบโลกกว่า 10 เทศกาล ล่าสุดกับกับเรื่อง "มะลิลา (MALILA The Farewell Flower)" ที่เพิ่งไปคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คิม จิซก อวอร์ด (Kim Ji-Seok Awards) มาหมาดๆ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้




ไม่แปลกที่ช่วงนี้จะมีสื่อต่างๆ ให้ความสนใจสัมภาษณ์ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และรายการโทรทัศน์ เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ "นุชี่" เจียดเวลาให้พูดคุยก่อนบินไปเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง "มะลิลา" ในต่างประเทศ เริ่มจากเอเชีย และยุโรปตามลำดับ แม้คิวจะรัดตัว แต่เธอก็ยินดีตอบในทุกๆ เรื่องไม่เว้นแม้แต่เรื่องส่วนตัวที่บางเรื่องบางมุมไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

"มะลิลา อารมณ์ของเรื่องจะต่างกับอนธการ (อ่านว่า อน-ทะ-กาน) เพราะเป็นโทนที่อบอุ่นกว่า พูดถึงความรัก พูดถึงชีวิต ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่อยู่ในใจมานาน 6-7 ปีแล้ว แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง เราจึงได้ดูอนธการก่อน โดยแรงบันดาลใจมันเริ่มมาจากศิลปะของการทำบายศรี แง่หนึ่งดูงดงาม ขณะที่อีกแง่หนึ่งดูไม่ค่อยมีใครสนใจ อีกอย่างเราได้เห็นการนั่งทำกันเป็นวันๆ แต่ผ่านไปตอนเย็นก็เหี่ยวเสียแล้ว


ดังนั้น มันมีความไร้เหตุผลอยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งเป็นจุดน่าสนใจที่เราอยากเอามาทำเป็นหนังเรื่องมะลิลา โดยตั้งคำถามว่า มันเหมือนชีวิตคนเราหรือเปล่า ทำไปทำไม เพราะสุดท้ายแล้วก็เหี่ยวแห้งไป นอกจากนั้นเรายังใส่ความละเอียดอ่อน ความประณีตเข้าไปในหนังเรื่องนี้ด้วย ทั้งงานด้านภาพ ฉาก การแสดง รวมไปถึงบทซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียด ชวนเชื้อเชิญให้คนดูได้ขบคิด และใคร่ครวญถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า อีกทั้งยังช่วยสะท้อนชีวิตของตัวเรา ทั้งหมดคือความตั้งใจและอยากให้ทุกคนได้ไปดู"






แค่ "นักแสดง" ก็น่าดูแล้ว

อีกหนึ่งส่วนที่ไม่ถามไม่ได้ก็คือ "นักแสดง" ซึ่งหลายคนอยากรู้ว่า ดึง "เวียร์ ศุกลวัฒน์
" กับ "โอ อนุชิต" มาเล่นได้อย่างไร โดยเฉพาะเวียร์ที่ไม่เคยรับเล่นบทแบบนี้มาก่อน

"เรื่องนี้เราคิดกันมานาน กว่าจะพัฒนามาเป็นหนังที่ออกมาเป็นเวียร์กับโอ เรามองๆ ดาราโนเนมไว้เหมือนกัน แต่เมื่อเรามีความพร้อมในเรื่องเงินทุน และอะไรหลายๆ อย่าง เรามองว่า บทนี้ เป็นบทชีวิตที่ดูลึกซึ้ง ซับซ้อน และท้าทายสำหรับนักแสดงชาย ทำไมเราไม่ลองหยิบยื่นบทในลักษณะนี้ให้แก่นักแสดงชายที่ดังมาก ซึ่งเราก็มองเวียร์เป็นคนแรก เพราะเขาเหมาะกับบทนี้ เขามีเสน่ห์ในแบบของเขา ทั้งความเรียล ความดิบ ความจริงใจ ความติดดินในแบบฉบับหนุ่มอีสาน และตัวเขาก็สนใจในบท เขาชอบ และเขาเชื่อใจในทีมงานมาก

ส่วนโอ อนุชิต ต้องบอกว่า เขาเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่เรานึกถึงเลยนะ สำหรับเรา เรามองว่าโอเป็นนักแสดงที่ขายฝีมือ และบทของโอในเรื่องนี้ มันซับซ้อน และต้องการความทุ่มเทในการแสดงมาก ดังนั้นเราเชื่อว่า โอเล่นได้ และประการสำคัญที่โอเหมาะกับบทนี้ที่สุดเลยก็คือ โอเป็นผู้ชายที่ทำดอกไม้แล้วคนเชื่อได้ว่าทำ อันนี้ยากมาก แต่เวลาโออยู่กับดอกไม้ อยู่กับมาลัย เขาทำให้เราเชื่ออย่างไม่น่าเชื่อ เรามองเห็นการจัดดอกไม้ด้วยความมั่นใจ ทำเหมือนของธรรมดาที่เขาทำได้ และสนุกที่จะเล่นกับดอกไม้"


ล้วงตับฉากเลิฟซีน "เวียร์-โอ"



เมื่อแอบถามถึงฉากเลิฟซีนของหนังเรื่องนี้ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของนักแสดงทั้งสองคนมาก

"เลิฟซีนมันมีอยู่แล้วค่ะ" นุชี่บอก "แต่ถ้าให้ตื่นเต้น อยากให้ไปดูในหนังมากกว่า บอกได้แค่ว่า เวียร์กับโอ เขามีเคมีที่ดีมากในการเล่นฉากเลิฟซีน ซึ่งถ้าถามความรู้สึกในฐานะผู้กำกับ คือมันดีมาก และเกินความคาดหวังเราด้วย โดยเวียร์มักจะเล่นได้ดีในเทกแรก ขณะที่โอมักจะเล่นดีเทกที่สาม ที่สี่ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ทั้งคู่ตั้งใจ และถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้ดีมาก"


เด็ดหรือไม่..คงต้องไปดูกันเอาเองในโรงภาพยนตร์ ซึ่งมีเเพลนจะเข้าฉายที่ไทยต้นปี 2018 แต่ฝีมือการแสดงของ "เวียร์ ศุกลวัฒน์" ต้องบอกว่า โดนใจกรรมการเข้าอย่างจัง จนคว้ารางวัลดาราเอเชียน่าจับตามอง (Face of Asia Award) ในเทศกาลหนังดังกล่าวมาเป็นแรงใจในการทำงานด้วย นับเป็นบทพิสูจน์งานการแสดงที่ไม่ได้มีดีแค่หล่อออร่าแรงอย่างเดียว


สำหรับ "มะลิลา" ภาพยนตร์แนวโรแมนติก-ดราม่า เป็นหนังที่บอกเล่าถึงความรัก ความอาลัยของผู้ที่จากไป นำเสนอเรื่องราวของ เชน (เวียร์ ศุกลวัฒน์) เจ้าของสวนมะลิผู้มีอดีตอันเจ็บปวด และ " พิช " (โอ อนุชิต) ศิลปินนักทำบายศรี อดีตคนรักของเชนในวัยเด็กที่กลับมาพบกันอีกครั้ง ทั้งคู่พยายามเยียวยาบาดแผลในอดีตและรื้อฟื้นความสัมพันธ์ผ่านการทำบายศรีอันงดงาม


ซาบซึ้งเกินคาดที่ "ปูซาน"



"ประเด็นมีความแหลมคมในเรื่องของการมองความตาย ความไม่จีรังยั่งยืน ภาษาหนังมีความงดงาม ตราตรึงในความรู้สึกของผู้ชมคนดู" คือความเห็นของคณะกรรมการที่มองหนังเรื่องนี้ และกลายเป็นหนังรางวัลยอดเยี่ยม คิม จิซก อวอร์ด (Kim Ji-Seok Awards) ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

"เราค่อนข้างกังวลกับหนังเรื่องนี้มาก เพราะหนังมันเป็นวัฒนธรรมไทยมากๆ เป็นหนังที่คนไทยดูแล้วจะเข้าใจได้มากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเรื่องของการทำบายศรี เรื่องศาสนา ชีวิต หรือภาษาถิ่น แม้จะต้องตีความในระดับหนึ่งแต่สำหรับต่างชาติเขาคงไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่าบายศรีคืออะไร โดยตัวหนังมันเป็นการสื่อสารทางวัฒนธรรม สุดท้าย คนดูที่เป็นต่างชาติร้องไห้เลยค่ะ เขาดูแล้วอิน แม้จะไม่เข้าใจว่าบายศรีคืออะไร แต่ทั้งหมดคือ เขาเข้าใจหนังเรา เข้าใจว่าเราต้องการสื่ออะไรออกมา"


พอผลออกมาเป็นแบบนี้ "กูรอดแล้วค่ะ" คือความดีใจที่หลุดออกมาจากปากของผู้กำกับมากฝีมือท่านนี้ เพราะเกินความคาดหมายมากทีเดียว


"เทศกาลหนังที่ปูซาน เป็นเทศกาลที่มีความสำคัญ และยิ่งใหญ่ในเอเชีย ในขณะเดียวกันก็มีความสำคัญในระดับโลกด้วย เพราะไม่ใช่ว่าจะมีหนังเอเชียเข้ามาประกวด หนังจากทั่วโลกก็มีเข้ามาเหมือนกัน ซึ่งส่วนมากจะเป็นหนังของผู้กำกับหน้าใหม่ ครั้งหนึ่้ง เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ก็เคยได้รางวัลจากเทศกาลนี้ แต่ปีนี้ทางเทศกาลมองว่า น่าจะให้รางวัลแก่ผู้กำกับที่มีผลงานมาแล้วบ้าง ซึ่งเราก็คือหนึ่งในนั้น" นุชี่พูดถึงความสำคัญของเทศกาลหนังที่ปูซาน และหนังของเธอก็คว้ารางวัลยอดเยี่ยมกลับมา




นุชี่ = เจ้าแม่หนังเกย์

"(หัวเราะ) จริงๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับคำๆ นี้นะ เพราะมันไม่ได้หมายความในแง่ลบอะไร เพียงแต่บางคนอาจเข้าใจว่า สิ่งที่เราทำคือ หนังเกย์แบบเกย์มากๆ หรือเปล่า ชายหญิงดูอาจจะเข้าใจยากหรือเปล่า หรือเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชาวเกย์มั้ย ซึ่งเราต้องบอกก่อนว่า มันไม่ใช่ แม้หนังที่ทำออกมาจะเป็นตัวละครในกลุ่มเพศทางเลือก แต่ประเด็นที่นำเสนอมันคือสากล และทุกคนเข้าใจได้


อย่างเรื่องอนธการ เราแปลกใจมากตอนเข้าฉาย ส่วนใหญ่กลุ่มที่ชอบมากๆ จะเป็นผู้ชาย เพราะพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวละครเป็นเกย์หรือไม่เป็นเกย์ แต่พวกเขาให้ความสนใจกับประเด็นที่จะสื่อ รวมไปถึงความชอบในชีวิตของตัวละคร ชอบอารมณ์ และความคิดของหนัง เช่นเดียวกับหนังเรื่องมะลิลา คนเกาหลีที่ได้ดูต่างชื่นชมว่า เป็นหนังชีวิตที่งดงาม"


เมื่อถามต่อไปว่าเคยคิดจะไปทำหนังแนวอื่นๆ บ้างไหม "เราคิดว่าเราทำในสิ่งที่เราเข้าใจได้ดีที่สุดดีกว่า" ผู้กำกับมือรางวัลยังคงยึดมั่นในแนวทางของตัวเอง


กำเนิด "นุชี่" ผู้กำกับมากฝีมือ




ด้วยความแข็งแกร่ง และศักยภาพที่เขามี การย้อนกลับไปค้นหายังสถานที่ที่สร้างเขาขึ้นมาอย่าง "ครอบครัว" จึงเป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจว่า สภาพครอบครัว และการอบรมเลี้ยงดูแบบใดที่สามารถสร้างให้คน ๆ หนึ่งสามารถมายืนอยู่ได้ ณ จุดนี้

"คุณพ่อเป็นหมอ คุณแม่เป็นพยาบาลค่ะ" นุชี่บอก "ที่บ้านสนับสนุนให้เราเรียนรู้ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร เช่นเดียวกับเรื่องเพศสภาพที่ไม่ได้บอกตรงๆ แต่ก็รู้ๆ กัน หรือตอนที่เลือกเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เขาก็ให้อิสระเรา ทั้งๆ ที่เราได้หมดทั้งสายวิทย์ สายศิลป์ แต่ส่วนตัวชอบทางด้านนี้มากกว่า ตอนเด็กจะชอบอยู่ในห้องแล็บของโรงพยาบาลค่ะ เป็นเหมือนห้องของเล่นที่ทำให้เราเป็นคนชอบค้นคว้า และทดลองทางวิทยาศาสตร์ มันมีการเล่นที่ซับซ้อน ชอบปรุงสมุนไพรอะไรพวกนี้ (หัวเราะ)


เมื่อเราโตขึ้นก็เลยกลายเป็นคนขวนขวายหาความรู้ ถ้าชอบอะไรก็จะมุ่งมั่นตั้งใจกับสิ่งนั้น และต้องรู้ให้ลึกจริงๆ ส่วนการถูกแกล้งในวัยเด็กก็มีบ้างเป็นธรรมดาค่ะ แต่ส่วนใหญ่เพื่อนจะค่อนข้างเกรงใจ เพราะเราค่อนข้างมีออร่าลึกลับ เพื่อนผู้ชายก็เลยไม่สามารถแกล้งอีนี่ได้ อีกอย่างเราช่วยเหลือเขา ช่วยติวหนังสือให้เขา เพราะส่วนตัวเป็นคนเรียนดี




ส่วนจุดเริ่มต้นของหนัง เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปีหนึ่ง บอกเล่าความคิด ความรู้สึกของเกย์ผ่านหนังที่เราทำ จากนั้นก็ใช้ชีวิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์เรื่อยมา เพราะส่วนตัวเป็นคนเข้าใจชีวิต เปิดรับทุกอย่าง พร้อมลุยทุกอย่าง เพราะมันเป็นหน้าที่ของคนทำหนัง กระทั่งมีโอกาสได้ทำหนังที่บอกเล่า ถ่ายทอด สะท้อนสังคม ซึ่งต้องบอกก่อนว่า เราไม่ได้ทำหนังเพื่อต่อสู้ให้คนในสังคมยอมรับกลุ่มเพศทางเลือก หรือนำเสนอในไลฟ์สไตล์ของชีวิตเกย์ แต่เรานำเสนอในความเป็นปุถุชนคนธรรมดาสามัญที่ยังมีกิเลส มีมิติชีวิตหลายๆ ด้าน"

ดังนั้น ถ้าถามว่า "วันนี้เราเจ๋งไหม (นิ่งคิด) เราก็ไม่แน่ใจนะ ไม่ค่อยผยองในฝีมือเท่าไร แต่ทุกอย่างที่เลือกทำ คือเราใส่ใจในรายละเอียด และที่สำคัญคือ เราต้องรู้ลึก รู้จริงในเรื่องที่เราสนใจ เช่น การทำบายศรี จริงๆ ไม่ได้ไปเรียนแบบเข้าหลักสูตร แต่เข้าไปเรียนกับคนที่เรียนในโรงเรียนช่างฝีมือวัง (ชาย) โดยคนที่สอนเป็นผู้ควบคุมดูแลงานเครื่องสดในงานของสมเด็จพระสังฆราช ตรงนี้ไม่รู้ว่าคือความเจ๋งหรือเปล่านะคะ"


..เจ๋งหรือไม่ ใครที่เคยร่วมงาน และได้ดูหนังของเธอน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจ ส่วนใครยังไม่เคยได้ดู ลองเปิดใจดู เพราะถ้าเขียนมากกว่านี้ เดี๋ยวจะหาว่าอวยกันเกินไป


เรื่อง : ปิยะนันท์ ขุนทอง

กำลังโหลดความคิดเห็น