xs
xsm
sm
md
lg

ปริศนาลึกลับ!!? บูรณะ “พระปรางค์วัดอรุณฯ” กับ “วัตถุมงคลรุ่นกระเบื้องพระปรางค์” [ชมคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สลด...จาก “ยักษ์เข้มขลัง” กลายเป็น “ยักษ์การ์ตูน” สังคมสับเละ! นี่หรือคือคำว่า “บูรณะ” ที่กรมศิลปากรเฝ้าเชิดชู แปลงโทนเนื้อพระปรางค์ จากสีเข้มขลังเป็นขาวใสไร้มิติ ไหนจะ “กระเบื้องเคลือบสีโบราณ” อันเป็นเอกลักษณ์ของวัดที่นำออกไปถึง 120,000 ชิ้น!!
กรมศิลป์ป้อง ชิ้นส่วนเก่าแก่ส่งมอบทั้งหมดให้วัด เพราะถึงเป็น “มรดกของชาติ” แต่เป็น “สมบัติของวัด” ส่วนทางวัดบอกปัด เศษกระเบื้องทุกชิ้นขึ้นทะเบียนกรมศิลป์ เล่นเอาพุทธศาสนิกชนสงสัยหนัก แล้ว "วัตถุมงคลรุ่นกระเบื้องพระปรางค์” ล่ะคืออะไร? นี่ใช่ไหมคือสาเหตุที่ทำให้ผลการบูรณะออกมาเป็นแบบนี้!!?





วิธีอนุรักษ์มรดกชาติ สร้างพระเครื่องรุ่น “กระเบื้องพระปรางค์”!!?

[ภาพเปรียบเทียบจากต้นโพสต์สร้างประเด็นร้อน เฟซบุ๊ก "ต่อตระกูล ยมนาค" ซึ่งทางวัดออกมาชี้แจงแล้วว่า เปรียบเทียบผิดพระปรางค์ คือ ซ้าย: พระปรางค์ประธาน และ ขวา: พระปรางค์มณฑป]
“...จิตใจห่อเหี่ยว เรื่องการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ กรมศิลปากรและช่างไทย เดี๋ยวนี้ทำได้แค่นี้หรือครับ ชุ่ยๆ ง่ายๆ เข้าว่า แกะกระเบื้องถ้วยชามโบราณหลากสีที่ล้ำค่า ที่ชำรุด หรือหายออกไป (อาจจะนำกระเบื้องถ้วยชามที่แกะออกไป นำไปทำเป็นพระเครื่อง ออกจำหน่ายในภายหลัง นับว่าเป็นโชคสองขั้น วัดครึ่ง-กรรมการครึ่ง) แทนที่จะทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ กลับเลาะทิ้ง รื้อทิ้ง เปลี่ยนรูปแบบสีขององค์พระปรางค์ใหม่ซะเลย เขาเรียกว่า ขอชุ่ยเข้าว่า

ใครหนอเป็นต้นคิด ถึงสาเหตุการบูรณะที่เปลี่ยนแปลง จากของเก่าที่ทรงคุณค่า มาเป็นของใหม่ที่กะหลาป๋าเช่นนี้ครับ ช่วยตอบให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับรู้ว่า ในการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ใหม่ในครั้งนี้ ถึงได้มีการมาแปลงโฉม (พระปรางค์) ออกมาเป็นเช่นนี้...

นี่คือใจความสำคัญจาก ม.จ.จุลเจิม ยุคล ที่โพสต์เอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก “Chulcherm Yugala” หลังเห็นภาพดรามาที่แชร์กันสนั่นเน็ต จากโพสต์ของ ต่อตระกูล ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่นำภาพ “ก่อนบูรณะ” กับ “หลังบูรณะ” พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เอามาเปรียบเทียบกัน จนกลายเป็นดรามาระลอกใหญ่


ถึงแม้ภายหลัง พระมหาบุญรุ่ง สิริโชติ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร จะออกมาชี้แจงแล้วว่า ภาพจากโพสต์ที่แชร์ต่อๆ กัน และวิจารณ์กันอย่างหนักว่า บูรณะได้แย่มาก ทำเอา “ยักษ์เข้มขลัง” กลายเป็น “ยักษ์การ์ตูน” ไปในโพสต์นั้น เป็นการเอาภาพมาเปรียบเทียบผิดพระปรางค์ คือนำภาพ “ยักษ์พระปรางค์ประธาน” ก่อนขัดทำความสะอาด ไปเทียบกับภาพ “ยักษ์พระปรางค์มณฑป” จนทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่ากระเบื้องของยักษ์พระปรางค์ประธานหายไป

“ยักษ์พระปรางค์มณฑปชั้นยศน้อยกว่ายักษ์พระปรางค์ใหญ่ เครื่องประดับก็เลยน้อยกว่า และหากสังเกตดูที่ยักษ์พระปรางค์ จะเห็นว่ากระเบื้องเครื่องประดับยังอยู่เหมือนเดิม ส่วนเศษกระเบื้องที่เหลือจากการบูรณะ ทางวัดได้เก็บไว้โดยมีโครงการจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์พระปรางค์วัดอรุณฯ ในอนาคต

วัตถุสถานทุกอย่างภายในวัด ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร วัดเป็นเพียงที่ตั้งโบราณสถานเท่านั้น เพราะฉะนั้น วัดไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะจะผิดกฎหมาย”


[ลงพื้นที่ เปรียบเทียบ ยักษ์บนพระปรางค์ประธาน ซ้าย: ก่อนบูรณะ และ ขวา: หลังบูรณะ]
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจของทีมข่าวผู้จัดการ Live ด้วยตัวเอง เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสภาพก่อนและหลังบูรณะ โดยถ่ายภาพในมุมเดียวกันจาก “พระปรางค์ประธาน” พบว่ายักษ์ตัวเดียวกันนั้น ถึงแม้จำนวนชั้นยศที่ประดับจะไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม แต่เทียบกันแล้ว จะพบว่าพื้นสีพระปรางค์ที่เปลี่ยนไปเป็นขาวโพลนนั้น ทำให้ความขลังหดหายลงไปแทบหมดสิ้น

เข้าใจแล้วว่าเหตุใด เจ้าของโพสต์อย่างอาจารย์ต่อตระกูล จึงได้บรรยายความรู้สึกเอาไว้ว่า “บูรณะแบบไหน ถึงมาแปลงโฉม พระปรางค์ วัดอรุญเป็นโทนสีขาว แกะกระเบื้องสี หลากสี จากจานเคลือบสีโบราณล้ำค่าหายออกไปแล้ว ทำแบบนี้ ทำไม? ใครรู้ช่วยตอบด้วย”


[ภาพเปรียบเทียบ "ก่อนบูรณะ" และ "หลังบูรณะ" | ขอบคุณภาพ น้ารู้น้าเรียนมา]

[ภาพเปรียบเทียบ "ก่อนบูรณะ" และ "หลังบูรณะ" | ขอบคุณภาพ น้ารู้น้าเรียนมา]
ส่วนลวดลายกระเบื้องหลังบูรณะนั้น ก็แทบหาเค้าความงามตามรูปแบบเดิมไม่เจอ ซึ่งอาจเป็นผลจากการกะเทาะ “กระเบื้องโบราณ” ออก แล้วแต่งเติม “กระเบื้องใหม่เลียนแบบ” เข้าไปแทนที่ ตามที่ อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวหลังเกิดดรามาร้อนเอาไว้

โดยชี้แจงว่าจำเป็นต้องเอากระเบื้องเดิมออกประมาณ 120,000 ชิ้น และทดแทนลวดลายใหม่ให้มาประดับบนผิวพระปรางค์แทนประมาณ 300,000 ชิ้น!! หรือตีเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ว่า คงกระเบื้องโบราณอันล้ำค่าเอาไว้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นอีก 40 เปอร์เซ็นต์คือของใหม่ทั้งหมด!!



มีสิทธิแค่ไหน? สร้างวัตถุมงคลรุ่น “กระเบื้องพระปรางค์”!!

[พระเครื่องรุ่น “กระเบื้องพระปรางค์”]
แล้ว “กระเบื้องโบราณ” ที่ถูกกะเทาะออก หายไปไหน!!? หลายต่อหลายคนยังคงไม่หายคลางแคลงใจ โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นคำคอมเมนต์จากเฟซบุ๊ก “ต่อตระกูล ยมนาค” เจ้าของโพสต์ต้นเหตุของประเด็นร้อน ที่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “กระเบื้องพระปรางค์” ที่ถูกกะเทาะออกจากการบูรณะเอาไว้ว่า...

“ดูข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ ยอมรับว่า นำชิ้นส่วนที่ชำรุดบางส่วนไปขายเพื่อหารายได้เข้าวัด นอกจากนี้ อ่านในคอมเมนต์ยังพบว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการบูรณะบางคน ยังมีชิ้นส่วนเก็บไว้บูชา...

ใครสร้างพระปรางค์ฯ? สมบัติส่วนตัวหรือสมบัติชาติ? ใครให้สิทธิเอาไปขาย? ใครให้สิทธินำไปครอบครอง? กฎหมายข้อใดให้อำนาจรองรับ? ขอดูบัญชีได้ไหม? ขายไปกี่ชิ้น? มีอะไรบ้าง? ราคาเท่าไหร่? ใครประเมินราคา? ใครสั่งขาย? ใครเป็นผู้ซื้อ?”



[ขอบคุณภาพ amulet24.com]
เมื่อทางทีมข่าว ได้ลองสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างวัตถุมงคลจาก “กระเบื้องพระปรางค์ วัดอรุณฯ” จึงพบข้อมูลจากหลากหลายแห่งโปรโมตพระเครื่องรุ่นดังกล่าวเอาไว้ โดยระบุชัดเจนว่ามีเจ้าอาวาสของวัดสมัยนั้นเป็นเจ้าภาพ หนึ่งในนั้นคือ “โครงการวัตถุมงคลสมเด็จวัดอรุณฯ ที่รฤก 191 ปี รุ่นกระเบี้องพระปรางค์" โดยเขียนบรรยายสาเหตุการจัดทำเอาไว้ โดยมีใจความดังต่อไปนี้

“ในศุภวาระมงคลสมัยปี 2559 นี้ พระปรางค์วัดอรุณได้มีอายุครบ 191 ปี อีกทั้งเป็นปีมหามงคล วัดอรุณฯ ร่วมกับกรมศิลปากร จึงได้ดำเนินการบูรณะองค์พระปรางค์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี นับแต่การสร้างพระปรางค์

"สมเด็จวัดอรุณฯ" รุ่นเนื้อกระเบื้องเก่าขององค์พระปรางค์ใหญ่ที่ศักดิ์สิทธิ์ เปี่ยมด้วยพลังแห่งพุทธคุณ งดงามด้วยพุทธศิลป์ และยังคงปรากฏเนื้อเก่าแก่โบราณของกระเบื้องพระปรางค์ อันลือเลื่องด้วยอายุนับ 100 ปี อยู่ในองค์พระทุกองค์ โดยไม่เสียเนื้อกระเบื้อง ตามดำริพระเดชพระคุณ “พระธรรมมงคลเจดีย์ (หลวงพ่อเจ้าคุณเฉลียว)” เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามฯ

การนี้ได้จัดสร้าง พระสมเด็จวัดอรุณ จำนวน 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ทรงเจดีย์, พิมพ์ปรกโพธิ์ และพิมพ์สมเด็จไกรเซอร์ สร้างพิมพ์ละ 3,339 องค์ เท่านั้น กำหนดพิธีพุทธาภิเษก ในวันเพ็ญเดือน 6 ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 (วันวิสาขบูชา)”


ในเมื่อมีชื่อ “กรมศิลปากร” อยู่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างด้วย จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องไขข้อสงสัยนี้ให้แก่ประชาชนได้รับรู้ และคำตอบที่ได้จาก อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในระหว่างปล่อยให้ยิงคำถามหลังแถลงข่าวเสร็จแล้วก็คือ ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการจัดทำพระเครื่องรุ่นดังกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น!!

“กระเบื้องที่ชำรุดที่เหลือ เราส่งมอบให้วัด นอกนั้นอาจมีติดไปกับปูนที่กะเทาะออกบ้าง คงจะไปนับกันทุกชิ้นไม่ได้ และมีเก็บเป็นตัวอย่างไว้บ้าง แต่ที่สุดแล้ว ก็ส่งมอบให้วัดทั้งหมด เพราะถึงแม้ว่าวัดอรุณฯ เป็นมรดกทางโบราณสถานของชาติก็จริง แต่ตัววัดก็ยังเป็นเจ้าของหลัก

ส่วนเรื่องการนำเสกวัตถุมงคลนั้น จะตอบยังไงดี... เอาเป็นว่ากรมศิลปากรไม่ได้ทำ และไม่เคยทำที่ไหน เมื่อมอบให้วัดแล้ว ทางเราก็ไม่แน่ใจกับการจัดการบ้าง”


[รอยปูนไม่เรียบร้อยหลังบูรณะ | ขอบคุณภาพ เฟซบุ๊ก "Watanyoo Thephuttee"]
อีกเรื่องที่ยังคาอกคาใจผู้คนส่วนใหญ่ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ฝีมือการบูรณะ” ของกรมศิลปากร ที่ถูกตราหน้าจากภาพที่ถูกแชร์ออกไปในครั้งนี้ว่า “ชุ่ย” นั้น ทางอธิบดีศิลปากรก็มีเหตุผลในทุกขั้นตอนที่อยากชี้แจงให้เข้าใจเช่นกัน

“เมื่อจุดไหนมีรอยร้าว ก็จำเป็นต้องกะเทาะออก แล้วฉาบปูนใหม่ ในทำนองเดียวกัน ปูนที่หลุดร่อน เสื่อมสภาพ ก็ต้องทำความสะอาด ผิวที่หลุดร่อนก็มีการใช้ปูนเข้าไปฉาบ ส่วนการจัดทำเซรามิกที่ชำรุด-เสื่อมสภาพนั้น เราใช้ผลการสำรวจ การเก็บข้อมูล และเข้าสู่ระบบเก็บข้อมูล ทำบล็อก เพื่อมีการเผาขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องทำให้คงเดิมมากที่สุด


[ขอบคุณภาพ เฟซบุ๊ก "Watanyoo Thephuttee"]
ผมเองได้มีส่วนในการตัดสินใจ ให้ทาง จ.ราชบุรี ไปเผาและนำมาบูรณะให้ใกล้เคียงที่สุด กว่าจะตัดสินใจ คัดเลือกว่าแบบไหนใช้ไม่ได้ เราก็ส่งกลับ ด้วยความเป็น "Live Monument" ที่ต้องคงความงดงามในสภาพเดิม แต่อาจจะมีบ้างที่จะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากสภาพพระปรางค์ไม่ใช่หน้ากระดานเรียบๆ มันมีลวดลาย มีย่อมุม-ย่อไม้ ทำให้การฉาบปูนไม่เรียบร้อย อันนี้ไม่ปฏิเสธ

และบางครั้ง เมื่อฉาบปูนแล้ว นำลวดลายเซรามิกไปติด ปูนก็ไปติดอยู่ที่ลาย พอเช็ดออกไม่เรียบร้อย ก็ทำให้ลายไม่คม ตรงนี้ก็มีบ้าง ไม่ใช่ไม่มี ส่วนการที่ภาพพระปรางค์ออกมาค่อนข้างจะขาวกว่าเดิมมากนั้น มันเป็นเรื่องที่เมื่อทำปูนปั้นขึ้นมาใหม่ มุมมองตัวเซรามิกกับพื้นสีขาว จะทำให้สีขาวโดดเด่นขึ้นมา



แต่อย่างไรก็ตาม พื้นผิวสีขาวแบบนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ กับรัชกาลที่ ๕ ก็มีสภาพไม่แตกต่างกันมากนักกับสภาพปัจจุบัน เราจะเห็นลวดลายคล้ายสภาพที่บูรณะแล้วเสร็จในปัจจุบัน

สิ่งที่กรมศิลปากรทำนั้น เราได้ตระหนักเสมอ และทำอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่ากรมศิลปากรจึงใช้เวลาบูรณะพระปรางค์ประจำวัดอรุณราชวราราม ถึง 5 ปีเต็มๆ นับตั้งแต่เริ่มบูรณะในปี 2556 จนแล้วเสร็จในปี 2560 เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 250 ปีกรุงธนบุรี เพราะนี่คือวัดประจำราชวัง



ผมขอฝากชี้แจงให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ นั้น มิได้ด้อยคุณค่าลงไปเลย ยังเป็นการสืบทอดสร้างสรรค์ ความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ของกรุงเทพฯ โดยไม่ได้เสื่อมค่าลงแต่อย่างใด




[ภาพเปรียบเทียบ มุมที่คล้ายคลึงกัน ภาพบน: ปี 2544 กับ ภาพล่าง: ปี 2560]


[ความงดงามแบบดั้งเดิม ก่อนบูรณะ]











ข่าวโดย ผู้จัดการ Live

กำลังโหลดความคิดเห็น