ปวดใจ! ผู้ประสบภัยน้ำท่วมสกลนครโวยไม่มีเจ้าหน้าที่เตือนรับมือภัยน้ำหลาก ชี้เลือกที่จะปิดเพราะกลัวคนแตกตื่น แทนการประกาศบอกประชาชน!? จนเกิดการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน คนจมน้ำตาย รถจมบาดาล สังคมตั้งคำถาม หากเตือนภัยให้เร็วกว่านี้ ความสูญเสียคงจะไม่บานปลายขนาดนี้ นักวิชาการซัด! ระบบเตือนภัยล้มเหลว
เสียงครวญผู้ประสบภัย! ทำไมไม่แจ้งเตือน?
แน่นอนน้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดได้ แต่สามารถหาวิธีลดความรุนแรงและบรรเทาผลกระทบและความสูญเสียที่จะเกิดได้ ด้วยการเตือนภัยให้ประชาชนรับรู้ แต่เจ้าหน้าที่กลับนิ่งเฉย?
จากเหตุการณ์น้ำท่วมเพราะพายุเซินกาพัดถล่มภาคอีสาน สำหรับจังหวัดที่อ่วมหนักคือ จ.สกลนคร ด้วยปริมาณน้ำฝนที่มากมายตกทั้งวันทั้งคืนจึงทำให้ทำนบดินขอบอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นซึ่งเป็นทางยาวกว่า 20 เมตร พัง! กระทั่งน้ำล้นสปรีลเวย์แรงน้ำทะลักไหลเข้าตัวเมือง คนตาย สูญหาย รถยนต์จมมิดคัน ธุรกิจเจ๊งพันล้าน
ประชาชนเจ็บปวด!ไม่มีเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ว่าอ่างเก็บน้ำจะแตก ปิดข่าว กลัวประชาชนแตกตื่น กลัวเสียหน้า จึงไม่ยอมบอกความจริง ชี้ถ้าบอกแต่แรกว่า อ่างเก็บน้ำรับน้ำไม่ไหวแล้วนะ มันจะพัง เตรียมรับมือให้ดี ประชาชนจะได้เข้าใจ และเตรียมรับมือได้ทัน
เช่นเดียวกับเสียงครวญของผู้ประสบภัย! ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Karnkeerati Thip U ขอระบายความในใจ ความทุกข์ใจ ยอมรับไม่พอใจภาครัฐไม่ยอมประกาศบอกประชาชนทั้งที่มีเวลา ซัด!ศูนย์เตือนภัยเป็นง่อย ไม่มีการแจ้งเตือน
“ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ ชี้แจงความจริงที่เกิดขึ้นจากผู้ประสบภัยโดยตรงนะคะ ตอนแรกเลยเข้าใจ และรู้ว่าห้วยแตกนั้นเป็นเรื่องสุดวิสัย และไม่คิดโกรธเคืองอะไร แต่พอได้รู้ความจริงบางอย่างเมื่อวานที่ออกไปเจอเพื่อนๆรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก เพราะมันไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นการเลือกที่จะปกปิด แทนการประกาศบอกประชาชนที่อยู่ในเมืองทั้งๆที่มีเวลา จะมาบอกว่าไม่สามารถติดต่อได้ทันท่วงทีก็ไม่ใช่ จาก กทม.โทรมาสกลฯ ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีค่ะ !
ในวันศุกร์ ที่ 28 ก.ค. เวลาประมาณ 7 โมงเช้า คาดว่าเป็นเวลาที่ห้วยทรายแตก โดยเมื่อถึงเวลา 7.30 น.เช้า น้ำได้เข้าท่วม ตำบลดงมะไฟ ซึ่งน้ำสูงระดับเอว และภายใน 20 นาที น้ำท่วมถึงคอ และน้ำเริ่มเข้าตัวเมืองโดยประมาณ 10 โมงเช้า และเข้ามาลูกใหญ่ช่วงบ่ายโมงเป็นต้นไป
ถามว่า ช่วง 7 โมงเช้า ถึง 10 โมง เป็นเวลาเกือบ 3 ชม. และเกือบ 5 ชม.ก่อนน้ำก้อนใหญ่จะถึงในเมือง รัฐ สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ ขับรถวนรอบเมือง 1 ชม.ประกาศ ด้วยโทรโข่ง ก็ช่วยได้เยอะแล้ว รถคงไม่จมน้ำเยอะขนาดนี้ ศูนย์เตือนภัยสินามิทั้งสองแห่งเป็นง่อยไม่มีการแจ้งเตือน เสียงบทำทำไม ไม่มีการแจ้งเตือนใดๆทั้งสิ้น ขอย้ำว่าไม่มีการแจ้งเตือนใดๆเลย ไม่มีเลย มีเพียงการบอกว่าจะมีพายุเข้าฝนตกหนัก !
ที่บ้านเองยกสูงจากถนน 80 ซม. มั่นใจว่าฝนตกยังไงก็ไม่ท่วม เอารถจอดไว้ทั้งหมด 7 คัน เก็บของขึ้นที่สูง ถามว่าน้ำมาสูง 2.30 เมตร จะเหลืออะไรมั้ย? จมทุกคัน!
เจ้าหน้าที่ทำอะไรอยู่? นอนยังไม่ตื่น? หรือไม่กล้าออกมาบอกความจริง? ความเสียหายที่เกิดขึ้นเราจะไปเอาจากใครได้ ประชาชนต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากความสะเพร่าของเจ้าหน้าที่รัฐ ความเสียหายที่บอกไปตามข่าว 3,000 ล้าน ยังไม่ถึงครึ่งกับความเสียหายบนถนนรัฐพัฒนาเส้นเดียวเลยค่ะ พูดเลย
อยากให้ภาครัฐพิจารณาตัวเองใหม่ด่วนค่ะ! อย่าทำงานแค่ผักชีโรยหน้า! หยุดสร้างภาพค่ะ”
เช่นเดียวกับผู้ประสบภัยอีกราย มั่นใจว่า น้ำที่ท่วมไม่ได้มาจากน้ำฝน แต่มาจาก “เขื่อนห้วยทราย”
“บ้านอยู่ถนนที่เมืองเป็นแอ่งพอดี ทางนี้สกลนครฝนตกทั้งคืน แต่หกโมงเช้าระดับน้ำเรียกได้ว่าไม่มีขังเลยมันตกปอยๆ พื้นเปียกแต่ไม่มีน้ำขังค่ะ จนประมาณ10โมงเช้าถ้าจำไม่ผิด น้ำมันขึ้นสูงอารมณ์ไม่กี่นาทีมันเข้าบ้านเราครึ่งเมตร เราเลยมั่นใจเลยว่า น้ำที่ท่วมมันไม่ใช่น้ำฝน มันน้ำจากเขื่อนห้วยทราย เพราะมันมาทีเดียวเลย”
นั่นคือคำถามที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมไม่มีสัญญาณเตือนประชาชนให้หนีน้ำเลย ขณะที่ฟากรัฐ ย้ำชัดอ่างเก็บน้ำแตก แค่ข่าวลือ!
ไม่ได้แตก! แค่กัดเซาะสันเขื่อน 20 เมตร!
ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ความจุเก็บกักสูงสุด 2.66 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างลดลงเหลือ 1.33 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีน้ำล้นทำนบดิน และกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร ทำให้มีน้ำไหลออกจากอ่างลงสู่ด้านท้าย ไปรวมกับปริมาณน้ำในลำนำธรรมชาติที่มีปริมาณมากอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ด้านท้ายอ่าง และถนนบางส่วน
นอกจากนี้ เส้นทางการไหลของน้ำในเขตเมืองสกลนคร เกือบทั้งหมดจะไหลไปรวมลงสู่หนองหาร และระบายออกทางลำน้ำก่ำเพียงลำน้ำเดียว ก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำโขง แต่เนื่องจากลำน้ำก่ำมีปริมาณน้ำเต็มความจุของลำน้ำแล้ว ทำให้การระบายน้ำจากหนองหาร ไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก จึงทำให้เกิดการท่วมขัง
สำหรับกรณีที่มีข่าวลือเรื่องของอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ที่อยู่ใกล้กับพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์แตกแล้ว นั้นกรมชลประทานขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า อ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ที่มีเต็มอ่างนั้น ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำใดที่แตกร้าว ทุกอ่างยังมีควมมั่นคงแข็งแรงดี
ขัดแย้งกับ นิพนธ์ มังกรแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสกลนคร สำนักชลประทานที่ 5 เปิดเผยก่อนหน้านี้ ว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุอ่างที่ 2.4 ล้านลูกบาศก์เมตร แบกรับน้ำเกินขนาด ส่งผลให้มีน้ำล้นทำนบดิน และพังทลายกินลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร มีน้ำไหลออกทันทีกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่พื้นที่ใกล้เคียงคือ ต.ขมิ้น ต.พังขว้าง โดยพื้นที่ดังกล่าว เป็นบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตร
นักวิชาการซัด! ขาดการประเมินจุดเสี่ยงภัยพิบัติ
ในมุมนักวิชาการอย่าง สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ว่า สิ่งที่ขาดหายไป คือ การประเมินจุดเสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติ การตัดสินใจอพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งไม่มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า จากปริมาณฝนที่ตกหนัก และหนักมากต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้ รวม 200-300 มิลลิเมตร
เหตุการณ์น้ำทะลักเข้าท่วมแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้ประชาชน บ้านเรือน และภาคธุรกิจเกิดความเสียหาย ตั้งรับสถานการณ์ได้ไม่ทัน รถจมน้ำ โรงแรมมีคนติดค้างและบ้านเรือน หมู่บ้าน มีเด็กและชาวบ้านติดอยู่ การช่วยเหลือให้อพยพหนีน้ำท่วมไม่ทันการณ์ เกิดการขาดแคลนน้ำดื่มและอาหาร
ขณะที่เหตุการณ์อ่างเก็บน้ำห้วยทราย และเขื่อนน้ำอูน รองรับปริมาณฝนที่ตกหนักลงมาต่อเนื่องไม่ไหว ทำให้น้ำล้นออกสปิลเวย์ ก็ควรมีแผนรับมือฉุกเฉิน ในการบริหารอุทกภัยไม่ให้ล้นสันเขื่อน หรือมีพื้นที่รองรับน้ำล้น ในกรณีฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี เมืองที่เจ็บจากน้ำท่วมมาเยอะอย่างเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เคยเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ปัจจุบันนี้ระบบเตือนภัยน้ำท่วมดีขึ้นมาก มีการติดตั้งธงสัญลักษณ์เตือนระดับน้ำในคลองอู่ตะเภาและคลองสาขา จำนวน 17 จุด บริเวณริมคลองและจุดสำคัญในพื้นที่ เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำท่วมให้ประชาชนทราบอย่างทันท่วงที
โดยธงเตือนภัยที่ถูกนำไปติดตั้งพร้อมแผ่นป้ายอธิบายรายละเอียดของธงแต่ละสี เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจตรงกัน ซึ่งธงสีเขียว หมายถึงระดับน้ำปกติ, ธงสีเหลือง ให้เตรียมความพร้อม, ธงสีแดง จะเกิดน้ำท่วมใน 6-30 ชั่วโมง และธงสีแดง ติดไซเรน หมายถึงจะเกิดน้ำท่วมใน 3-6 ชั่วโมง และจะมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งสภาวะน้ำผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและสื่อต่างๆ ถึงขนาดมีกล้องวงจรปิดส่องระดับน้ำบริเวณสะพาน ให้ประชาชนเข้าดูผ่านทางหน้าเว็บฯ ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อดูว่าน้ำเพิ่มขึ้นรวดเร็วก็ขนของอพยพกันทันท่วงที
...น้ำท่วมสกลนครครั้งนี้คงจะเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ภาครัฐได้เป็นอย่างดี ว่ายุคนี้ปิดความผิดไม่มิดแล้ว!?
เครดิตภาพ เพจเฟซบุ๊ก สกลนคร ซิตี้