xs
xsm
sm
md
lg

ต่อ-ธนภพ โชว์ฝีมือการแสดงขั้นสุด! จัดเต็มบท “ออทิสติก” ช่วยสะท้อนสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผมไม่ได้อยากให้คนดูเข้าใจว่าเป็นออทิสติก แต่วันนี้ “ผมคือคนปกติคนหนึ่งที่กำลังจะเป็นออทิสติกแบบไม่มีเงื่อนไข” นี่คือสิ่งที่ผมทำการบ้านกับตัวละครตัวนี้...

ถือเป็นการฉีกกรอบตัวเองในการเป็นนักแสดงเลยก็ว่าได้ เมื่อ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร ขอพิสูจน์ฝีมือการแสดงหลังจากเข้าวงการบันเทิงมากว่า 4 ปี ด้วยการมารับบทเป็น “เด็กออทิสติก” ใน Project S The Series (โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์) ตอน side by side พี่น้องลูกขนไก่ งานนี้หนุ่มต่อ-ธนภพ รับบทเป็น พี่ยิม เด็กออทิสติกที่มีความสามารถในการเล่นแบดมินตัน และได้รับการฝึกฝนร่วมกับ โด่ง ที่รับบทโดย สกาย วงศ์รวี ลูกพี่ลูกน้องจนมีความฝันร่วมกันว่า “วันหนึ่งพวกเขาจะต้องเป็นนักกีฬาแบดมินตันประเภทคู่ที่เก่งที่สุดให้ได้”

เพียงแค่ตัวอย่างของซีรีส์ปล่อยออกมาได้แค่ไม่กี่นาทีกระแสตอบรับกลับตีกลับดีเกินคาด พร้อมต่างชื่นชมฝีไม้ลายมือการแสดงของหนุ่มต่อที่ดูยังไงก็สมจริงเหมือนเด็กออทิสติกจริงๆ

โดยหนุ่มต่อ เล่าถึงการพลิกบทบาทการแสดงในครั้งนี้ว่า เขาใช้เวลาในการตัดสินใจมารับบทเป็นเด็กออทิสติกนี้ไม่นาน ทว่าสิ่งที่นานกลับกลายเป็นการที่ว่าเขานั้นจะทำอย่างไรให้คนดูเชื่อว่าเขาเป็นเด็กออทิสติกจริงๆ อีกทั้งไม่แน่ใจในตัวเองว่าจะสามารถทำออกมาได้ดีหรือไม่ เพราะการเลือกบทนี้ถือเป็นบทที่ยากที่สุดในชีวิตการทำงานตลอด 4 ปีที่อยู่ในวงการบันเทิงมาเลย

“คาเรกเตอร์ของพี่ยิมในเรื่องนี้ จะเป็นเด็กอายุ 18 ปี แต่สมองของเขาอยู่ที่ประมาณเด็ก 10 ขวบ เป็นคนอารมณ์ดี ชอบทำตาม ชอบเลียนแบบ และชอบแบดมินตัน พอพูดถึงพี่ยิมแล้ว ถ้าจะให้ผมอธิบายคาเรกเตอร์ให้เป็นรูปธรรมผมบอกว่ามันยากมาก เพราะว่าผมทำละเอียดมากจริงๆ กับบทๆ นี้ ผมใส่ดีเทลลงไปแทบจะทุกซีน แต่ถ้าใครอยากเจอพี่ยิม ผมจะใช้วิธีถามเลยว่าอยากเจอป่ะล่ะ? ถ้าอยากเจอผมก็สามารถพาพี่ยิมออกมาได้เลยในเวลาเพียงไม่กี่วินาที”

หนุ่มต่อ ยังบอกอีกว่า บทพี่ยิมในเรื่องนี้เปรียบดั่ง “ภูเขา” ที่มองไม่เห็นยอดสักที เพราะในตัวบทมีความยาก และเข้าถึงไม่ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกลับมีความพิเศษบางอย่างที่ไม่สามารถพูดออกมาเป็นคำพูดได้ แต่เขาบอกได้เลยว่าตัวละครตัวนี้ชัดพอๆ กับตอนที่เขาถ่ายเรื่องฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ถึงขนาดกล้าพูดได้เลยว่าอยู่ในเลเวลนั้นได้

3 เดือนคลุกคลีเด็กออทิสติก

หากพูดถึงในเรื่องการแสดงหนุ่มนั้นค่อนข้างจะอินกับบทและตัวละครมากๆ ถึงขนาดทุกวันนี้ตัวเขายังเองยังคงติดกับภาพของเด็กออทิสติกอยู่ นั่นคือ “การไม่กล้าสบตาคน”

“สิ่งที่ผมได้รับฟีกแบกกลับมาจากการที่หลายๆ คนได้ดูในซีรีส์ที่เพิ่งเริ่มออนแอร์ไป มันเป็นอะไรที่ไปไกลมาก (มั๊กมากกกก) ไกลกว่าที่ผมคาดไว้ ผมคาดไม่ถึงว่าผมจะมาถึงจุดนี้ได้ ผมรู้นะว่าการที่เรามาเล่นบทนี้แล้วเราเติบโตขึ้น แต่เราไม่คิดว่าทุกคนจะอ้าแขนรับเราขนาดนี้”

เช่นเดียวกันสิ่งที่เขากลัวเป็นอันแรกเมื่อเลือกรับบทในลักษณะแบบนี้คือความ “เสี่ยง” เพราะเด็กออทิสติกไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในบ้านเรา หรืออาจมีเด็กออทิสติกอยู่เป็นจำนวนมาก หากแต่ทุกคนไม่ค่อยได้รับรู้หรือสนใจ ดังนั้นแล้วเขาไม่รู้เลยว่า การที่คนปกติอย่างเขาเลือกที่จะมารับบทเป็นออทิสติกคนดูจะเชื่อหรือไม่? เพราะหากสิ่งที่เขาทำลงไปแล้วถ้า...เขาทำไม่ถึงล่ะ? หรือเขาทำมันไม่ได้? เท่ากับว่า 4 ปีที่เขาทำมานั้นจะพังทลายลงในทันที ดังนั้นเขาจึงต้องทำการบ้านค่อนข้างหนักเพื่อเข้าให้ถึงจิตวิญญาณของการเป็น “เด็กออทิสติก” ให้ได้

เป็นเวลากว่า 3 เดือนเต็ม ที่หนุ่มต่อ-ธนภพ ได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับเด็กออทิสติกจริงๆ ที่ “บ้านเด็กออทิสติกแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นโครงการของมูลนิธิคุณพุ่ม ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โดยแต่ละครั้งที่ไปเขาจะใช้เวลาอยู่ที่นั่นตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพื่อจดจำรายละเอียด ลักษณะนิสัย ท่าทางต่างๆ

“เริ่มแรกผมหลบอยู่ในมุมๆ หนึ่งของร้านกาแฟในบ้านเด็กออทิสติก เพื่อคอยนั่งสังเกตการณ์เด็กๆ เหล่านั้นไปเรื่อยๆ จากนั้นได้เริ่มเข้าคลาสเพื่อเรียนกับเด็กออทิสติกจริงๆ ทว่าการเรียนของเด็กเหล่านี้ไม่ได้เป็นการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เหมือนคนปกติทั่วไปอย่างเรา แต่เขาจะเรียนเป็นการฝีมือ เช่น วาดรูป เล่นดนตรี ตั้งวงดนตรีกัน แล้วก็การหัดถ่ายเอกสาร หัดพิมพ์หนังสือ ซึ่งสำหรับผมคลาสหลักๆ ที่ผมชอบเข้าไปนั่งเรียนด้วยกับเด็กๆ เหล่านั้นจะเป็นคลาสวาดรูป โดยแต่ละครั้งที่ไปจะใช้เวลาอยู่ที่นั่นตั้งแต่เช้าถึงเย็นเลย ถามว่าทำไมผมต้องไปทั้งวันอย่างนั้น ก็เพราะว่าคลาสเรียนในช่วงเช้ากับช่วงเย็นนั้นเป็นการสอนที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงในแต่ละวันการเรียนก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้นถ้าผมอยากที่จะสัมผัสและเข้าถึงให้ได้มากที่สุด นั่นคือ ผมต้องอยู่ที่นั่นทั้งวันและเข้าไปเรียนตามคลาสต่างๆ ให้บ่อยที่สุด”

นอกจากนี้หนุ่มต่อยังได้เล่าถึง สิ่งที่ทำให้เขานั้นถึงกับทึ่งและนับถือความมหัศจรรย์ของ “เด็กออทิสติก” คือการที่เด็กๆ เหล่านี้มีพรสวรรค์ในการวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสร็จภายใน 11 นาทีด้วยการใช้ดินสอ

ดังนั้นความยากของการเป็นเด็กออทิสติกของ หนุ่มต่อ-ธนภพ คือ การมีเด็กออทิสติกอยู่ 100 คน เท่ากับมีออทิสติก 100 แบบ แต่สิ่งที่เขาทำคือ เขาสร้างเด็กออทิสติกคนที่ 101 ขึ้นมาใหม่เลย

“ผมไม่ได้อยากให้คนดูเข้าใจว่าเป็นออทิสติก แต่วันนี้ผมคือคนปกติคนหนึ่งที่กำลังจะเป็นออทิสติกแบบไม่มีเงื่อนไขนี่คือสิ่งที่ผมทำการบ้านกับตัวละครตัวนี้ และผมจะทำไม่ได้เลยถ้าผมไม่ได้ไปอยู่ที่บ้านเด็กออทิสติกแห่งประเทศไทย เพราะการที่ผมเลือกไปในครั้งนั้นส่งผลให้ผมมีไฟในการที่อยากจะถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กเหล่านี้ให้คนอีกหลายๆ คนได้เข้าใจพวกเขาให้มากขึ้น”

หนุ่มต่ออธิบายอีกว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้คิดว่าตัวเขานั้นจะสามารถมาได้ไกลขนาดนี้ แต่เมื่อเขาได้เข้าไปสัมผัสถึงจุดต่ำสุดและจุดสูงสุดในชีวิตของเด็กเหล่านั้นจริงๆ กับสิ่งที่พวกเขาจะต้องพบเจอในสังคม กลับกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้หนุ่มทะเยอทะยาน และเขาจะไม่หยุดยั้งเพียงแค่นี้


ออทิสติกกับเอ๋อเหมือนหรือต่าง?

“ผมมีคำสัญญากับเด็กออทิสติกเหล่านั้นว่า เชื่อผมเถอะสิ่งที่พวกพี่ให้ผมมาวันนี้ ผมจะทำให้ดูว่าหลังจากนี้พวกพี่จะสามารถออกมาในสังคมได้”

สำหรับ Project S หนุ่มต่อบอกว่า ต้องการเเป็นเหมือนกระบอกเสียงบางอย่างที่ไม่หวังให้ซีรีส์นั้นดังเปรี้ยงปร้าง แล้วมีคนมาดูเยอะๆ แต่เขากลับรู้สึกว่า เขาไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขาออกมานั้นมันถูกต้องหรือไม่ รู้แค่เพียงว่าเขาอยากทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ เพียงเพื่อต้องการให้ทุกคนรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเด็กออทิสติกให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้สังคมเรามีความผิดเพี้ยนและบิดเบี้ยวถึงเรื่องเด็กออทิสติกหนักมาก เช่น ออทิสติกกับดาวน์ซินโดรมต่างกันหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการที่คุณเรียกเด็กออทิสติกว่า “เด็กเอ๋อ” คุณคิดว่ามันถูกต้องแล้วหรือ

“เด็กๆ เหล่านั้น เขาไม่ได้เอ๋อ เขาแค่พัฒนาการช้าเป็นเด็กในร่างผู้ใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่ผมถ่ายทอดออกมาในบทของพี่ยิมแล้วทุกคนจะดูเหมือนว่าพี่ยิมเขาปกติ เป็นเพราะผมเล่นเป็นเด็กที่อยู่ในร่างผู้ใหญ่จริงๆ ผมไม่ได้เอ๋อ น้ำลายฟูมปากซะหน่อย ผมไม่ได้เป็นโรคนั้น แต่ผมแค่ต้องการชี้ให้เห็นว่า อยากให้แยกให้ออกว่าถ้าคุณไม่รู้จริงๆ กูเกิ้ลสิ ลองเสิร์ชดู หัดอ่านซะบ้าง ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาบอกว่าเด็กคนนี้เอ๋อ ผมรู้สึกว่าวัฒนธรรมแบบนี้ทำให้เด็กเหล่านี้เขาไม่มีที่ยืนในสังคม แล้วมันยิ่งทำให้ผมรู้สึกแค้นเหมือนกันนะ ว่าเพราะอะไรถึงมาพูดว่าเด็กคนนี้เอ๋อ ซึ่งแน่นอนคุณไม่มีทางเข้าใจหรอกว่าข้างในเขารู้สึกยังไงบ้าง เพราะคุณอาจจะไม่มีลูกหรือมีพี่น้องที่ป่วยเป็นแบบนี้”

ยกตัวอย่างมาตรวัดอารมณ์ง่ายๆ ของเด็กออทิสติกที่ฟังแล้วอาจจะดูน่ากลัว แต่หนุ่มต่อ-ธนภพ ได้อธิบายให้ฟังว่า หากผมแบ่งสเกลมาตรวัดอารมณ์เป็น 0-10 ซึ่งคนปกติทั่วไปจะสเกลแบบนี้ แต่สำหรับเด็กออทิสติกเขาจะมี 0 แล้วข้ามไปที่ 10 เลย ช่วงระหว่าง 1-9 เขาจะไม่มี แล้วจะมีอีกทีคือ 20 50 100 ไปเลย แปลว่าเขาอยู่ในเลเวลที่ถ้าโมโหแล้วโมโหแรงเลย และใครก็ไม่สามารถหยุดเขาได้

ดังนั้นเพียงแค่ทำความเข้าใจ เมื่อคุณเข้าใจพวกเขาทุกอย่างก็ราบรื่น เพราะคงไม่มีใครอยากที่จะโมโหหรอกใช่มั้ย ตัวอย่างเช่น หากคุณเดินไปเจอคนๆ หนึ่งท่าทางดูเอ๋อๆ แล้วคุณไปด่าเขาว่า ไอ้เอ๋อ! ถามว่าเขาโกรธมั้ย? แน่นอนต้องโกรธอยู่แล้ว เพราะคนปกติยังโกรธเลย แล้วเวลาคุณไปว่าเด็กที่มีลักษณะเช่นนี้แบบนั้นเขาก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา

“ผมอยากจะบอกทุกคนว่า เด็กเหล่านี้เขารู้นะ ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร สิ่งที่เขาขาด หรือเขาด้อยคืออะไร แต่สิ่งที่เขาต้องการคือ เขาแค่ต้องการอยากจะอยู่บนโลกนี้กับทุกคนได้ปกติ แต่ทุกคนไม่พร้อมที่จะทำสิ่งนี้กับพวกเขา ทุกคนกันเขาออกไป ทุกคนกันเขาออกไป ทุกคนรังเกียจเขา

ผมไม่ได้บอกว่าให้ทุกคนไปคลุกคลีกับเด็กเหล่านี้ แต่อย่างน้อยแค่มีทัศนคติใหม่ ผมก็ขอบคุณมากๆ แล้ว เพราะทุกบ้านไม่ได้มีโอกาสได้เจอเด็กแบบนี้ได้ตลอดอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนดูแล้วคนเข้าใจจริงๆ ผมได้ถ่ายทอดผ่านการแสดงด้วยเหตุและผลไปหมดแล้ว มันจึงเป็นแค่เพียงจุดที่ผมอยากจะชวนว่ามาดูเถอะสิ่งที่ผมทำ”

แน่นอนที่ผ่านๆ มา หลายคนมักจะชินกับลุคของหนุ่มต่อที่มาในมาดหล่อๆ แต่เมื่อต้องมารับบทบาทเด็กออทิสติก เขากลับสลัดภาพเดิมๆ ที่ทุกคนติดอยู่ได้หมด

เขาบอกว่า การที่เขากล้ารับบทบาทแบบนี้ คุณรู้มั้ย? ไม่ว่าจะเป็นดาราฮอลลีวูด ดาราเกาหลี หรือคนที่มีชื่อเสียงมากๆ สิ่งที่น่าประหลาดคือ คนเหล่านั้นต่างผ่านบท “ออทิสติก” มาแล้วร้อยละ 80-90 เช่น ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ก็เคยเล่นบทออทิสติกตั้งแต่เขาอายุ 15 ปี ดังนั้นหนุ่มต่อเองจึงรู้สึกว่า แล้วทำไมบ้านเราจะทำบ้างไม่ได้? เขาเพียงต้องการให้มีคนลุกขึ้นมา เอาดิ! ทำออกมาเลยซีรีส์ที่นำเรื่องด้วยบทออทิสติก เพราะเขาก็อยากรู้เหมือนกันว่าการนำเรื่องด้วยคนไม่ปกติแบบนี้จะสามารถทำให้คนดูเข้าใจมั้ย?

อินจัดกับบทสลัดยังไงก็ไม่ออก

หนุ่มต่อ-ธนภพ ยอมรับแบบตรงๆ เลยว่า ตัวเขาติดกับบทบาทของตัวละครพี่ยิม แม้การถ่ายทำจะจบไปแล้ว แต่ก็ยังคงติดลักษณะท่าทางนิสัยตัวละครนี้ค่อนข้างมาก เขาบอกว่าถ้าเขาไม่ติดกับตัวละครนี้ก็คงจะไม่ได้รับฟีคแบกที่ว่า “เหมือนเป็นจริงๆ เลยเนอะ” ซึ่งสำหรับตัวเขาเองแล้วรู้ตัวว่าติดคาแรกเตอร์นี้แต่บางครั้งเวลาพูดกับตัวเองก็ถามตัวเองว่า แล้วไงล่ะ? มันคุ้มมั้ยกับสิ่งที่ทำลงไป

“จริงๆ จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเคยเจอผมในพาร์ตของเด็กออทิสติกก่อนจะเริ่มเรื่องนี้ด้วยซ้ำผมเคยสวมท่าทางของเด็กออทิสติกเดินทางมาแล้ว นี่คือเรื่องจริง ณ ห้างๆ หนึ่ง บนชั้นๆ หนึ่ง ช่วงดึกๆ ผมเคยเป็นออทิสติกที่วิ่งพล่านอยู่ในห้างๆ นั้นมาแล้ว”

ทุกวันนี้พูดได้เต็มปากเลยว่า ตัวเขานั้นไม่ใช่ดารา แต่เขาเป็นนักแสดง ซึ่งคำสองคำนี้ต่างกันมากสำหรับ ต่อ-ธนภพ เพราะบางคนอาจจะมองว่าเป็นอาชีพเดียวกันก็ได้ แต่สำหรับเขาแล้วมันคือคนละอาชีพกัน

“สิ่งที่ผมพยายามทำคือ อยากทำของใหม่ อยากทำของที่เรียกว่าคุณภาพจริงๆ เพราะมันเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากๆ”

จะว่าไปซีรีส์ออนแอร์ได้ไม่เท่าไหร่ แต่เสียงตอบรับที่หนุ่มต่อได้กลับมาถล่มทลาย หนุ่มต่อออกอาการปลื้มยิ้มแก้มปริ โดยสิ่งที่เป็นเสมือนเป็นแรงกระตุ้นในวงการบันเทิง คือการที่เขาได้เห็นผู้ปกครองเข้าโพสต์รูปตัวเองเข้ามาในคอมเมนต์ของตัวอย่างซีรีส์ตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยทีเซอร์ออกไป ทำให้เขารับรู้ได้เลยว่าประเทศไทยของเรานั้นมีเด็กที่เป็นออทิสติกเยอะมาก และตัวเขาเองจะเข้ามาดูตลอดว่าสิ่งที่เขาได้ทำไปนั้นมีเอฟเฟกต์อะไรกับสังคมบ้าง

นอกจากหนุ่มต่อจะตีบทแตกกระจุยในการเป็นเด็กออทิสติกแล้ว ในเรื่องนี้เขายังได้โชว์ลีลาการตีแบดที่ดูเป็นมืออาชีพอย่างหาที่ติไม่ได้ โดยในส่วนนี้หนุ่มต่อ อธิบายว่าได้พี่ๆ ทีมชาติกับเยาวชนทีมชาติมาช่วยเทรนด์ให้ และสุดท้ายเมื่อพี่ๆ ช่วยเทรนด์มาระดับหนึ่งแล้วเขาจึงนำมาผสมกันกับบทออทิสติก

“แบดมินตันในเรื่องนี้ถ้าใครที่ติดตามซีรีส์เรื่องนี้จริงๆ ผมจะบอกว่ามันคือแบดในศาสตร์ของออทิสติก ที่ไม่ใช่คนปกติเล่น แต่จะเป็นออทิสติกเล่นแล้วเก่ง เวลาที่ทุกคนได้ดูซีรีส์ลองสังเกตดูตัวละครพี่ยิม เช่น ท่าในการตีแบดเมื่อดูไปแล้วท่าทางการวางมือการถือก็ถูกนะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันจะมีอะไรอยู่นิดหนึ่งที่ทำให้รู้ว่ามันบางอย่างไม่ปกติอยู่นะ ซึ่งตรงนั้นผมได้ใส่จริตของผมเข้าไป”

เมื่อได้ลองมาเล่นบทออทิสติก กำแพงเรื่องบทที่ว่ายากหรือว่าบทที่อยากจะลองเล่นดูนั้นคือบทแบบไหน หนุ่มต่อตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า หลังจากนี้ไม่ว่าบทจะเป็นบทบาทในรูปแบบไหนที่น่าสนใจเขาก็พร้อมที่จะกระโจนเข้าใส่อีกแน่นอน

“ผมไม่เคยมองว่าตัวเองกล้าเลยที่มารับที่เล่นบทยากแบบนี้ แต่ผมได้รับคำพูดที่ว่ากล้ามาเยอะมาก จนจริงๆ ก็แอบสงสัยนะว่า หรือว่าตัวเองเป็นคนกล้า ที่ผมเป็นคนมีความคิดเป็นของตัวเองมากกว่า ผมมีความคิดว่าผมรู้ตัวเสมอว่าผมกำลังทำอะไรและผมจะทำอะไร คืออย่างน้อยข้อดีคือผมรู้ตัวเอง เพราะว่าบางอย่างต่อให้บทโอเคขนาดไหนแต่ถ้ามันไม่ใช่ผมก็ไม่ทำ อย่างผมเล่นภาพยนตร์เรื่องแรก ฝากไว้ในกายเธอ มีบทให้ผมเลือก 2 บท ผมจะรู้ได้เลยว่าผมควรจะเลือกบทไหนเพราะเวลาที่ผมมองไปมันเหมือนมีแสงส่องว่าบทนี้ไม่ใช่สำหรับผม ซึ่งผมก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน”

ก่อนจากกันในวันนี้หนุ่มต่อได้ฝากถึงทุกคนที่ติดตามให้ทุกคนที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ใช้ใจกันเยอะๆ แล้วเปิดรับเด็กออทิสติกมากๆ เพราะเชื่อสิเด็กเหล่านี้เขาน่ารักมากแบบที่หาที่ไหนไม่ได้ แล้ววันหนึ่งคุณจะไปจำกัดเขาให้อยู่แต่ในบ้านออทิสติกอย่างนั้นทำไม ในบางครั้งเขาเก่งกว่าคุณด้วยซ้ำไปหรือการที่คุณไปกักเขาให้อยู่แต่ในนั้นคุณแค่รังเกียจหรือว่าคุณกลัวเขากันแน่ ลองถามตัวเองดีๆ ว่ากลัวเขาเก่งกว่าหรือเปล่า

“อยากจะฝากจริงๆ เรื่องนี้อยากให้คนดูกันเยอะๆ ผมจริงจังมาก โอเคมันอาจจะไม่ใช่การกุศลแต่ผมไม่ได้ทำมันเล่นๆ ผมอยากจะให้คนภายนอกได้รู้จริงๆ ไม่ต้องมาชมว่าผมเล่นดี ตีบทแตกอะไรทั้งนั้นแค่รับสิ่งที่ผมอยากถ่ายทอดก็พอ เพราะวันหนึ่งพอเรื่องนี้จบไป ผมกับตัวละครเรื่องนี้ก็จะหายไป มันไม่ได้คงอยู่หรอก ผมก็ต้องไปไขว่คว้าหาบทใหม่ๆ ที่จะเล่าออกมาอีก เพราะฉะนั้นไม่ต้องอินกับผม อินกับสิ่งที่ผมจะเล่าก็พอ”

เรื่องโดย : นับดาว รัตนสูรย์
ภาพโดย : พลภัทร วรรณดี, GDH






กำลังโหลดความคิดเห็น