xs
xsm
sm
md
lg

“คนไข้ล้น เตียงไม่พอ” สัจธรรม รพ.รัฐ ผ่านมุมมองอาจารย์หมอ “ศ.นพ.ปิยะมิตร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ทำให้หมอที่เข้าเวรพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานเกิน 24 ชม. รวมถึง รพ.รัฐ คนไข้ล้น เตียงไม่พอ เหล่านี้เป็นปัญหาที่มีมาเนิ่นนาน อาจารย์หมอแห่ง รพ.รามาธิบดี จะมาไขข้อข้องใจถึงปมร้อนนี้ พร้อมเผยทางแก้ปัญหา ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ต้องให้บริการประชาชนจนเกินกำลัง!

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ที่มีผลงานดีเด่นรอบด้าน ทั้งงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศและในประเทศมากกว่า 100 ผลงาน มุ่งเน้นในเรื่องวิทยาการระบาดโรคหัวใจและหลอดเลือด ด้านวิชาการเป็นผู้เขียนตำราด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด และเป็นบรรณาธิการตำราเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับงานด้านสังคมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยได้รับตำแหน่งสำคัญที่มีบทบาทต่อวงการแพทย์ในระดับสากลหลายเวที

เป็นที่ทราบกันดีว่า โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่เป็นระดับโรงเรียนแพทย์จะมีศักยภาพในการรักษาสูง มักมีคนไข้เชื่อถือเข้าไปใช้บริการกันจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ปัจจุบันดูแลผู้ป่วยนอกร่วม 2 ล้านคนต่อปี ใครที่เคยไปคงเห็นคนไข้ และญาติผู้ป่วยจำนวนมากมาย

ทำไมปัญหาคนไข้ล้นไม่ได้ดูเบาบางลงเลย?

ทุกวันนี้ถ้ามาดู รพ.รามาธิบดี ที่เขตพญาไท เราดูแลผู้ป่วยนอกประมาณ 2 ล้านครั้งต่อปี ผู้ป่วยในราว 70,000 คนต่อปี เราให้การบริการเกินศักยภาพที่เรามีอยู่ไปมาก

แผนกผู้ป่วยนอกออกแบบไว้สำหรับรองรับผู้ป่วย 3,500 คนต่อวัน แต่การบริการจริงๆตอนนี้เกิน 5,000 คนทุกวัน ยิ่งในช่วงหลังจากวันหยุด หรือหลังวันหยุดยาว เช่นสงกรานต์ บางทีจะถึง 8,000 คนต่อวัน สาธารณูปโภคต่างๆเตรียมไว้ไม่พอ เป็นความลำบากของโรงพยาบาลของรัฐ เหมือนกันเกือบทุกแห่ง

ในแต่ละวันที่ห้องฉุกเฉิน จะมีคนไข้นอนรอเตียงเพื่อเข้าอยู่เป็นผู้ป่วยใน เฉลี่ยประมาณ 40-50 คนทุกวัน ในบางวันอาจรอถึงร้อยคน แต่โรงพยาบาลไม่มีเตียงที่จะรองรับ เพราะเตียงเราเต็มหมดทุกเตียง คนไข้หลายคนไม่เข้าใจจะเอาเตียงมาเองจากบ้าน แต่ความจริงไม่ใช่เรื่องเตียง เป็นเรื่องของสถานที่เครื่องมือทางการแพทย์และกำลังคนในการให้การดูแลผู้ป่วย

ทุกวันนี้บริการรักษาพยาบาลของรัฐ เป็น ”บริการขาดทุน” ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการ มาภายใต้ 3 กองทุนสวัสดิการของรัฐ เช่น ประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม แต่โรงพยาบาลได้รับค่าตอบแทนจากกองทุนเหล่านี้ต่ำกว่าที่เป็นจริง

เช่น คนไข้ไส้ติ่งอักเสบ มาผ่าตัดไส้ติ่ง จ่ายภายใต้สวัสดิการของรัฐ รัฐจะให้เงินชดเชยโรงพยาบาลตามเกณฑ์การวินิจฉัยและหัตถการที่ทำไปเช่น 12,000 บาท ไม่ว่าจะนอนโรงพยาบาลกี่วัน แต่อัตราต้นทุนเตียงของเราตกอยู่วันละพันกว่าบาท ถ้านอน 3 วัน ต้นทุนก็ตกประมาณ 4,000 บาทแล้ว ฉะนั้นค่าใช้ห้องผ่าตัด ค่าวัสดุอุปกรณ์ค่ายา ค่าจ้างบุคคลากรจะต้องพยายามดูแลให้ไม่เกิน 8,000 บาท ถ้าเราไปใช้วัสดุอุปกรณ์ หรือยาต่างๆที่ประกอบการรักษาแพง โรงพยาบาลก็จะขาดทุน เพราะการได้เงินชดเชยจากกองทุนต่างๆนั้นมาตามการวินิจฉัยรายโรคและหัตถการที่ทำการรักษาไป

ฉะนั้นถ้าเรารักษาโดยให้แพทย์ใช้เครื่องมือ ใช้ยาตามที่เห็นสมควร ส่วนใหญ่มักจะเกินวงเงินที่ได้รับชดเชยกลับมา ดังนั้นจึงมักเป็นปัญหาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนแพทย์ที่มีผู้ป่วยที่มีโรคสลับซับซ้อนหรือป่วยหนักกว่าโรงพยาบาลทั่วไป เมื่อใช้มาตรฐานในการรักษาคนไข้ตามแนวทางของอาจารย์แพทย์ โรงพยาบาลจึงมักจะขาดทุนจากคนไข้ที่มาจากการประกันสุขภาพแห่งชาติ ในแต่ละปีเราเรียกเก็บเงินจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้น้อยกว่าจริงประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนกองทุนประกันสังคมฯเรียกเก็บได้น้อยกว่าจริงประมาณ 200 กว่าล้านบาททุกปี ฉะนั้นในปีๆหนึ่งเราต้องหาเงินมาชดเชยในระบบให้ 2 กองทุนนี้ ประมาณ 700 ล้านบาท นี่คือตัวเลขที่เป็นจริง

ขาดทุนแล้วอยู่ได้อย่างไร?

คือโรงพยาบาลยังมีส่วนกำไรอยู่บ้างจากการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกจากสวัสดิการข้าราชการ แต่กำไรส่วนนี้ถือว่าน้อย ไม่พอที่จะมาชดเชยการขาดทุนของระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค กับระบบประกันสังคมได้ แต่รามาธิบดีอยู่ได้เพราะมีเงินจากคลินิกนอกเวลา และคลินิกพรีเมี่ยม รวมถึงผู้ป่วยในที่เป็นห้องพิเศษต่างๆ เราได้เงินจากการเก็บส่วนเกินของห้องพิเศษจำนวนหนึ่ง ทำให้เกิดรายได้ของโรงพยาบาล สำหรับคนที่มาใช้บริการห้องพิเศษต่างๆ ก็มีส่วนไปช่วยชดเชยการขาดทุนจากกองทุนต่างๆที่กล่าวข้างต้น

อีกส่วนคือเราได้การช่วยเหลือจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในรูปของเงินสนับสนุนช่วยผู้ป่วยที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาล และการซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งมีจำนวนมากที่คณะฯไม่ต้องไปลงทุนซื้อเอง มูลนิธิฯช่วยในการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์เหล่านี้ เป็นเงินหลายร้อยล้านบาทต่อปี ทำให้การให้บริการของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีอยู่ได้ ทำให้เราสามารถไปช่วยผู้ป่วยยากไร้ ผู้ป่วยสวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่เราได้รับการชดเชยมาไม่เพียงพอ ผู้ป่วยประกันสังคมที่เราจ่ายเงินไปมากกว่าที่เราได้รับการชดเชยมาจากกองทุน

โรงพยาบาลใหญ่จะให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยหนักกว่าโรงพยาบาลทั่วไป เงินที่ได้รับชดเชยจะไม่เพียงพอจึงประสบภาวะขาดทุน ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่รักษาแต่โรคพื้นฐาน ไมได้รักษาอะไรมากค่าใช้จ่ายจะไม่สูง เงินได้รับชดเชยก็จะพอ เป็นที่มาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ว่ามีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขจำนวนหนึ่งที่ประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ ว่าการชดเชยจากกองทุนเหล่านี้ไม่ได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการรักษาจริงในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาสูงและได้รับการส่งต่อผู้ป่วยหนักมาให้ทำการรักษาจากโรงพยาบาลขนาดเล็กอื่นๆ

ทางรอด! รพ.รัฐขาดทุน

การหารายได้เพิ่มจากผู้ป่วยที่สามารถจ่ายได้มาช่วยเพื่อทำให้โรงพยาบาลอยู่รอดเป็นวิธีหนึ่ง โดยผู้ป่วยที่จ่ายเพิ่มเติมได้ ก็สามารถยู่ห้องเดี่ยวพิเศษ อยู่สะดวกสบายหน่อยแต่ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมที่เบิกไม่ได้ เช่น เพิ่มอีก 1,000 - 4,000 บาทต่อวัน เงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้ไปที่ไหน ก็กลับมาช่วยโรงพยาบาลจุนเจือผู้ป่วยในระบบประกันต่างๆ ทำให้โรงพยาบาลอยู่รอดได้ ถ้าโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขมีพื้นที่ที่ให้บริการแบบพิเศษ และทางกระทรวงแก้ปัญหาโดยที่ทำให้สามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระบบห้องพิเศษ หรือการให้บริการนอกเวลาต่างๆได้ จะมีส่วนช่วยทำให้โรงพยาบาลอยู่รอดได้ ถือเป็นการร่วมจ่ายแบบหนึ่งสำหรับผู้มีรายได้สูง

ขณะนี้ประเทศไทยใช้เงินกับการรักษาพยาบาลฟรีอยู่ไม่ถึง 5% ของจีดีพี ด้วยเงินขนาดนี้จะไปหวังว่าจะรองรับการรักษาพยาบาลฟรีของประชาชนทั้งประเทศย่อมเป็นไปไม่ได้ ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เก็บภาษีสูงมีเพดานขึ้นไปถึง 50% ของรายได้ ยังให้การดูแลรักษาพยาบาลฟรีด้วยความยากลำบาก ในประเทศไทยซึ่งเก็บภาษีน้อย และมีคนเสียภาษีอยู่ไม่ถึง 20% ของประชากร จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะให้การดูแลรักษาพยาบาลทั้งหมดฟรีอย่างมีคุณภาพ เป็นตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้ จะต้องมีการร่วมจ่ายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ในโรงพยาบาลรามาธิบดีการมีคลินิกนอกเวลา คลินิกพรีเมี่ยม และห้องพิเศษเดี่ยว เป็นการร่วมจ่ายแบบหนึ่ง โดยผู้ที่มีกำลังทรัพย์ที่พอจะจ่ายได้ คนเหล่านี้พอเขาร่วมจ่าย โรงพยาบาลก็สามารถนำรายได้เหล่านี้มาช่วยการรักษาพยาบาลประชาชนในระบบประกันสุขภาพฯได้ แต่ถ้าเราเพิ่มจำนวนประชาชนที่เราให้การรักษาพยาบาลฟรีเพิ่มขึ้นไปอีกตัวร่วมจ่ายก็จะไม่พอ เป็นเหตุผลที่ขณะนี้เราต้องจำกัดจำนวนผู้ป่วยประกันสังคมและประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวนคนไข้ในระบบประกันสุขภาพฯที่เราดูแลอยู่ทุกวันนี้บวกกับผู้ป่วยหนักที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลที่ศักยภาพน้อยกว่า ก็เต็มกำลังความสามารถแล้ว

เป็นหมอต้องอึด! พักผ่อนไม่พอ ทำงาน 32 ชม.!

ในต่างประเทศก็เป็นเช่นเดียวกัน แพทย์มักจะทำงานเกินเวลาเกือบทุกที่ เพราะอย่างพวกเราทำงานเช้าถึงเย็น แต่ถ้าเย็นวันนี้อยู่เวร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คืนที่อยู่เวรแพทย์อาจไม่ได้พักเพราะมีผู้ป่วยหนักเข้ามาหรือผู้ป่วยที่ดูแลอยู่เดิมมีการเปลึ่ยนแปลงที่แย่ลง พอถึงพรุ่งนี้เช้าก็ต้องทำงานตามปกติต่ออีก ถ้านับเวลาการทำงาน จะเป็น 24+8 เท่ากับ 32 ชั่วโมง แต่ระหว่างกลางคืนนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ได้พักเลย 100% ถ้าคืนไหนสงบ ไม่มีคนไข้ อาจจะได้นอน 4-5 ชั่วโมง วันแย่ๆก็อาจจะยาวตลอดไม่ได้นอนเลย หมอทุกคนเคยผ่านภาวะแบบนี้มาหมดโดยเฉพาะช่วงที่เป็นแพทย์ฝึกหัด แพทย์ใช้ทุน ตลอดจนตอนมารับการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทาง ในโรงพยาบาลหลายแห่งที่แพทย์ไม่พอก็ยังมีการอยู่เวรต่อกับการทำงานแบบนี้อยู่เป็นจำนวนมาก

แพทย์ทุกคนเคยผ่านการอยู่เวรแบบนี้ที่รุ่งเช้าต้องทำงานต่อ ในบางประเทศที่เขามีการจำกัดเวลาในการทำงานของแพทย์ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับแพทย์ แพทย์ได้พักเพียงพอ การตัดสินใจอะไรก็จะดีขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเวลาที่เขานำเรื่องนี้ไปจำกัดเวลาการทำงานของแพทย์ ก็จะต้องมีโรงพยาบาลที่ปิดทำการบางช่วงเวลา เช่น ในญี่ปุ่น จะมีโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งซึ่งปิดทำการหลังสองทุ่ม และหยุดให้บริการช่วงเสาร์อาทิตย์ คือจะเหลือโรงพยาบาลอยู่ไม่กี่แห่งที่เปิดทำการ 24ชั่วโมง จะไปหวังว่าสามารถจะไปโรงพยาบาลตอนไหนตามใจชอบไม่ได้ ต้องป็นคนไข้ฉุกเฉินจริงๆเท่านั้น แต่เมืองไทยเราไปได้ทุกโรงพยาบาลไม่มีการปิดทำการ 24ชั่วโมง 7วันต่อสัปดาห์ ดังนั้นถ้ามีการดูแลแพทย์ให้ทำงานอย่างเหมาะสมภายในเวลาที่ไม่เกิน 12ชั่วโมงต่อวัน ก็จะมีแพทย์ที่ให้บริการไม่เพียงพอ แพทย์ทั่วโลกส่วนใหญ่ให้บริการเกินเวลาทั้งนั้น แพทย์ที่ทำงานเกิน 24 ชั่วโมง เชื่อว่าเจอในเกือบทุกประเทศ

หมอในต่างจังหวัดทำงานเกินเวลาแบบนี้เยอะมากโดยเฉพาะศัลยแพทย์ เช่นตอนกลางคืนมีผู้ป่วยอุบัติเหตุหลายรายเข้ามา พอรุ่งเช้าก็มีผู้ป่วยที่นัดทำผ่าตัดไว้รออยู่ตามปกติ ดังนั้นแนวโน้มนักเรียนแพทย์ในปัจจุบันจึงไม่อยากเป็นหมอที่ทำงานหนักมาก ไม่อยากเจอการอยู่เวรแบบวันเว้นวัน ปัจจุบันแพทย์ที่มาเลือกเรียนต่อสาขาที่ทำงานหนักมากเช่นเป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทจึงมีแนวโน้มน้อยลงกว่าสมัยก่อน เป็นสาขาที่ต่อไปจะขาดแคลน เพราะงานหนักมีความเสี่ยงต่อการผิดพลาดที่อาจถูกฟ้องร้องได้ง่าย

บางสาขาที่สบายหน่อยอย่างแพทย์โรคผิวหนัง คนจะสมัครเรียนกันเยอะ แต่มีตำแหน่งที่ให้เรียนน้อย เพราะเป็นสาขาที่คนรู้ว่าพอจบไปแล้วสบาย ไม่มีภาวะฉุกเฉินที่ต้องทำงานแบบไม่ได้พักต่อเนื่องระยะยาว งานมีความเสี่ยงน้อยกว่า

ยุค Generation Y หรือ Gen Z สมัยนี้นักศึกษาแพทย์จะนิยมเลือกงานที่มีอิสระ สบายมากขึ้น ต่างจากแพทย์สมัยยุค Baby Boomer เขาจะเลือกงานที่ท้าทาย อะไรที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทำยาก ท้าทายความสามารถจะลงไปแย่งกันทำ ยุคนี้ก็จะเป็นอีกยุคหนึ่งที่เราเห็นว่า ความนิยมเรียนจะไปทางที่มีโอกาสทำงานสบายหน่อย ให้ความสำคัญกับการมีชีวิตที่พอดี ไม่อยากทำอะไรลำบากเกินหรือมีความเสี่ยง ทำให้ตัวเองมีอิสระในชีวิตมากขึ้น มีโอกาสที่จะหยุดงานได้ยาวๆ ไปพักผ่อนในที่ต่างๆที่ตัวเองอยากไป ค่านิยมดูจะเปลี่ยนไปจากสมัยก่อน

ขยาย รพ.รัฐ ศักยภาพสูง…สู่ซีกตะวันออก

ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลรัฐในเมือง น่าจะคลี่คลายได้จากการขยายโรงพยาบาลรัฐ ที่มีศักยภาพสูงไปสู่รอบนอกเช่นย่านเขตอุตสาหกรรม อำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีคนอาศัยอยู่มาก เพื่อให้คนเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเกิดขึ้น
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ฯ ที่เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 500 เตียงคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการในปลายปี 2560 นี้ จะสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้ถึง 700,000 ราย และผู้ป่วยในได้กว่า 17,000 รายต่อปี รองรับประชาชนฝั่งตะวันออกของประเทศ อาจารย์หมอเล่าว่า เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชประสงค์ให้มีสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ทางซีกตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โดยบริเวณนั้นมีมูลนิธิลูกพระดาบส ของพระองค์ท่านอยู่ใกล้กัน เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ท่านมีพระดำริผ่านสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงถามว่าโรงพยาบาลรามาฯ มีความสนใจไหมที่จะไปสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่อยู่ที่นั่น เราจึงได้ที่ราชพัสดุมาเป็นจำนวน 290 ไร่ และได้รับการบริจาคจากประชาชนแถบนั้น จนได้พื้นที่ทั้งหมด 319 ไร่

การก่อสร้างสถาบันแห่งนี้ใช้งบก่อสร้างรวมครุภัณฑ์ราว 15,000 ล้านบาท โดยได้รับงบประมาณมาจากรัฐบาลเป็นงบต่อเนื่องจำนวน 6,000 ล้านบาท ได้จากกองสลากอีกราว 3,000 ล้านบาท ขาดอีก 4,000 กว่าล้านบาท ที่ระดมทุนมาตลอด ซึ่งขณะนี้แม้จะได้เงินบริจาคเป็นจำนวนเกินครึ่งแล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์อีกเป็นจำนวนมาก

" สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ยังเป็น ศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาและการวิจัย เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในทุกระดับ โดยเน้นในด้านการศึกษาฝึกอบรมของแพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยซับซ้อน สามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตบัณฑิตแพทย์ เป็นจำนวน 212 คนต่อปี และผลิตพยาบาลได้ 250 คนต่อปี รวมทั้งผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆราว 400 คนต่อปี เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจะไปให้การบริการประชาชนแถบนั้น และช่วยดูแลกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในย่านบางพลี และจะเกิดการพัฒนากลุ่มแพทย์และพยาบาลด้านอาชีวอนามัย เพื่อช่วยในการดูแลคนโรงงานให้มีสุขภาวะที่ดี และที่สำคัญคือเป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นคนที่มาช่วยบริจาคสถาบันการแพทย์ฯแห่งนี้ ไม่ได้ช่วยเฉพาะผู้ป่วย ยังช่วยในการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ออกไปช่วยคนทั่วประเทศอีกด้วย”

สุดท้ายถามว่าความสุขในชีวิตของหมอคืออะไร อาจารย์หมอปิยะมิตร บอกชัดความสุขของหมอคือการให้ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นความสุขที่เราได้เห็น “คนพ้นจากความทุกข์ของความเจ็บป่วย” มีหน้าที่หรืองานประจำไม่มากนักที่ได้ช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์อยู่ทุกวัน มันเป็นสิ่งดีๆที่ทำให้เรามีกำลังใจ รู้สึกดีเมื่อทำ "เพื่อผู้อื่น"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น