xs
xsm
sm
md
lg

ไม่อยาก "นก" ไม่อยาก "ลำไย" อย่าใช้ภาษาวัยรุ่นปนภาษาไทยผิดกาลเทศะ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลสำรวจวันภาษาไทยแห่งชาติ เผย 3 อันดับศัพท์ฮิตวัยรุ่น ยกให้ “ลำไย - ตะมุตะมิ - นก” ส่วนการพูด - อ่าน - เขียน ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ด้านกูรูภาษาไทยเผย ศัพท์วัยรุ่นไม่ทำให้ภาษาตาย แค่เปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ!

เมื่อยุคเปลี่ยน...ภาษาจึงต้องปรับ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันนี้ คำศัพท์ใหม่ๆ คำสแลงแปลกๆ เกิดขึ้นแทบทุกวัน โดยเฉพาะในโลกโซเชียลฯ ที่คำศัพท์วัยรุ่น มักจะถูกนำมาใช้ให้เห็นกันอย่างชินตา จนพจนานุกรมบัญญัติศัพท์ที่เกิดขึ้นมาใหม่แทบไม่ทัน ยกตัวอย่างคำว่า “ลำไย” ที่ไม่ได้หมายถึงผลไม้รสชาติหวานหอมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในปัจจุบัน คำนี้ ถูกให้ความหมายอีกอย่างว่า รำคาญ อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น “ลำไย” ยังถูกยกให้เป็นคำศัพท์ฮิตที่สุดของวัยรุ่นในขณะนี้!

วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2560 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นเยาวชนและประชาชน ในหัวข้อ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” จากกลุ่มตัวอย่าง 3,306 คน ทั่วประเทศ โดยผู้คนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.43 ทราบว่า วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี


วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม

สำหรับหัวข้อ “คำศัพท์ยอดฮิตของวัยรุ่นในปัจจุบัน” พบว่า “ลำไย” ซึ่งหมายถึง รำคาญ คือคำศัพท์ยอดฮิตที่สุด ถึงร้อยละ 39.44 รองลงมาคือคำว่า “ตะมุตะมิ” หมายถึง น่ารักน่าเอ็นดู ร้อยละ 36.86 และอันดับสาม ระบุว่า “นก” หมายถึง อ่อยเขาแต่เขาไม่เอา ร้อยละ 34.67
ส่วนคำอื่นๆ ในลำดับถัดมาที่นิยมใช้กันก็คือ “เท/โดนเท” ที่หมายถึง โดนทิ้ง , “อิอิ” คือ เสียงหัวเราะ , “เปย์/สายเปย์” หมายถึง ชอบจ่ายให้ , “เตง/ตะเอง/ตัลเอง” คือ ตัวเอง และสุดท้าย “มุ้งมิ้ง” หมายถึง น่ารัก



ด้านหัวข้อ “เวลาในการอ่านหนังสือผ่านสื่อต่างๆ ในแต่ละวัน” พบว่า สื่อออนไลน์ ถูกใช้มากที่สุดเป็นอันดับแรก โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 56.59 ซึ่งมากกว่าการอ่านผ่านหนังสือหรือเอกสาร ที่จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1.30 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 37.42 จะเห็นได้ว่า ผู้คนใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากกว่าหนังสือเป็นเท่าตัว

และหัวข้อ “ปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันและเรื่องเร่งด่วนที่ควรแก้ไขนั้น” ผลสำรวจเปิดเผยว่า การพูด คือปัญหาหลัก เพราะเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงควรมีการพูดที่ถูกต้องจะเป็นแบบอย่างที่ดี ถัดมาคือ การเขียน เนื่องจากปัจจุบันใช้คอมพิวเตอร์แทนการเขียนหนังสือมากขึ้น จึงอยากให้คนไทยได้เขียนหนังสือที่ถูกต้อง และสุดท้าย การอ่าน เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็ก ทำให้รอบรู้ทันโลกทันเหตุการณ์ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาระดับสติปัญญา

เพื่อหาคำตอบของการใช้ภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้พูดคุยกับ “ครูลิลลี่ - กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์” ครูสอนภาษาไทยชื่อดัง มาเปิดเผยมุมมองในฐานะกูรูด้านภาษาไทยที่เห็นการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคหลายสมัย โดยครูลิลลี่ได้กล่าวว่า ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ภาษาก็จะตายไป


“ครูลิลลี่ - กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์” ครูสอนภาษาไทยชื่อดัง

“คำศัพท์ที่เกิดขึ้นมานั้น มันเป็นโค้ด รหัส หรือสัญลักษณ์ที่เราสื่อสารกัน ถ้าผู้พูดส่งไป ผู้รับสารเข้าใจก็จบ ถ้าวันใดวันหนึ่งเขาเขียนหรือพูดไป แล้วผู้รับสารไม่เข้าใจ คำนั้นก็ตายไป อย่างนี้ถือว่าเป็นความวัฒนะทางภาษา ไม่ใช่หายนะ มันก็คือสิ่งที่สะท้อนว่า คนในสังคมนี้ ยุคนี้ ปี พ.ศ.นี้ เขานิยม ชื่นชอบคำคะนองแบบนี้ ซึ่งก็มีความสุขทั้งคู่ ทั้งคนส่งสารแล้วคนรับสาร

สำนวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว มันก็สะท้อนว่าคนสมัยนั้นนึกคิดอะไร อยากจะเสนออะไร พูดอะไร ยกตัวอย่างคำว่า "จิ๊กโก๋" หรือ "จิ๊กกี๋" เดี๋ยวนี้เขาก็ไม่นิยมพูดแล้ว มันก็ตายไป แล้วก็มีคำว่า "แว้น" และ "สก๊อย" ขึ้นมาแทนค่ะ

ที่ภาษามันไม่ตาย เพราะมันมีการสร้างสรรค์ รังสรรค์ สร้างขึ้นมาใหม่ทุกๆ วัน ไม่ต้องกลัวมันจะวิบัติหรือหายนะหรอกค่ะ ถ้าคนที่อยู่กับภาษาและเข้าใจภาษา อย่างนี้มันถึงจะแสดงว่า ภาษามันไม่ตาย มันมีการคิดคำใหม่ๆ เสนออะไรใหม่ๆ อะไรอย่างนี้เป็นต้นค่ะ”

ผิดกาลเทศะ น่าห่วงกว่าใช้ศัพท์วัยรุ่น!

จากผลสำรวจที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า สื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและการใช้ภาษาไทยเป็นอย่างมาก คนสมัยนี้เลือกที่จะเปิดหน้าจอสมาร์ทโฟนมากกว่าหน้ากระดาษ และนั่นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาไทยถูกนำไปใช้ให้กระชับมากยิ่งขึ้น เพราะตอบสนองต่อความเร็วในการรับส่งข้อมูล สำหรับประเด็นนี้นั้น ครูลิลลี่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ คือการนำภาษาไทยไปใช้แบบผิดกาลเทศะ

“ภาษามันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย อย่าลืมว่า 10 ปีก่อน ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่มีอะไรแบบนี้ คนนิยมอ่านจากห้องสมุด หนังสือ แบบเรียน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร แต่ตอนนี้โลกมือถือ บางทีใช้มือเดียว อีกมือหนึ่งโหนบีทีเอสไปด้วย บางทีมือหนึ่งกินข้าว อีกมือหนึ่งถือมือถือ ฉะนั้นระบบสัมผัสมันช่วยให้มนุษย์สะดวกขึ้นค่ะ

การที่จะไปเติมคำเต็มๆ ประโยค มันก็ไม่ทันใจ มันก็ช้า และมันก็อาจจะเกิดอันตรายถ้าเกิดอยู่บนรถโดยสารแล้วต้องพิมพ์ด้วย อ่านด้วย ฉะนั้นมันก็เข้ากับยุคสมัยที่ว่าเปลี่ยนไป แต่จะว่าวิบัติมันก็ไม่วิบัติหรอก มันเป็นการเปลี่ยนไปมากกว่า ให้เข้ากับสื่อโซเชียลฯ และลักษณะการสื่อสารนะคะ”



ส่วนเรื่องการพิมพ์ผิดพิมพ์ถูกหรือที่เรียกว่า “ภาษาวิบัติ” ที่มักพบเห็นในโซเชียลฯ ยกตัวอย่างเช่น หนู เป็น นู๋ , นะคะ เป็น นะคร่ะ , เป็นอะไร เป็น เปงรัย , กรรม เป็น กำ ฯลฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้ กูรูด้านภาษาไทยให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องของรายบุคคลที่ต้องแก้ไข อย่ามองแบบเหมารวมว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ

“พิมพ์ผิดพิมพ์ถูกมันก็อีกเรื่องหนึ่งค่ะ มันเหมารวมทั้งประเทศไม่ได้ ต้องมองเป็นรายบุคคลว่าเขาความรู้น้อย หรือสะเพร่า หรือไม่ใส่ใจ ต้องไปว่ากันเป็นรายบุคคล แต่การใช้คำสั้นๆ หรือสร้างคำใหม่มันไม่มีผล ถ้าเกิดว่าเขาใช้คำศัพท์หรือว่าพูดหรือเขียน ให้มันถูกที่ถูกทาง ถูกกาลเทศะ ก็ถือว่าแยกสติเป็น

รู้ว่าถ้าสั้นๆ เล่นๆ พิมพ์ผิดพิมพ์ถูก แต่พิมพ์เวลาคุยเพื่อน 2 คน อันนี้ไม่เป็นอะไรค่ะ แต่ถ้าคุณต้องไปสอบ ไปสมัครงาน คุณต้องเขียนหรือพูดต่อหน้าคนเยอะๆ คุณต้องใช้คำให้มันถูกต้อง ตามกาลและเทศะ กาละ แปลว่า เวลา เทศะ แปลว่า สถานที่ และให้ถูกบุคคลโดยการสื่อสาร ครูก็ว่าแบบนี้มันใช้ได้”


การสอนสะกดคำ ที่มีเฉพาะหลักสูตรในบางโรงเรียน

นอกจากประเด็นคำศัพท์ใหม่ๆ แล้ว ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดกรณีดรามากับหลักสูตรสอนการสะกดคำในระดับชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ดูจะแตกต่างไปจากเดิม โดยการสะกดเรียงกันไปตามตัวอักษร ทำเอาผู้ที่ได้พบเห็นถึงกับมึนไปเลยว่า การสะกดคำภาษาไทยแบบที่เคยเข้าใจหายไปไหนแล้ว...

“มันอยู่ที่การสอนของแต่ละคน อยู่ที่เทคนิคการถ่ายทอดไม่เหมือนกัน ฉะนั้นสไตล์การถ่ายทอดสื่อสาร ถ้าคนเรียนเข้าใจและรู้เรื่องมันก็จบ บางคนเอารูปเป็นหลัก พอเห็นรูปสระเอมาก่อนก็เป็น เอ - ทอ - เท แต่ถ้าถามครู ครูถนัดในการเอาเสียงเป็นหลัก สมมติคำว่า เท ทอ แล้วค่อย เอ ถึงจะเป็นเท คือเอาเสียงเป็นหลักค่ะ อยู่ที่คนสอน อยู่ที่มุมมอง ถ้าถ่ายทอดแล้วเด็กเข้าใจ เด็กรู้เรื่อง และเขาเขียนได้ สะกดได้ ก็จบ อันนี้ครูไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ใคร ของใครก็ของมัน สไตล์ใครสไตล์มันค่ะ”

ครูเข้าใจว่าโลกมันเปลี่ยนไป อยู่ที่คนมองว่าเป็นปัญหาหรือไม่ ครูคิดว่าไม่เป็นปัญหา ฉะนั้นจะใช้คำใหม่ๆ คำวัยรุ่น คำคะนอง ศัพท์ใหม่ๆ อยู่กาลเทศะ นอกจากการสะกดคำผิด อันนี้คือปัญหา สิ่งสำคัญคือ จำไว้ว่าต้องมีสติก่อน ขอฝากไว้ว่าสติต้องมี ใช้กับใคร โอกาสไหน ที่ไหน แค่นี้เอง คือเราห้ามเขาไม่ให้ใช้ไม่ได้หรอก แต่เราต้องสอนวิธีใช้ ที่ให้ถูกกาลเทศะและบุคคล แค่นี้เองค่ะ”

ขอบคุณภาพประกอบ : เพจเฟซบุ๊ก “ครูลิลลี่”
กำลังโหลดความคิดเห็น