ดรามาสะเทือนวงการผ้าเหลือง! เมื่อหนุ่มสักลายตั้งแต่หัวจดเท้าอยากศึกษาธรรมะ แต่เจ้าคณะอำเภอไม่บวชให้ อ้างกลัวญาติโยมไม่กล้าใส่บาตร ด้านกูรูพระพุทธศาสนาแนะ คณะสงฆ์ต้องออกระเบียบให้ชัด!!
สักลาย = ห้ามบวช?!
กลายเป็นประเด็นดรามาขึ้นมาทันที หลังจากที่เฟซบุ๊ก “อ.ท๊อป ป.หางยาว” โพสต์ข้อความตัดพ้อถึงเหตุการณ์ที่ตนเองพบเจอ เมื่อตอนที่เดินทางไปบวชเณรยังวัดใกล้บ้าน ใน จ. ปทุมธานี แต่กลับถูกเจ้าคณะอำเภอปฏิเสธที่จะทำการบวชให้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เขาสักลายที่ใบหน้า”
“ไม่เข้าใจพระสงต้องการให้คนเราเป็นแบบไหน คนเลวๆ อย่างผมต้องการถือธรรมเป็นคนดี ห่มผ้าเหลือง แต่คำพูดดูถูกเหยียดหยามผมมาก ผมแค่สักลาย ทำไมไม่มองที่ใจผม ผมบ่นไว้ว่าจะบวชวัดนี้ สิ่งที่ขอผมก็ได้มาแล้ว บวชไม่ได้แค่บวชเณร สำหรับความคิดผมนะ พระที่มียศสูงๆ น่าจะให้โอกาสโยมนะ พูดกับผมมองผมเหมือนผมน่ารังเกียจมากเลย ช่วยแชร์หน่อยครับ เจ้าคณะอำเภอ คลองหลวง ไม่ให้บวชพูดดีๆ ก็ได้ ผมไม่ใช่หมา แชร์ด้วยครับ”
หนุ่มสักลายผู้นี้ เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า อยากศึกษาธรรมะ ก่อนหน้านี้เป็นคนเกเร เคยติดคุก และเคยบนบานไว้ว่า ถ้าติดคุกไม่นาน จะมาบวชที่วัดทวีการะอนันต์ ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน อีกทั้งยังเป็นการตอบแทนบุญคุณครอบครัวด้วย โดยได้แจ้งกับทางเจ้าอาวาสวัดไว้แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด
แต่พอมาถึงวันที่จะบวช เจ้าอาวาสของวัดนี้ให้เขาไปพบกับเจ้าคณะอำเภอ เมื่อเจ้าคณะอำเภอได้เห็นรอยสักแล้วก็พูดกับเขาว่า “แบบนี้ให้บวชไม่ได้หรอก ถ้าให้บวชโดนด่าตายเลย” ก่อนเดินหนีไป กลายเป็นว่าเขาไม่ได้บวช ทั้งที่เตรียมผ้าไตรจีวรและสิ่งของต่างๆ ไว้แล้ว จึงเป็นสาเหตุให้มาโพสต์ตัดพ้อลงในเฟซบุ๊กดังกล่าว
“ใจจริงของผม พระควรให้โอกาส จะเลวจะอะไรต้องขัดเกลา ไม่ใช่ขับไสไล่ส่ง”
ขณะเดียวกัน พระครูมงคลกิจจารักษ์ เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง เจ้าอาวาสวัดมงคลพุการาม ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พระผู้ถูกชายคนนี้กล่าวถึง ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า บุคคลที่จะบวช จะต้องมาอยู่วัดเพื่อท่องขานนาค แต่นี่ถึงเวลาบวชก็มา ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อีกทั้งผู้ที่บวชจะต้องมีร่างกายครบ 32 ประการและต้องดูเกลี้ยงเกลา ซึ่งชายสักลายนั้น หากจะบวชก็ไม่ผิด แต่อาตมาใช้ดุลยพินิจเห็นว่าไม่สามารถบวชให้ได้ เขาจะไปบวชวัดอื่นก็เป็นอีกเรื่อง พระสงฆ์ออกไปบิณฑบาตที่สักทั้งตัวทั้งใบหน้า ญาติโยมที่ไหนอยากจะใส่บาตร
ด้านความเห็นจากแวดวงผ้าเหลืองก็ถึงกับเสียงแตกออกเป็น 2 มุมทันที โดย พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระวัดสร้อยทอง แสดงความเห็นถึงกรณีนี้ว่าสมควรให้บวช ผ่านแฟนเพจ “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” ไว้ว่า “ประเด็นนี้ ขอพูดให้ชัดว่า อาตมาไม่เห็นด้วยที่เราจะตัดสินคนอื่น เพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกอย่างเรื่องรอยสัก โดยไม่มีเหตุผลอื่นอื่นในการอธิบายว่า ทำไมเขาถึงไม่ควรบวช ขอให้เข้าใจให้ชัดว่า ในการบวช เราก็มีวิธีการคัดกรองผู้จะบวชอย่างรัดกุมอยู่แล้ว ขอให้ไปสนใจกันที่เรื่องนั้นนั้น หากเขาไม่ใช่คนหนีคดี หนีอาญา หรือขาดคุณสมบัติตามที่พระวินัยรับรอง เขาก็ควรได้รับโอกาส ถึงเขาจะเคยได้ชื่อว่า เป็นขี้คุก ขี้ยา มาก่อนก็ตามที”
ส่วนฝั่งที่ไม่เห็นสมควรให้บวช ก็ได้ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “ต่างคนต่างคิด” ว่า ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่สักแล้วจะบวชเป็นพระ เพราะตนยึดหลักที่ว่าไม่ทันบวชแต่ออกลายเสียแล้ว เพราะมองว่า เวลาพระบิณฑบาตแล้วญาติโยมอาจเกิดความหวาดกลัวได้ หากอยากประพฤติตนเป็นคนดีก็ไม่จำเป็นต้องบวชก็ได้ เพียงแต่ยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีสติก็นับว่าประเสริฐแล้ว ดังนั้นคนที่จะบวชต้องคิดและไตร่ตรองให้ดี
สักได้/ไม่ได้ วอนคณะสงฆ์เคลียร์!
เพื่อหาคำตอบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าผู้ที่สักลายทั่วทั้งร่างกาย สามารถบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้หรือไม่ ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ติดต่อไปยัง ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา/ปรัชญา โดย อ.วัชระ ได้พูดถึงประเด็นที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ว่า แม้จะไม่ได้ปรากฏในพระวินัย แต่การสักก็น่าจะเข้าข่ายข้อห้ามที่ไม่ได้เด็ดขาดในคุณสมบัติของผู้ที่จะอุปสมบท
“เรื่องสักหน้าไม่มีปรากฏในพระวินัยนะครับ เพราะว่าสถานการณ์ในพุทธกาลกับปัจจุบันมันต่างกันเยอะ สมัยโน้นก็อาจจะไม่มีการสักแบบนี้หรืออาจจะมีสักแต่ว่าไม่ปรากฏเป็นเรื่องราวขึ้นมาเลยไม่มีข้อห้าม แต่ถ้าเราไปดูหลักการเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาอุปสมบท ว่าใครควรบวชได้ไม่ได้
ทั้งนี้ จะมีคุณสมบัติอยู่ 2 ประเภทใหญ่ที่ห้าม คือ ประเภทแรกข้อห้ามคือห้ามเด็ดขาด ไม่มีทางแก้ไขเลย เช่น ถ้าเป็นคนที่มี 2 เพศในคนเดียว แบบนี้บวชพระยังไงก็ไม่ได้ บวชก็ไม่ขึ้น ส่วนอีกประเภทคือไม่ได้ห้ามเด็ดขาด คือบวชพระยังเป็นพระอยู่ แต่ว่าพระที่บวชให้จะเป็นอาบัติครับ เช่นพิการ หรือว่าเป็นโรคติดต่อ โรคที่น่ารังเกียจ เป็นต้นครับ
ถ้าเราเอาข้อห้ามนี้มาจับกับกรณีสักหน้า จะเข้าข่ายข้อห้ามที่ไม่เด็ดขาด ข้อห้ามประเภทนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ มีสาเหตุหนึ่งคือ เป็นพระต้องเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส กรณีนี้บวชไปแล้วชาวบ้านเขาจะกลัวหรือว่าอย่างน้อยไม่เลื่อมใส เพราะว่าไปสักทั้งหน้าเลย สักตัวพอว่าแต่นี่สักหน้าด้วย ก็อาจจะดูน่ากลัวถ้ามาเป็นพระ เพราะฉะนั้นท่านที่ไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้บวช ท่านก็มีเหตุผล”
สำหรับฝั่งที่เห็นควรว่าบวชได้ อ.วัชระก็คิดว่ามีเหตุผลเช่นกัน เพราะข้อห้ามที่ไม่เด็ดขาด น่าจะยังพอยืดหยุ่นได้ ขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้ที่อยากบวช ว่าบวชมาแล้วจะไม่ทำให้เกิดปัญหาแก่พระพุทธศาสนา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ควรจะต้องผ่านการทดสอบศรัทธาก่อน
“ปัญหาคือคณะสงฆ์เราไม่มีมติในเรื่องพวกนี้มาก่อน ท่านก็เลยไม่สามารถตัดสินใจที่จะบวชให้ได้ เพื่อความปลอดภัยท่านก็ไม่ให้บวชไว้ก่อน ที่เจ้าคณะอำเภอที่ปฏิเสธโดยมีเหตุผลว่า ปกติก็ต้องมาเข้าวัด มาฝึก มาท่องขานนาค มาดูความพร้อมก่อน ผมคิดว่าถ้าเขาอยากบวช ไปหาพระอุปัชฌาย์ท่านอื่น แล้วก็ไปผ่านการพิสูจน์ทดสอบว่ามีศรัทธาจริงๆ
ถ้าเกิดพระอุปัชฌาย์ที่ท่านให้บวชได้ ท่านก็อาจจะกล้าให้บวช งานนี้ก็เหมือนกับว่า กล้าได้กล้าเสีย คือเพื่อฉลองศรัทธาญาติโยมให้เขาได้บวช แต่ท่านอาจจะถูกพระผู้ใหญ่ตำหนิ ก็คงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะสงฆ์ ซึ่งมีเหตุผลทั้งคู่ มันน่าจะหาทางออกที่รอมชอม ก็คงต้องเป็นคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมเป็นหลักครับที่จะแก้ปัญหานี้ น่าจะมีการออกระเบียบกฎกติกา เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติครับ ชาวบ้านก็จะได้รู้ว่าเขาจะต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง เมื่อมองผลประโยชน์ในส่วนรวม พระวินัยเราก็ต้องรักษา ผลประโยชน์เราก็ต้องรักษา ศรัทธาของชาวพุทธเราก็ควรรักษา ทำยังไงให้พบกันครึ่งทาง
ผมเคยเห็นพระตาบอดบวชได้ก็มี ท่านก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นเจ้าอาวาสบวชหลาย 10 พรรษา ก็ไม่มีใครตำหนิอะไร ซึ่งตามพระวินัย พระตาบอดก็เป็นข้อห้ามชนิดไม่เด็ดขาดครับ เพราะเขากลัวว่าในเมื่อไม่สมบูรณ์แล้วจะปฏิบัติธรรมได้มั้ย เพราะชีวิตพระไม่ได้อยู่สบาย ไม่มีคนมานั่งดูแล บุคคลพิการถ้าเกิดปฏิบัติธรรมไม่ได้ อาจจะมาเป็นภาระแก่วัด ข้อห้ามแบบนี้มันมีเหตุผลอยู่ กรณีคนสักลายผมคิดว่าพระอุปัชฌาย์ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง ว่าตกลงควรให้บวชมั้ย คนที่เข้าข่ายข้อห้ามน่าจะผ่านการทดสอบครับ”
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “อ.ท๊อป ป.หางยาว”