xs
xsm
sm
md
lg

ทางเท้ายุบ หลุมลึก ภัยรอบทิศ…เหนื่อยไปมั้ย? ชีวิตชาวกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุณภาพชีวิตคนกรุงอยู่ไหน!? พื้นทรุดเป็นโพรง อิฐตัวหนอนปูพื้นพังระเนระนาด! หนุ่มดวงซวยแจ็กพ็อตแตกเหยียบแผ่นปูพื้นฟุตปาธ ขณะที่ก้าวเท้าลงหลุมยุบเฉย! ร่วงลงไปมิดขา หัวเข่าถลอกเลือดซิบ สังคมตั้งข้อสงสัย ทำไมใต้พื้นมีลักษณะเป็นโพรงกลวงโบ๋ ราวกับกับดักคนได้ขนาดนั้น อึ้ง!นี่อยู่เมืองหลวงใจกลางกรุง หรือดินแดนแห่งความอันตรายกันแน่?!

ชีวิตไม่แน่นอน…เดินอยู่ดีๆ ก็ได้แผลสดกลับบ้าน!

วิจารณ์กันทั่วโลกออนไลน์กรณีตัวอย่างสะท้อนคุณภาพชีวิตในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Tanapol Boon-Umpol ได้โพสต์รูปภาพทางเดินเท้าสาธารณะ ที่ขาตนเองได้หล่นลงไปหลังเหยียบแผ่นปูพื้นฟุตปาธ ขณะเดินอยู่บริเวณที่จอดรถโดยสารประจำทางฝั่ง ถ.อังรีดูนังต์ ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลบริเวณหัวเข่าด้านซ้าย เนื่องจากหน้าแข้งซ้าย หล่นลงไปในหลุมที่เกิดเหตุ




ภาพที่เห็นเป็นหลุมลึกกลวง ด้านล่างเป็นโพรงขนาดใหญ่ วัดได้จากช่วงขาของเขาที่ยาวถึง 92 เซนติเมตร เขาเล่าว่า โชคดีที่ตัวเองตัวสูง แต่ถ้าเป็นคนตัวเล็กจะได้รับบาดเจ็บมากกว่านี้ นอกจากนี้ ยังสังเกตได้ว่า บริเวณรอบๆของหลุมที่ทะลุไปนั้น พื้นเป็นโพรงและพร้อมจะทรุดตัวได้ทุกเมื่อ

ธนพล บุญอำนาจ ผู้เสียหายจากทางเท้าดังกล่าว เล่าย้อนเหตุการณ์ในวันนั้นว่า จังหวะที่ก้าวเท้าไปเหยียบเเผ่นปูพื้นฟุตปาธแผ่นดังกล่าว จากนั้นพื้นได้ยุบตัวลงทันที ราวกับด้านล่างใต้แผ่นคอนกรีตไม่มีดินทรายอะไรมารองรับ คล้ายกับเป็นพื้นกลวง

นอกจากนี้ เขายังเปิดเผยว่า ยังมีแผ่นปูพื้นบริเวณรอบจุดเกิดเหตุอีกประมาณ 9 แผ่น ที่ด้านใต้พื้นมีลักษณะกลวง และไม่มีดินทรายอยู่โดยพร้อมที่จะหล่นทะลุลงไปได้ทุกเมื่อหากผู้โชคร้ายมาเหยียบ

ไม่นานนัก สำนักงานเขตปทุมวันเจ้าของพื้นที่ได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ฝ่ายโยธา ลงไปตรวจสอบ พบว่าบริเวณดังกล่าวเกิดมีท่อประปารั่วซึมและเซาะเอาดินบริเวณนั้นไหลไปจนเกิดเป็นโพรงและทรุดตัว และจะเชิญสำนักการประปาแม้นศรี มาร่วมตรวจสอบและแก้ไข ก่อนจะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปกติโดยเร็วที่สุด

ทว่า ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้าแทรก! ล่าสุด มีเหยื่อทางเท้าอีกราย ลื่นล้มบนทางเท้าย่านสะพานใหม่ ได้แผลเช่นเดิม ชี้ชั้นดินกรุงเทพฯเป็นขี้เลนทรุดตัวง่าย

โลกโซเชียลฯ แชร์ข้อความและภาพของ ฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ สถาปนิกอาวุโส ได้ลื่นล้มบนทางเท้าใกล้สะพานลอยแห่งหนึ่งย่านตลาดสะพานใหม่ทำให้เกิดฟกช้ำ เลือดซิบ ในฐานะที่เป็นสถาปนิก เขาจึงสามารถระบุสาเหตุครั้งนี้ได้ว่า มาจากการเลือกใช้วัสดุไม่เหมาะสมทำให้พื้นยุบตัว แผ่นปูร่อนหลุด

"เรื่องทางเท้าปูแผ่นคอนกรีตบนทรายที่อัดที่อ้างกันว่าเพื่อให้สะดวกต่อการซ่อมแซม หรือบางทีก็ปูบนลีนคอนกรีตซึ่งแทบจะไร้คุณสมบัติรับน้ำหนัก นานไปก็ทรุดตัวหรือแผ่นปูหลุดร่อนแตกพลิกกลายเป็นฉีดน้ำสกปรกใส่ขาคนเดินถนนจนมีคนเอาไปล้อเลียนทั่วโลกนั้น

คนทั่วไปเขารู้กันนานแล้วว่า ด้วยความที่ชั้นดินกรุงเทพฯ เป็นขี้เลนที่ทรุดตัวง่าย ทางเท้าแบบนี้จึงทรุดพังให้ต้องซ่อมทำให้กันอยู่บ่อยๆ แค่ 2-3 ปี ก็ต้องรื้อทำกันอีกแล้ว แต่ กทม.ก็ทำอย่างนี้มาเป็นหลายสิบปี น่าจะครึ่งศตวรรษแล้วเท่าที่คนสูงอายุอย่างผมพอจำได้”

แฉ!ก่อสร้างทางเท้าไร้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม หากจะหาเหตุผลในเชิงวิศวกรรม ปารเมฏฐ์ มั่งมี ผู้รับเหมาที่เคยรับงานก่อสร้างทางเท้าในหลายพื้นที่ เคยให้ข้อมูลถึงปัญหาของบาทวิถีในเมืองกรุงไว้ว่า เกิดจากขั้นตอนปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน งานบาทวิถีภาครัฐมีค่าแรงค่อนข้างถูก ผู้รับเหมาหลายรายเลือกใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน มีขั้นตอนปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

การลงทราย ปรับพื้นที่ และบดอัดพื้นผิว หรือในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับท่อน้ำทิ้งหลายแห่งพบว่าไม่มีการก่อปูนบล็อกที่ดี ทำให้ทรายไหลเข้าไปได้ หรือกรณีการติดตั้งสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ประปา เมื่อติดตั้งเสร็จก็ไม่ซ่อมกลับไปเหมือนเดิม พอทำเสร็จก็เอาไปวางไว้แปะเฉยๆ พื้นตัวหนอนหรือแผ่นซีเมนต์พวกนี้พอหลุดออกจากกัน และลามไปเรื่อย

ผู้รับเหมา ชี้ว่า การก่อสร้างทางเท้าที่ดี ต้องเริ่มจากการปรับพื้นที่โดยใช้ทรายหยาบเท่านั้น อัดลงไปไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตร ไม่ใช้ทรายเป็ด ซึ่งผู้รับเหมาชอบใช้เพราะมีราคาถูก มีลักษณะหลวม ยึดตัวไม่ดี เสี่ยงต่อการเสียหาย จากนั้นต้องบดอัดด้วยเครื่อง เพื่อให้พื้นแน่นเรียบ หลายแห่งมีการวางแผ่นกันทรายไหลด้วย ก่อนทำการเช็กระดับให้ดี ป้องกันเป็นแอ่งในภายหลัง จากนั้นค่อยปูตัวหนอนและเติมทราย กวาดและบดอัดอีกรอบ เพื่อให้ก้อนบล็อกแน่น แข็งแรงด้วยการประสานทราย ฝนตกขนาดไหน ก็ดิ้นไปไม่ได้

ส่วนการปูพื้นด้วยแผ่นคอนกรีตจะสะดวก ทำได้รวดเร็ว ไม่ค่อยมีการทรุด และเคลื่อนตัวยากกว่าตัวหนอน แต่ต้องระวังในการเลือกวัสดุให้ดี เพราะหลายครั้งนายจ้างสั่งสเปกกระเบื้องซีเมนต์หนา 5 เซนติเมตร ผู้รับเหมาลักไก่ ใช้แผ่นบาง แค่ 2 เซนติเมตร จึงทำให้เกิดการร่อนหลุดออกเป็นแผ่น แตกหักง่าย เป็นบ่อน้ำขัง บางรายกลัวเปลืองปูนเลยผสมทรายมากไป การยึดเกาะก็ลงไป นานวันไปก็ยวบ ทรุดลงไปเรื่อย

แนะฟ้องเรียกค่าเสียหาย!

ทว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว หลายคนตั้งคำถามว่า ต้องไปร้องเรียนกับหน่วยงานไหน คงจะไม่พ้นกรุงเทพมหานครที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบทางเท้าสาธารณะดังกล่าวนี้
ดังกรณีตัวอย่างเมื่อปี 2558 วัชชิระ สวัสดี อายุ 26 ปี ผู้เสียหายจากกรณีที่ประสบอุบัติเหตุตกท่อระบายน้ำ ที่ฝาท่อตะแกรงเหล็กชำรุด บริเวณซอยรัชดาภิเษก 36 หลังมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ขณะลงจากรถ ทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ที่บริเวณขาข้างขวา ผิวหนังฉีกขาด บาดลึกเข้าไปในเนื้อ 3 แผล และเย็บไปกว่า 100 เข็ม

เขาต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลกว่า 61,000 บาท โดยที่บริษัทประกันชีวิตชดเชยสินไหมได้แค่ 16,000 บาทเท่านั้น ช่วงแรกทาง กทม.อ้างว่าระเบียบราชการยังไม่มีข้อกำหนดให้สามารถมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาใดๆ ได้ กระทั่งผู้ประสบเหตุต้องเข้าไปเจรจากับทางสำนักงานเขตจตุจักร ถึง 3 รอบ จึงทำให้ได้ข้อสรุปได้รับเงินเป็นค่ารักษาพยาบาล, ค่ารักษาพยาบาลหลังจากออกจากโรงพยาบาล, ค่าเสียโอกาสในการทำงาน และได้รับการรักษาเป็นกรณีพิเศษจากโรงพยาบาลในเครือของกรุงเทพมหานคร เป็นการตกแต่งหรือศัลยกรรมบาดแผลให้กลับมาเป็นปกติ

ส่วนในมุมมองของกฎหมายนั้น เฟซบุ๊กเพจทนาย ทนาย SV Law เปิดเผยว่า สามารถทำหนังสือยื่นต่อหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เรียกร้องค่าเสียหายได้ โดยแนบเอกสารหลักฐานต่างๆไปด้วยไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย สถานที่เกิดเหตุ บาดแผล ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ จากการไม่สามารถประกอบการงานได้ระหว่างรักษาพยาบาล ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน (เยียวยาทางจิตใจ)

หากหน่วยงานนั้นๆยินยอมจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวให้เป็นที่พอใจ และผู้เสียหายไม่เรียกร้องอะไรอีก ก็จบด้วยดี แต่หากหน่วยงานนั้นๆปฏิเสธ หรือมีคำสั่งอย่างใด เราไม่พอใจคำสั่งนั้น ก็อุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ถ้าไม่อาจอุทธรณ์ได้ต่อไป กรณีเช่นนี้คงต้องฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อไป

การฟ้องคดีก็สามารถดำเนินการได้สองช่องทาง คือ

1. ฟ้องร้องคดีแพ่ง ในความรับผิดทางละเมิด มาตรา 420 ตั้งแต่ผู้รับเหมาไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ

2. ฟ้องร้องคดีปกครอง เมื่อความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากความผิดของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานเสมอ เราก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้อง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหายได้

อยู่เมืองหลวงใครว่าสบาย...นอกจากจะต้องระวังโจร ผู้ร้ายแล้ว ยังไม่พอ ต้องระวัง “ทางเดินเท้าสาธารณะ” ที่อยู่ตรงหน้าอีกด้วย !
กำลังโหลดความคิดเห็น