เปิดศึกปะทะเดือด! "สงครามคีเลชั่นหลอดเลือด" เจ้าของเพจดัง "หมอแล็บแพนด้า" แฉวิธีรักษาหลอกลวง ทำผู้ป่วยเสี่ยงตาย "สมาคมแพทย์คีเลชันไทย" ขู่ฟ้องทำเสียหาย สุดท้าย แพทยสภาร่วมคอนเฟิร์ม เตือนผู้ป่วยอย่าหลงคำโฆษณา "คีเลชั่นรักษาโรคหัวใจ" ไม่อยู่ในการรับรองของแพทยสภา หากรักษาจะเข้าข่ายผิดกฎหมายทันที!!
ดรามา “คีเลชั่น” ลวงตาประชาชน?
ร้อนระอุไปทั่วโลกออนไลน์! หลังเพจดัง “หมอแล็บแพนด้า” หรือ “ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน” เจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อดัง ออกเตือนประชาชนเรื่องการทำคีเลชั่นบำบัด ผ่านรายการแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นเรื่องหลอกลวงและเสี่ยงอันตรายให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้!
“การทำคีเลชั่นบำบัด ด้วยการดูดเอาเลือดออกจากร่างกายมาพักไว้ด้านนอก เพื่อเติมสาร EDTAแล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย มันเป็นเรื่องของการหลอกลวงและเสี่ยงอันตรายให้เสียชีวิตได้”
หลังมีการเผยแพร่การให้ข้อมูลดังกล่าวได้เกิดกระแสดรามาตามมาติดๆ จาก “สมาคมแพทย์คีเลชั่นไทย” ประกาศฟ้องเปิดศึกคดีความกันเลยทีเดียว! โดยมีการฉะผ่านโซเชียลมีเดียว่าเป็นการละเมิด หมิ่นประมาท บิดเบือนข้อมูล ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประชาชน
ล่าสุด เพจดัง “Drama Addict” ได้ออกมาให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “คีเลชั่นบำบัด” ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของตนอีกด้วยว่า ประเด็นที่ว่านี้มีการถกเถียงกันมานานมากกว่า 10ปี ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยข้อความระบุว่า
“หลายคนที่ไปรักษาตาม รพ. เอกชนกันบ่อยๆ น่าจะเห็นคอร์สคีเลชั่นล้างพิษที่โฆษณากันโครมๆ หลักการของมัน คือ การใช้สารเคมี ยา เข้าไปดึงเอาพวกโลหะหนักที่ทำให้ร่างกายไม่สบายออกมา ตัวที่นิยมใช้กันก็มี EDTA , Desferrioxamine , BAL , DMSA , DMPS ซึ่งพวกนี้ช่วยรักษาคนที่เกิดอาการป่วยเพราะโลหะในร่างกายได้จริงๆ เช่น คนที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีโลหะหนักบ่อยๆ
หรือคนที่มีโรคประจำตัวเช่น ธาลัสซีเมีย แล้วมีปัญหาธาตุเหล็กเกินในร่างกาย ถ้าปล่อยไว้เหล็กมันก็จะทำให้ตับอักเสบ จนถึงขั้นตับแข็งได้ ก็จะใช้ยาเข้าไปดึงเอาเหล็กออกมา อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าใช้ได้จริง
แต่ในช่วงหลังเริ่มมีแนวคิดว่า นอกจากการใช้คีเลชั่นเพื่อรักษาอาการเป็นพิษจากโลหะหนักแล้ว อาจจะช่วยในคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดอุดตัน เส้นเลือดเปราะจากโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง จนเกิดโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตามมาได้
มันมีประเด็นตรงงานวิจัย TACT (Trial to Assess Chelation Therapy) ช่วงปี 2010 ที่วิจัยเกี่ยวกับผลของการทำคีเลชั่นต่อคนไข้โรคหัวใจว่ามันช่วยได้จริงหรือไม่ ผลของงานวิจัยออกมาดี คือลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้เยอะ ฝั่งที่สนับสนุนคีเลชั่น จึงใช้งานวิจัยตัวนี้อ้างอิง ว่าใช้ได้ผลจริงๆ
ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็คัดค้านว่างานวิจัยนี้มีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องการออกแบบทดลอง เรื่องจริยธรรมในการทดลอง และยังยืนยันว่าการทำคีเลชั่นเพื่อลดความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด ไม่มีผลมากไปกว่า “ยาหลอก” ซึ่งจนถึงตอนนี้ หมอที่ต่างประเทศก็ยังเถียงกันไม่จบ ว่ามันช่วยได้จริงหรือช่วยไม่ได้”
สำหรับประเทศไทย คงต้องเป็นหน้าที่ของแพทยสภา-ราชวิทยาลัย และฝั่งที่สนับสนุนคีเลชั่น ควรออกมาดีเบทกัน เพื่อนำข้อมูลทางวิชาการมาโต้กันให้ประชาชนมีข้อมูลที่เพียงพอว่า..ควรกำเงินไปทำคีเลชั่นดีหรือไม่!?
“หมอคีเลชั่น” โต้กลับ..ใครกันแน่มั่วข้อมูล!!
“หมอแล็บแพนด้ามั่วข้อมูล คีเลชั่นมีหลักสูตรเรียนต่อเนื่อง สมาคมแพทย์ฯ ไม่ยอมทนอีกแล้ว!!” เปิดศึกปะทะเดือดกันรัว ระหว่าง “สมาคมแพทย์คีเลชั่นไทย” และ “ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน” เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อดัง หลังแพทย์คีเลชั่นจวกผ่านโซเชียลฯ ขอพื้นที่ชี้แจงข้อมูลก่อนประชาชนหลงเชื่อ!
โดยใจความสำคัญของการออกมาชี้แจงผ่านสื่อออนไลน์ในครั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลในฟากฝั่งของตนเกี่ยวกับการทำคีเลชั่นบำบัด ว่า จริงๆ แล้ว การทำคีเลชั่นที่ว่านี้ก็คือการจัดการสารโลหะหนักในร่างกาย ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องการกฏหมาย
“ข้อเท็จจริงคีเลชั่นบำบัด คือ ชื่อกระบวนการจัดการสารโลหะหนักในร่างกาย ที่ไม่ได้ซับซ้อนใดๆ เลย ด้วยการให้สารทางหลอดเลือดดำ (IV) ในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฏหมาย ภายใต้ พรบ.สถานพยาบาล โดยผู้สั่งยาหรือสั่งส่วนผสมต้องเป็นแพทย์ผู้มีใบอนุญาตวิชาชีพ ภายใต้แพทยสภาเท่านั้น
เช่นเดียวกับการให้วิตามิน น้ำเกลือแร่ ผ่านหลอดเลือดดำธรรมดา ดังนั้นวิธีการนี้จึงไม่ใช่เรื่องผิดหลักวิชาชีพแพทย์แต่อย่างไร อีกทั้งการทำคีเลชั่นบำบัดในคนไข้จะต้องมีข้อกำหนดต่างๆ เช่น โรค อายุ น้ำหนัก โรคประจำตัว ผลตรวจโลหะหนักในเลือด ผลตรวจค่าการทำงานของไต สูตรการให้น้ำเกลือ ระยะเวลา และอื่นๆ
มันมีเงื่อนไขอีกมากมาย ใช่ว่าใครเดินมาที่คลินิกแล้วอยากจะให้น้ำเกลือแบบคีเลชั่นก็ทำได้เลย หรือนำไปหลอกลวงกันได้ง่ายๆ สมาคมฯ จึงต้องวางหลักสูตรการเรียนการสอน ให้เป็นมาตรฐานเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน และรักษามาตรฐานการทำคีเลชั่นบำบัดในแพทย์ประเทศไทย”
นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกงานวิจัยของต่างประเทศออกมาอ้างอิงอีกด้วยว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด-โรคหัวใจที่ได้รับการทำคีเลชั่นบำบัด มีอัตราการเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน, หลอดเลือดสมองแตกตีบ ลดน้อยลงจริง!
ล่าสุด งานวิจัย “The TACT Randomized Trial” ถือเป็นที่ฮือฮาในวงการโรคหัวใจอย่างมาก โดยมีการใช้ศูนย์วิจัยกว่า134 แห่งทั่วประเทศสหรัฐฯ และแคนาดา ด้วยการคัดเลือกผู้ป่วยที่เคยมีอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลัน อายุไม่น้อยกว่า 50 ปี และมีสภาพการทำงานของไตเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับคีเลชั่นบำบัด จำนวน 40 ครั้ง รวมการทดลองทั้งสิ้น 50,000 ครั้ง
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจที่ได้รับคีเลชั่นบำบัดร่วมด้วย มีอัตราการเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน, หลอดเลือดสมองแตกตีบ, การกลับเข้าทำบอลลูน ขดลวดหรือบายพาส, การเสียชีวิตและการกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการเจ็บหน้าอก ลดน้อยลงจริง
จากการศึกษายังพบอีกด้วยว่า กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับคีเลชั่นบำบัดได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยพบอุบัติการณ์ทางหลอดเลือดและหัวใจ น้อยลงถึง 39% นี่จึงเป็นหนึ่งในงานวิจัยตัวท็อปของวงการคีเลชั่นไทยที่ถูกนำมาอ้างอิงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย!
“แพทยสภา” ไม่รับรอง..แถมฝากเตือน!
ซัดกันมันส์! หลังต่างฝ่ายต่างงัดข้อมูลฉะกันแหลก..ใครกันแน่มั่วข้อมูล ล่าสุด แพทยสภาออกมาแจงแล้วว่า การรักษาแบบ “คีเลชั่น” ไม่อยู่ในการรับรองของแพทยสภา! แถมยังฝากประชาชนศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเข้ารับบริการอีกด้วย!!
“ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุนทร” ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ในประเด็นที่มีการถกเถียงในเรื่อง “คีเลชั่น” ที่กำลังเป็นกระแสร้อนและถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้
โดยได้มีการพูดถึงกรณีดังกล่าวว่า ในประเทศไทยได้มีสถานบริการบางแห่งอวดอ้างสรรพคุณ จากการทำคีเลชั่นที่เกินจริงไปมาก ทั้งยังบอกด้วยว่าการรักษาที่อ้างสรรพคุณรักษาโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในการรับรองของแพทยสภา!
สำหรับประเทศไทย มีสถานบริการบางแห่งมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยรักษาโรคหัวใจ ช่วยล้างหลอดเลือด ทำให้ดูอ่อนกว่าวัย ผิวพรรณเต่งตึง ซึ่งการรักษาในที่กล่าวมานี้ไม่อยู่ในการรับรองของแพทยสภา ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ และไม่อยู่ในตำราทางการแพทย์ที่ถูกต้อง นอกเหนือจากการรักษาพิษโลหะหนักในร่างกายเท่านั้น
การรักษาแบบคีเลชั่น ที่มีการนำเลือดออกมาจากตัวผู้ป่วย ใส่สารบางอย่างแล้วฉีดกลับเข้าไป ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม หากแพทย์คนใดนำวิธีนี้ไปใช้แล้วอ้างว่าเป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ต้องไปดูนิยามทางกฏหมายว่าเข้าข่ายหรือไม่
นอกจากนี้ นพ.คนดังกล่าว ยังฝากเตือนประชาชนอีกด้วยว่า ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีนี้ให้ดี ก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ รวมถึงแนะให้เก็บหลักฐานการรักษาให้ครบถ้วน หากเกิดการเรียกร้องทางกฏหมายในอนาคตนั้นเอง!
คงต้องรอดูกันต่อไปว่า คู่ชกทั้งสองฝ่ายจะงัดข้อมูลออกมาดีเบทกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยให้กับประชาชนได้มากน้อยเพียงใด หรือเรื่องราวดรามาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นเพียงแค่..การขัดผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มกันแน่!?
ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ FB : Drama-addict, หมอแล็บแพนด้า, สมาคมการแพทย์คีเลชั่นไทย