พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นพระปรางค์ทรงขอมขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธาน และปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต.วัดอรุณ อ.บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ใน สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) ปี พ.ศ. 2363 เพียงแค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ร.2 ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 ก.ย. พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี
พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ พ.ศ.2510 โดยองค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่างๆ เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล
สำหรับพระปรางค์วัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ มาอย่างช้านาน รวมถึงเป็นพระปรางค์ทรงขอมที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย โดยพระปรางค์วัดอรุณฯ ยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเป็นภาพตราสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น1 ใน 10 สถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด จากทัวร์โอเปียอีกด้วย
ในส่วนของ ยอดพระปรางค์ ตามแบบแผนแต่โบราณจะเป็น “ยอดนภศูล” แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำ มงกุฏปิดทอง สำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดนางนอง มาสวมครอบต่อจากยอดนภศูลอีกชั้นหนึ่ง คนสมัยนั้นจึงโจษจันกันว่า ร.3 ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนทั้งหลายเข้าใจโดยนัยว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ (ต่อมาคือ ร.4) จะเป็น “ยอดของแผ่นดิน” หมายถึงจะเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์
ตัวองค์พระปรางค์ใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ อย่างงดงามประณีตบรรจง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่นๆ กระเบื้องเคลือบสีที่ใช้ประดับเหล่านี้ บางแผ่นเป็นรูปลายที่ทำสำเร็จมาแล้ว บางชิ้นบางแผ่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบกันเข้าเป็นลาย บางลายใช้กระเบื้องเคลือบธรรมดา บางลายเป็นกระเบื้องเคลือบสลับเปลือกหอย และบางลายใช้จานชามของโบราณที่มีลวดลายงดงามเป็นของเก่าหายาก เช่น ชามเบญจรงค์ ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ฯลฯ นำมาประดับสอดสลับ ประกอบกันเข้าไว้อย่างเรียบร้อยน่าดูน่าชม
นอกจากนี้พระปรางค์วัดอรุณฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไปในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง
ข้อมูลจาก wikipedia,nairobroo.com, allknowledges.tripod.com