xs
xsm
sm
md
lg

หวนคืนสู่ดวงจันทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สเปซไอแอล/อิสราเอล ยูวาล คลิงเกอร์ วัย 7 ขวบ สวมชุดอวกาศที่สำนักงานใหญ่ของทีมสเปซไอแอลในกรุงเทลอาวีฟ  เธอกำลังครุ่นคิดว่า                    การท่องอวกาศอาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนอาชีพในอนาคต  เธอไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวที่สนใจการท่องอวกาศ “เราอยากให้เด็กทุกคนในอิสราเอลได้รับรู้เรื่องนี้ครับ” อีแรน พรีฟแมน ผู้นำของสเปซไอแอล บอก
วิศวกรหนุ่มสาวชาวอินเดียประจำที่ในห้องประชุมเฉพาะกิจซึ่งอยู่ภายในอดีตโกดังแบตเตอรีรถยนต์ใหญ่ทะมึนในเมือง บังคาลอร์ เบื้องหน้าคือชายหญิงอายุมากกว่าพวกเขาอยู่อักโข หลายคนเป็นผู้อาวุโสคนสำคัญของโครงการอวกาศที่เข้มแข็งอินเดีย นี่คือองค์การอวกาศแรกในทวีปเอเชียที่สามารถส่งยานไปโคจรรอบดาวอังคารได้ และการส่งดาวเทียม 104 ดวงจาก การส่งจรวดครั้งเดียวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ทำลายสถิติโลกเดิมไปเกือบสามเท่า วัตถุอันเป็นจุดสนใจของทุกคนคือประดิษฐกรรมขนาดเล็กกลิ้งได้ขนาดพอๆ กับเตาอบไมโครเวฟ

สมาชิกในทีมหนุ่มสาวอธิบายแผนการของพวกเขาที่จะส่งสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดในช่วง ปลายปีนี้ โดยวางตำแหน่งเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ที่ไกลเกือบ 400,000 กิโลเมตร แล้วจึงนำลงจอดบนดวงจันทร์เพื่อให้ท่องไปทั่วภูมิประเทศอันทุรกันดาร เหล่าวิศวกรในทีมอินดัส (TeamIndus) บอกว่า บริษัทจะทำงานนี้ด้วยงบประมาณน้อยที่สุด ซึ่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทุนส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนเอกชน

เกือบ 50 ปีหลังการแข่งขันสู่ดวงจันทร์ครั้งแรกไปถึงจุดสูงสุด โดยสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตต่างทุ่มงบประมาณภาครัฐจำนวนมหาศาลในการชิงกันส่งมนุษย์คนแรกไปเหยียบดวงจันทร์ การแข่งขันที่น่าติดตามครั้งใหม่ไปยังเพื่อนบ้านที่ ใกล้ที่สุดของเราในอวกาศกำลังเริ่มต้นขึ้น คราวนี้ส่วนใหญ่ใช้ทุนของภาคเอกชนและด้วยต้นทุนที่ถูกลงอย่างมโหฬาร รางวัล ที่ได้ทันทีคือรางวัลลูนาร์เอกซ์ไพรซ์ของบริษัทกูเกิล หรือจีแอลเอกซ์พี (Google Lunar XPrize: GLXP) ซึ่งจะมอบให้กับทีมชนะเลิศในกลุ่มผู้เข้ารอบสุดท้ายห้าทีมจากทั่วโลก ทีมเหล่านี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากเอกชน จะพยายาม นำพาหนะท่องดวงจันทร์ลงจอดและสามารถส่งภาพคุณภาพสูงกลับมายังโลกได้

การแข่งขันเพื่อชิงรางวัลลูนาร์เอกซ์ไพรซ์คือเกียรติภูมิของชาติ ทีมจากอิสราเอล ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ กับทีมนานาชาติอีกทีมหนึ่ง กำลังทุ่มเทเพื่อเกียรติยศครั้งนี้ เช่นเดียวกับอินเดีย เมื่อปีที่แล้ว หลายชาติร่วมขบวนอยู่ใน 16 ทีมที่รอดมาถึงรอบ รองชนะเลิศ

ที่หลากหลายไม่แพ้ประเทศที่เข้าร่วม คือวิธีการและลักษณะการร่วมงานกันในเชิงพาณิชย์ซึ่งนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานเฉพาะหน้าสามข้อ ได้แก่ การส่งขึ้นจากโลก การลงจอดบนดวงจันทร์ และการออกเดินทางเพื่อเก็บและส่งข้อมูล ในการรับมือกับความท้าทายข้อสุดท้าย สามทีมมีแผนจะใช้รถสำรวจเดิมแบบ แต่มีการดัดแปลงไปต่างๆกัน ขณะที่อีกสองทีมตั้งใจจะทำให้ยานลงจอดของตน “กระโดด” ให้ได้ระยะบังคับขั้นต่ำ 500 เมตรบนดวงจันทร์ แทนที่จะแล่นไปบนพื้นผิว
ทีมฮะคุโตะ/ญี่ปุ่น   เคียวโกะ โยะเนะซะวะ ทบทวนความก้าวหน้าของทีม ขณะเส้นตายของการส่งขึ้นใกล้เข้ามาทุกขณะ ในแผนที่วางไว้                         โซะระโตะ รถสำรวจของญี่ปุ่น จะอาศัยไปดวงจันทร์กับจรวดและยานลงจอดของทีมอินดัส  ความรักชาติและความหวังใน              คนรุ่นใหม่ทำให้การมุ่งชิงรางวัลเอกซ์ไพรซ์เป็นเรื่องใหญ่ในญี่ปุ่น
ไม่ว่าทีมใดจะชนะการแข่งขันก็แทบมั่นใจได้เลยว่า พวกเขาต้องลงทุนไปมากกว่ารางวัลที่ได้มาหลายเท่า กระนั้น ทุกทีมก็หวังว่าชื่อเสียงระดับโลกที่มาพร้อมกับชัยชนะจะช่วยให้การลงทุนได้ผลตอบแทนอย่างงามในที่สุด

โดยแก่แท้แล้ว การแข่งขันไปอวกาศครั้งใหม่ตั้งคำถามที่อาจฟังดูน่าขันในยุคสงครามเย็นช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นยุคที่สหรัฐฯ ยินดีทุ่มเงินกว่าร้อยละสี่ของงบประมาณประเทศเพื่อเอาชนะมหาอำนาจคู่แข่งในการเดินทางสู่ดวงจันทร์ คำถาม คือ เราสามารถทำเงินจากการไปอวกาศได้จริงๆหรือ สำหรับคนหลากประเภท ทั้งผู้ประกอบการ นักวิทยาศาสตร์ นักมองอนาคต นักเผยแพร่แนวคิด เหล่านักฝัน คนเพี้ยน และอาจรวมถึงคนสติเฟื่องที่มีส่วนในอุตสาหกรรมอวกาศที่กำลังขยายตัว คำตอบอย่างกระตือรือร้นคือ ได้

เมื่อปี 1962 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี กล่าวถ้อยคำอันโด่งดังเพื่อผลักดันอเมริกาให้ “เลือกไปดวงจันทร์ในทศวรรษนี้และทำเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องง่าย แต่เพราะทำได้ยาก” ปัจจุบัน บ๊อบ ริชาร์ดส์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของทีมมูนเอกซ์เพรสของสหรัฐฯให้เหตุผลอีกแบบว่า “เราเลือกไปดวงจันทร์ เพราะมันทำเงินได้ครับ”

แล้วริชาร์ดส์พูดถูกไหม นั่นไม่แน่ชัด อุปสรรคเป็นเรื่องปกติในธุรกิจอวกาศ และในความเป็นจริง หลายบริษัท จะทำเงินในช่วงแรกได้จากการทำสัญญากับรัฐเป็นหลัก แต่ริชาร์ดส์ทำนายว่า มหาเศรษฐีระดับล้านล้านคนแรกของโลกจะเป็นผู้ประกอบการอวกาศ อาจเป็นคนที่ทำเหมืองฮีเลียม-3 บนดวงจันทร์ ก๊าซชนิดนี้หายากบนโลก แต่มีมากบนดวงจันทร์ และมีศักยภาพสูงในฐานะแหล่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ฟิวชัน อันเป็นสุดยอดเทคโนโลยีพลังงานที่นักวิทยาศาสตร์พยายามสร้าง มาหลายสิบปี หรือโชคมหาศาลอาจได้จากดาวเคราะห์น้อยหรือวัตถุใกล้โลกชนิดอื่น ซึ่งเทคโนโลยีหุ่นยนต์อาจช่วยขุดทอง เงิน ทองคำขาว ไทเทเนียม และธาตุมีค่าอื่นๆ กลับมาอย่างเหลือคณานับ

“บนนั้นมีเช็ค 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐรอขึ้นเงินอยู่นะครับ!” ปีเตอร์ เดียแมนดิส แพทย์และวิศวกรผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแพลเนแทรีรีซอร์เซสซึ่งสนับสนุนโดยเจมส์ แคเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง อวตาร (Avatar) และมหาเศรษฐีในวงการเทคโนโลยีอีกหลายคน แพลเนแทรีรีซอร์เซสซื้อบริษัทแอสเทอแรงก์ (Asterank) ในปี 2013 เว็บไซต์ของแอสเทอแรงก์เผยแพร่ข้อมูลวิทยาศาสตร์และประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของการทำเหมืองบนดาวเคราะห์น้อยกว่า 600,000 ดวง

เดียแมนดิสยังเป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของมูลนิธิเอกซ์ไพรซ์ (XPrize Foundation) ซึ่งสนับสนุนการแข่งขัน ชิงรางวัลรายการอื่นที่มุ่งผลักพรมแดนแห่งประดิษฐกรรมและเทคโนโลยีในสาขาวิชาหลากหลาย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ คณิตศาสตร์ พลังงาน และสาธารณสุขโลก แชนดา กอนซาเลซ-เมาเรอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสของมูลนิธิ บอกว่า การขับเคลื่อนทั้งหมดของรางวัลลูนาร์เอกซ์ไพรซ์คือการช่วยแผ้วถางเส้นทางไปสู่ “ยุคใหม่แห่งการเข้าถึงดวงจันทร์และเลยไปกว่านั้นใน ราคาที่รับได้”

เรื่อง แซม โฮวี เวอร์โฮเวก
ภาพถ่าย แวงซอง ฟูร์นีเย
ทีมอินดัส/อินเดีย เมื่อรถอีซีเอจอดนิ่ง ลักษมัณ เมอร์ที วิศวกร จึงได้หยุดพัก สมาชิกกว่าร้อยคนของทีมหวังผลอย่างอื่นที่มีค่ายิ่งกว่าเงินรางวัล                       “มีเด็กอัจฉริยะอยู่ในเมืองต่างๆ และในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ” ศีลิกะ รวิชังการ์ สมาชิกคนหนึ่งในทีม บอก “เราจำเป็น                   ต้องทำให้พวกเขารู้ว่า อะไรก็เป็นไปได้”
ทีมอินดัส/อินเดีย รถสำรวจรหัสอีซีเอ (ECA) ของทีมอินเดียซึ่งหนักเพียง 7.5 กิโลกรัม แต่ต้องแบกความภาคภูมิและความหวังของทั้งชาติ                 บนโครงผอมสูง กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบที่เมืองบังคาลอร์  ลูกโป่งบรรจุฮีเลียมที่ผูกติดไว้ใช้จำลองความโน้มถ่วงของ                   ดวงจันทร์ ซึ่งเท่ากับหนึ่งในหกของโลก
 ซีเนอร์จีมูน เอริก รีดี ช่างเทคนิค พินิจแบบจรวดอยู่ที่บริษัทอินเตอร์ออร์บิทัลซิสเทมส์ หรือไอโอเอส (Interorbital Systems: IOS) ผู้สนับสนุนทีมนานาชาติทีมนี้ เป้าหมายของไอโอเอสคือการเป็นผู้ให้บริการส่งขึ้นต้นทุนต่ำที่สุดในอุตสาหกรรมอวกาศเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น