ชีวิตจริงดรามายิ่งกว่าละคร! จากหนูน้อยใน “สลัมคลองเตย” สู่ “นักโปรดิวเซอร์เพลง” ระดับประเทศ!! พลิกบทบาทผู้อยู่เบื้องหลัง ขอโชว์สกิลประสบการณ์กว่า 20ปี สู่งานเบื้องหน้าในฐานะกรรมการผ่านรายการทีวีแถวหน้าของวงการ “I Can See Your Voice” และ “The Mask Singer” ภายใต้หน้ากากแห่งความสำเร็จ เส้นทางดนตรีของเขาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด!! “หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม”
“เสียงเพลง-ตัวโน้ต” ความสุขที่ซ่อนอยู่หลังกำแพง
“ข้างนอกตัวบ้านนั่น ผมเจอแม่ค้าตะโกนด่ากัน เห็นภาพตำรวจวิ่งจับคนติดยา เห็นคนนอนข้างถนน ผมนึกว่าเขาหลับ แต่จริงๆ แล้วเขาตาย เวลาจะนอนก็ต้องคอยฟังเสียงอยู่ตลอดเวลาว่า คืนนี้ไฟจะไหม้บ้านเราไหม”
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยเรื่องราวชีวิตดรามาที่ถูกบอกเล่าผ่านแววตาของชายที่ชื่อว่า “หนึ่ง-จักรวาล” อย่างที่ใครๆ ต่างเดากันได้ไม่ยากว่า ชีวิตในชุมชนแออัด หรือที่เรียกว่า “สลัมคลองเตย” ไม่ได้เรียบง่ายสุขสบายสักเท่าไหร่
เขายอมรับกับเราตรงๆ ว่า เคยรู้สึกกลัวชีวิตนอกประตูบ้านอยู่เหมือนกัน ซึ่งการใช้ชีวิตที่นั่นไม่เพียงแต่ความยากลำบากเท่านั้นที่ต้องเผชิญ ทว่า ความเป็น-ความตายในแต่ละวันก็มีแค่เส้นบางๆ ที่กั้นกลางเอาไว้เท่านั้นเอง
“สภาพชุมชนแออัดตอนนั้นน่ากลัวมาก ถ้าผมออกไปนอกตัวบ้าน คิดว่าคงจะต้องติดยา มันไม่น่ารอดอยู่แล้ว เพราะทุกคนเป็นแบบนั้นหมด ผมเห็นภาพพวกนี้บ่อยจนเคยกลัวว่าวันหนึ่งตัวเองจะเป็นแบบนั้นเหมือนกันนะ แต่การที่ได้เห็นอยู่ทุกวันๆ ผมตั้งเป้ากับตัวเองไว้ว่า วันหนึ่งผมจะเป็นนักดนตรีให้ได้และจะทำให้พ่อแม่สบาย ผมจะสร้างอนาคตจากดนตรี”
ย้อนกลับไปเมื่อวัยเด็ก ดูเหมือนว่าความชื่นชอบทางด้านดนตรีจะเป็นพรสวรรค์ที่ได้มาแบบไม่คาดฝัน เขาเริ่มสนใจดนตรีตั้งแต่จำความไม่ได้ ซึ่งความทรงจำในวัยเด็กที่เห็นภาพชัดเจนที่สุดคือ การเคาะตีจาน-ชามในบ้านแทนเครื่องดนตรี เพราะเป็นสิ่งเดียวที่จะหาได้ในเวลานั้น
ผมสนใจดนตรีตั้งแต่ยังจำความไม่ได้เลย พ่อแม่เล่าให้ฟังว่าเด็กๆ ผมจะชอบตีถ้วย ตีจาน-ชามแตกหลายใบ ตอนนั้นมันสนุกนะครับ มันเป็นความเคยชินด้วยว่าบ้านเราไม่ได้ทำอะไร พ่อทำงานกลับมาตอนเย็นจะมานั่งร้องเพลงสังสรรค์กันกับป๋า (ป๋า - คนที่อยู่ใกล้บ้าน เขาจะดูแลผมตอนพ่อไปทำงาน)
เหมือนเราได้เห็นพ่อร้องเพลง ได้ยินเสียงเพลงมาตั้งแต่เด็ก โดยที่ไม่ได้ออกไปนอกตัวบ้านเลย แรกๆ กลองไม่มีก็สอนตีกับโต๊ะ ด้วยความสนุกของเด็กวัย 4-5 ขวบ ก็ไปเอาจาน-ชามที่บ้านมาตีแตกเละเทะเลย(หัวเราะ) พอได้ฟังเพลงบ่อยๆ พ่อจึงหาคีย์บอร์ดเล็กๆ ให้มาลองต่อคีย์กับคุณอาดู หลังจากนั้นความฝันของผมที่จะเป็นนักดนตรีก็เริ่มชัดเจนขึ้น”
ความฝันด้านดนตรีถูกเล่าผ่านความทรงจำในวัยเด็กที่ได้เล่นเครื่องดนตรีแบบผิดๆ ถูกๆ ด้วยความที่ครอบครัวไม่ได้มีเงินทองในการสนับสนุนความชอบตรงนี้มากนัก เขาจึงต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ
“พ่อผมเล่นดนตรีไม่เป็น และไม่มีตังที่จะส่งเรียน เขาบอกให้ใช้การฟัง จึงติดวิธีการฟังมาตั้งแต่เด็กที่มีแค่คีย์บอร์ดตัวหนึ่ง พ่อจะอธิบายว่าเพลงนี้พูดถึงอะไร ซึ่งเพลงลูกทุ่งสมัยก่อนมันมีการเล่าเรื่องได้ดีมาก พ่อจะบอกให้ผมจินตนาการว่ามันเป็นยังไงและให้เล่นตามคุณอา
ด้วยความเป็นเด็กเราก็กดๆ ไปโดยที่ไม่รู้โน้ต มันเป็นการเล่นดนตรีแบบไม่รู้อะไรเลย แต่เราจะใช้วิธีฟังว่าเสียงมันไปทางไหน และแนวทางของดนตรีมันจะพาเราไปทางไหน จนมันทำให้เราซึมซับทักษะการฟังเสียงแบบไม่รู้ตัว”
ประสบการณ์แบบบ้านๆ ถูกสั่งสมผ่านความชอบในดนตรี จนทำให้เขาได้มีโอกาสเล่นวงดนตรีลูกทุ่งตามงานจ้างตั้งแต่ยังเด็ก เรื่องราวดำเนินต่อไปจนถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนเปลี่ยนครั้งใหญ่ของชีวิต ซึ่งเขาบอกกับเราเลยว่า “นี่คือจุดแรกที่ทำให้มีวันนี้”
“ตอนเข้าวงการ มันมาจากวันที่ไปเล่นแทนในคลับแห่งหนึ่ง น่าจะเป็นจุดแรกที่ทำให้มีวันนี้ หลังเล่นเสร็จ มีเด็กมาบอกว่ามีแขกอยากคุยด้วย เราลงมาเจอพวกโปรดิวเซอร์ที่ดังๆ สมัยก่อน คือ “อาต๋อง เทวัญ ทรัพย์แสนยากร” มานั่งดูเราอยู่
เขาก็ถามเล่นอยู่ที่ไหน เรียนที่ไหน มาเล่นที่ร้านอาไหม ก็เลยลองไปเล่นดู หลังจากนั้นจึงเริ่มรู้จักกับรุ่นพี่โปรดิวเซอร์ที่เราเคยตั้งใจและใฝ่ฝันไว้ว่า วันหนึ่งต้องตามล่าหาศิลปินที่เราชื่นชอบและเคยจดชื่อเอาไว้ตอนฟังเพลง-แกะเทปพวกเขาให้ได้
หลังจากวันนั้นเริ่มได้เห็นรุ่นพี่-ศิลปินแต่ละคนแวะเวียนกันมา จึงได้มีการชักชวนให้ไปอัดเพลง อัดเสียง ผมก็ได้ไต่เต้ามาเรื่อยๆ จนถึงการที่ได้ไปเล่นทัวร์ให้ศิลปินดังๆ อย่าง กบ-ทรงสิทธิ์, ปั่น-ไพบูลย์, ตุ๊ก-วิยะดา, มาลีวัลย์, แอม-เสาวลักษณ์ หรือพี่เบิร์ด แต่ละคนคือรุ่นใหญ่ทั้งนั้นเลย”
20 ปี ไทมไลน์วงการเพลงที่เปลี่ยนไป!
จากประสบการณ์และการที่ได้คลุกคลีในแวดวงดนตรีมามากกว่า 20 ปี เขาบอกกับเราหลังจบคำถามที่ว่าด้วยเรื่องของความแตกต่างของยุคสมัยวงการเพลงในอดีตเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แน่นอนว่าความแตกต่างอย่างแรกที่หนีไม่พ้นคือ เรื่องของการทำงานเพลงและการให้โอกาสที่เปลี่ยนไปแล้วตามกาลเวลา
“ถ้าด้านการทำงานมันต่างกันเยอะมาก เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครให้โอกาสเรา เหมือนทุกคนต้องแข่งกันทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องแข่งขันกันว่างานใครดี งานใครเจ๋ง มันอยู่ที่ว่าใครมีประสบการณ์มาเยอะกว่า ส่วนตัวผมเอง ผมโชคดีที่ว่า แนวเพลงอะไรก็ชอบก็ฟังหมด ทำอะไรก็ได้ งานมันก็เลยกว้างขึ้น ถ้าเราเปิดกว้างว่าทำได้ทุกแนว มันก็จะเกิดความหลากหลาย
ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า คนที่แต่งเพลงหรือทำเบื้องหลัง มันเหมือนกับเป็นเจเนอเรชั่น จะต้องมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา วันข้างหน้ามันคงไม่ได้ขายเพลงได้เยอะเหมือนสมัยนี้แล้ว เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากเดิมที่เราเคยซื้อเทป เป็นมาเป็นซีดี มันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย”
เขาบอกอีกว่าความเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในวงการเพลง ถือเป็นเรื่องที่เดาได้ยากว่าผู้บริโภคจะชอบแนวเพลงแบบไหน นี่จึงเป็นอีกความท้าทายที่นักโปรดิวเซอร์อย่างเขาต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ให้ได้
“ผมคิดว่าวันข้างหน้า ผมคงขายวิธีการทำงานแบบคอนเสิร์ต เอาเพลงเก่าๆ มาทำใหม่ นี่คือสิ่งที่ผมทำงานอยู่ คือ เอาเพลงที่มีอยู่แล้วมาทำในรูปแบบใหม่ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย เดี๋ยวนี้ผมว่าคนทำเพลงออกมาค่อนข้างเดายากว่าคนจะชอบแบบไหน วงการเพลงเดี๋ยวนี้มันเดายาก
การจะหาคำตอบ ผมว่าค้นหายากด้วย ผมว่านักแต่งเพลงทุกคน ไม่ว่าจะรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ก็เดาไม่ออก ว่าตอนนี้คนไทยชอบแบบไหน อย่างมียุคหนึ่งที่คนชอบฟังเพลงเกาหลี ก็จะมีการเอาเมโลดี้เกาหลีมาดัดแปลง มันก็จะขายได้ประมาณหนึ่ง”
อย่างที่เห็นว่าสมัยนี้ใครๆ ก็สามารถผลิตผลงานของตัวเองออกมาได้ ซึ่งอาจพูดได้เลยว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ใครๆ ต่างก็เป็นคนดังได้ เพียงแค่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ เช่นเดียวกับเขาที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วยว่าถึงแม้ว่ามันจะสะดวกสบาย แต่ความพิเศษบางอย่างต่างกันแน่นอน
“สมัยนี้ทุกคนมีโปรแกรมเหมือนๆ กัน เอาโปรแกรมมาวางก็ใช้ได้เลย แต่สมัยก่อนไม่มีเพราะต้องใช้คนมาเล่นอย่างเดียว เพราะฉะนั้นฝีมือและวิธีการทำเพลง-การเล่น ในสมัยก่อนกับสมัยนี้จะแตกต่างกัน
ข้อเสีย มีแน่นอน เพราะมันมาเร็ว ไปเร็ว อย่างโปรแกรมที่มีการคิดค้นอะไรใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น ซึ่งมันไม่ได้ใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไป มันไม่มีความเป็นธรรมชาติของมนุษย์
วงการดนตรีในอนาคต ผมเดาว่ามันน่าจะกลับมาเหมือนสมัยก่อน เมโลดี้สวยๆ คำสวยๆ คนจะโหยหาความคลาสสิก ความเรียบง่าย เนื้อเพลงตรงๆ ง่ายๆ ผมว่ามันน่าจะกลับมาเหมือนเดิม แต่แค่ซาวน์เพลงอาจจะมีความเป็นสมัยใหม่ แต่วิธีการเขียนเมโลดี้ เขียนเนื้อ มันจะกลับมาเหมือนเดิม”
“เธอผู้ไม่แพ้” นี่แหละเพลงชีวิตผม!
เหมือนว่าชีวิตที่ผ่านมาจะไม่ได้ง่ายดายนัก สำหรับนักโปรดิวเซอร์-นักดนตรี ชื่อดัง “หนึ่ง-จักรวาล” ที่กลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงต่อวงการเพลงในทุกวันนี้ การเติบโตในทุกจังหวะชีวิตที่ผ่านมา กลับมอบอะไรให้เขาได้หลายอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สอนเขาให้รู้จักความ “เข้มแข็ง” และ “อดทน”
“ชีวิตที่ผ่านมามันสอนผมเยอะมาก อย่างแรกเลย คือ กำลังใจและจิตใจ ถ้าใจเราแข็งพอ เราข้ามผ่านมันไปได้ มันอยู่ที่ว่าเราจะต่อสู้กับมันแค่ไหน เราจะหนีมันพ้นได้มากแค่ไหน เราสามารถหนีมันพ้นได้ แต่ใจเราต้องแกร่งมากๆ เพราะถ้าคนที่ไม่ได้อยู่ในสมัยนั้น เขาจะไม่รู้เลยว่าสลัมคลองเตยมันโหดร้ายกว่าสมัยนี้เยอะมาก
อย่างที่สอง คือ ความอดทน อดทนว่าเราจะฝ่าฟันตรงนั้นมาได้ยังไง เพราะเราตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า วันหนึ่งเราจะเติบโตไปทำอะไร เพื่อให้ชีวิตก้าวข้ามตรงนั้นมาให้ได้ ซึ่งตอนนั้นมันไม่มีหนทาง มันมืดไปหมดเลย ความอดทนมันทำให้เราผ่านมาได้”
อีกสิ่งหนึ่งที่เรารับรู้อยู่ตลอดผ่านการพูดคุย คือ ความเข้าใจชีวิตที่ทำให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าใครก็ตามจะเกิดอยู่ในที่แห่งใด ไม่ได้เป็นตัวการันตีหรือบอกเราได้ว่าใครสักคนจะดีหรือเลว เช่นเดียวกับผลผลิตของความดีงามที่อยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ คงเป็นเครื่องยืนยันได้แล้วว่าสิ่งดีหรือสิ่งไม่ดี มันอยู่ที่ว่าใครจะเลือกสิ่งใดให้กับตัวเอง
“ในความคิดผม ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนมันไม่จำเป็นหรอก ยิ่งในสมัยนี้มันไม่รุนแรงเหมือนสมัยก่อน ทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ เราเกิดมาในสภาพแวดล้อมแบบนั้น แต่ทุกคนก็เรียนหนังสือไม่ใช่เหรอ ในหนังสือก็สอน มันอยู่ที่คุณคิด อยู่ที่คุณเลือก หนังสือมันเล่มเดียวกัน สอนเรื่องเดียวกัน แต่ทำไมคนเราไม่เหมือนกัน เพราะมันอยู่ที่คนจะเลือก มันอยู่ที่ใจเรา”
หากเปรียบชีวิตที่ผ่านมากับเพลงสักเพลง แน่นอนว่าบทเพลงชีวิตของ หนึ่ง-จักรวาล คงต้องเป็นทำนองคำร้องที่พูดถึงความเข้มแข็งและการสู้ชีวิต ซึ่งเจ้าตัวบอกกับเราถึงเหตุผลที่เลือกเพลงนี้ว่า เป็นเพลงที่อธิบายชีวิตของเขาที่ผ่านมาได้ชัดเจนที่สุด
“ผมว่าเพลง “เธอผู้ไม่แพ้” ของพี่เบิร์ด เพราะในเนื้อเพลงบอกว่า ทุกคนต่างผ่านเรื่องราวมาเยอะแยะ มีทั้งเรื่องที่เราอยากเล่า เรื่องเราไม่อยากเล่า แต่มันต้องผ่านไปให้ได้ ทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ มันไม่มีชีวิตไหนที่ดีไปกว่ากัน คุณจะเกิดในสลัมหรือจะโคตรรวยเลย มันไม่ได้ดีไปกว่ากัน
หรือคุณมีเงินเรียนหนังสือ มีเงินเรียนดนตรี จบมหา'ลัยอันดับหนึ่งของโลก กับคนที่ไม่ได้เรียนดนตรี คุณเรียนแค่โรงเรียนวัด มันก็ไม่ได้มีใครเก่งไปกว่ากัน ตอนนี้มันเป็นข้อพิสูจน์ของผมเลยว่า ผมไม่ได้กลัวคนที่จบสูงๆ หรืออะไรเลย เพราะผมบอกตัวเองอยู่เสมอว่า มันไม่สำคัญหรอก มันสำคัญที่ว่าคุณนำมาใช้งานได้จริงหรือเปล่า ชีวิตมันต้องต่อสู้”
อย่างที่ได้บอกอยู่เสมอว่า เขาไม่เคยจินตนาการว่าตัวเองจะเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากอาชีพ “นักดนตรี” เพราะนี่คือสิ่งที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก จนวันนี้ที่ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จไปเกินกว่าที่เคยคิดเอาไว้
“ผมปฏิญาณกับตัวเองแต่แรกแล้วว่า ต้องทำอาชีพนี้ให้ดีที่สุด เพราะเราไม่อยากทำอย่างอื่น ไม่เคยได้คิดว่าชีวิตนี้จะต้องไปเป็นอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่นักดนตรีเลย ตอนที่เรียนจบ ผมตั้งใจไว้เลยว่าต้องมีงานทำ เพราะพ่อแม่รอเราอยู่ ผมอยากให้พ่อแม่สุขสบาย ซึ่งมาถึงตอนนี้ผมว่าผมทำให้เขาภูมิใจแล้ว”
Did you Know ? ชื่อของ “หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม” แท้จริงแล้วชื่อจริงที่ถูกต้องตามบัตรประชาชน หรือทางเอกสารราชการ คือ “หนึ่ง-จักรวาร เสาธงยุติธรรม” แต่ชื่อ “หนึ่ง-จักรวาล” ที่ถูกสะกดด้วย ล. จะเป็นชื่อที่คนในวงการนิยมใช้กันมากกว่า เพราะในความหมายของคำว่า “จักรวาล” มีความหมายโดยนัยถึงความยิ่งใหญ่และความกว้างใหญ่ไพศาลนั่นเอง! |
เรื่อง : พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพประกอบ : วชิร สายจำปา / IG : @1Jakkawal
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754